Lifestyle

ประวัติการสร้างพระหลวงปู่ทวดที่เซียนพระหลวงปู่ทวดไม่ค่อยรู้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประวัติการสร้างพระหลวงปู่ทวดความจริงที่เซียนพระหลวงปู่ทวดไม่ค่อยรับรู้ :  เรื่องไตรเทพ ไกรงู ภาพ กฤชนันท์ ธรรมไชย

         ในหนังสือประวัติพระราชทานเพลิงศพพระครูวิสัยโสภณ (ทิม ธมฺมธโร) ที่เรียบเรียงโดยพระโสภนธรรมคุณ วัดนาประดู่ เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๑๘ ซึ่งนำมาแจกในวันงานพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๘ มีการบันทึกข้อมูลการจัดสร้างพระหลวงปู่ทวดที่น่าสนใจ ดังนี้

          หน้าที่ ๑๒-๑๔ เขียนถึงการสร้างพระหลวงปู่ทวดไว้ว่า ท่านพระครูได้ปรึกษาหารือกับท่านนอง ธมฺมภูโต ตืด พระธรรมกิจโกศล เจ้าอาวาสวัดทรายขาวองค์ปัจจุบัน (ขณะนั้นยังมีชีวิตอยู่) ต่างก็เห็นชอบด้วย และในเวลาเดียวกัน นายอนันต์ คณานุรักษ์ คหบดีตลาดปัตตานีซึ่งสนใจเรื่องนี้อยู่แล้ว ขอระรับภารให้การอุปถัมภ์ในการสร้างพระเครื่องนี้ทั้งหมดเกี่ยวกับทุนดำเนินงาน พระครูธรรมกิจโกศลพร้อมด้วยพระเณรวัดนาดู วัดทรายขาว และวัดช้างให้ รับภาระในการจัดหาว่านชนิดต่างๆ เท่าที่ต้องการมาให้

ประวัติการสร้างพระหลวงปู่ทวดที่เซียนพระหลวงปู่ทวดไม่ค่อยรู้

          วันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๗ ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔ ปีมะเมีย จ.ศ.๑๓๑๖ เวลาเที่ยงตรงเป็นเวลาท่านพระครูกดพระเครื่องเข้าเบ้าพิมพ์และลงมือทำพระเครื่องไปโดยลำดับ พระครูธรรมกิจโกศล (นอง ธมฺมภูโต) เป็นผู้หนึ่งที่ประจำโรงพิธีร่วมกับท่านอาจารย์ทิม คือ พระครูวิสัยโสภณตลอดไป

          นอกจากนี้พระเณรที่วัดต่างก็ช่วยกันกดพิมพ์พระเครื่องตามที่ท่านพระครูสั่งให้ทำจนถึงวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๗ ได้พระเครื่อง ๖๔,๐๐๐ องค์ แต่จะพิมพ์ให้ได้ ๘๔,๐๐๐ องค์ แต่เวลาไม่พอด้วยว่าจะปลุกเสกในวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๗ วันอาทิตย์เพ็ญเดือน ๕ เวลาเที่ยง เมื่อได้ฤกษ์ตามที่ท่านกำหนดไว้ท่านพระครูเข้านั่งประจำที่ประกอบพิธีปลุกเสกองค์เดี่ยวจนถึงเวลา ๑๖.๐๐ น. ในวันเดียวกันนั้น

          ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า การประกอบพิธีปลุกเสกพระเครื่องหลวงพ่อทวด ท่านพระครูประกอบพิธีปลุกเสกเพียงองค์เดียวเท่านั้นเป็นเช่นนี้ทุกครั้งที่ท่านสร้างพระเครื่อง พระเครื่องหลวงปู่ทวดมีชื่อเสียงดังไปทั่วประเทศ เข้าใจว่าทั้งนี้เนื่องจากท่านผู้ปลุกเสกมีพลังจิตสูงมีเมตตาสูง และผู้สร้างมิได้มีจิตคิดหาลาภผลทางวัตถุแต่อย่างใด ตั้งใจจะเป็นเครื่องสักการบูชาของผู้ที่เคารพนับถือ

          ในกรณีการจัดสร้างพระหลวงปู่ทวดเนื้อทองคำมีข้อถกเถียงในวงการพระเครื่องมาตลอด แต่ข้อถกเถียงมาสิ้นสุดที่คำกล่าวของ “หลวงอำนวย” หรือ “พระอำนวย นนทิโย” พระลูกศิษย์ใกล้ พระอาจารย์ทิม ซึ่งปัจจุบันลาสิกขาเป็นฆราวาส ที่ว่า

          “มีการสร้างพระหลวงปู่ทวดทองคำเอาไว้จำนวนหนึ่งจริง ตนเห็นกับตา พระเครื่องทองคำส่วนหนึ่งที่จัดสร้างขึ้นก็เพื่อมอบให้คหบดี ผู้มีชื่อเสียง ข้าราชการระดับสูงและเศรษฐีที่บริจาคปัจจัยจำนวนมาก จะให้เฉพาะเจาะจงแก่บุคคลสำคัญๆ ก็ว่าได้”

          สำหรับเรื่องการพิจารณา “พระหลวงปู่ทวดทองคำ” นั้น ถ้าเป็นอยู่ในความครอบครองของคหบดี นอกจากเปอร์เซ็นต์เนื้อทองคำที่สูง มีน้ำหนักมาก ขอบของพระจะเป็นเป็นเลื่อยฉลุก่อนที่จะตกแต่งด้วยตะใบ ส่วนเนื้อทองคำของบุคคลทั่วไปนั้น จะปั๊มเนื้อทองแดงและเนื้ออัลปาก้า เมื่อปั๊มไปได้จำนวนหนึ่งแม่พิมพ์ก็สึกกร่อน จึงนำบล็อกตัวใหม่มาเปลี่ยนทำให้ขอบข้างมีหลายรูปแบบแตกต่างกันไป

          ค่าของโค้ด ๑๓ ฉ ๑๓ ลายเซ็น “๑๐๐ ล้าน”

          การตอกโค้ดน่าจะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายหลัง พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นต้นมา เพื่อที่จะให้รู้ว่าวัตถุมงคลรุ่นนั้นมาจากไหน ใครเป็นผู้สร้าง ในอดีตจะนิยมตอกชุดกรรมการ เพราะต้องการบ่งบอกว่ามอบให้ใครเป็นคนพิเศษ ที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ การตอกโค้ด ฉ และเฉลิมพล ลงบนพระหลวงปู่ทวด พ.ศ.๒๕๐๕ ทำให้มีราคาสูงและได้รับความนิยมในหมู่นักสะสมมาก โดยเฉพาะ โค้ด “ฉ” ซึ่งเป็นพระนามย่อของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร หรือพระองค์ชายกลาง

          การสร้างพระหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ ของพระองค์ชายกลาง เนื่องจากท่านทรงคบหาสนิทสนมเป็นมิตรกับคหบดีใหญ่ปักษ์ใต้คือ คุณอนันต์ คณานุรักษ์ และได้รับมอบพระเครื่องหลวงปู่ทวดเนื้อว่าน พ.ศ.๒๔๙๗ จากคุณอนันต์มาหนึ่งองค์โดยทรงบูชาติดตัวประจำ

          ครั้งหนึ่งรถยนต์ที่พระองค์ชายกลางประทับเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำแต่พระองค์ไม่มีอันตรายแม้แต่รอยขีดข่วน ทำให้ท่านเกิดความศรัทธาในองค์หลวงปู่ทวด วัดช้างให้อย่างสูง และเมื่อวัดโดยพระอาจารย์ทิม และคุณอนันต์ จะจัดสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวด พ.ศ.๒๕๐๕ ท่านจึงปวารณาตัวขอเป็นผู้อุปถัมภ์ในการจัดสร้าง

          การตอกโค้ด “ฉ” และลายเซ็น “เฉลิมพล” ลงบนพระหลวงปู่ทวด พ.ศ.๒๕๐๕ ทำให้มีราคาสูงและได้รับความนิยมในหมู่นักสะสมอย่างยิ่ง ที่สำคัญคือราคาของพระหลวงปู่ทวดรุ่นนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนโค้ด “ฉ” และลายเซ็น “เฉลิมพล” ยิ่งมากตัวราคายิ่งสูงขึ้น อย่างกรณีโค้ด “๑๓ ฉ ๑๓ ลายเซ็น” มีการเสนอราคาสูงถึง ๑๐๐ ล้านบาท

          ขอบคุณภาพจาก “WWW.SOONPRARATCHADA.COM”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ