Lifestyle

 ชาวพุทธไม่มีคำว่า “ทิ้งกัน”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บายไลน์ พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี

หลายเดือนก่อน ณ ร้านหรอยจัง กลางเมืองยะลา เหล่าพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนใต้ ลงเยี่ยมพื้นที่เยี่ยมพระพบปะโยมเพื่อให้กำลังใจโยมท่านหนึ่งชื่อ “ตา” กับลูกน้อยชื่อ “ดัง” ที่นอนอยู่ในรถเข็น หนูน้อยป่วยเป็นออทิสติกจากผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในครั้งนั้นเมื่อหลายปีก่อน

โยมตาเล่าให้พระธรรมทูตฟังถึงเหตุการณ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๘ อย่างแม่นยำ ตอนนั้นโยมทำงานเป็นพนักงานในร้านก๋วยเตี๋ยวเรือโบราณที่ปัจจุบันกลายเป็นร้านอาหารปิ้งย่าง

คนร้ายเข้ามาในร้าน เอากระเป๋ามาวางทิ้งไว้ ก่อนเดินออกไป เจ้าของร้านเห็นเลยเดินมาหยิบถือไว้แล้วถามหาเจ้าของกระเป๋า ตอนนั้นเองเสียงระเบิดก็ดังขึ้น โยมตาที่อยู่ไม่ไกล ตอนนั้นท้อง ๖ เดือนหมดสติทันที ส่วนคนอื่นวิ่งหนีไปหมด โยมเล่าว่าหมดสตินานพอควรก่อนจะฟื้นขึ้นมา โดยคนอื่นยังไม่กล้าเข้ามาช่วยด้วยเกรงจะโดนระเบิดซ้ำอีก จึงรอเจ้าหน้าที่มาถึง ก่อนนำโยมตาส่งโรงพยาบาล หมอตรวจและแจ้งว่าลูกเสียชีวิตแล้ว หมอจึงขอให้สามีเซ็นเพื่อนำลูกออก แต่ปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้นเมื่อเด็กเริ่มขยับตัวเหมือนไม่ยอมแพ้ในโชคชะตา

โยมตาต้องอยู่โรงพยาบาลต่ออีก ๓ เดือนจนคลอด หลังจากนั้นชีวิตก็เปลี่ยนไปทั้งต้องดูแลลูกที่ป่วยช่วยตัวเองไม่ได้ เนื่องจากเด็กขาดออกซิเจนจากตอนแม่โดนระเบิด ทำให้เป็นออทิสติก

โยมเลยต้องเปิดร้านก๋วยเตี๋ยว โดยเช่าที่ติดกับสถานที่เกิดระเบิดนั้นเอง เพราะต้องการช่วยเหลือสามีที่ทำงานรับจ้างคนเดียว

พระธรรมทูตอาสาไปเยี่ยมได้ฟังเรื่องราวและความต้องการรถเข็น เพราะตอนนี้รถเข็นที่ได้มาจากการช่วยเหลือเมื่อหลายปีก่อนเริ่มพังหลังจากใช้มานาน พระธรรมทูตจึงตกปากรับคำว่าจะหาช่องทางดำเนินการต่อให้เพื่อเป็นขวัญ กำลังใจของคนไทยพุทธด้วยกัน

แต่หลังจากติดตามประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ผ่านไปหลายเดือน พระครูอมรธรรมโชติ เจ้าอาวาสวัดตลิ่งชัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังถึงเหตุการณ์เมื่อไม่กี่วันก่อนว่า ท่านได้ส่งพระธรรมทูตอาสาลงไปมอบข้าวของเครื่องใช้แก่โยมตา และได้ฟังโยมพูดถึงเรื่องคราวก่อนที่พระธรรมทูตรับปากว่าจะหารถให้แต่เห็นเงียบไป ก็คงจะเหมือนหน่วยงานอื่นที่มาเยี่ยม ถ่ายรูป ให้ความหวัง แล้วก็หายไป โยมพูดว่า “คงเหมือนกันๆ นั่นละ โยมปลงแล้ว”

เราจึงปรึกษากันถึงเหตุการณ์นี้อีกครั้งแม้จะมีความพยายามติดตามให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยเหลือ แต่ก็ยังคงมีคนอื่นที่ต้องการอีกมาก การรอต่อไปก็อาจทำร้ายจิตใจ ซ้ำเติมชีวิตของโยมที่ทุกข์อยู่แล้วให้มากขึ้น เราจึงคิดร่วมบุญกัน เพื่อซื้อรถเข็นในครั้งนี้ เพราะชาวพุทธถ้าไม่ดูแลกันก็อย่าหวังรอให้ใครมาดูแล ถ้าเราจะรวมกันก็ต้องสนใจปัญหาของกันและกัน เราจึงพร้อมใจกันลงพื้นที่ทันที

พอพระธรรมทูตอาสาเดินทางไปถึง โยมยิ้มต้อนรับและนำน้ำมาถวาย น้องดังนอนอยู่บนรถตบมือน้อยๆ ส่งเสียงบ่งบอกถึงความดีใจ การพูดคุยสอบถามเรื่องราวเป็นไปไม่นานเพื่อบอกเจตนาที่มาครั้งนี้ เนื่องจากต้องการให้โยมสบายใจว่าเราไทยพุทธไม่ทิ้งกัน จึงพาไปที่ร้านขายรถเข็น ให้โยมเลือกคันที่พอใจ ดูโยมดีใจและสมหวังกับการรอคอย ความหวังที่บางครั้งดูยากเหลือเกิน แต่บทจะง่ายก็ง่าย นั่นเป็นเพราะว่าถ้าเรามั่นคง อดทน เชื่อมั่นในความดี เราจะพบผลแห่งความดีเสมอ เป็นอีกครั้งที่พระธรรมทูตได้เป็นเหตุแห่งความสุขเล็กๆ ของชาวพุทธด้วยกัน

 พระเยียวยาเมื่อยามทุกข์

ในอีกพื้นที่หนึ่ง ...“เพิด” หนุ่มน้อยอายุ ๓๐ กว่าปีหน้าตาเป็นมิตร ไม่ใส่เสื้อ เดินยิ้มออกมาจากบ้าน มือพนมขึ้นเหนือศีรษะ เมื่อพระเดินเข้ามา ดูท่าทีบ่งบอกว่าเพิดไม่ปกติเหมือนคนทั่วไป สมองจะช้ากว่า ยายใจซึ่งเป็นคุณแม่เล่าว่า เพิดเป็นลูกคนเดียว ตอนคลอดขาออกมาก่อน เลยเป็นแบบนี้ เรียนก็ต้องออกแค่ ป.๒ เขียนชื่อตัวเองได้เท่านั้น

แต่เพิดกลับมีสิ่งที่ผู้ใหญ่ต่างชื่นชมคือความรับผิดชอบต่องานที่ศูนย์สาธิตเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนบ้านป่าศรี อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี และความรักต่อคุณพ่อพัน อายุ ๗๐ ปีที่เป็นอัมพฤกษ์ โดยทุกวันหลังจากทำงานเพิดจะถามพ่อเสมอว่า พ่อกินข้าวหรือยัง 

แม้พ่อจะกินแล้วแต่จะตอบ “ยัง” เพื่อลองใจลูก 

เพิดก็จะหายเข้าไปเพื่อทำกับข้าวให้พ่อเสมอ

ยายใจผู้เป็นแม่เล่าเรื่องนี้ให้ฟังหลังจากพระธรรมทูตอาสา ๕ ชายแดนใต้ เดินทางมาถึงราวๆ ๖ โมงเย็น โยมบอกรอตั้งแต่บ่ายโมง “แม้จะเย็น จะค่ำ โยมก็รอได้ รอมานาน แค่เห็นก็ดีใจ เพราะไม่มีใครมาเยี่ยมนานมาแล้ว”

บ้านยายใจอยู่ไม่ไกลจากวัดป่าศรีมากนัก ทางเดินปกคลุมไปด้วยหญ้าและป่า ช่วงนี้คนเป็นไข้ป่า (มาลาเรีย) ยายเลยสงสัยว่าจะมาติดตาพัน เพราะปกติตาจะชอบพูด แต่วันนี้ตาตัวร้อนนอนเงียบ

ปีนี้ยายอายุ ๖๓ ปีแล้วเล่าว่า ตั้งแต่ตาเป็นอัมพฤกษ์ ยายต้องรับภาระหนักขึ้น ทั้งต้องรับจ้างกรีดยาง อีกทั้งยังต้องเป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) อาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน (อรบ.) ทุกๆ วันเมื่อเข้าเวร ชรบ.เสร็จประมาณตี ๑ ก็จะไปกรีดยางต่อจนถึงเช้า

งานหนึ่งทำเพื่อดูแลครอบครัว อีกงานทำเพื่อปกป้องชาวไทยพุทธ ถ้าดูจากอายุที่มากแต่ยังทำงานหนักขนาดนี้ได้ ยายไม่ได้สนใจตัวเอง แต่ห่วงครอบครัว ห่วงวัด ห่วงชุมชน 

“ยายขอใช้ชีวิตเพื่อชดใช้กรรมที่เคยทำมา” ยายพูดพร้อมน้ำตา

เรามอบข้าวของเครื่องใช้และสวดมนต์ให้พ่อพันที่นอนป่วยอยู่ไม่อาจรับฟังถ้อยคำอะไรได้ดีไปกว่าเสียงสวดมนต์ และเพิดที่ไม่ค่อยปกติได้รับรู้ความสงบจากการฟังเสียงสวดมนต์ ทั้งคู่นิ่งสงบฟังอยู่นานทีเดียว ส่วนยายใจก็ดูนั่งฟังเงียบ เมื่อสวดจบ ยายใจสีหน้ามีความสุข เพราะการรอนั้นเต็มไปด้วยความหวัง ตอนนี้สำเร็จแล้วทุกอย่างด้วยปีติสุขจากการฟังสวดมนต์

นั่นเป็นสิ่งเล็กๆ ที่งดงามด้วยความดีที่เกิดจากการลงพื้นที่ “เยี่ยมพระพบปะโยม” ของพระธรรมทูต ๕ จังหวัดชายแดนใต้ทุกรูปที่่ได้ร่วมกันทำมาจนถึงทุกวันนี้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ