Lifestyle

นิวรณ์ธรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นิวรณ์ธรรม : ธรรมะยู-เทิร์น โดยอิทธิโชโต

                สพฺพํ ปรวสํ ทุกฺขํ :
  
                การอยู่ในอำนาจของผู้อื่น เป็นทุกข์ทั้งสิ้น

                (พุทธพจน์)

                สองสัปดาห์ผ่านไปลูกศิษย์บ่นอีกแล้วว่า การปฏิบัติธรรมไม่ก้าวหน้า ทำไมชวนสติมาเข้าพรรษาแล้ว สติก็ยังไม่ค่อยมา อย่างหนึ่งที่ลืมไปก็คือ ไม่ค่อยได้กลับมาอยู่กับคำบริกรรมพุทโธ หรือลมหายใจเข้าและลมหายใจออกนั่นเอง จึงเกิดความฟุ้งซ่านได้ง่าย ถ้าจะเรียกชื่อมันชัดๆ ก็คือ “นิวรณ์” นั่นเอง
  
                นิวรณ์ คือ เครื่องกั้นขวางจิต ไม่ให้เราก้าวข้ามกิเลสต่างๆ ทำให้จิตใจไม่ประสบความสงบสุข เย็นสบาย ก็มาติดที่นิวรณ์นี่แหละ

                ส่วนใหญ่ที่เรารู้จักนิวรณ์กันมีอยู่ห้าตัว คือ กามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ในกาม พยาบาท ความหงุดหงิดโกรธแค้นขัดเคืองมุ่งร้ายหมายทำลาย ถีนมิทธะ ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม สะลึมสะลือ ไม่ตื่น อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ คิดโน่นคิดนี่ไม่หยุด และ วิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงสงสัยในธรรมที่ยังปฏิบัติไปไม่ถึง

                เมื่อรู้จักชื่อมันแล้ว เวลาง่วงก็เรียกชื่อมันชัดๆ บางทีก็จะช่วยให้เราตาสว่างขึ้น เพราะนิวรณ์เกิดขึ้นได้ก็ดับได้ ทุกอย่างท้ายสุดก็ตกลงที่ “อนิจจัง” หมด ให้เรารู้อย่างนี้ไว้จะได้ไม่กังวล เวลาที่นิวรณ์เกิดขึ้นในจิต จะได้ไม่ไปใส่ใจมัน อย่าไปให้ความสำคัญกับมัน แม้แต่ร่างกายเรานี่ ก็อย่าไปให้ความสำคัญมัน เพราะมันเป็นอนิจจัง ใช้มันเพื่อให้เห็นธรรม สุดท้ายก็ต้องทิ้งมัน มันอยู่ให้ใช้ชั่วคราวเป็นกาลเป็นเวลาเท่านั้น เพื่อไม่ให้เราประมาทในทุกอย่างที่เกี่ยวข้องแม้แต่ร่างกายของตัวเจ้าของเอง 

                ไม่งั้นพระพุทธเจ้าไม่ตรัสหรอกว่า ทุกอย่างมันไม่เที่ยงจริงๆ ก็คือว่า ให้จิตรู้ว่า ทุกอย่างมันไม่เที่ยงนะ และเมื่อมีสติ ก็จะแจ่มชัดประจักษ์ใจว่า ไม่เที่ยงมันมีอาการเป็นอย่างไร เมื่อเห็นตรงนั้น ก็วางได้ ไม่ไปกังวลว่าฝึกแล้วความสุขจะต้องเที่ยง ความกังวลไม่มา ไม่ใช่ แต่ฝึกเพื่อให้เห็นว่า ความกังวลมาได้ มันก็ไปได้เหมือนกัน

                แต่คนเราก็มักผ่านอุปสรรคไม่ได้ เพราะไม่ค่อยสังวรณ์อินทรีย์หรือไม่ค่อยควบคุม อายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สัมผัส) และธรรมารมณ์ (ความคิด-สิ่งที่ใจนึกคิด อารมณ์ทางใจ) แต่ก็มีคนที่ผ่านได้ คนที่ทำได้อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านว่าไว้ ก็มี เพราะเพียรฝึกสติ บริกรรมอยู่กับพุทโธนี้ให้ถี่ยิ่งขึ้น 

                เพราะฉะนั้น ทำตามอย่างพระพุทธเจ้า หรือผู้รู้ ที่พาดำเนินมาแล้ว ดีกว่าไหม ท่านผ่านมาแล้ว เราจะเดินตามท่านไหม หรือยังจะตามความคิดของตัวเองอยู่ ก็ไปพิจารณาเอง ถ้ามีสติต่อเนื่องอย่างเดียว มันก็ตัดเรื่องนิวรณ์ออกไป ตัดเรื่องความคิดฟุ้งซ่านออกไป มุ่งอย่างเดียวอยู่กับความรู้ภายใน ซึ่งเป็นความรู้เฉพาะตัว จนสามารถอยู่กับปัจจุบันธรรมได้ ก็ไม่ไปอยู่กับนิวรณ์แล้ว

                นิวรณ์จริงๆ แล้วมองได้สองอย่าง คือ มองให้เป็นธรรมก็ได้ มองให้เป็นกิเลสก็ได้ มองอย่างไร ?

                เช่น มองร่างกายก็มองได้ทั้งสองอย่าง มองให้เป็นกิเลสก็ได้ มองให้เป็นธรรมก็ได้ จะชื่นชอบในร่างกายก็เป็นกิเลส เป็นเครื่องกั้นไม่ให้เข้าถึงธรรม แต่ถ้ามองร่างกายตามความเป็นจริงก็จะเห็นเป็นอสุภะ เป็นของไม่งาม ก็เป็นธรรมสังเวช

                ดังนั้น ทุกดวงจิตจึงฝึกได้ เพราะจิตมันมืดมิด จากนิวรณ์ และจิตก็สว่างได้เพราะมีสติ สมาธิ และปัญญาที่ทำให้เห็นความจริง เมื่อเห็นความจริงก็ไม่ตกเป็นทาสกิเลสอีกต่อไป 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ