Lifestyle

‘ธรรมาศรมธรรมมาตา’ มรดกธรรมจากพุทธทาส ถึงคุณแม่รัญจวน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

‘ธรรมาศรมธรรมมาตา’ มรดกธรรมจากพุทธทาส ถึงคุณแม่รัญจวน : วิปัสสนาบนหน้าข่าว โดยมนสิกุล โอวาทเภสัชช์

                ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๙ เป็นวาระครบรอบ ๑๐๐ วันแห่งการจากไปของ ศาสตราจารย์ อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง จึงขอน้อมระลึกถึงท่านผู้มีจิตที่เข้าถึงพระรัตนตรัยจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๕.๒๐ น. สิริรวมอายุ ๙๔ ปี ๑๑ เดือน 

                และหนึ่งใน “มรดกธรรม” ที่ท่านฝากไว้เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่ลูกผู้หญิงที่กำลังแสวงหาความพ้นทุกข์ทางใจกันในยุคนี้ก็คือ การสานต่อดำริของพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาส อินทปัญโญ) แห่งสวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี เกี่ยวกับโครงการธรรมาศรมธรรมมาตา ซึ่งเป็นอาศรมสำหรับลูกผู้หญิงในการศึกษา ปฏิบัติธรรมเพื่อออกจากทุกข์ เป็นจริงขึ้นมาได้ ในโครงการนำร่องที่ชื่อว่า “โครงการฝึกอบรมตนเพื่อความมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงาม”

                ดังคำกล่าวของคุณเมตตา พานิช ประธานธรรมทานมูลนิธิ ตอนหนึ่งว่า ในช่วงสุดท้าย ก่อนที่ท่านอาจารย์พุทธทาสจะล่วงลับไม่นานนัก ท่านได้ปรารภถึงการจัดตั้งธรรมาศรมธรรมมาตา เพื่อให้โอกาสผู้หญิงได้เข้ามาศึกษาและปฏิบัติธรรมจนถึงที่สุด จนสามารถทำหน้าที่ธรรมทูตหญิงเพื่อเผยแผ่และสือทอดพระพุทธศาสนา อันเป็นการเสริมแทนภิษุณีบริษัทที่ยังขาดอยู่

                หลังจากท่านอาจารย์พุทธทาส มรณภาพในปี ๒๕๓๖ ไม่นานนัก โครงการฝึกอบรมตนเพื่อความมีชีวิตพรหมจรรย์ฯ ได้เปิดเป็นรุ่นแรก ในปี ๒๕๔๒

                ชีวนันท์ พรถิระมงคล  ธรรมมาตา ในโครงการนำร่องฯ รุ่นแรก และปัจจุบันเป็นผู้ช่วยงานธรรมมาตาในการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องจนถึงรุ่นที่ ๒๐ แล้วในปีนี้ เล่าถึงมรดกธรรมที่มีชีวิตว่า...ด้วยความที่ท่านเป็นครูทางโลกมาก่อน เมื่อท่านมาปฏิบัติธรรมจนในที่สุด ต้องมาถ่ายทอดธรรม ท่านจึงเข้มงวดเป็นที่สุด คอยขนาบอย่างใกล้ชิดเพื่อที่ให้ศิษย์ได้ดี คือทำให้ศิษย์แก้นิสัยที่ไม่ดีของตนเองให้ได้

                “ขณะเดียวกันท่านก็มีเมตตาสูง ความเข้มงวดของท่าน คือ ไม่เอาใจ ถ้าทำถูกก็จะตีทันที ตีนั้นหมายถึง ตีด้วยคำพูด ท่านเลี้ยงเราเหมือนแม่นกอินทรีเลี้ยงลูก อย่างที่ท่านเล่าในวันสุดท้ายของการจบคอร์สในรุ่นที่ ๑ ท่านฝึกให้เราแกร่ง ไม่ให้อ่อนแอ ท่านเป็นผู้ที่มีจิตวิญญาณของครูอย่างแท้จริง”

                ตลอดสามเดือนที่ได้เรียนกับท่านอาจารย์รัญจวน เมื่อ ๒๐ ปีก่อนจนถึงวันนี้ที่ได้มาช่วยสอนผู้เข้าอบรมตามรอยท่าน ชีวนันท์ยังกล่าวอีกว่า นอกจากท่านเป็นครูทางธรรมแล้ว ท่านยังเป็นแม่ทางธรรมด้วย

                “ท่านดูแลเรื่องอื่นๆ อีกไม่ใช่เพียงการสอนเท่านั้น เช่น อาหารการกิน เมื่อดูว่า ผู้ปฏิบัติไม่มีเรี่ยวแรง ท่านก็จะมีอาหารพิเศษมาให้ศิษย์ เพื่อให้มีกำลังใจการปฏิบัติ

                “ท่านมีความแกล้วกล้า มุ่งมั่น ในการฝึกศิษย์ให้ช่วยเหลือตัวเองได้ ถ้าเห็นว่า ใครจะออกนอกลู่นอกทางท่านก็จะช่วยขนาบเข้ามาในทางทันที ท่านไม่ปล่อยให้ออกนอกทาง แต่ถ้าอ่อนระโหยโรยแรงท่านจะให้กำลังใจ ท่านบอกว่า ให้ทำตัวเป็นเหมือนนกอินทรี ไม่ใช่นกกระจอก

                “พวกนกกระจอกเวลาเจอกันก็มีเสียงเจี๊ยวจ๊าว มีอะไรก็ตื่นตระหนก ท่านจึงเน้นเรื่องการสำรวมอินทรีย์ ( หมายถึง อินทรียสังวร หรือ การสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้ายเวลากระทบกับสิ่งภายนอก) เป็นอย่างมาก ท่านจะดูศิษย์ตั้งแต่เดินเข้ามาเลย เรียกว่า ดูศิษย์ทุกกระเบียดนิ้วก็ว่าได้

                “สิ่งที่ได้เรียนรู้กับท่านคือ เรื่อง อัตตา ตัวตน หรือเรื่องตัวกูนี้ ท่านให้เราดูตัวนี้มาก ทำให้เราเห็นตัวเองอย่างมาก และทำอย่างไร ตัวตนจึงจะลดลง สิ่งที่ได้จากท่านก็คือเรื่องนี้ ทั้งตัวเองโดนท่านทุบบ้าง เป็นการทุบด้วยวาจาที่ทำให้กิเลสเราเดือดร้อน เราก็เห็นเรื่อยๆ ว่า นี่เองคือลักษณะของตัวตน เมื่อเห็นตัวตน จึงลดละได้ และสามารถลดละความเห็นแก่ตัวได้อีก เพราะยิ่งตัวตนเล็กเท่าไหร่ ความทุกข์ก็น้อยลง “

                นอกจากนี้ ชีวนันท์ยังได้มีโอกาสรับใช้ท่าน ช่วยเหลือท่านในโครงการธรรมมาตา รวมทั้งเป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการวารสาร “ธรรมมาตา” ที่ท่านเป็นแม่ทัพ เป็นประธาน เป็นที่ปรึกษา

                “เราก็เป็นลูกศิษย์คุณป้าอีกหลายท่านที่ช่วยงานท่านอาจารย์รัญจวน ทำให้เห็นว่า ท่านเป็นคนสมบูรณ์แบบ เวลารับงานอะไรจากท่านมาต้องทำให้ดีที่สุด เพราะมาตรฐานของท่านสูงมาก สิ่งที่ท่านสั่งมา บางทีเราทำไม่ได้ขนาดนั้น คือท่านเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จทางโลกมากก่อนมาปฏิบัติธรรม ทุกกระเบียดนิ้วเลย แต่ในที่สุดถ้าเราทำเต็มกำลังแล้วได้แค่ไหน ท่านก็ยอมรับได้ ท่านบอกว่าตัวท่านเป็นผู้ที่ทำอะไรต้องทำให้ดีที่สุด เหมือนอาจารย์ของท่านคือ ท่านอาจารย์พุทธทาส

                “ท่านพูดให้ฟังอยู่เสมอ ถ้าจะทำอะไรให้สำเร็จได้สมบูรณ์ เราจะต้องหายใจเป็นสิ่งนั้น แล้วท่านก็หายใจเป็นธรรมมาตา ทำอย่างไรที่จะทำให้ธรรมมาตาเกิดมาได้ ซึ่งเป็นดำริของท่านอาจารย์พุทธทาส

                “ท่านอาจารย์รัญจวนก็มาสนองงานท่านอาจารย์พุทธทาส ที่ก่อตั้ง ธรรมาศรมธรรมมาตา เป็นสถานที่สำหรับผู้หญิงที่สละโลก มาอยู่ในฐานะแทนภิกษุณีที่ขาดหายไป เมื่อปฏิบัติส่วนตัวได้มากที่สุด ก็สามารถให้โอกาส ตอบแทนช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ต่อไป"

                ตามความเข้าใจของชีวนันท์ ก็คือ ธรรมาศรมธรรมมาตายังไม่ได้เกิดขึ้น แต่ท่านอาจารย์รัญจวนได้ตั้งโครงการนำร่อง ขึ้นมา และพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น โดยในแง่ของหลักสูตรมีแล้ว ซึ่งต้องใช้เวลาศึกษาประมาณ ๕ ปี แต่บุคลากรที่จะมาสอนอาจยังไม่ถึง 

                "สำหรับความคิดของตัวเอง จริงๆ แล้วธรรมาตาได้เกิดขึ้นแล้ว แม้ว่าจะเป็นธรรมมาตารุ่นน้อยๆ ก็เถอะ ก็คิดว่า เกิดแล้ว ดังที่ท่านอาจารย์รัญจวน ได้พยายามทำมาโดยตลอดก่อนที่จะเปิดโครงการด้วยซ้ำไป

                "ธรรมมาตา หมายถึง ผู้ที่มีธรรมเป็นแม่ และมีแม่เป็นธรรม คือเมื่อเราฝึกตน เราจะมีธรรมะเป็นเครื่องมือ จนมีธรรมะเป็นเนื้อเป็นตัว ก็จะมีโอกาสที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ต่อไปตามกำลังสติปัญญา ตัวอย่างของธรรมมาตาคนแรกก็คือ ท่านอาจารย์รัญจวน นั่นเอง และหวังว่า เราจะช่วยกันสืบสานธรรมมาตาต่อไป

                “ท่านเป็นคนจริง ปฏิบัติจริง ได้รับผลจริง หลังจากท่านสละชีวิตทางโลกแล้ว ท่านก็มุ่งมั่น ที่จะมีธรรมะเป็นแม่ ดังที่ท่านทำให้ดูอยู่ให้เห็นและเย็นให้สัมผัส จนในที่สุด ท่านก็มีแม่เป็นธรรมสั่งสอนธรรมศิษย์ไปทั่วประเทศ”

                ขอเชิญร่วมบำเพ็ญบุญเพื่อน้อมถวายเป็น “อาจาริยบูชา” แด่คุณแม่รัญจวน อินทรกำแหง ในโอกาสครบ ๑๐๐ วัน แห่งการละสังขาร  วันพุธที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๙ ณ วัดป่าหนองไผ่ จ.สกลนคร โดยมีท่านพระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม  เป็นองค์ประธาน

                และที่สวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี ในวันเดียวกัน 

                สำหรับท่านที่อยู่กรุงเทพฯ สามารถร่วมงานอาจาริยบูชาได้ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์ กรุงเทพ)
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ