Lifestyle

ที่สุดแห่งรัตนโกสินทร์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“พระ ๒๕ พุทธศตวรรษ” โดย - ไตรเทพ ไกรงู เรื่อง กฤชนันท์ ธรรมไชย ภาพ

พุทธมณฑล เป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา อยู่ใน ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม มีเนื้อที่ ๒,๕๐๐ ไร่ สร้างขึ้นเพื่อฉลองวาระกึ่งพุทธกาล และเพื่อให้เป็นศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนาในเมืองไทย เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ ทั้งนี้เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ได้ดำริจัดสร้างปูชนียสถานเพื่อเป็นพุทธบูชาและเป็นพุทธานุสรณียสถาน เนื่องในโอกาสมหามงคลกาลที่พระพุทธศักราชเวียนมาบรรจบครบ ๒,๕๐๐ ปี

เพื่อหารายได้สร้างพุทธมณฑลที่ศาลายา จ.นครปฐม จึงมีการจัดสร้าง “พระเครื่อง ๒๕ พุทธศตวรรษ” ถือว่าสุดยอดแห่งประวัติศาสตร์ของวงการพระเครื่อง พิธีจัดสร้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีตั้งแต่กรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีมาจนถึงปัจจุบัน ไม่มีพิธีใดจะยิ่งใหญ่เท่า มีพระเกจิอาจารย์ร่วมสมัยจำนวนมาก เรียกว่ารูปใดดังมีชื่อเสียงในสมัยนั้นก็นิมนต์มาปลุกเสกทุกวัด สมัยนั้นใครที่ไปติดต่อราชการที่อำเภอหรือจังหวัด จะต้องทำบุญเช่าพระ พระเครื่อง ๒๕ พุทธศตวรรษ สมัยก่อน ๑ องค์ ๕ บาท ทำให้คนไทยเกือบทุกบ้านมีพระรุ่นนี้กันอย่างทั่วถึง

ที่สุดแห่งรัตนโกสินทร์

เนื่องจากจำนวนสร้างพระผง ผสมด้วยเกสรดอก ๑๐๘ ชนิด มีการจัดสร้างจำนวน ๒,๔๒๑,๒๕๐ องค์ และเนื้อดิน จากหน้าพระอุโบสถพระอารามต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร และของพระอาจารย์ต่างๆ ที่สร้างไว้แต่โบราณกาล ได้ส่งมาผสมเป็นมวลสารในการสร้างพระในครั้งนี้ด้วย มีการจัดสร้าง จำนวน ๒,๔๒๑,๒๕๐ องค์ รวมทั้ง ๒ เนื้อ ๔,๘๔๒,๕๐๐ องค์ ทำให้ พระเครื่อง ๒๕ พุทธศตวรรษ บางเนื้อยังคงมีเหลืออยู่ที่พุทธมณฑล ในขณะเดียวกัน พระ ๒๕ พุทธศตวรรษ ในตลาดพระก็ยังมีการเช่าบูชากันในราคาที่ไม่แพงนัก ยกเว้นพระเนื้อพิเศษ เช่น เนื้อทองคำ เนื้อเงิน หรือหรือดินเผาสีแปลกๆ องค์สวยคมชัดมาก ก็อาจจะมีราคาแพงกว่าองค์ธรรมดา

การจัดสร้างพระเครื่อง ๒๕ พุทธศตวรรษ ถือว่าสุดยอดแห่งประวัติศาสตร์ของวงการพระเครื่อง พิธีจัดสร้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีตั้งแต่กรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีมาจนถึงปัจจุบัน ไม่มีพิธีใดจะยิ่งใหญ่เท่า เนื่องด้วยพิธีที่ยิ่งใหญ่ เจตนาและวัตถุประสงค์ในการสร้างที่ดี ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์สร้างพุทธมณฑล เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๙๘ และเสด็จฯ ไปทรงเททองหล่อพระพุทธรูปจำลอง “พระพุทธปฏิมาประธานพุทธมณฑล” รวมทั้งทรงกดพระพิมพ์พระเครื่อง ๒๕ พุทธศตวรรษ เนื้อดินผสมเกสร จำนวน ๓๐ องค์ ณ มณฑลพิธีวัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐

พิธีมหาพุทธาภิเษกพระเครื่อง ๒๕ พุทธศตวรรษ มีพระเกจิอาจารย์ร่วมสมัยจำนวนมาก เรียกว่ารูปใดดังมีชื่อเสียงในสมัยก็นิมนต์มาปลุกเสกทุกวัด เช่น หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ พระครูพิศิษฐ์อรรถการ (พ่อท่านคล้าย) วัดสวนขัน จ.นครศรีธรรมราช หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จ.พระนครศรีอยุธยา หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม จ.นครปฐม หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม พระครูทิวากรคุณ (หลวงปู่กลีบ) วัดตลิ่งชัน พระครูโสภณกัลยานุวัตร (หลวงพ่อเส่ง) วัดกัลยาณมิตร พระเครื่อง ๒๕ พุทธศตวรรษจึงขึ้นชื่อว่าน่าใช้ น่าเก็บ และน่าหามาบูชาอย่างยิ่ง

พิมพ์พระ ๒๕ พุทธศตวรรษ

ในเอกสารงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ วันที่ ๑๒-๑๘ พฤษภาคม ๒๕๐๐ ระบุไว้ว่า พระเนื้อชิน มีการจัดสร้างจำนวน ๒,๔๒๑,๒๕๐ องค์ ประกอบด้วย พลวง ดีบุก ตะกั่วดำ ผสมด้วยนวโลหะ คือ ชินหนัก ๑ บาท เจ้าน้ำเงินหนัก ๒ บาท เหล็กละลายตัวหนัก ๓ บาท บริสุทธิ์หนัก ๔ บาท สังกะสีหนัก ๖ บาท ทองแดงหนัก ๗ บาท เงินหนัก ๘ บาท และทองคำหนัก ๙ บาท ตลอดจนแผ่นทองแดง ตะกั่ว เงิน ที่พระอาจารย์ต่างๆ เกือบทั่วราชอาณาจักรได้ลงเลขยันต์ส่งมาให้ รวมทั้งเศษชนวนจากการหล่อพระในแห่งอื่นๆ รวมหล่อผสมลงไปด้วย

ที่สุดแห่งรัตนโกสินทร์

การจัดสร้างพระผง หรือเนื้อดิน มีจำนวน ๒,๔๒๑,๒๕๐ องค์ เช่นกัน โดยผสมด้วยเกสรดอกไม้ ๑๐๘ ชนิด ตลอดจนดินจากหน้าพระอุโบสถพระอารามต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร และผงพุทธาคมต่างๆ รวมทั้งพระผงต่างๆ แบบของโบราณ และของพระอาจารย์ต่างๆ ที่สร้างไว้แต่โบราณกาล ได้ส่งมาผสมเป็นมวลสารในการสร้างพระในครั้งนี้ด้วย รวมพระทั้ง ๒ เนื้อ ๔,๘๔๒,๕๐๐ องค์

ส่วนเนื้อทองคำ มีการจัดสร้างเพียง ๒,๕๐๐ องค์ เพื่อให้สอดคล้องกับปีการจัดสร้าง คือ พ.ศ.๒๕๐๐ ใช้ทองคำหนักประมาณ ๖ สลึง โดยใช้วิธีสั่งจองล่วงหน้า ๑,๐๐๐ บาท ส่วนเงินสมทบทุนจริง ๒,๕๐๐ บาท ทั้งนี้ ผู้สั่งจองชำระเงินอีก ๑,๕๐๐ บาท หรือจะชำระคราวเดียว ๒,๕๐๐ บาทก็ได้

นอกจากนี้มีการจัดสร้างพระเพื่อเป็นการสมนาคุณแก่ผู้ร่วมทำบุญอีกด้วย คือ พระเนื้อทองคำหนัก ๑ บาท อีก ๑๕ องค์ มอบเป็นที่ระลึกแก่ผู้ร่วมทำบุญสมทบทุนสร้างพุทธมณฑล ๑๐,๐๐๐ บาท ในครั้งนั้นมีผู้สมทบทุนสร้าง ๑๕ ราย

ส่วนเนื้อนาก มีการจัดสร้าง ๓๐ องค์ หนัก ๑ บาท เพื่อมอบเป็นที่ระลึกแก่ผู้ทำบุญ ๕,๐๐๐ บาท มีผู้ทำบุญ ๓๐ ราย ในขณะที่ผู้ทำบุญ ๑,๐๐๐ บาท จะได้รับมอบพระเนื้อเงิน ๑ องค์ ปรากฏว่ามีผู้ร่วมทำบุญ ๓๐๐ ราย

การแบ่งพิมพ์ และเนื้อของพระ เริ่มขึ้นเมื่อได้รับความนิยมจากประชาชนแล้วก็เริ่มมีการแบ่งแยก เนื้อพระ และพิมพ์ทรง ให้เป็นเนื้อและพิมพ์นิยมมากขึ้น ซึ่งเนื้อ “ทองดำ นาก เงิน” เป็นที่นิยมมากที่สุดตามลำดับ โดยแบ่ง “เนื้อชิน” ออกเป็น “พิมพ์มีเข็ม” นิยมมากกว่าพิมพ์ “ไม่มีเข็ม” ส่วนด้าน “เนื้อดิน” ก็มีการแยกตามความนิยมออก โดยจัด “เนื้อสีดำ” เป็นเนื้อที่ได้รับความนิยมที่สุด จากนั้นก็จัด “เนื้อโทนสีช็อกโกแลต” ได้รับความนิยมรองลงมา และ “เนื้อแร่” ก็ได้รับความนิยมในระดับเดียวกับ “เนื้อช็อกโกแลต” ส่วนเนื้ออื่นๆ ก็ได้รับความนิยมรองลงมา

ขอบคุณข้อมูลภาพจาพ “WWW.SOONPRARATCHADA.COM”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ