Lifestyle

พระพรหมบัณฑิตแนะวิธีแก้สุดโต่งแค่ถอดแว่น(สี)ออก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พระพรหมบัณฑิตแนะวิธีแก้สุดโต่งแค่ถอดแว่น(สี)ขัดแย้งลด ปราศจากความยุติธรรมสันติภาพไม่เกิด : พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,สำราญ สมพงษ์ นิสิตป.เอก สันติศึกษา มจร

         สถานการณ์โลกปัจจุบันนี้ได้ก้าวพ้นความขัดแย้งไปสู่ความรุนแรงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นแบบไม่คาดคิดอยู่เสมอ ก่อนหน้านี้พื้นที่ความรุนแรงกระจุกตัวอยู่ที่ตะวันออกกลาง แต่ขณะนี้ได้ขยายพื้นที่ไปสู่ยุโรปและขยายไปทั่วโลกหลายระดับ ล่าสุดก็เกิดเหตุที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อมือมีดอาละวาดบุกแทงเหยื่อภายในศูนย์ดูแลคนพิการใกล้กรุงโตเกียวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 19 คน แล้วมอบตัวพร้อมสารภาพว่า “ผมลงมือเอง คนพิการหายไปให้หมด น่าจะดี”   

พระพรหมบัณฑิตแนะวิธีแก้สุดโต่งแค่ถอดแว่น(สี)ออก

          เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วโลกดังกล่าว สาเหตุที่แท้จริงมาจากอะไรและจะมีวิธีการบรรเทาได้อย่างไร ได้รับคำตอบจากพระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ในการเป็นอาจารย์พิเศษบรรยายในหัวข้อ "สันติศึกษากับการพัฒนาชีวิตและสังคม" ที่ห้องสันติศึกษาชั้น 4 อาคารเรียนรวม อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ให้กับนิสิตปริญญาโทและเอกรวมถึงประชาชนทั่วไปได้รับฟังเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม2559ที่ผ่านมา

          วิธีการที่พระพรหมบัณฑิตแนะนำก็คือเอาสีหรือถอดแว่น(สี)ออก ความขัดแย้งความรุนแรงก็จะหมดไปสันติภาพเกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งแนวคิดดังกล่าวตรงกันกับหลวงพ่อพุทธทาสเมื่อปี 2484 คือเมื่อ 63 ปีที่แล้วที่ว่าสันติภาพคือสิ่งหรือภาวะที่ยังไม่มีสี 

พระพรหมบัณฑิตแนะวิธีแก้สุดโต่งแค่ถอดแว่น(สี)ออก

          ทั้งนี้พระพรหมบัณฑิตได้ให้แนวทางในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรงภายใต้กรอบอริยสัจ  4  ได้แก่ ทุกข์คือความขัดแย้ง สมุทัยคือสาเหตุความขัดแย้ง นิโรธคือการยุติความขัดแย้งหรือสันติภาพ  และมรรคคือสันติวิธี  ซึ่งความหมายของสันติภาพนั้นมี  3 ระดับคือ  คือสันติภาพภายในตนเอง (to live in harmony with oneself) สันติภาพกับคนอื่น (with others) และสันติภาพกับธรรมชาติ (with the natural environment คืออยู่ร่วมกันอย่างสันติกับธรรมชาติ ดังพระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า บุคคลนั่งหรือนอนในร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่พึงหักก้านรานกิ่งและใบของต้นไม้นั้น เพราะไม่เช่นจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ประทุษร้ายมิตร 

พระพรหมบัณฑิตแนะวิธีแก้สุดโต่งแค่ถอดแว่น(สี)ออก

          ความเห็นของพระพรหมบัณฑิตนี้หมายความว่า คนที่ทำลายทำธรรมชาติก็คือทำลายสันติภาพด้วยเช่นเดียวกัน

          ความขัดแย้งรุนแรงจะลดลงและสันติภาพเกิดขึ้นได้นั้น พระพรหมบัณฑิตระบุว่า สิ่งสำคัญอยู่ที่ "ใจ" สอดคล้องกับความเห็นของยูเนสโก แต่สาเหตุที่ใจไม่ใฝ่สันติภาพก็เพราะใจมีสาเหตุหรือมูลเหตุที่สำคัญ 3 ประการคือ 1.อวิชชาหรือทิฏฐิ เกี่ยวข้องกับอคติ รู้ในสิ่งที่ไม่ควรรู้ อคติหรือความรังเกียจทางศาสนา 2.ตัณหาความอยากเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความขัดแยงและรุนแรง  และ 3. อุปาทานหรือมานะคือความยึดมั่นในความเห็นของตนเองเป็นสำคัญ จึงทำให้ใจของมนุษย์มีความโลภ โกรธ และหลง หรือเรียกว่า "จิตเศร้าหมอง" 

พระพรหมบัณฑิตแนะวิธีแก้สุดโต่งแค่ถอดแว่น(สี)ออก

          พระพรหมบัณฑิตได้ชี้ให้เห็นว่า ใจเดิมของมนุษย์หรือ "ภวังคจิต" นั้นมีภาวะที่ผ่องใสหรือที่เรียกว่า "จิตผ่องใส" หรือ "จิตปภัสสร"  แต่เพราะอุปกิเลส(มูลเหตุที่ทำให้จิตเศร้าหมอง)จรมา จึงทำให้มนุษย์มีความคิดเห็นที่สุดโต่ง เป็นมูลเหตุก่อความขัดแย้ง รุนแรง และสงความ

          อุปกิเลสหรือมูลเหตุที่ทำให้จิตเศร้าหมองนี้หลวงพ่อพุทธทาสได้ใช้คำแทนง่ายก็คือ "สี"  ที่เข้ามาแต้มแต่งมนุษย์หลังจากเกิดขึ้นมาแล้วไม่ว่าจะเป็นข้อมูล โครงสร้างการเมือง ผลประโยชน์ ความสัมพันธ์ และค่านิยมความเชื่อหรือศาสนา หรือเอาสีออกสันติภาพก็เกิด

          วิธีการที่จะเอาอุปกิเลสหรือสีออกจากใจมนุษย์นั้น พระพรหมบัณฑิตได้เสนอแนวทางสันติวิธีซึ่งก็คือมรรคมีองค์แปด 8  มัชฌิมาปฎิปทา หรือเดินทางทางสายกลาง คือ "เห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ กระทำชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งจิตมั่นชอบ" โดยต้องมีศรัทธาว่า สันติศึกษาเป็นเครื่องมือจะช่วยให้สังคมสันติสุขซึ่งถือเป็นสัมมาทิฐิ  

          "อย่างเช่นต้องไม่รักชาติอยู่คนเดียว ใช้ชีวิตให้เป็นสัมมาทิฐิ เป็นวัฒนธรรมแห่งสันติ เพราะคนใส่แว่นคนละอย่างจึงขัดแย้งกัน เมื่อถอดแว่นออกทำให้เรามองเห็นตามความเป็นจริง สอดคล้องกับไตรสิกขา ศึกษา มีคำว่า "อาเสวนา พหุลีกรณะ ทำบ่อยๆ ทำให้เป็นนิสัย" จะเกิดการเปลี่ยนในทางบวก สันติศึกษาเป็นการศึกษาการเปลี่ยนแปลง (Transformative Education) คือ พัฒนาชีวิตและสังคม เป็นวัฒนธรรมแห่งความรุนแรง (Culture of Violence) และวัฒนธรรมแห่งสันติภาพ (Culture of Peace) การศึกษาต้องอยู่ร่วมกันได้ไม่ใช่แข่งขันกัน" พระพรหมบัณฑิต กล่าวและว่า
 
          การศึกษาในทางพระพุทธศาสนาเป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาปัญญาที่เป็นพื้นฐานของการสร้างสันติภาพประกอบด้วย 1.สุตมยปัญญา เป็นการรับข้อมูลมาจากคนอื่น เป็นความรู้ "ความรู้สร้างสันติภาพยังไม่ได้ เพราะยังไม่ถึงปัญญา" 2.จินตามยปัญญา นำข้อมูลไปคิดวิเคราะห์ 3.ภาวนามยปัญญา คือ สร้างขึ้นเป็นทักษะจากข้อมูลนำไปสู่ปัญญา 

          เริ่มจากข้อมูลถือเป็นข้อเท็จจริง "สารสนเทศ" เป็นข่าวสาร เป็นความรู้ที่เกิดจากสิ่งที่สั่งสมมาจากการศึกษาเล่าเรียนค้นคว้า ประสบการณ์ต่างๆ จากการได้ฟัง การคิด ปฏิบัติ แสดงออกด้วยการพูดจะรู้ว่ามีความรู้  ส่วนปัญญา คือ เป็น "ความรู้รอบ และความรู้ลึก" สามารถมองเห็นด้านใน เห็นความสัมพันธ์เชิงเหตุผล อะไรเป็นเหตุให้เกิดอะไร รู้เป็นระบบ "รู้รอบ" คือ รู้ปฏิจจสมุปบาท รู้ว่าแต่ละสิ่งอาศัยกัน "รู้ลึก" คือ รู้ไตรลักษณ์ รู้ว่ามันไม่มีอะไร โลกนี้เป็นอนัตตา รู้เหตุว่าใครเป็นตัวให้เกิดความขัดแย้ง คนทะเลาะกันมาจากสาเหตุอะไร สถานการณ์เป็นแบบนี้วันที่ 7  สิงหาคมนี้จะเป็นอย่างไรตัวปัญญาเป็นตัวรู้รอบและรู้ลึก 

          การศึกษาเพื่อสร้างสันติภาพต้องมีกระบวนการ 4 การ คือ 1) ป้องกันความขัดแย้ง สังวรปธาน (Prevention) คือ คนในองค์กร สังคม ประเทศ มีความอดทนต่อความแตกต่าง ด้วยคำว่า "ขันตี ปรมัง ตโป ตีติกขา" แปลว่า ความอดทนคือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง และยึด "อนูปวาโท" คือการไม่ว่าร้ายใคร "อนูปฆาโต" คือการไม่ทำร้ายใคร ซึ่งใน พศ.2538  ยูเนสโกประกาศปฏิญญาว่าด้วยหลักการแห่งขันติธรรม (Principles of Tolerance) เพราะคำว่าขันติธรรมเป็นการเคารพและการยอมรับนับถือ วัฒนธรรมของโลกที่หลากหลาย วิธีการแสดงออกและวิถีชีวิตที่แตกต่างกันไป อดทนต่อความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง ไม่มีเลือกปฏิบัติ ขันติธรรมเป็นฐานของสันติ และความสำคัญต่อการสร้างสันติภาพระหว่างศาสนา  เพราะศาสนาเคยถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความขัดแย้ง จึงมีการประกาศว่า "No more wars in the name of religion : ไม่ยอมให้มีสงครามในนามของศาสนาอีกต่อไป" 

          2) แก้ไขความขัดแย้ง ปหานปธาน (Resolution) มีการไกล่เกลี่ย พระพุทธเจ้าทรงห้ามญาติทะเลาะกัน เป็นกลางทางการเมือง ศาสนทูตหรือผู้นำ 3 ศาสนาก็ได้ทำหน้าที่เตือนสติผู้ชุมชนในช่วงคนไทยทะเลาะกันหนักๆ 

          3) สามัคคีสมานฉันท์ ภาวนาปธาน เพียรสร้างสามัคคี ด้วยการให้อภัยทาน ถือว่าเป็นธรรมทานอย่างหนึ่ง เพราะอภัยทานสร้างความสามัคคี ถ้าไม่มีการให้อภัยผิด และไม่คิดจะลืมซึ่งความหลัง จะหาสามัคคียากลำบาก  ความผิดพลั้งย่อมมีทั่วทุกตัวตนจึงไม่ควรไม่จองเวรกัน และสร้างสามัคคีด้วยสาราณียธรรม 6 ประการ
 
          4) รักษาสันติภาพ อนุรักขนาปธาน Preservation เพียรรักษาสันติภาพ โดยยึดธรรมาธิปไตยเป็นหลักการเป็นใหญ่หรือประชาธิปไตยต้องเป็นธรรมาธิปไตยคือจะต้องชนะทุกฝ่าย (win win) จึงจะถือว่าเป็นธรรมาธิปไตย และขอให้นึกถึงคำว่า "ชนะศึก แต่แพ้สงคราม แพ้ศึก ชนะสงคราม แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร ต่างฝ่ายต่างชนะ ชนะศึก แพ้สงคราม เวลาเจรจาอย่าคิดเอาแต่ชนะ เราต้องยอมแพ้เพื่อชนะ แพ้เป็นพระชนะเป็นมาร ชนะใครล้ำไปเป็นมารในใจคนนั้นตลอดไป และรู้จัก คำว่า "รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ"

          เชื่อแน่ว่าหากโลกเดินตามสันติวิธีที่พระพรหมบัณฑิตแนะนำโลกก็จะไม่เกิดความรุนแรงอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ เพียงแค่ถอดแว่น(สี)ออกเท่านั้นแล้วหันมาให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ความอยู่รอดของมนุษย์เป็นอันดับแรกแทนที่จะให้ความสำคัญกับสี

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ