Lifestyle

พระสมเด็จจิตรลดา พิมพ์เล็ก-พิมพ์ใหญ่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พระกำลังแผ่นดินที่ “ในหลวง ร.๙ ทรงกดพิมพ์ทุกองค์” โดย - ไตรเทพ ไกรงู

พระสมเด็จจิตรลดา หรือ พระกำลังแผ่นดิน เป็นพระเครื่องทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ขอบองค์พระด้านหน้าทั้ง ๓ ด้าน เฉียงป้านออกสู่ด้านหลังเล็กน้อย มี ๒ ขนาดพิมพ์ คือ พิมพ์เล็ก กว้าง ๑.๒ เซนติเมตร สูง ๑.๙ เซนติเมตร และพิมพ์ใหญ่ กว้าง ๒.๐ เซนติเมตร สูง ๓.๐ เซนติเมตร มีหลายสี ตามมวลสารที่ใช้ผลิตในแต่ละครั้งแตกต่างกัน ได้แก่ สีน้ำตาล สีน้ำตาล-อมเหลือง สีน้ำตาล-อมแดงคล้ายเทียน สีดำอมแดง หรือ สีดำอมเขียว มีทั้งสีเข้มและอ่อน

พุทธลักษณะพระสมเด็จจิตรลดา เป็นพระปางสมาธิ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พระพักตร์ทรงผลมะตูม องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิราบเหนือบัลลังก์ดอกบัว ประกอบด้วย กลีบบัวบานทั้ง ๙ กลีบ และเกสรดอกบัว ๙ จุด อยู่ในกรอบสามเหลี่ยมหน้าจั่ว มีลักษณะละม้ายคล้ายกับพระพุทธนวราชบพิตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานประจำทุกจังหวัดและหน่วยทหาร แต่ต่างกันที่ พระพุทธนวราชบพิตร เป็นพระปางมารวิชัย

มวลสารของพระสมเด็จจิตรลดา ประกอบด้วย เรซิ่น และผงพระพิมพ์ โดยทรงนำมาบดเป็นผง รวมกับเส้นพระเจ้า คลุกกับกาวเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วกดเป็นองค์พระด้วยพระหัตถ์ โดยทรงใช้เวลาตอนดึกหลังทรงงาน มีเจ้าพนักงาน ๑ คน คอยถวายพระสุธารส และหยิบสิ่งของถวาย ทั้งนี้ มี ศ.ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการบำนาญกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทในงานด้านประติมากรรม เป็นผู้แกะแม่พิมพ์ ถวายเพื่อทรงพระราชวินิจฉัย แก้ไข จนเป็นที่พอพระราชหฤทัย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงสร้างพระสมเด็จจิตรลดา พิมพ์เล็ก สำหรับพระราชทานแก่เด็ก มีจำนวน ๔๐ องค์ โดย ๔ องค์แรก พระราชทานแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ทั้งสี่พระองค์ ฉะนั้นจึงมีเพียง ๓๖ องค์เท่านั้น ที่อยู่ในความครอบครองของพสกนิกร และตามประวัติมีการพระราชทานเพียง ๒ ปีเท่านั้น คือ ระหว่าง พ.ศ.๒๕๐๘-๒๕๐๙

พระสมเด็จจิตรลดา เป็นพระที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่พสกนิกรผู้ประกอบแต่กรรมดีแก่ประเทศชาติ โดยมิได้ทรงเลือกชั้นวรรณะ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นายทหาร นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หรือชั้นผู้น้อย จนมาถึงคนขับรถ คนสวน แม่ครัว และบรรดาข้าราชการทหารที่ไปร่วมรบในสมรภูมิต่างๆ เช่น เวียดนามและลาว ผู้บังคับบัญชาในระดับสูงจะทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานแก่นายทหารเหล่านั้นในจำนวนที่ไม่มากนัก ซึ่งจะทรงพระราชวินิจฉัยด้วยพระองค์เองว่าจะมีพระราชทานหรือไม่ จำนวนเท่าใด

คำว่า “พระกำลังแผ่นดิน” นั้น เข้าใจว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผู้ขนานพระนามตามพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คำว่า “ภูมิ” แปลว่า “แผ่นดิน” ส่วนคำว่า “พล” แปลว่า “กำลัง” จึงเป็นที่มาของพระนาม “พระสมเด็จจิตรลดา” ว่า “พระกำลังแผ่นดิน”

สำหรับภาพพระสมเด็จจิตรลดาพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็กทั้ง ๓ องค์นี้ เป็นของนายสุขธรรม ปานศรี หรือ “เฮียกุ่ย” เจ้าของ WWW.SOONPRARATCHADA.COM โทร.๐๘-๑๘๑-๗๗๗๗๗

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ