ข่าว

ฤทธิ์ "ครุฑยุดนาค" แห่งวัดพระยาทำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เกิดเหตุที่ไม่คาดฝัน เมื่อเจดีย์เก่าในวัดพระยาทำวรวิหาร ซอยอรุณอัมรินทร์ 15 เขตบางกอกน้อย ที่อยู่ระหว่างการบูรณปฏิสังขรณ์ ทรุดตัวพังถล่ม

ฤทธิ์ "ครุฑยุดนาค"
แห่งวัดพระยาทำ

โดย... จันทร์ ส่องหน้า

 

       วันที่ 25 ก.ย.2561 เมื่อเวลาประมาณ 11.50 น. เกิดเหตุที่ไม่คาดฝัน เมื่อเจดีย์เก่าในวัดพระยาทำวรวิหาร ซอยอรุณอัมรินทร์ 15 เขตบางกอกน้อย ที่อยู่ระหว่างการบูรณปฏิสังขรณ์ ทรุดตัวพังถล่ม มีรายงานว่ามีผู้ติดอยู่ใต้ซากเจดีย์ยักษ์ 3 คน มีอาการสาหัส 1 คน เจ้าหน้าที่กำลังเร่งช่วยเหลือ 

       ขณะเดียวกันยังมีคนงานได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนมาก ถูกนำส่งโรงพยาบาลศิริราช 11 คน ล่าสุดมีรายงานวา พบผู้ติดอยู่ใต้ฐานเจดีย์ยักษ์อีก 1 คน เป็นคนที่ 12 คาดว่าจะเสียชีวิตแล้ว
       สอบถามไปยัง นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบหาสาเหตุ แต่ยังไม่สรุปสาเหตุว่าเกิดจากความประมาท หรือเกิดจากความทรุดโทรมของเจดีย์ โดยวิศวกรควบคุมงานของบริษัทและกรมศิลปากร จะหารือในรายละเอียดอีกครั้ง โดยช่วงเย็นวันนี้จะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง

       ขณะที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เข้าไปตรวจสอบแล้วพบว่าการยุบตัวดังกล่าวเป็นเพราะเนื้อดินที่รองรับตัวเจดีย์อ่อนตัว ทำให้รอยต่อของโครงสร้างภายในเคลื่อนตัวทรุดตามลงไปด้วย เพราะเจดีย์นี้เป็นโครงสร้างโบราณ ไม่เหมือนสมัยใหม่ จึงไม่มีโครงเหล็กยึดภายใน
เมื่อตรวจสอบการรับเหมา พบว่า โครงการนี้กรมศิลปากร เป็นเจ้าของโครงการ ว่าจ้างบริษัท ปรียะกิจ จำกัด เป็นผู้รับเหมาปรับปรุงบูรณะหอระฆังวัดพระยาทำฯ ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในวงเงิน 8.65 ล้านบาท ขุดดินล้อมเจดีย์มาตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.2561 กำหนดเสร็จงาน 22 ม.ค.2562 มีนายสุรชัย จันทร์เงิน นายช่างโยธาชำนาญการ กองโบราณคดี เป็นวิศวกรคุมงาน

       เจดีย์คูหา 2 องค์ซ้าย ขวานี้ ชาวบ้านย่านบางกอกน้อยเรียกว่า เจดีย์ยักษ์ ที่มีศิลปะลายฉลุแก้วอ่อนช้อยสง่างาม เป็นรูป ครุฑจับนาค 4 ตัว เทพนม 8 องค์ รูปนาค 8 ตัว คชสาร 8 ตัว ยักษ์ 8 ตน ชาวบ้านเรียกกันว่า เจดีย์ยักษ์ หรือ กุฏิยักษ์ มีขนาดโดยรอบ 10 วา สูง 12 วา 3 ศอก 

       “ยักษ์สี่ตน คนดำดิน ครุฑจับนาคินทร์ คชสารครึ่งตัว” คือ ตำนานเจดีย์ที่มีทรวดทรงงดงามและแปลกตา ปัจจุบันชำรุดทรุดโทรม

       เจดีย์หอระฆังนี้มีบันทึกหลักฐานปรากฏตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แต่ชาวบ้านในพื้นที่คาดว่าอาจถูกสร้างมาก่อนสมัยธนบุรี มีสถาปัตยกรรมก่ออิฐถือปูน ตกแต่งด้วยถ้วยกระเบื้องจีนมีรูปปั้นปฏิมากรรมเป็นยักษ์ 4 ตน ยืนอยู่ด้านละ 1 ตน เหมือนคอยเฝ้ารักษาหอระฆังอันอลังการ์ ที่ใครไป ใครมาต้องเหลียวดู ในความสวยงาม เคร่งขรึมน่าศรัทธา

       วัดพระยาทำวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างมาแต่สมัยใด บ้างว่าสมัยกรุงธนบุรี บ้างว่าสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เดิมชื่อว่าวัดนาค เป็นวัดพี่น้องคู่กับวัดกลาง ตั้งอยู่คนละฝั่งคลองมอญ เขตบางกอกน้อย 

       วัดนาคตั้งอยู่ฝั่งเหนือ วัดกลางอยู่ฝั่งใต้ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าให้เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์(กุน) สมุหนายก รับเป็นธุระบูรณะปฏิสังขรณ์ แบบสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด แล้วสถาปนาเป็นวัดหลวง  จึงเปลี่ยนชื่อวัดนาคเป็นวัดพระยาทำวรวิหาร 

 

       ส่วนวัดกลางได้รวมชื่อวัดนาคกับวัดกลางเป็นวัดนาคกลางจนทุกวันนี้      

       หลักฐานที่บ่งบอกได้คือ ธรรมาสน์เก่าบนศาลาการเปรียญ ซึ่ง น.ณ ปากน้ำ  ระบุว่าน่าเป็นวัดที่สร้างราวสมัยอยุธยาตอนปลาย ในรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์ฯ เมื่อพิจารณาจากลวดลาย และองคืประกอบศิลป์    

       ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ปกติแล้วการบูรณะหรือเข้าไปซ่อมครุฑ ซ่อมนาค ซ่อมยักษ์ ในวัด หรือโบราณสถานต้องมีการดำเนินการอย่างถูกต้อง มีการบวงสรวงตามประเพณีความเชื่อพราหมณ์ไม่เช่นนั้นทำไม่ได้

       ธนาคารธนชาต เคยนำครุฑจากสาขาธนาคารนครหลวงไทย ไปรวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์ครุฑย่านบางปู แม้จะใช้เครนยักษ์ยกครุฑขึ้นตั้งบนป้ายยังทำไม่ได้ ตั้งแต่เช้ายันเที่ยง เปลี่ยนรถเปลี่ยนเครน ก็ยกไม่ขึ้น เพราะลืมบวงสรวง แต่พอทำพิธีบวงสรวงแค่นั้นยกขึ้นติดป้ายโดยไร้อุปสรรค

       ครุฑเป็นสัตว์กึ่งเทพ ตามคติไทยโบราณ เชื่อว่าครุฑเป็นพญาแห่งนก และเป็นพาหนะของพระนารายณ์ อาศัยอยู่ที่วิมานฉิมพลี มีรูปเป็นครึ่งคนครึ่งนกอินทรี ได้รับพรให้เป็นอมตะ ไม่มีอาวุธใดทำลายลงได้ แม้กระทั่งสายฟ้าของพระอินทร์ทำได้แต่เพียงทำให้ขนของครุฑหลุดร่วงลงมาเพียงเส้นหนึ่งเท่านั้น 

       วิทยาศาสตร์มิสามารถอธิบายปรากฎการณ์ยบางอย่างได้ฉันใด เจดีย์ครุฑยุดนาคที่เป็นหอระฆังยักษ์ 2 ข้างแห่งวัดพระยาทำ ย่อมมีความหมายในบางประการเช่นกัน
ไม่เชื่ออย่าลบหลู่...และโปรดไปดูศิลปกรรมไทยผสมลวดลายแก้วอันงวดงามกันได้ที่บางกอกน้อย

 

ฤทธิ์ "ครุฑยุดนาค" แห่งวัดพระยาทำ

ฤทธิ์ "ครุฑยุดนาค" แห่งวัดพระยาทำ

ฤทธิ์ "ครุฑยุดนาค" แห่งวัดพระยาทำ

ฤทธิ์ "ครุฑยุดนาค" แห่งวัดพระยาทำ

ฤทธิ์ "ครุฑยุดนาค" แห่งวัดพระยาทำ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ