Lifestyle

หลวงปู่ทองพระผู้อนุรักษ์คัมภีร์อักษรธรรมล้านนา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลวงปู่ทองอุปัชฌาย์‘บิ๊กจิ๋ว’ผู้อนุรักษ์อักษรธรรมล้านนา หนุนปริวรรตคัมภีร์พุทธจากภาษาบาลีครบ๓ระดับ : สำราญ สมพงษ์ นิสิตปริญญาเอก สาขาวิชาสันติศึกษา มจร รายงาน

            ตามที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร)ร่วมกับวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ นำโดย พระธรรมมังคลาจารย์ (หลวงปู่ทอง สิริมงฺคโล)  เจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร  ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๗ ประธานอำนวยการโครงการปริวรรตคัมภีร์ฎีกาอักษรธรรมล้านนา และคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ นำโดยพระเทพปริยัติ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันดำเนินโครงการปริวรรตคัมภีร์ฎีกาอักษรธรรมล้านนา โดยใช้ต้นฉบับฎีกาภาษาบาลีของ มจร   โดย มจร ได้มอบหมายให้คณะกรรมการดำเนินงานโครงการฯ ซึ่งมีพระศรีคัมภีรญาณ รองอธิการบดี มจร ฝ่ายวิชาการ เป็นประธานดำเนินการตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๕๘ เป็นต้นมา 

หลวงปู่ทองพระผู้อนุรักษ์คัมภีร์อักษรธรรมล้านนา

            บัดนี้คณะกรรมการฯชุดดังกล่าวได้ดำเนินการตรวจสอบความสมบูรณ์ของคัมภีร์ฎีกาภาษาบาลี ฉบับ มจร ครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว จึงได้มีพิธีถวายต้นฉบับคัมภีร์ฎีกาภาษาบาลีแก่คณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่เพื่อดำเนินการปริวรรตเป็นอักษรธรรมล้านนาต่อไป เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ที่ห้องประชุม ๔๐๑  มจร  อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีพระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺจิตฺโต) อธิการบดี มจร เป็นประธานถวายแก่พระธรรมมังคลาจารย์และคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งมีพระเทพปริยัติ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่เป็นต้น และมีผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ มจร แขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชนร่วมพิธีจำนวนมาก

หลวงปู่ทองพระผู้อนุรักษ์คัมภีร์อักษรธรรมล้านนา

            พระพรหมบัณฑิต กล่าวว่า โครงการปริวรรตคัมภีร์ฎีกาอักษรธรรมล้านนาถือเป็นงานชิ้นเอกของพระธรรมมังคลาจารย์ที่ได้ริเริ่มจากการปริวรรตพระไตรปิฎกภาษาบาลีไทยเป็นพระไตรปิฎกอักษรธรรมล้านนา จากนั้นปริรรตอรรถกถาภาษาบาลีไทยเป็นอักษรธรรมล้านนาจำนวน ๘๐ เล่ม และขณะนี้กำลังปริวรรตคัมภีร์ฎีกาเป็นอักษรธรรมล้านนาจำนวน ๔๐ เล่ม  ซึ่งเป็นการอธิบายอรรถกถาเป็นบทบรรยายพระไตรปิฎกในชั้นที่ ๓ ซึ่งการจะทำให้สำเร็จในช่วงชีวิตคนๆหนึ่งนั้นยากมากเพราะต้องใช้เวลานานและความเพียรมาก เพราะส่วนใหญ่จะทำได้แค่ระดับพระไตรปิฎกหรือระดับอรรถกถา แต่พระธรรมมังคลาจารย์ได้ทำอย่างต่อเนื่องและถือเป็นครั้งแรกในรอบ ๕๔๐  ปี ที่จะมีการปริวรรตจากภาษาบาลีเป็นอักษรธรรมล้านนาครบทั้ง ๓ ระดับดังกล่าว

หลวงปู่ทองพระผู้อนุรักษ์คัมภีร์อักษรธรรมล้านนา

            "วันนี้เหมือนเป็นการลงเสาเอกเจดีย์ใหญ่และเป็นการประกาศเพื่อให้ชาวพุทธร่วมอนุโมทนาว่าคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่จะปริวรรตคัมภีร์ฎีกาอักษรธรรมล้านนา ๔๐ เล่มให้เสร็จภายในวันที่ 21 กันยายนนี้ เพื่อร่วมฉลองวันครบรอบอายุวัฒนมงคลมลของพระธรรมมังคลาจารย์ ๙๓ ปีในวันดังกล่าว และเมื่อทำสำเร็จแล้วจะนำไปรวบรวมอยู่ในสหบรรณานุกรมพระไตรปิฎก ที่ มจร จะจัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมพระไตรปิฎกจากทุกภาษาไว้ให้ศึกษาเรียนรู้ต่อไป" อธิการบดี มจร กล่าว

            การปริรรตคัมภีร์ภาษาบาลีไทยเป็นอักษรธรรมล้านนาของคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ภายใต้การนำของพระธรรมมังคลาจารย์ดังกล่าวนับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์คู่กับแผ่นดินล้านนา เป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้ของบุคคลผู้สนใจในภาษาล้านนา และเป็นประโยชน์เชิงวิชาการด้านพระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวาง

หลวงปู่ทองพระผู้อนุรักษ์คัมภีร์อักษรธรรมล้านนา


การปริวรรตคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา

            หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานมีการสังคายนาครั้งที่ ๑ ชาวพุทธได้ใช้วิธีมุขปาฐะในการสืบทอดคำสอนจนกระทั้งล่วงเลยมา ๑ พันปีจึงมีการจารึกหรือจารลงในใบลานเรียกว่า “คัมภีร์ใบลาน” และจัดชั้นคัมภีร์ออกเป็นพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา โยชนา และสัททาวิเสส สำหรับประเทศไทยนั้นมีคัมภีร์ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและเมื่อเสียกรุงพระคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาก็พรอยสูญหายไปด้วย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯให้ทำสังคายนาพระไตรปิฎกจนสำเร็จอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. ๒๓๓๑ สมัยรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯให้ปริวรรตพระไตรปิฎกที่จารึกด้วยภาษาบาลีอักษรขอมเป็นภาษาบาลีอักษรไทยสำเร็จในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ สมัยรัชกาลที่ ๖  โปรดเกล้าฯให้ชำระอรรถกถา ฎีกาต่างๆ และทรงนำพระไตรปิฎกที่พิมพ์ในรัชกาลที่ ๕ มาชำระอักขระใหม่ เรียกว่า “พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ” สำเร็จในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ในสมัยรัชกาลที่ ๗ หลังจากนั้นไม่มีการบูรณะพระคัมภีร์กันอีกเลย จนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ในรัชกาลปัจจุบัน คณะสงฆ์และทางราชการได้จัดแปลพระไตรปิฎกภาษาบาลีเป็นภาษาไทยจนสำเร็จ และจัดพิมพ์เป็นชุดเพื่อฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษขั้นตอนการปริวรรตอักษรขอมและอักษรโบราณท้องถิ่น (http://www.bhumibalo.org/?page_id=49) รวมถึง มจร ก็ได้ดำเนินการแปลพระไตรปิฎกภาษาบาลีเป็นภาษาไทยจนสำเร็จเรียกว่าฉบับมหาจุฬาฯ

หลวงปู่ทองพระผู้อนุรักษ์คัมภีร์อักษรธรรมล้านนา


‘มจร-คณะสงฆ์เชียงใหม่’ปริวรรตสู่อักษรธรรมล้านนา

            เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ พระธรรมมังคลาจารย์ได้มีหนังสือที่ถึงอธิการบดี มจร  เรื่องขออนุญาตปริวรรตคัมภีร์ฎีกา จัดทำโครงการปริวรรตคัมภีร์ฎีกาบาลีเป็นอักษรธรรมล้านนา โดยเป็นโครงการร่วมกับ มจร พร้อมทั้งขออนุญาตใช้คัมภีร์ฎีกาบาลี ฉบับมหาจุฬาฯ พร้อมทั้งไฟล์ข้อมูลต้นฉบับ ซึ่ง มจร เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์นำมาเป็นต้นฉบับในการปริวรรตเป็นอักษรธรรมล้านนา มจร ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งมีพระศรีคัมภีรญาณ รองอธิการบดี มจร ฝ่ายวิชาการ เป็นประธาน ได้ประชุมมีมติอนุมัติให้ใช้ฐานข้อมูลคัมภีร์ฎีกาของ มจร และมอบหมายให้ฝ่ายต่างๆ ไปดำเนินการทั้งการรวบรม  จัดทำรายการฐานข้อมูล  ตรวจสอบความสมบูรณ์ และจัดพิมพ์คัมภีร์ฎีกาภาษาบาลีฉบับ มจร ขึ้นจำนวน ๔๐ เล่ม โดยให้ใช้คัมภีร์วชิรพุทธิฎีกาในการปริวรรตเป็นเล่มปฐมฤกษ์ และในการการปริวรรตครั้งนี้ได้ใช้โปรมแกรมที่พัฒนาขึ้นโดยนายพิชัย แสงบุญ ผู้พัฒนาแบบอักษรธรรมล้านนา ซึ่งสามารถดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์และจัดพิมพ์เป็นที่เรียบร้อยแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๙ รวมใช้เวลาในการดำเนินการทั้งสิ้น ๒๒๔ วัน 

หลวงปู่ทองพระผู้อนุรักษ์คัมภีร์อักษรธรรมล้านนา

            นายพิชัยกล่าวว่า จากฐานของโปรมแกรมการปริวรรตดังกล่าวสามารถพัฒนาเป็นอักษรภาษาต่างๆได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งอักษรภาษาในกลุ่มไทย ซึ่งสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการของการตรวจสอบความถูกต้อง


หลวงปู่ทองพระวิปัสสนาจารย์ภาคเหนือสายหลวงปู่อาจ

            พระธรรมมังคลาจารย์หรือหลวงปู่ทอง สิริมงฺคโล นั้นเป็นหัวหน้าพระวิปัสสนาจารย์หนเหนือ โดยมีกองการวิปัสสนาธุระอยู่ที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง หลวงปู่ทองเกิดเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๔๖๖  ปลายรัชกาลที่ ๖  ที่บ้านแอ่น อ.ฮอด (ปัจจุบันเป็นอำเภอดอยเต่า)  จ.เชียงใหม่ บรรพชาเมื่ออายุ ๑๑ ปี และอุปสมบทที่วัดชัยพระเกียรติเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๗  ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเมืองมาง อ.เมือง จ.เชียงใหม่  ปีพ.ศ.๒๔๙๕  ปู่ได้รับคัดเลือกจากพระภิกษุทั่วภาคเหนือให้ไปศึกษาวิปัสสนากรรมฐานที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ที่กรุงเทพมหานคร และสำนักมหาสีสยาดอ สาสนยิสสา กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า ๒ ปี แล้วได้กลับมาเปิดสำนักวิปัสสนากรรมฐาน ดำเนินการสอนตลอดมา 

หลวงปู่ทองพระผู้อนุรักษ์คัมภีร์อักษรธรรมล้านนา

            หลวงปู่ทองได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าพระวิปัสสนาจารย์หนเหนือกองการวิปัสสนาธุระ และได้ขยายสำนักสาขาปฏิบัติอีกหลายสำนักในพื้นที่ภาคเหนือ  สำนักวิปัสสนากรรมฐานธรรมจักร อ.เมือง จ.นครนายก สำนักวิปัสสนากรรมฐานสุพรหมยาน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น นอกจากนี้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๕ เป็นต้นมา ท่านยังได้เดินทางไปเผยแผ่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ทั้งในภาคพื้นยุโรปและอเมริกา รวมทั้งใน พ.ศ.๒๕๓๖ สร้างวัดพุทธปิยวนาราม เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี

            หลวงปู่ทองมิได้มุ่งเน้นในการสร้างวัดในต่างประเทศ แต่ท่านมีวิสัยทัศน์และเล็งเห็นว่าการเผยแผ่วิปัสสนากรรมฐานให้ชาวต่างชาตินั้น หากเป็นชาวต่างประเทศด้วยกันแล้วย่อมเข้าถึงกันได้ง่ายกว่าและสื่อสารกันได้ดีกว่า อีกทั้งการสร้างวัดในต่างประเทศต้องใช้งบประมาณจำนวนมากและยังมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอีกด้วย ดังนั้นท่านจึงได้คิดและวางแผนในการผลิตบุคลากรจากชาวต่างชาติ โดยการอาศัยชาวต่างชาติที่ได้เดินทางมาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานกับท่านให้เป็นบุคลากรกำลังสำคัญในการเผยแผ่เมื่อชาวต่างชาติเหล่านั้นปฏิบัติแล้วได้ผลดีและประสบความสำเร็จในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานบุคลากรชาวต่างชาติเหล่านี้เมื่อกลับไปยังประเทศของตนก็จะได้นำความรู้ด้านวิปัสสนากรรมฐานที่ได้เรียนมาไปเผยแผ่ต่อๆ ไปและขยายวงกว้างขึ้นในประเทศของตน โดยสอนด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐานในแนว สติปัฐฐาน ๔ ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจนถึงระดับสูง สำหรับภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ตลอดจนผู้ที่สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ และมีการจัดให้สอบอารมณ์ทุกวัน(ยกเว้นวันพระ)

หลวงปู่ทองพระผู้อนุรักษ์คัมภีร์อักษรธรรมล้านนา

            ปัจจุบันสำนักวิปัสสนากรรมฐานวัดพระธาตุศรีจอมทอง สามารถรองรับผู้มาปฏิบัติธรรม โดยมีที่พักทั้งแบบเดี่ยวและแบบหมู่คณะ โดยมีกุฏิสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมกว่า ๒๐๐ หลัง สำนักจะจัดอาหารให้ผู้ปฏิบัติวันละ ๒ มื้อ คือ เช้าเวลา ๐๖.๐๐ น. และเพล เวลา ๑๑.๐๐  น. โดยมีให้เลือกแบบธรรมดาและมังสวิรัติ สำหรับช่วงเวลาหลังเที่ยงไปจนถึงเช้ามืดของวันรุ่งขึ้นนั้น ผู้ปฏิบัติไม่สามารถรับประทานอาหารอีก (สามารถดื่มนม ชา กาแฟ ได้) สำหรับผู้ที่มีความต้องการเรื่องอาหารเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับเจ้าหน้าที่ของสำนักได้

            ด้วยสมณกิจของหลวงปู่ทองดังกล่าวรัฐบาลพม่าได้ถวายสมณศักดิ์ที่ “อัคกา มหา กัมมัตตานา คาริยา” (Agga Maha Kammatthana Cariya) ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งสูงที่สุดที่รัฐบาลพม่าถวายแด่พระภิกษุต่างชาติสายวิปัสสนา ร่วมกับพระเถระจาก อินเดีย, ศรีลังกา, เวียดนาม, เนปาล, บังกลาเทศ และสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๔ ณ พระเจดีย์อุปปตะสันติ นครเนปิดอว์ โดยพลเอกอาวุโสตัน ฉ่วย ผู้นำรัฐบาลพม่าขณะนั้น (พระธรรมมังคลาจารย์พระวิปัสสนากรรมฐานระดับแนวหน้าของโลก : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู http://www.komchadluek.net/news/detail/167730)


หลวงปู่ทองอุปัชฌาย์‘บิ๊กจิ๋ว’ผู้อนุรักษ์อักษรธรรมล้านนา

            เนื่องจากวัดพระธาตุศรีจอมทองเป็นสำนักวิปัสสนากรรมฐานดังกล่าวส่งผลให้พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี หลบความวุ่นวายทางการเมืองไปบวชปฏิบัติธรรมเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑  (หลวงปู่ทอง สิริมังคโล พระอุปัชฌาย์ ของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ http://cheeptham.blogspot.com/2008/11/blog-post.html) จากการที่หลวงปู่ทองได้เดินทางไปศึกษาวิปัสสนากรรมฐานที่สำนักมหาสีสยาดอ สาสนยิสสา กรุงย่างกุ้ง ประเทเมียนมาร์ได้พบว่าเป็นประเทศที่มีคัมภีร์พระพุทธศาสนาอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีแนวความคิดรวบรวมพระไตรปิฏกภาษาล้านนาและสร้างพระไตรปิฏกฉบับภาษาล้านนาเพื่อถวายวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือพร้อมกับสร้างหอพระไตรปิฏกเพื่อรวบรวมพระไตรปิฏกภาษาต่าง ๆ ทั่วโลกมารวมกันอยู่ที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง หากเดินทางไปต่างประเทศไม่ว่าประเทศใดจะเสาะแสวงหาพระไตรปิฎกบางฉบับที่ตกค้างอยู่อย่างเช่นเดินทางไปประเทศเยอรมนีปีพ.ศ.๒๕๒๘ ก็ได้ไปค้นหาพระไตรปิฎกที่หอสมุด K?ln ในทางกลับกันหลวงปู่ทองก็จะมอบพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่แปลจากพระไตรปิฎกฉบับอักษรภาษาล้านนามอบถวายให้ด้วย (http://board.palungjit.org/f10/วัดไทยในเยอรมัน-วัดพุทธปิยวนาราม-โดย-หลวงปู่ทอง-สิริมังคโล-236612.html) จึงส่งผลให้เกิดโครงการปริวรรตคัมภีร์ฎีกาบาลีเป็นอักษรธรรมล้านนาดังกล่าว 

            บวกกับจังหวัดเชียงใหม่มีนักปราชญ์อย่างรองศาสตราจารย์สมหมาย เปรมจิตต์ ผู้ริเริ่มการสำรวจ ปริวรรต และอนุรักษ์พระธรรมคัมภีร์ใบลาน ม.ร.ว. รุจยา อาภากร สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มโครงการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานแบบคู่ขนาน ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ อดีตรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (2554-2557) (http://phil-re4you.blogspot.com/2016/05/blog-post.html) ได้ทำงานอย่างเป็นระบบยกขึ้นสู่การวิจัย จึงทำให้จังหวัดเชียงใหม่มีผลงานด้านนี้ออกมาอย่างต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น

หลวงปู่ทองพระผู้อนุรักษ์คัมภีร์อักษรธรรมล้านนา

            ปฏิปทาของพระธรรมมังคลาจารย์ (หลวงปู่ทอง สิริมงฺคโล) นับเป็นคณูปการยิ่งแก่ในการรักษา คุ้มครอง ปกป้องพระพุทธศาสนาให้คงไว้เป็นประโยชน์ต่อชาวโลกนำไปแก้ปัญหาความขัดแย้ง รุนแรง และสงครามต่อไป เพราะหลวงปู่ทองเริ่มจากการพัฒนาคนที่ใจก่อน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ