ข่าว

เลี้ยงผึ้งโพรงที่"ปันแต"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - ทำกินถิ่นอาเซียน

          หลายปีแล้วที่ราคายางพาราตกต่ำ ส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนยางได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะทางภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกยางพารามากที่สุดในประเทศไทย เมื่อรายได้หลักขาดหาย แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพ ดังนั้นเกษตรกรจึงต้องปรับตัวด้วยการสร้างอาชีพเสริมเพื่อให้มีรายได้มาทดแทน

เลี้ยงผึ้งโพรงที่"ปันแต"

            เช่นที่เกษตรกรตำบลปันแต อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ซึ่งได้รวมกลุ่มจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้งโพรงและชันโรง ด้วยการใช้พื้นที่ในสวนยางและสวนปาล์มเป็นแหล่งเพาะเลี้ยง จากจุดเริ่มต้นมีสมาชิก 34 ราย และเพิ่มเป็น 50 รายในปัจจุบัน สร้างรายได้หมุนเวียนกว่า 4 ล้านบาทต่อปี

เลี้ยงผึ้งโพรงที่"ปันแต"

            จุดเริ่มต้นของวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้งโพรงและชันโรง ต.ปันแต มาจาก วีระพล ห้วนแจ่ม หรือชาวบ้านเรียกกันว่า “สำลี” อดีตนักวิจัยการเกษตร ได้หอบเอาความรู้และประสบการณ์จากเชียงใหม่ กลับมาทำที่บ้านเกิดพัทลุง

             หลังเขาทำวิจัยเรื่องการเลี้ยงผึ้งและชันโรงเสร็จก็ได้ไปเลี้ยงผึ้งเชิงอุตสาหกรรมที่เชียงใหม่ แรกๆ ก็ดี แต่ช่วงหลังๆ มาเกิดวิกฤติจากสภาพอากาศ และการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม จนส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงผึ้ง เพราะผึ้งไม่มีแหล่งอาหารและตายไป จึงไม่คุ้มทุน จึงคิดหาแหล่งเพาะเลี้ยงใหม่ เลยคิดว่าจะกลับไปทำที่บ้านพัทลุง

            ประกอบกับช่วงปี 2556-2557 ราคายางพาราเริ่มตกต่ำ จึงคิดว่าการเลี้ยงผึ้งและชันโรงน่าจะไปช่วยสร้างรายได้ดีกว่ายางพารา เลยตัดสินใจกลับมาทำ เริ่มทำกันในครอบครัวก่อน พอคนอื่นเห็นว่าไปได้ ก็มีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น จนได้มาจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน

             การเพาะเลี้ยงผึ้งและชันโรงให้ประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้เลี้ยงส่วนใหญ่ขาดทุน และให้ผลผลิตได้ไม่ดีเท่าที่ควร แต่ไม่ใช่กับที่บ้านปันแต เพราะที่นี่เลี้ยงแบบสมัยใหม่ ต้นทุนน้อย ผลผลิตสูง

           โดยปกติแล้ว ถ้าเลี้ยงผึ้งทั่วไป แต่ละปีจะเก็บน้ำผึ้งได้ 1-3 ครั้ง และได้น้ำผึ้ง 3-6 กิโลกรัมต่อรังต่อปี แต่เขาใช้วิธีการเลี้ยงด้วยนวัตกรรมแบบสมัยใหม่ และใช้ผึ้งโพรงไทยซึ่งมีการกระจายพันธุ์ทั่วไป ไม่ต้องมีปัจจัยเรื่องอาหารเหมือนผึ้งนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ได้น้ำผึ้งสูงถึง 20 กิโลกรัมต่อรังต่อปี ยังไม่รวมถึงการขายรวงผึ้งสด หรือการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น เครื่องสำอาง เป็นต้น

             ปัจจุบันวีระพลเป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้งโพรงและชันโรง ต.ปันแต ผลิตน้ำผึ้งขายได้กิโลกรัมละ 400 บาท ถ้าขายปลีกขวดละ 500 บาท และผึ้งหนึ่งรังจะให้ผลผลิตมูลค่าประมาณ 1 หมื่นบาท ถ้า 10 รังก็ได้เห็นเงินแสน แต่ที่เป็นปัญหาผลิตออกมามาแล้วก็ขายไม่ได้ ก็ลดราคากระหน่ำ  แย่งกันขาย แบบนี้เสร็จพ่อค้าคนกลางและสุดท้ายก็จะเลิกและล่ม

   

         สำหรับเคล็ดลับในการเลี้ยงให้ประสบผลสำเร็จคือต้องเข้าใจวงจรชีวิตของผึ้งก่อน โดยในรอบปีจะมี 3 ช่วงฤดู คือ ช่วงแรกกุมภาพันธ์-พฤษภาคม เป็นช่วงหมดฝน ผึ้งจะแยกขยายโดยธรรมชาติ ซึ่ง 1 รัง สามารถขยายได้ 5 รัง ดังนั้นต้องทำรังเพื่อล่อให้ผึ้งเข้ารัง ช่วงที่สอง เมษายน-กันยายน หลังจากผึ้งเข้ารัง 45-60 วันก็จะให้ผลผลิตน้ำผึ้ง เกษตรกรก็เก็บได้ช่วงนี้โดยสังเกตว่าถ้าผึ้งมาเกาะตรงทางเข้ารังแสดงว่าน้ำผึ้งมีปริมาณมากแล้ว ดังนั้นจะต้องทำให้ถูกช่วงถูกเวลาจะได้ไม่เสียโอกาส และช่วงที่สาม กันยายน-กุมภาพันธ์ จะเป็นช่วงฤดูฝนจะต้องพักผึ้งให้สมบูรณ์ เมื่อเรารู้แบบนี้แล้วก็สามารถบริหารจัดการรอบผลิตให้ประสบผลสำเร็จได้ 

              สิ่งสำคัญที่สุดผึ้งมีความไวต่อสารเคมีมาก ถ้าหากไปดูดน้ำหวานจากเกสรในแปลงเกษตรที่มีการใช้สารเคมีโดยเฉพาะ “พาราควอต” แล้วบินกลับมาที่รัง ผึ้งก็จะตายยกรัง ซึ่งก่อนที่ผึ้งจะตายจะบินออกมาจากรังตกลงพื้นแล้วกระพือปีกตัวหมุนเป็นวงแล้วสำรอกออกมา ลิ้นเหยียดตรง แล้วตายในที่สุด

             ถ้าหากเราพบว่าผึ้งตายเยอะบ่อยๆ ก็แสดงว่าในชุมชนมีการใช้สารเคมี โดยเฉพาะรัศมีการออกหากินของผึ้งที่ระยะไม่เกิน 1 กิโลเมตร แต่ถ้าในชุมชนไหนมีการเลี้ยงผึ้งมากกว่าร้อยละ 60 ของครัวเรือน แสดงว่าชุมชนนั้นมีการใช้สารเคมีลดลง เพราะสารเคมีถือเป็นจุดเริ่มต้นการนำไปสู่เกษตรปลอดภัย และเกษตรอินทรีย์ในอนาคต 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ