Lifestyle

๙ เหรียญกษาปณ์บนแผ่นดินรัชกาลที่ ๙

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไตรเทพ ไกรงู เรื่อง กชพรรณ ธรรมชัย ภาพ

    เหรียญกษาปณ์ เป็นเงินตราหมุนเวียนที่ประชาชนใช้ในการจับจ่ายแลกเปลี่ยนซื้อสินค้าที่มีราคาไม่สูงนัก ซึ่งเป็นของทั่วๆ ไป เช่น เครื่องดื่ม อาหาร หรือค่าโดยสารในการเดินทาง หากเป็นจำนวนเงินมากกว่านั้นจะใช้จ่ายโดยธนบัตร

    เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ตลอดรัชกาลนั้น นายศราวุฒิ วรพัทธ์ทวีโชติ หรือ"คุณเจมส์” เจ้าของกิจการร้าน Siam Coin & Antiques “ร้านกษาปณ์เมืองสยาม” หรือ “ร้าน Siamcoin” และเลขานุการสมาคมเหรียญที่ระลึกไทย ให้ข้อมูล “คม ชัด ลึก” ว่า ตลอดรัชสมัยได้ผลิตเหรียญกษาปณ์ออกมาทั้งสิ้น ๙ รุ่น รุ่นแรกออกเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓ และรุ่นสุดท้ายคือรุ่นที่ ๙ ผลิตใช้ระหว่างพ.ศ.๒๕๕๑ ถึง พ.ศ.๒๕๕๙ ซึ่งรุ่นสุดท้ายนี้เป็นเรื่องแปลกและบังเอิญที่ รุ่นสุดท้ายนี้มีเหรียญกษาปณ์ทั้งสิ้น ๙ ชนิดราคา คือ

๙ เหรียญกษาปณ์บนแผ่นดินรัชกาลที่ ๙

          ๑.สิบบาท ๒.ห้าบาท ๓.สองบาท ๔.หนึ่งบาท ๕.ห้าสิบสตางค์ ๖.ยี่สิบห้าสตางค์ ๗.สิบสตางค์ ๘.ห้าสตางค์ ๙.หนึ่งสตางค์ ซึ่งในชุดแรกที่ออกในปี ๒๔๙๓ หรือเมื่อ ๖๖ ปีก่อน มีออกมา ๕ ชนิดราคา แต่ผลิตใช้จริง คือ ๑.ห้าสิบสตางค์ ๒.ยี่สิบห้าสตางค์ ๓.สิบสตางค์ และ ๔.ห้าสตางค์ สำหรับชนิดราคาหนึ่งบาท ผลิตออกมาเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น เนื่องจากในยุคนั้นจะใช้ธนบัตรชนิดราคา ๑ บาท อยู่

        “หากจะมีใครสักคนเก็บสะสมเหรียญกษาปณ์รัชกาลที่ ๙ ตั้งแต่อายุ ๑๐ปี กว่าจะเก็บครบจนถึงเหรียญสุดท้ายที่ออกในปี ๒๕๕๙ ซึ่งใช้เวลายาวนาน ๖๖ ปี จะเก็บจนครบชุดเมื่อตอนอายุราว ๗๖ ปี ซึ่งนานมากอาจจะเกือบถึงหนึ่งชั่วชีวิตของคนเลยทีเดียว” คุณเจมส์กล่าว

๙ เหรียญกษาปณ์บนแผ่นดินรัชกาลที่ ๙

   จากข้อมูลของกรมธนารักษ์ในเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๕๙ มีเหรียญกษาปณ์ที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจอยู่ทั้งสิ้นดังนี้ คือ ๑.เหรียญสิบบาท ประมาณ ๑,๘๘๖ ล้านเหรียญ ๒.เหรียญห้าบาท ประมาณ ๓,๒๗๒ ล้านบาท ๓.เหรียญ ๒ บาท ประมาณ ๑,๖๙๕ ล้านบาท ๔.เหรียญ ๑ บาท ประมาณ ๑๕,๔๐๐ ล้านบาท

๕.เหรียญ ๕๐ สตางค์ ราว ๒,๔๙๐ ล้านเหรียญ ๖.เหรียญ ๒๕ สตางค์ ประมาณ ๓,๔๘๖ ล้านเหรียญ ส่วนเหรียญ ๑๐ สตางค์, ๕ สตางค์ และ ๑ สตางค์ มีอยู่ในระบบอย่างละ ๖ ล้านเหรียญ รวมเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนทุกชนิดในระบบเศรษฐกิจ มีมูลค่า ๕๖,๒๑๕ ล้านบาท และเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกอีกราว ๖,๔๗๐ ล้านบาท ที่หมุนเวียนในระบบ

๙ เหรียญกษาปณ์บนแผ่นดินรัชกาลที่ ๙

สำหรับเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนที่ ๙ รุ่น บนแผ่นดินรัชกาลที่ ๙ ประกอบด้วย

๑.เหรียญรุ่นแรก ผลิตออกใช้ระหว่าง พ.ศ.๒๔๙๓-๒๔๙๗ ผลิตด้วยโลหะ ๓ ชนิด คือ เนื้อนิเกิ้ล, ทองเหลือง (อะลูมิเนียมบรอนซ์) และเนื้อดีบุก ทั้งหมด ๕ ชนิดราคา คือ หนึ่งบาท (เหรียญตัวอย่าง), ๕๐ สตางค์, ๒๕ สตางค์, ๑๐ สตางค์, ๕ สตางค์มีจำนวนการผลิตทั้งสิ้นทุกแบบ รวมกันราว ๘๔ ล้านเหรียญ

๒.เหรียญกษาปณ์รุ่นที่ ๒ ผลิตออกใช้ พ.ศ.๒๕๐๐ ผลิตด้วย โลหะ ๔ ชนิด คือ เนื้อนิเกิ้ลผสมเงิน, ทองเหลือง (อะลูมิเนียมบรอนซ์), เนื้อทองแดง และดีบุก ทั้งหมด ๕ ชนิดราคา คือ หนึ่งบาท, ๕๐ สตางค์, ๒๕ สตางค์, ๑๐ สตางค์, ๕ สตางค์ มีจำนวนการผลิตทั้งสิ้นทุกแบบรวมกัน ราว ๑,๑๔๐ ล้านเหรียญ

๙ เหรียญกษาปณ์บนแผ่นดินรัชกาลที่ ๙

๓.เหรียญกษาปณ์รุ่นที่ ๓ ผลิตออกใช้ พ.ศ.๒๕๐๕ ผลิตเพียงชนิดราคาเดียวคือ หนึ่งบาท เนื้อนิเกิ้ล มีพบสามแม่ตรา จำนวนการผลิตราว ๘๘๓ ล้านเหรียญ

๔.เหรียญกษาปณ์รุ่นที่ ๔ ผลิตออกใช้ระหว่าง พ.ศ.๒๕๑๕-๒๕๑๗ เหรียญรุ่นนี้ผลิตเพียง ๒ ชนิดราคา คือ เหรียญห้าบาท ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศที่ผลิตเหรียญชนิดราคาห้าบาท ในปี ๒๕๑๕, เหรียญบาท ผลิตในปี ๒๕๑๗ ทำด้วยเนื้อนิเกิ้ล จำนวนการผลิตทั้งสองแบบราว ๒๗๙ ล้านเหรียญ

๕.เหรียญกษาปณ์รุ่นที่ ๕ ผลิตออกใช้ระหว่าง พ.ศ.๒๕๒๐-๒๕๒๒ เหรียญรุ่นนี้ผลิต ๔ ชนิดราคาคือ ห้าบาท (ครุฑเฉียง) จำนวนการผลิตราว ๙๙.๙๙ ล้านเหรียญ, หนึ่งบาท (เรือหงส์) จำนวนการผลิต ๕๐๖ ล้านเหรียญ, ๕๐ สตางค์ (รวงข้าว) จำนวน ๑๒๒ ล้าน, ๒๕ สตางค์ (รวงข้าว) จำนวน ๑๘๓ ล้าน รวมทั้งสี่แบบ ผลิตมาราวๆ ๙๐๐ ล้านเหรียญ

๙ เหรียญกษาปณ์บนแผ่นดินรัชกาลที่ ๙

๖.เหรียญกษาปณ์รุ่นที่ ๖ ผลิตออกใช้ระหว่างพ.ศ. ๒๕๒๕-๒๕๒๙ เหรียญรุ่นนี้มีสองพิมพ์คือ พระเศียรธรรมดา กับพระเศียรเล็ก ผลิต ๒ ชนิดราคาคือ ห้าบาท (ครุฑตรง) จำนวนการผลิตราว ๒๖ ล้านเหรียญ, หนึ่งบาท (วัดพระแก้ว) จำนวนการผลิต ๒๕๗ ล้านเหรียญ ๗.เหรียญกษาปณ์รุ่นที่เจ็ด ปี ๒๕๒๙-๒๕๕๑ ผลิตด้วยโลหะ ๔ ชนิดคือ นิเกิ้ลสอดไส้ทองแดง, นิเกิ้ล, อะลูมิเนียม และอะลูมิเนียมบรอนซ์ (สีทอง) ทั้งหมด ๘ ชนิดราคาคือ ๑๐ บาท (๒๕๓๑-๒๕๕๑), ๕ บาท เรือหงส์ (๒๕๓๐-๒๕๓๑) และ ๕ บาท วัดเบญจฯ (๒๕๓๑-๒๕๕๑), ๑ บาท, ๕๐ สตางค์, ๒๕ สตางค์, ๑๐ สตางค์, ๕ สตางค์, ๑ สตางค์

๘.เหรียญกษาปณ์รุ่นที่ ๘ ผลิตออกใช้ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๘-๒๕๕๐ มีเหรียญกษาปณ์ชนิดราคา ๒ บาท สีเงินอย่างเดียว โดยผลิตจากเหล็กเคลือบชุบด้วยนิเกิ้ล ซึ่งสร้างความสับสนกับเหรียญบาทเพราะมีสีเงินเหมือนกัน โดยเปลี่ยนแบบพระบรมรูปรัชกาลที่ ๙ เล็กน้อย และเปลี่ยนชนิดของโลหะเป็นอะลูมิเนียมบรอนซ์ (สีทอง)

๙.เหรียญกษาปณ์รุ่นที่ ๙ ผลิตออกใช้ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๕๑-๒๕๕๙ ผลิตด้วยโลหะ ๔ ชนิดคือ นิเกิ้ลสอดไส้ทองแดง, นิเกิ้ล, อะลูมิเนียม และอะลูมิเนียมบรอนซ์ ทั้งหมด ๙ ชนิดราคา คือ ๑๐บาท, ๕ บาท, ๒ บาท, ๑ บาท, ๕๐ สตางค์, ๒๕ สตางค์, ๑๐ สตางค์, ๕ สตางค์ และ ๑ สตางค์

คุณเจมส์ ยังบอกด้วยว่า จำนวนการผลิตเหรียญรัชกาลที่ ๙ นั้นในรุ่นที่ ๗ ถึงรุ่นที่ ๙ ทุกแบบ จำนวนรวมกันหลายพันล้านเหรียญก็จริงแต่เหรียญที่สวยและไม่มีรอยเลย นั้นไม่ใช่สิ่งที่หาได้ง่ายๆ เช่นเดียวกันในเดือนกันยายน ปี ๒๕๕๙ มีเหรียญ ๑๐ บาทที่หมุนเวียนในระบบ ๑,๘๘๖ ล้านเหรียญ ซึ่งแน่นอนว่าร้อยละกว่า ๙๙% เป็นเหรียญที่ผ่านการใช้งานมาบ้างไม่มากก็น้อยเพียง ๑% เท่านั้นที่จะเป็นเหรียญสูงค่าในอนาคต

ส่วนสุดยอดเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนของรัชสมัยรัชกาลที่ ๙ ที่หายากและมีราคาสูงที่สุดนั้น คุณเจมส์ได้จัดไว้ ๕ ลำดับ ซึ่งจัดตาม เฉพาะเหรียญที่มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายกันจริงในวงการสะสมในปัจจุบันเท่านั้น โดยมีลำดับดังนี้

๑.เหรียญ ๑๐ บาท พ.ศ.๒๕๓๓ เหรียญ ๑๐ บาทสองสี เริ่มผลิตมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๑ สำหรับเหรียญรุ่นนี้ผลิตมาเพื่อจัดเข้าแผงเหรียญของ พ.ศ.๒๕๓๓ สำหรับแจกเป็นของที่ระลึกให้ผู้แทนประเทศต่างๆ ในการประชุมเอ็นบีซี ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งผลิตออกมาเพียง ๑๐๐ เหรียญเท่านั้น และในวงการรับรู้กันว่ามีอยู่กันแค่เพียง ๖ ถึง ๗ เหรียญ ในมือของนักสะสม ล่าสุดมีการเปลี่ยนมือกันที่ราคา ๕๐๐,๐๐๐ บาท

๒.เหรียญบาทตัวอย่างผลิต พ.ศ.๒๔๙๓ เหรียญบาทตัวนี้นับเป็นเหรียญบาทรุ่นแรกที่ผลิตในสมัยรัชกาลที่ ๙ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓ แต่ไม่ได้นำมาใช้ เป็นการผลิตมาเป็นเพียงแค่ตัวอย่างเท่านั้น มีการประมูลเหรียญนี้ในเดือนสิงหาคม จบที่ราคาสี่แสนสามหมื่นบาท และนอกงานประมูลอีก ๒ เหรียญ มีหนึ่งเหรียญที่สวยมากที่สุดในวงการจบที่ราคา ๕๐๐,๐๐๐ บาท เหรียญรุ่นนี้ปัจจุบันพบในวงการแค่เพียง ๓ ถึง ๔ เหรียญเท่านั้น

๓.เหรียญห้าบาทตัวอย่าง ผลิต พ.ศ.๒๕๑๕ เหรียญห้าบาทรุ่นนี้ ในวงการเรียกเหรียญห้าบาทเก้าเหลี่ยม ซึ่งในครั้งนั้นผลิตออกมาทั้งสิ้น ๔ แบบ มี ๒ แบบที่ไม่ได้ผลิตออกมาใช้หมุนเวียน ซึ่งสังเกตได้ว่าด้านหลังจะเป็นสัญลักษณ์ตรา “พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์” (ข้อมูลจากหนังสือกษาปณ์เมืองสยาม เขียนโดย นพ.ไชยยศ พงศ์จารุสถิต)

ส่วนเหรียญหมุนเวียนปกติจะเป็นตรา “พระครุฑพ่าห์” หรือที่เรียกกันว่า “ตราครุฑ” เหรียญรุ่นนี้มีด้านหน้าเหรียญสามแบบ สำหรับเหรียญตัวอย่างมีสองแบบ พบจำนวนไม่เกินอย่างละ ๔ เหรียญในปัจจุบันราคาประมูลค่าสุด ๓๑๐,๐๐๐ บาท

๔.เหรียญบาทตัวอย่าง พ.ศ.๒๕๐๕ เหรียญบาทที่ผลิตในปี ๒๕๐๕ ผลิตออกมาจำนวนมากถึงราวๆ ๘๘๓ ล้านเหรียญ มีทั้งหมด ๓ พิมพ์ เป็นพิมพ์ตัวอย่างหนึ่งพิมพ์ เหรียญกษาปณ์รุ่นนี้แบบธรรมดา ราคาอยู่ที่ ๓ บาท จนถึง ๑๐๐ บาทสำหรับเหรียญที่สวยๆ แต่หากเป็นเหรียญตัวอย่างที่ปัจจุบันพบราว ๑๕ เหรียญ มีราคา ตั้งแต่ ๑๐๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป ล่าสุดซื้อขายกันที่ราคา ๒๙๐,๐๐๐ บาท จุดสังเกตคือ เหรียญตัวอย่างด้านหน้าพระบรมรูปในหลวงจะต่างจากเหรียญปกติ ด้านหลังมงกุฎตรงตราแผ่นดินจะชี้ตรงตัว ย ยักษ์พอดี

๕.เหรียญ ๒๕ สตางค์ พ.ศ.๒๕๐๐ พิมพ์เล็ก สำหรับเหรียญ ๒๕ สตางค์ พ.ศ.๒๕๐๐ ผลิตมาจำนวนทั้งสิ้นราว ๖๒๐ ล้านเหรียญ จึงไม่ใช่เหรียญหายากแต่อย่างใด ราคาในท้องตลาดตั้งแต่ ๒ บาท ถึง ๒๐ บาท ยกเว้นแต่แบบพิมพ์เล็กที่หาพบเจอน้อยมากๆ คาดว่ามีหมุนเวียนในตลาดและวงการของผู้ที่สะสมเหรียญไม่เกิน ๓๐ เหรียญ โดยเฉพาะเหรียญที่ตีออกมาได้คมชัดมากๆ มีพบแค่ไม่เกิน ๓ เหรียญเท่านั้น ล่าสุดมีการเสนอซื้อขายจบราคาที่ ๑๔๐,๐๐๐ บาท

นอกจากเหรียญดังกล่าวแล้ว เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนที่หายาก ยังมีอีกหลายรุ่นเช่น เหรียญ ๕ บาท พ.ศ.๒๕๒๙, ๒๕๒๔ และปี ๒๕๒๕ แบบพระเศียรเล็ก แต่ไม่ได้มานับรวมใน ๕ ลำดับข้างต้น เนื่องจากไม่เคยมีการซื้อขายกันจริงๆ หรืออาจมีแต่นานเกินกว่า ๒๐ ปีล่วงมาแล้ว บางรุ่นทราบกันว่ามีแต่หายากมากจนแม้แต่ภาพสักเหรียญเดียวก็ไม่มีให้เห็น เช่น เหรียญ ๕ บาทแบบเรือหงส์ ที่ผลิตใน พ.ศ.๒๕๒๙ ซึ่งปัจจุบันนี้จัดอยู่ในอันดับ ๑ ของเหรียญกษาปณ์รัชกาลที่ ๙ ที่หายากมากที่สุด

ขอขอบพระคุณข้อมูลจากคุณสถาพร บุญยเกต นายกสมาคมเหรียญที่ระลึกไทย, หนังสือกษาปณ์เมืองสยาม และคลังข้อมูลจาก Siamcoin.com

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ