Lifestyle

ขอให้เห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นใหญ่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย   -   มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ เรื่องwiweksikkaram.org ภาพ

มาฆบูชาปีนี้ประชาชนชาวไทยน้อมใจกันสาธุการประมุขสงฆ์พระองค์ใหม่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๒๐ โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จฯ ประกอบพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชในวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ เวลา ๑๗.๐๐ น. ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม 

“คม ชัด ลึก” วันพระ ได้รับความเมตตาจากพระอาจารย์วิชัย กัมมสุทโธ สถานปฏิบัติธรรมป่าวิเวกสิกขาราม อ.พล จ.ขอนแก่น อธิบายโอวาทปาติโมกข์ในแง่มุมที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาในวันสำคัญนี้ เพื่อที่เราจักได้นำมาปฏิบัติได้จริง

ขอให้เห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นใหญ่

พระอาจารย์วิชัย ก่อนบวชท่านรับราชการเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จ.สกลนคร และรักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาล ก่อนลาออกมาอุปสมบท ท่านเคยพบกับสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ซึ่งเป็นประธานมูลนิธิพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร ในหลายวาระ และครั้งหนึ่งในงานทอดผ้าป่าสามัคคี โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เพื่อสร้างอาคารตาและซื้ออุปกรณ์การแพทย์ (สำหรับผ่าตัดตาและศัลยกรรมทั่วไป) ในปี ๒๕๕๔ 

เมื่อถามถึงปฏิปทาของเจ้าประคุณสมเด็จฯ พระอาจารย์วิชัยเล่าว่า ท่านก็ปฏิบัติธรรมของท่าน ท่านมีเมตตา ไม่ถือเนื้อถือตัว  และท่านก็ช่วยเหลือมูลนิธิพระอาจารย์ฝั้นมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน ท่านเป็นพระที่สงบเย็นดี

"ในเรื่องการปกครองคณะสงฆ์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในโอวาทปาติโมกข์ ในวันมาฆบูชาว่า

สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่ทำบาปทั้งปวง

กุสะลัสสูปะสัมปะทา การทำกุศลให้ถึงพร้อม

สะจิตตะปะริโยทะปะนัง การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ ปราศจากโลภ โกรธ หลง

เอตัง พุทธานะสาสะนัง ธรรมสามอย่างนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

“วันมาฆบูชาสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าแสดงธรรมแก่พระอรหันตสาวก ๑,๒๕๐ องค์ เป็นครั้งแรกในเรื่องโอวาทปาติโมกข์ ถ้าเราทำได้อย่างนี้ก็ไม่มีความขัดแย้งกัน เพราะความขัดแย้งกัน เกิดจากการหลงทิฐิ เป็นอกุศล มันไม่ใช่กุศล"

ขอให้เห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นใหญ่

พระอาจารย์วิชัย อธิบายความหมายให้เรากลับมาใคร่ครวญแก่นธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในวันสำคัญนี้เพียงครั้งเดียวในชีวิตของพระองค์ว่าสำคัญยิ่งเพียงใด และหากเรานำมาปฏิบัติทั้งชีวิตจะทำให้เราเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นของชีวิตอย่างไร

ท่านกล่าวต่อมาว่า การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ คือเมื่อไม่มีความหลงทั้งหลายก็ไม่มีทิฐิที่จะขัดแย้งกัน เมื่อไม่ขัดแย้งกันก็จะไม่ทะเลาะวิวาทกัน มีแต่การเห็นประโยชน์ ทำแต่ประโยชน์ ไม่ทำที่เป็นโทษ ก็จะเกิดสามัคคีธรรม ประโยชน์ส่วนรวมก็จะเกิด

“ดังสมัยหนึ่งในโฆสิตาราม กรุงโกสัมพี ที่พระวินัยธรกับพระธรรมกถึกวิวาทะกันเรื่องพระวินัยเกี่ยวกับการใช้ภาชนะในห้องส้วม จนเกิดการโจทย์กันว่าเป็นอาบัติ ต่างก็ไม่ยอมซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุที่พระเถระทั้งสองรูปต่างมีลูกศิษย์ฝ่ายละ ๕๐๐ รูป ต่างฝ่ายก็ถืออาจารย์ของตน เกิดความแตกแยกขึ้น พระพุทธเจ้าได้ไปหาพระเถระวินัยธรและตรัสว่า การจะปรับอาบัติเล็กน้อยแก่พระเถระธรรมกถึกนั้นต้องพิจารณาให้มาก เพราะเขาเป็นคณาจารย์ใหญ่มีลูกศิษย์มาก ถ้าปรับอาบัติไปก็จะทำให้เกิดความแตกแยกแห่งสงฆ์ ประโยชน์ของสงฆ์ก็จะเสีย พระเถระวินัยธรก็ไม่ยอม แล้วพระองค์ก็ไปหาพระเถระธรรมกถึกและตรัสว่า การที่เขาปรับอาบัติเธอนั้น เขาไม่ได้มีเจตนาร้าย ก็ให้ยอมรับเถิด เพื่อความสามัคคีแห่งสงฆ์ พระเถระธรรมกถึกก็ไม่ยอม

“นี่ขนาดพระพุทธเจ้าเป็นองค์บัญญัติพระธรรมวินัยและตรัสสอนธรรม ยังไม่ยอมรับ พระองค์จึงตรัสว่า เมื่อหากัลยาณมิตรไม่ได้ การเทียวไปคนเดียวดีกว่ามีสหายเป็นคนพาล พระองค์จึงเสด็จหลีกไปจำพรรษาอยู่ใต้ต้นสาละใหญ่ในราวป่ารักขิตวัน โดยมีช้างปาริเลยยกะและลิงอุปัฏฐากอยู่อย่างผาสุก”

พระอาจารย์วิชัยให้ข้อคิดว่า การเข้าถึงธรรมแล้วจะไม่หลงสมมุติ ไม่หลงสัตว์ บุคคล ไม่หลงนิกาย ไม่หลงอาจารย์กู อาจารย์มึง ไม่หลงเราเขา ก็ไม่ทะเลาะกัน นั่นก็คือ ธรรมอันเดียวกัน เมื่อมีธรรมอันเดียวกันก็ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน”

ในโอวาทปาติโมกข์ ยังมีอีกว่า

ขันติ ปะระมัง ตะโป ตีติกขา ขันติ คือความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง

  นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา ผู้รู้ทั้งหลาย กล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง

  นะหิปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี ผู้กำจัดสัตว์อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย

  สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต ผู้ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย

  อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้ายกัน

พระอาจารย์วิชัย อธิบายว่า เหตุแห่งการกล่าวร้ายกัน เพราะจิตหลงอยู่ในสมมุติ สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ว่าดีว่าไม่ดี พอรู้สึกว่าดี ก็อยากได้เป็นโลภะ พอรู้สึกว่าไม่ดี ก็ไม่พอใจอยากผลักไสเป็นโทสะ ขัดเคืองกัน ทำลายกัน ก็เพราะหลงสมมุตินั่นเอง ถ้าจิตเข้าถึงธรรม ไม่หลงสมมุติ ก็ไม่มีไปกล่าวร้าย ไปทำลายกัน พูดก็พูดตามเหตุผล แล้วก็ทิ้ง

“เพราะฉะนั้น สมเด็จพระสังฆราชท่านที่ได้รับการสถาปนาจากพระเจ้าอยู่หัวก็มาทำหน้าที่ ถ้าทุกคนทำตามหน้าที่ก็จบ คือ ๑. หน้าที่ส่วนรวม ทำอย่างไรให้เป็นประโยชน์ ให้สามัคคีกัน ๒.หน้าที่ในตนเอง ต้องเจริญสติ สมาธิ และปัญญาพิจารณาตนเอง พิจารณากายใจ คือ พิจารณาตัวรูป และตัวนาม"

“ตัวนามก็คือ ตัวความรู้ ความเห็น มันเกิดขึ้นเพราะอะไร ก็เพราะการเรียนรู้มาในอดีต ที่เรียนรู้มาทั้งหมด มันเป็นสมมุติ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเราจริง เมื่อไม่เห็นจุดนี้ ก็ไปหลงสมมุติ ไม่เห็นประโยชน์ เลยไปเอาโทษ การเห็นเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา พวกกู พวกมึงขึ้นมามันเลยไม่เห็นเหมือนกัน ถ้าเห็นความรู้นั้นเป็นแค่ธาตุ เป็นแค่ญาณความรู้อันหนึ่งเฉยๆ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา มันก็เห็นเหมือนกันหมด เมื่อเห็นเหมือนกันหมดก็ไม่รู้ว่าจะไปทะเลาะกับใคร การเข้าไม่ถึงธรรมหลงสมมุติ โลกจึงวุ่นวาย ถ้าไม่หลงสมมุติก็ไม่วุ่นวาย ไม่ทะเลาะกัน เพราะต่างคนต่างก็ทำหน้าที่ดูตัวเอง พิจารณาตัวเอง"

“ถ้ากลับมาดูตัวเอง พิจารณาตัวเอง ก็เห็นเหมือนกัน คือ เห็นเป็นธาตุเป็นขันธ์เหมือนกัน สมมุติสัตว์ บุคคลก็เป็นแค่ไว้ใช้งาน ไม่หลงมัน เมื่อไม่หลงมันก็ไม่มีเรื่องที่จะทะเลาะกัน มีแต่เรื่องไหนเป็นประโยชน์ก็ทำ เรื่องไหนไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ทำ ก็แค่นั้น สิ่งใดควรทำก็ทำ สิ่งใดไม่ควรทำก็ไม่ทำ ก็จบ"

"ที่วุ่นวายทะเลาะกันเพราะไม่เห็นเป็นธาตุเป็นขันธ์เหมือนกัน ไปหลงสมมุติ คือหลงทิฐินั่นเอง ความเห็นออกมาจากการเรียนรู้ พอตาเห็นรูปก็รู้ทางตา หูกระทบเสียงก็รู้ทางหู กลิ่นกระทบจมูกก็รู้ทางจมูก รสกระทบลิ้นก็รู้ทางลิ้น เย็นร้อนอ่อนแข็งกระทบกายก็รู้ทางกาย พอรู้ขึ้นมามันก็จำ มันจำสิ่งที่เคยเห็นทั้งจำโครงสร้างและจำกฎเกณฑ์ที่สังคมทำกันอยู่ในขณะนั้น แล้วกอบขึ้นมาเป็นความเห็น"

“จริงๆ ตัวความเห็นมาจากความรู้ ความจำ ความคิด คือ วิญญาณขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์นั่นเอง ทุกคนมีวิญญาณ มีสัญญา มีสังขารขันธ์เหมือนกัน แต่เรื่องราวในนั้นมันเป็นสมมุติหมด คราวนี้จะเอาอะไรไปตัดสิน ก็ต้องเอาสติปัญญาพิจารณา สิ่งนั้นเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ ที่เป็นประโยชน์ไม่เป็นโทษก็เอาตรงนั้นแหละปฏิบัติ แต่คนส่วนใหญ่เอาความเห็นตัวเองเข้าไปใส่ในทุกอย่าง เอาความเห็นตัวเองเป็นใหญ่ ไม่อ่านเหตุปัจจัย ณ ปัจจุบันตรงนั้น ว่าเหตุปัจจัยนั้นให้ปฏิบัติอย่างไร เหตุปัจจัยใดถูกต้องเป็นประโยชน์ก็ให้ทำ เหตุปัจจัยใดไม่ถูกต้องเป็นโทษก็ไม่ทำ เรียกว่า ไม่เอาปัจจุบันธรรมตรงนั้นเป็นเครื่องตัดสิน จึงทะเลาะกัน เพราะความเห็นไม่ตรงกัน แต่จริงๆ ทำอะไรทุกอย่าง เหตุปัจจัยเป็นตัวตัดสิน เป็นตัวบอกอยู่แล้ว ถ้าเราอ่านออกก็จะเห็นตรงกัน ที่เราอ่านไม่ออก เพราะทิฐิคือความเห็นมันบังนั่นเอง”

“เหตุนั้นถ้าจะไม่ทะเลาะกันก็ต้องศึกษาตรงนี้ คือกลับมาทำหน้าที่ตนเอง เมื่อหน้าที่ตนเองสมบูรณ์ก็จะทำไปตามเหตุปัจจัยที่ต้องทำ ทำแต่ประโยชน์ อะไรเป็นโทษก็ไม่ทำ ก็เลยเกื้อกูลสังคม เมื่อทุกคนทำเช่นนี้ก็เกิดเป็นน้ำใจเกี่ยวพันกัน สังคมก็เลยสงบ เพราะเราอยู่ร่วมกันด้วยสามัคคีธรรม (เห็นเหมือนกัน) มุ่งประโยชน์ต่อกัน"

“ดังปัจฉิมโอวาท ภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังประโยชน์ให้ถึงพร้อม (ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น) ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

หากทำได้เช่นนี้ เราต่างก็จักเข้าถึงธรรม ในวันมาฆบูชาปุณมีนี้แล

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ