ข่าว

"สนทช."ตั้งทีมรับวิกฤติน้ำ 2 พื้นที่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"สนทช."นำทีมแถลงบริหารน้ำรับวิกฤติแบบบูรณาการตั้งศูนย์เฉพาะกิจจับตาน้ำ 24 ชม.พื้นที่วิกฤต ฟุ้งระบายน้ำเขื่อนแก่งกระจานสอบผ่าน

 

           10 สิงหาคม 2561 นายสมเกียรติ ประจำวงศ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.), นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน, นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตินิยมวิทยา และนายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมแถลงข่าวการบริหารจัดการแบบบูรณาการ แก้วิกฤตน้ำท่วมในห้วงฤดูฝน ปี 2561  

 

   

 

           โดยนายสมเกียรติ กล่าวว่า ทุกหน่วยงานได้ทำงานประสานกัน โดยเตรียมการล่วงหน้าก่อนเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่ง 38 หน่วยงาน ได้สร้างการรับรู้กับประชาชนถึงการเตรียมการรับสถานการณ์น้ำตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการทำแผนป้องกัน เฝ้าระวัง และเผชิญเหตุในแต่ละพื้นที่ไว้แล้ว เนื่องจากก่อนหน้านั้นปริมาณน้ำสูงในพื้นที่ภาคอีสานเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งกังวลเรื่องน้ำหลากและภัยพิบัติ จึงได้ควบคุมการระบายน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ 80 เปอร์เซ็น

 

           โดยจากสถานการณ์น้ำฝน ตั้งแต่เดือนพ.ค. - ก.ค.ที่ผ่านมา มีมากที่สุดในภาคใต้ ส่งผลให้มีน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางจำนวนมาก ดังนั้น สทนช. จึงตั้งศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ มีตัวแทนจากหลาย ๆ หน่วยงานร่วมปฏิบัติงานตลอด 24 ชม. เพื่อกำหนดพื้นที่วิกฤต 2 พื้นที่คือ ภาคอีสาน และภาคตะวันตกที่เขื่อนแก่งกระจาน และมีการเฝ้าระวังเขื่อน 4 แห่งคือ 1. เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี 2. เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร 3. เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี และ4. เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ 

  

           นายสมเกียรติกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ยังได้มีการกำหนดหน่วยงานทั้งจากส่วนกลางหน่วยงานที่ไปดำเนินการในพื้นที่ และจังหวัดโดยมีปภ.ดูแล ซึ่งต้องมีการบูรณาการปรับแผนตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงการระบายน้ำของกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ในช่วงต้นฤดูฝน ที่จะมีน้ำมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ - 100 เปอร์เซ็นต์ และแม้จะมีการพร่องน้ำมาตลอด แต่ในช่วงฤดูฝนนี้ยังต้องระบายน้ำเพื่อเตรียมรับน้ำในช่วงปลายเดือนส.ค.นี้ ประมาณ 100 แห่งในภาคอีสาน ใต้ เหนือ และตะวันตก

 

           ซึ่งทุกอ่างเก็บน้ำจะเฝ้าระวังใกล้ชิดติดตามสถานการณ์ทุกชั่วโมงในเรื่องของการพร่องน้ำโดยใช้การบริหารจัดการเขื่อนแก่งกระจานเป็นต้นแบบ ดังนั้นอาจมีบางพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบบ้าง ขณะที่พื้นที่ที่ผลกระทบจากน้ำโดยภาพถ่ายดาวเทียมของจิสดาแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ลุ่มต่ำที่ได้รับผลกระทบมีประมาณ 887 ไร่ หรือกว่า 200 ครัวเรือน และจากนี้ในเดือนก.ย.ต้องเฝ้าระวังภาคกลาง ภาคใต้ ด้วย  

    

           ขณะที่นายทองเปลว กล่าวว่า ในส่วนกรมชลฯและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตดูแลความมั่นคงของเขื่อนขนาดใหญ่ 35 แห่ง ขนาดกลาง 478 แห่ง และขนาดเล็ก 1,097 แห่ง ในการระบายน้ำให้อยู่ในเกณฑ์การควบคุมระดับน้ำสูงและต่ำ โดยการระบายน้ำให้เกิดผล กระทบน้อยที่สุด โดยสนทช.ได้สั่งการให้เตรียมพร้อมระหว่างเดือนส.ค.ถึงก.ย.นี้ ที่จะกระทบในพื้นที่ภาคอีสาน จึงต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในการบริหารจัดการ ทั้งนี้ในการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนแก่งกระจาน ถือว่าขณะนี้สอบผ่าน โดยการระบายน้ำเป็นไปตามที่คาดการณ์ ระบายผ่าน 3 ช่องทาง ทั้งทางระบายน้ำล้น (สปิลเวย์) เครื่องสูบน้ำ และผ่านประตูระบายน้ำ เพื่อออกสู่เขื่อนเพชร ที่ส่งน้ำไปลงแม่น้ำเพชรบุรีต่อไป โดยมีปริมาณน้ำเข้า 737 ลบ.ม. ต่อวินาที ล้นทางระบายน้ำล้น 60 ซม. เหลือปริมาณน้ำออก 195 ล.ม.ต่อวัน

 

           จากนั้นต้องดูว่าน้ำที่เข้าเขื่อนเพชร มาทำหน้าที่ควบคุมน้ำและระบายน้ำได้ตามที่คาดการณ์ประมาณ 120 ลบ.ม. ต่อวันซึ่งจะทำให้น้ำที่กระทบเข้าอำเภอบ้านลาดและอำเภอเมืองต่ำกว่าระดับ 50 ซม. ซึ่งการะบายน้ำต้องคำนึงไม่ให้เกิดผลกระทบกับท้ายเขื่อนแก่งกระจานด้วย ซึ่งขณะนี้ปริมาณน้ำยังไม่เกินคาดการณ์ที่วางแผนไว้ ยืนยันว่าท้ายเขื่อนเพชรที่เข้าสู่อำเภอเมืองอยู่ในการควบคุมจึงไม่น่ากังวลใจ ขณะที่เขื่อนน้ำอูนยังสามารถระบายได้ต่อเนื่องโดยปริมาณน้ำในแม่น้ำสงครามยังสูงกว่าแม่น้ำโขง จึงต้องทำการเฝ้าระวังต่อไป ขณะที่เขื่อนปราณบุรีปริมาณน้ำเข้าและการระบายออกยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน 

 

           นายวันชัย  กล่าวว่า เราคาดว่าปลายเดือนส.ค. - ก.ย.  ร่องมรสุมจะลงมาผ่านประเทศไทย เริ่มที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง ในเดือน ก.ย. ซึ่งจะทำให้มีน้ำฝนมากขึ้น จึงต้องจับตาระวัง ส่วนที่เราเป็นห่วงอีกเรื่องคือ พายุอีก 1-2 ลูกที่จะเข้ามาทาภาคอีสานในเดือน ก.ย. แม้ยังไม่ทราบว่าพายุจะเกิดขึ้นที่ใด แต่คาดว่าพื้นที่ ที่จะได้รับผลกระทบหนักคืออีสานตอนบน เช่น จ.สกลนคร กับอีสานตอนล่าง เช่น จ.อุบลราชธานี แต่หลังจากกลางเดือน ต.ค. ฤดูฝนทางตอนบนของประเทศไทยจะน้อยลงอย่างชัดเจนและหมดไป 

 

          นายชยพล  กล่าวว่า หน่วยงานเราจะประสานงานความช่วยเหลือไปในทุกพื้นที่ ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เตรียมพร้อมทั้งกำลังคนและเครื่องจักร ซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วทุกศูนย์เขตจำนวน 18 เขตทั่วประเทศ  หากเกิดเหตุในพื้นที่ใด เราก็ไปจะลงไปในพื้นที่พร้อมช่วยเหลือประชาชนทันที นอกจากนี้เราได้ประชุมร่วมกับสทนช. กรมอุตุนิยมวิทยา และกรมชลประทานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังติดตามทั้งเรื่องสภาวะอากาศ สภาวะน้ำ รวมถึงแจ้งเตือนไปยังจังหวัดต่าง ๆ โดย ปภ. จะเร่งรัดผ่านทุกช่องทางทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพื่อให้ข้อมูลเข้าถึงประชาชนอย่างรวดเร็ว อย่างทั่วถึง และรู้ว่าต้องปฏิบัติตนเช่นไรเพื่อให้เกิดความปลอดภัย รวมถึงทราบช่องทางแจ้งข้อมูลมายังราชการเพื่อขอความช่วยเหลือ 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ