Lifestyle

การไปถวายอาลัยแด่พระองค์ควรไปด้วยใจปรารถนาจะให้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การไปสนามหลวง หรือพระบรมมหาราชวังเพื่อถวายความเคารพและความอาลัยแด่พระองค์ ควรไปด้วยใจที่ปรารถนาจะ “ให้”

ปุจฉา : ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังประสบความสูญเสียครั้งใหญ่ ที่บางท่านมีความโศกเศร้า โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่บางท่านแทบหมดกำลังใจในชีวิต นอกจากนี้ยังพบเห็นการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการวางตัวที่เหมาะสมในการไปถวายความอาลัย ว่าบางท่านไปสนามหลวงเหมือนไปเพื่อจัดภาพถ่ายรูป รวมถึงภาพในหลวงที่มีการพิมพ์แจกมากมาย โดยอาจกลายเป็นการไม่ระวังในการจัดเก็บภาพ

โยมจึงอยากกราบขอพระอาจารย์เมตตาแนะนำว่าเราควรจะทำใจกับความพลัดพรากเช่นนี้อย่างไร เราในฐานะลูกหลานจะสามารถปลอบประโลมหรือช่วยให้กำลังใจผู้สูงอายุได้อย่างไร และควรวางตัวอย่างไรถึงจะเรียกว่าเหมาะสมและเป็นการเคารพและแสดงความอาลัยต่อพระองค์อย่างแท้จริงค่ะ

วิสัชนา : เมื่อสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก โดยเฉพาะยามนี้ที่เราสูญเสียในหลวงรัชกาลที่ ๙ ไป แม้ว่าจะล่วงเลยมากว่าร้อยวันแล้วก็ตาม หากนึกถึงแต่ความสูญเสียพลัดพราก จิตจะจมอยู่กับความเศร้า จนหมดอาลัยตายอยากกับชีวิต ไม่อาจทำกิจต่างๆ อันควรทำได้เลย

จะดีกว่าหากเรานึกถึงน้ำพระราชหฤทัยและคุณงามความดีของพระองค์ จะทำให้เราเกิดความซาบซึ้งประทับใจ และเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำความดีตามรอยของพระองค์ ยิ่งได้ลงมือทำความดีโดยมีพระองค์ทรงเป็นแบบอย่าง ยิ่งทำให้เราเกิดความปีติ ภาคภูมิใจที่เป็นพสกนิกรที่ดีของพระองค์ จะช่วยให้หลุดจากความเศร้าโศกเสียใจได้ง่ายขึ้น

สำหรับผู้เป็นลูกหลานควรชักชวนให้บิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่ที่ยังเศร้าโศกอยู่ ทำความดี เช่น เป็นจิตอาสา หรือทำบุญกุศลถวายแด่พระองค์ท่าน ชวนท่านออกจากบ้านไปทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ จะช่วยท่านได้มาก

สำหรับการไปสนามหลวงหรือพระบรมมหาราชวังเพื่อถวายความเคารพแด่พระองค์ ควรไปด้วยใจที่ปรารถนาจะ “ให้” อย่าไปด้วยใจที่คิดจะ “เอา” (เช่น อยากได้มุมหรือฉากดีๆ เพื่อถ่ายรูป หรือไปเพื่อรับของแจก) ใจที่คิดจะให้ (เช่นอยากให้พระองค์ซึ่งสถิตบนสรวงสวรรค์ เห็นความจงรักภักดีของพสกนิกรของพระองค์) จะทำให้เราทำสิ่งดีงาม ไม่เปิดโอกาสให้ความเห็นแก่ตัวมาครอบงำใจ ขณะเดียวกันก็มีความอดทน เจอความยากลำบากก็ไม่บ่น ตรงกันข้ามหากไปด้วยใจที่คิดจะ “เอา” แล้ว ก็อาจลืมตัวทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือหงุดหงิดง่าย

 

  ใจร้อน ไม่มีเหตุผล โดยเฉพาะกับคนใกล้ตัวจะแก้อย่างไร

ปุจฉา : กราบนมัสการพระอาจารย์ไพศาลที่เคารพ โยมสังเกตว่า กับคนอื่นๆ โยมจะใจเย็น มีเหตุผล เข้าอกเข้าใจ และเมื่อมีสิ่งใดมากระทบจะวางได้ไม่ยาก แต่กับคนใกล้ตัว โยมกลับใจร้อน สิ่งใดที่ขัดใจก็จะไม่ยอม ไม่ปล่อยผ่านแม้เรื่องเล็กน้อย ไม่ทราบว่าโยมควรจะวางใจอย่างไร หรือมีอุบายในการพิจารณาแบบใดเพื่อให้สามารถก้าวข้ามสิ่งนี้ได้เจ้าคะ กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ

วิสัชนา : คุณควรหมั่นฝึกสติให้รู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น เวลามีอะไรมากระทบ และรู้สึกขัดใจหรือขุ่นเคืองใจ สติที่รู้ทันอาการดังกล่าวได้อย่างรวดเร็ว จะช่วยให้ปล่อยวางมันได้อย่างรวดเร็ว อย่างน้อยก็ช่วยลดความรุนแรงเข้มข้นของอาการดังกล่าว ทำให้หักห้ามใจไม่เผลอพูดหรือทำอะไรในทางที่ไม่ถูกต้อง

ความยึดติดถือมั่นในความคิดของตน อยากให้ทุกอย่างเป็นไปตามใจตน (รวมทั้งอยากให้ถูกต้องตามแบบของตน) เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คุณขุ่นเคืองใจเวลาเห็นสิ่งต่างๆ ไม่เป็นดั่งใจ คุณควรตระหนักว่านี้เป็นอาการอย่างหนึ่งของอัตตา หรือความยึดติดถือมั่นใน “ตัวกู ของกู” ซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ 

ดังนั้นจึงควรคลายความยึดติดดังกล่าวลงบ้าง เช่น เตือนตนอยู่เสมอว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะได้ดั่งใจในทุกสิ่ง เผื่อใจไว้ล่วงหน้าว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา

เวลามีอะไรมากระทบ แล้วรู้สึกขุ่นเคืองใจ ก็ให้รู้ว่า “ตัวกู ของกู” กำลังอาละวาดแล้ว ควรชี้หน้าด่ามันบ้าง อย่าปล่อยให้มันผยองหรือบงการจิตใจของคุณ อีกวิธีหนึ่งก็คือ เมื่อเจอสิ่งขัดใจ ก็อย่าเพิ่งโกรธ ควรมองว่ามันเป็นแบบฝึกหัดที่ช่วยขัดใจให้กิเลสเบาบาง หรือลดอัตตาให้น้อยลง

สุดท้ายก็คือ เวลาทำอะไร ลองทำให้ช้าลง ใจอยู่กับปัจจุบัน อาจทำให้คุณใจเย็นลงบ้าง และมีสติรู้ตัวได้ไวขึ้นเวลามีอะไรมากระทบ

ทั้งหมดที่พูดมามิได้หมายความว่า คุณควรปล่อยให้ความไม่ถูกต้องผ่านไปโดยไม่ทำอะไรเลย การทักท้วงและตักเตือนเพื่อแก้ไขสิ่งผิดให้ถูกต้องเป็นเรื่องที่ควรทำ แต่คุณไม่จำเป็นต้องทำด้วยความโกรธ ซึ่งมีแต่จะเผาลนใจคุณให้เป็นทุกข์ คุณควรทำด้วยใจที่สงบ มีสติ นั่นคือ ทำกิจ และทำจิต ไปควบคู่กัน ซึ่งจะเกิดผลดีทั้งต่อตัวเอง ผู้อื่นและส่วนรวม

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ