Lifestyle

ทำอย่างไรแม่จึงจะปล่อยวางเลิกโมโหและอาฆาต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำอย่างไรแม่จึงจะปล่อยวางเลิกโมโหและอาฆาต :  ปุจฉา-วิสัชนากับพระไพศาล วิสาโล  

                ปุจฉา : คุณแม่อายุ ๗๐ กว่าแล้ว พื้นฐานเป็นคนใจดีมาก ใจกว้าง ชอบแบ่งปัน แต่ก็มีหลายครั้งที่คนที่ท่านช่วยเหลือทำให้ท่านเสียใจภายหลัง เรื่องบ่นโน่น บ่นนี่ คงเป็นเรื่องธรรมดาของคนแก่

                เพียงแต่ว่าความแค้นเก่าๆ ที่ค้างไว้หลายสิบปี เมื่อเอ่ยถึงครั้งใด ก็กระฟัดกระเฟียด โมโหหนักมาก เวลาบอกให้ยอมอโหสิกรรม จะได้ไม่ผูกกรรมต่อกันไปในชาติหน้า แม่ก็จะบอกว่า ไม่มีทาง และไม่ยอมท่าเดียว เวลาโมโหก็จะด่าแรงๆ หน้าแดง จนกลัวว่าแม่จะเป็นลมซะก่อน

                ไม่อยากให้แม่ติดอารมณ์แบบนี้ กลัวว่ามันจะเป็นการส่งให้ตัวแม่ไปอยู่ในที่ที่ไม่ดีในภพหน้า เวลาเตือนก็ยิ่งโมโหมากขึ้นไปอีก ไม่ทราบว่า พอมีวิธีไหนแนะนำให้รับมือกับบุพการีแบบนี้ได้บ้างคะ อยากให้ท่านปล่อยวาง อยากให้ท่านมีความสุข และลดอารมณ์แบบที่เป็นอยู่สักนิดหน่อยก็ยังดีค่ะ ขอบคุณค่ะ

                วิสัชนา : อาตมาคิดว่าสิ่งแรกที่ลูกควรทำ คือเข้าใจความรู้สึกของแม่ว่าเจ็บปวดเพียงใดที่ถูกเนรคุณหรือทรยศหักหลัง ควรเปิดโอกาสให้ท่านเล่าถึงความเจ็บปวดของท่าน โดยลูกฟังอย่างตั้งใจ ไม่ตัดสิน และไม่สอดแทรก หรือขัดจังหวะ ต่อเมื่อท่านเล่าจบจึงค่อยซักถาม เพื่อพยายามเข้าใจความรู้สึกของท่าน

                การที่ท่านมีโอกาสระบายหรือเล่าโดยมีคนฟังอย่างใส่ใจนั้น จะช่วยให้ท่านรู้สึกดีขึ้น เจ็บปวดน้อยลง ขณะเดียวกันลูกก็จะได้เข้าใจความรู้สึกของท่าน และเห็นใจท่าน ทั้งหมดนี้ช่วยให้แม่รู้สึกดีกับลูกมากขึ้น

                เมื่อลูกตั้งใจฟังแม่ ต่อไปแม่ก็จะฟังลูกมากขึ้น ไม่รู้สึกมีอคติกับลูก ท่าทีดังกล่าวจะช่วยให้ลูกสามารถแนะนำท่านได้ อาจเริ่มต้นด้วยการถามท่านว่า รู้สึกทุกข์ไหมกับความโกรธที่เกิดขึ้น และคิดอยากจะบรรเทาความโกรธบ้างไหม แม่เคยทำอย่างไรบ้างในการบรรเทาความโกรธเกลียดเคียดแค้น ระหว่างที่คุยก็อย่าเพิ่งคิดว่าจะต้องชักชวนท่านให้อโหสิกรรมแก่คนเหล่านั้น พยายามวาง “โพย” ดังกล่าวไว้ก่อน ขอให้พยายามทำความเข้าใจท่านเป็นหลัก นั่นคือเอาท่านเป็นศูนย์กลาง

                เรื่องแบบนี้คงไม่อาจทำให้เสร็จในการพูดครั้งเดียวได้ คงต้องพูดหลายครั้ง ต่อไปก็อาจถามท่านว่า ชีวิตที่เหลืออยู่ของท่านอยากให้เป็นอย่างไร ถ้าท่านบอกว่า อยากมีชีวิตที่สงบสุข ก็ควรใช้โอกาสนี้ถามท่านว่า มีอะไรที่ทำให้ใจไม่สงบสุขบ้างไหม ถึงตรงนี้จึงค่อยพูดถึงเรื่องปล่อยวาง การให้อภัย เป็นต้น

                สรุปก็คือ อย่าใจร้อน ค่อยๆ พูด ที่สำคัญคือพยายามเข้าใจท่าน ฟังท่านให้มาก ความไว้เนื้อเชื่อใจที่เพิ่มมากขึ้น จะช่วยให้ท่านเปิดรับคำแนะนำของคุณมากขึ้น

                สายด่วนให้คำปรึกษาทางจิตใจผู้ป่วยระยะสุดท้าย ‘เตรียมตัวก่อนสู่วาระสุดท้ายของชีวิต จะทำอย่างไรดี’ ปรึกษาได้ที่ โทร.๐๘-๖๐๐๒-๒๓๐๒
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ