ข่าว

ยกเลิกตั้งโรงงานป่าห้วยเม็กเพราะกลัวติดคุก !?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทนาย ชี้ บริษัทชื่อดังตัดสินใจออกประกาศย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน เพราะกลัวติดคุก เหตุทำผิดเรื่องกฎหมายที่ดินหลายเรื่อง

 

               ความคืบหน้ากรณีบริษัท เคทีดี พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ในเครือกระทิงแดง ได้ออกแถลงการณ์ ยกเลิกการก่อตั้งโรงงานเพื่อผลิตเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ในพื้นที่ ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น โดยลงวันที่ 5 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา จนเป็นที่ถกเถียงและเกิดการขัดแย้งในชุมชน เนื่องจากมีประชาชนบางส่วนระบุว่า สาเหตุที่บริษัทฯ ตัดสินใจยกเลิกการก่อสร้างโรงงานและย้ายฐานหนีไปนั้นเกิดจากปัญหาที่สภาองค์กรชุมชนบ้านดง ได้ยื่นเรื่องขอตรวจสอบกรณีการเช่าที่ดินป่าห้วยเม็กจำนวน 31 ไร่เศษ ซึ่งทำให้บริษัทฯ เสียชื่อเสียงและนำไปสู่การตัดสินใจยกเลิกการประกอบกิจการในพื้นที่นั้น

               ล่าสุด นายคุ้มพงษ์ ภูมิภูเขียว ทนายความเพื่อสังคมจังหวัดขอนแก่น ในฐานะนักกฎหมายในพื้นที่ ได้เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เรื่องการขอเช่าที่ป่าห้วยเม็กเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องถนนสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นเรื่องหลักสำคัญที่ทางบริษัทฯ ได้ทำผิดพลาดไป เพราะการขออนุญาตให้ใช้พื้นที่ถนนสาธารณะ หรือเปลี่ยนแปลงสภาพถนนสาธารณะนั้น การที่จะอนุญาตได้จะต้องมีการออกเป็นกฎหมาย หรือประกาศเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น เอกชนจะกระทำการใดๆ โดยแค่ได้รับอนุญาตจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือประชาชนในท้องถิ่นไม่ได้ เพราะกฎหมายที่ดินระบุเอาไว้ชัดเจน

               “กรณีที่นายอำเภออุบลรัตน์ไปแจ้งความดำเนินคดีกับโรงงานกระทิงแดงเอาไว้นั้น เรื่องที่สร้างอาคารคร่อมทางสาธารณประโยชน์ เรื่องนี้ยิ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ เพราะโรงงานไปตั้งกีดขวางทางสาธารณประโยชน์ที่ชาวบ้านยังใช้ร่วมกันอยู่ แม้ทาง อบต.บ้านดง จะบอกว่าอนุญาตให้ทำได้เพราะมีชาวบ้านใช้ประโยชน์แค่ 7 - 8 เจ้า ที่เป็นเจ้าของที่ดิน โดยโรงงานยินดีจะทำถนนให้ใหม่ ดีกว่าเดิม กว้างกว่าเดิม แต่ตามกฎหมายแล้ว อบต. หรือ แม้แต่อำเภอก็ไม่มีสิทธิ์อนุญาตในเรื่องนี้ เพราะทางสาธารณประโยชน์ตามกฎหมายที่ดินเขียนเอาไว้ชัดเจนว่า หากเอกชนจะทำถนนใหม่ทดแทนถนนเดิม เอกชนจะต้องขอถอนสภาพถนนเก่าและจะต้องมีการออกเป็นพระราชบัญญัติออกมา ต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร ต้องมีกฎหมายรองรับ แต่กรณีของบริษัทกระทิงแดงนี้ ไม่ได้มีการดำเนินการอะไรเลย” นายคุ้มพงษ์ กล่าว

               นอกจากนั้นกรณีที่ดินสาธารณประโยชน์ป่าห้วยเม็กนั้น ตามเอกสารหนังสือ นสล. แล้วมีที่ดินทั้งหมดจำนวน 35 ไร่เศษ แต่พอไปรังวัดจริงๆ กลับพบว่า มีเพียง 31 ไร่กว่าๆ เท่านั้น คำถามคือมันหายไปไหนอีกส่วนหนึ่ง นอกจากนั้นการอนุญาตให้ใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ป่าห้วยเม็กนั้นมีการระบุว่าที่ดินดังกล่าวประชาชนไม่ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันแล้ว และไม่มีทรัพยากรมีค่าใดๆ และที่ดินสาธารณประโยชน์แปลงนี้อยู่กึ่งกลางโรงงาน ซึ่งหากตรวจสอบแล้วพบว่าที่ดินแปลงนี้มีการใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชน ซ้ำยังอยู่กลางโรงงาน ซึ่งตามกฎหมายแล้วโรงงานจะต้องตั้งห่างจากที่สาธารณประโยชน์ หรือสาธารณะสถานไม่ต่ำกว่า 100 เมตร แต่นี่ป่าสาธารณประโยชน์กลับตั้งอยู่กึ่งกลางของโรงงานแค่ดูตรงนี้ก็ผิดกฎหมายเต็มประตู

               “หากจะตั้งโรงงานจะต้องทำเป็นประกาศถอนที่ดินสาธารณประโยชน์ หรือทำเป็นกฤษฎีกาถอดถอนก่อน แต่นี่ไม่มีการประกาศถอนแต่อย่างใด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกลับไปเซ็นอนุมัติการเช่าที่ป่าห้วยเม็ก ทำให้เป็นเรื่องขึ้นมา ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากชาวบ้านฝ่ายคัดค้านหรือไม่ให้เช่าที่ป่าห้วยเม็ก แต่ปัญหาอยู่ที่ การทำผิดกฎหมายของคนที่เกี่ยวข้อง จนนำไปสู่การกลัวที่จะต้องถูกลงโทษ ถึงได้ตัดสินใจย้ายโรงงานหนี” นายคุ้มพงษ์ กล่าวและว่า

               สำหรับทางออกเรื่องนี้นั้น สามารถทำได้โดยโรงงานต้องกลับมานับเริ่มต้นจากศูนย์ใหม่ และทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย มาคุยกับชาวบ้าน มาคุยกับชุมชน เพราะชาวบ้านและชุมชนอยากให้โรงงานมาตั้ง ไม่ได้คัดค้าน แต่ที่ผ่านมาไม่ได้มีการคุยแบบนั่งโต๊ะคุยกันทุกฝ่าย และที่สำคัญที่สุดโรงงานจะต้องเริ่มต้นด้วยการทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อน ก่อนลงมือก่อสร้างโรงงาน เพราะขณะนี้แม้แต่เรื่องผังที่ตั้งโรงงาน การใช้พื้นที่มีอะไรบ้างก็ยังไม่เปิดเผย บ่อบำบัดน้ำเสียอยู่ที่ไหนก็ไม่มีระบุชัดเจน

               ด้าน ส.ต.อ.สมัย สายอ่อนตา สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง และประธานกลุ่มพัฒนาบ้านดงผู้ที่ออกมาสนับสนุนการตั้งโรงงานกระทิงแดง เปิดเผยว่า ตอนนี้พอรู้ว่าโรงงานกระทิงแดงจะย้ายออก รู้สึกเสียดาย เพราะชาวบ้านเสียโอกาส เนื่องจากมีชาวบ้านที่ได้ไปฝึกงานที่โรงงานกระทิงแดง จ.ปราจีนบุรี เพื่อรอมาทำงานที่โรงงานแห่งนี้แล้วกว่า 200 คน และมีอีกกว่า 3,000 คน ที่สมัครขอเข้าทำงานในโรงงาน ในใจก็ยังอยากจะให้บริษัทกลับมาตั้งอยู่ที่เดิม เพราะชาวบ้านไม่ได้คัดค้าน มีกลุ่มที่ออกมาค้านก่อนหน้านี้คือเรื่องป่าห้วยเม็กอย่างเดียว แต่เขาไม่ได้ค้านเรื่องตั้งโรงงาน จึงอยากให้ทางบริษัททบทวนเรื่องนี้ใหม่

               “ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา ผมได้ตั้งโต๊ะลงชื่อชาวบ้านที่อยากให้โรงานมาตั้งในพื้นที่ ปรากฏว่ามีชาวบ้านเกือบ 4 พันคน มาลงชื่อทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และผมก็ได้ยื่นรายชื่อให้กับผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลของโรงงานแล้ว แต่ก็ยังไม่มีคำตอบกลับมาว่าโรงงานจะตัดสินใจอย่างไร ตอนนี้พวกเราชาวบ้านทุกคนก็รอฟังอยู่” ส.ต.อ.สมัย กล่าว

 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ