Lifestyle

พระหลวงปู่ทวด “เนื้อทองคำ”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้ ไม่ได้หมายความว่า “ไม่มี”

เมื่อกว่า ๕๐ ปีก่อน การสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวดนั้น ผู้จัดสร้างและวัดก็มิได้มีปัจจัยมากนักจึงมักจะสร้างพระเครื่องเนื้อโลหะซึ่งมีต้านทุนที่ถูก หากใครอยากได้พระทองคำก็มักจะนำทองคำมาหลอมเอง

ประวัติการสร้างพระหลวงปู่ทวดเนื้อทองคำอย่างชัดเจน คือ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๘ เป็นต้นมา ด้วยเหตุที่วัดมีทุนในการจัดสร้าง ส่วนพระหลวงปู่ทวดเนื้อทองคำที่สร้างระหว่าง พ.ศ.๒๕๐๐-พ.ศ.๒๕๐๗ นั้น วัดได้เปิดโอกาสให้คหบดีและลูกศิษย์สามารถเอาเนื้อทองคำมาหล่อเองได้ ซึ่งสมัยนั้นมีคหบดีภาคใต้หลายรายได้นำทองไปหล่อและเก็บไว้บูชาเองไม่ได้ออกจำหน่ายทั่วไป ดังนั้นสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวดหลายรุ่นจึงมักปรากฏพระหลวงปู่ทวดทองคำจำนวนไม่มากอยู่เสมอ

พระหลวงปู่ทวด “เนื้อทองคำ”

ทั้งนี้ หลวงอำนวย หรือพระอำนวย นนทิโย พระลูกศิษย์ใกล้ชิดของพระครูวิสัยโสภณ หรือพระอาจารย์ทิม ธรรมธโร แห่งวัดช้างให้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เคยให้สัมภาษณ์ว่า

“มีการสร้างพระหลวงปู่ทวดทองคำเอาไว้จำนวนหนึ่งจริงเห็นกับตา พระทองคำส่วนหนึ่งจะจัดสร้างขึ้นเป็นพิเศษนอกเหนือจากการสร้างพระตามรายการที่แจ้งเพื่อมอบให้คหบดีหรือผู้ที่บริจาคเงินจำนวนมากเพื่อตอบแทนน้ำใจที่มีส่วนช่วยบูรณะวัด”

ในการจัดสร้างพระหลวงปู่ทวดรุ่นเลขใต้ฐาน (เบตง) เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ ก็เช่นกัน มีการจัดสร้างพระเกินมาจำนวนหนึ่ง เผื่อเหลือเผื่อขาด ก่อนจะมีการตอกเลขใต้ฐาน ๑-๙๙๙ เป็นเนื้อนวโลหะ ให้ผู้มีจิตศรัทธาทั่วๆ ไปเช่าแต่ก็มีพระที่หล่อจากทองคำแท้ๆ จำนวนหนึ่งซึ่งคาดว่าจะสร้างเป็นพิเศษเพียง ๙ องค์ ตอกเลขใต้ฐานแบบเดียวกันเพื่อสมนาคุณหรือตอบแทนผู้มีอุปการคุณหรือชนชั้นสูงเป็นกรณีพิเศษในการช่วยบูรณะวัดช้างให้

พระหลวงปู่ทวด “เนื้อทองคำ”

การสร้างพระเนื้อทองคำนั้น ต้องยอมรับว่าตั้งแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้การทำพระพิมพ์ทองคำเพิ่มเติมเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่จะไม่เห็นข่าวปรากฏสู่สาธารณะ ก็อย่างที่บอกว่า “ไม่เคยเห็น ไม่ได้แปลว่าไม่มี” การไปด่วนฟันธงว่าพระหลวงปู่ทวดไม่มีเนื้อทองคำหรือเนื้ออื่นนั้น ผู้เขียนอาจจะกลายเป็นกบในกะลาโดยไม่รู้ตัว

อย่างไรก็ตาม ในโลกของข้อมูลข่าวสารในยุคปัจจุบัน มีทั้งข่าวเท็จข่าวลวง ข่าวจริงคละกันไปผู้อ่านต้องใช้วิจารณญานในการไตร่ตรองเหตุผลให้ดีเพราะการที่นักเขียนบางคนอวดอุตริยัดเยียดความเชื่อ ส่วนตัวให้ผู้อ่านหลงเชื่ออาจเข้าตำราตาบอดคลำช้าง

การศึกษาและสะสมพระเครื่องนั้น พึงระลึกอยู่เสมอว่า “มีสติไม่เสียสตางค์” การหาข้อมูลและประวัติศาสตร์การสร้างเป็นสิ่งสำคัญ หากเราศึกษาข้อมูลด้านเดียวจากเซียนพระกลุ่มเดียวกัน ย่อมได้ข้อมูลน้อยกว่าการศึกษาความรู้จากเซียนพระทุกๆ กลุ่ม เซียนพระมักพูดเสมอๆ ว่า “เงินแท้ พระต้องแท้ด้วย” แต่ในความเป็นจริงแล้ว “เงินแท้ พระไม่แท้มีอยู่เยอะมาก”

สำหรับผู้ที่มีพระหลวงปู่ทวดที่เคยผ่านการประกวดพระหลายสนาม อยากให้ลองไปส่งประกวด วันอาทิตย์ที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๐ สมาคมพระเครื่องเมืองไทย ซึ่งมีนายเติมศักดิ์ ปิยะมณีพร หรือ เปี๊ยก ปากน้ำ เป็นนายกสมาคม จะจัดงาน ณ ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (โซนเอ) ต่อไปนี้คำพูดที่ว่า “พระแท้ทุกสนาม ทุกตาเซียน” คงต้องเปลี่ยน “พระแท้ต้องแท้ทุกสมาคม”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ