ข่าว

หนุนสหกรณ์พื้นที่"โครงการหลวง"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หนุนสหกรณ์พื้นที่"โครงการหลวง" เชื่อมเครือข่ายสู่ความมั่นคงยั่งยืน  

            การรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อสร้างความเข้มแข็งในรูปของสหกรณ์ถือเป็นนโยบายที่รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลอย่างโครงการหลวง เพื่อต้องการให้เป็นองค์กรของชุมชนที่ช่วยส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรบนพื้นที่สูงใน 11 จังหวัด  ล่าสุดกรมส่งเสริมสหกรณ์โดยอธิบดี"พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ"ได้หารือกับตัวแทนสหกรณ์โครงการหลวงจำนวน 46 แห่ง เพื่อร่วมกันกำหนด ทิศทางการดำเนินงานและเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งและรายได้ที่มั่นคงของชาวบ้านในพื้นที่

หนุนสหกรณ์พื้นที่"โครงการหลวง" พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ(กลาง)

       พิเชษฐ์เผยภายหลังการประชุมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานส่งเสริมสหกรณ์และตัวแทนสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มเตรียมการสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวง ปี 2562ที่จังหวัดเชียงใหม่ระหว่างวันที่ 9 – 11 กันยายน 2562 ที่ผ่านมาเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมการในการกำหนดทิศทางพัฒนาสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวง ให้เป็นองค์กรของชุมชนและเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้กับ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง รวมถึงเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเสริมสร้างความร่วมมือในการดำเนินธุรกิจร่วมกันระหว่างสหกรณ์กับมูลนิธิโครงการหลวง

        ทั้งนี้จุดเริ่มต้นของการจัดตั้งสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวง เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2536 กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยพื้นที่สูง จัดตั้งสหกรณ์และกลุ่มเตรียมสหกรณ์ขึ้นในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ระยะแรกเริ่มจัดตั้งสหกรณ์ 3 แห่ง กลุ่มเกษตรกร 2 แห่ง กลุ่มเตรียมการสหกรณ์ 10 แห่ง กลุ่มอาชีพ 1 แห่ง สมาชิก 659 คน มีทุนดำเนินงานแรกเริ่ม 6.7 ล้านบาท ปัจจุบันสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวงได้ขยายผลไปในหลายพื้นที่ เพื่อใช้กลไกสหกรณ์เข้ามาแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ให้กับชาวบ้านบนพื้นที่สูงใน 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่านแม่ฮ่องสอน ลำพูน พะเยา ตาก กำแพงเพชร กาญจนบุรี ลำปาง และเพชรบูรณ์ มีสหกรณ์โครงการหลวงจำนวน 56 แห่ง กลุ่มเกษตรกร 2 แห่ง กลุ่มเตรียมการสหกรณ์ 5 แห่ง จำนวนสมาชิกรวม 10,407 ครอบครัว ปริมาณธุรกิจรวมกว่า 305.826 ล้านบาท

           “การส่งเสริมการดำเนินงานสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวง ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ ที่รับผิดชอบ เข้าไปดูแลทั้งตัวองค์กร การบริหารจัดการ ระบบการควบคุมภายใน และพัฒนาธุรกิจของสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง และพัฒนาผลผลิตของสมาชิกให้มีคุณภาพ เพื่อสร้างการยอมรับและขยายตลาดให้เข้าถึงผู้บริโภค ให้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นวิธีการที่ช่วยเสริมสร้างรายได้ให้กับสมาชิกได้อย่างมั่นคง สิ่งสำคัญคือการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตของสมาชิกสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวง รวมถึงพัฒนาการดำเนินงานของสหกรณ์ให้มีความเข็มแข็ง เพื่อเป็นที่พึ่งแก่มวลสมาชิกได้อย่างแท้จริง” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว

         โอกาสนี้อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มอบโล่รางวัลให้กับสหกรณ์โครงการหลวงที่มีผลงานดีเด่น อันดับ 1 คือ สหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงดอยอินทนนท์ จำกัด จ.เชียงใหม่ ได้รับโล่และเงินรางวัล 10,000 บาท อันดับ 2 คือสหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงบ้านอมพาย จำกัด จ.แม่ฮ่องสอน ได้รับโล่และรางวัล 8,000 บาท อันดับ 3 คือ สหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงแม่สะเรียง จำกัด จ.แม่ฮ่องสอน ได้รับโล่และรางวัล 5,000บาท และสมาชิกสหกรณ์ดีเด่นในพื้นที่โครงการหลวง จำนวน 12 ราย ได้รับเกียรติบัตร และเงินรางวัล รายละ 2,000 บาท

         บุญสว่าง แซ่วะ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงดอยอินทนนท์ จำกัด ซึ่งได้รับรางวัลสหกรณ์ดีเด่นในพื้นที่โครงการหลวง เปิดเผยว่า สหกรณ์ตั้งมากว่า 20 ปี ปัจจุบันมีสมาชิก483 คน จาก 13 หมู่บ้าน ดำเนินงานโดยมีหลักคือเน้นการให้ความรู้และการมีส่วนร่วม พัฒนาอาชีพทำให้สมาชิกมีรายได้ดีและมีการวินัยทางการเงิน วางแผนการใช้จ่าย และเน้นให้มีการเพิ่มเงินฝากทุกปีอย่างน้อยครัวเรือนละ 500 บาท เพิ่มหุ้นกับสหกรณ์อย่างน้อยปีละ 100 บาท แต่ละครัวเรือนของสมาชิกมีหนี้ไม่เกิน 4,000 บาท และมีเงินออมเฉลี่ย 20,000 บาท ซึ่งสหกรณ์ดำเนินธุรกิจหลัก 5 ด้าน คือ ธุรกิจเงินกู้ 6 ล้านบาท ธุรกิจเงินฝาก 12 ล้านบาท ธุรกิจรวบรวมผลผลิตทางการเกษตร 18 ล้านบาท ธุรกิจบริการท่องเที่ยว โฮมสเตย์บริการนักท่องเที่ยวบนดอยอินทนนท์ และธุรกิจจัดหาสินค้าและปัจจัยการผลิตเพื่อบริการสมาชิกอีก 2 ล้านบาท 

        “จุดเด่นของสหกรณ์เราคือการมีส่วนร่วมของสมาชิกที่เข้มแข็ง มีการวางแผนพัฒนาทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ก็รู้สึกดีใจที่ได้รับรางวัลสหกรณ์ดีเด่นในครั้งนี้ ที่ผ่านมาสหกรณ์ได้ดำเนินกิจการโดยเน้นการมีส่วนร่วมของสมาชิกเป็นสำคัญ รางวัลนี้ก็จะเป็นกำลังใจให้พวกเราได้ร่วมแรงร่วมใจในการดำเนินกิจการสหกรณ์ให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป”บุญสว่างและว่าจากนี้ไปสหกรณ์ได้วางเป้าหมายว่าจะมุ่งหาตลาดรับซื้อผลผลิตสมาชิกเพิ่มและดูแลสวัสดิการคุณภาพชีวิตของสมาชิกเพิ่มขึ้นด้วย

          อย่างไรก็ตามสำหรับโครงการหลวงนั้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชหรือในหลวงรัชกาลที่9 ในการส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่ชาวเขา เพื่อเป็นการหารายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น ก่อตั้งเมื่อปี 2512 โดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับผิดชอบในฐานะประธานมูลนิธิโครงการหลวงในระยะแรกเป็นโครงการอาสาสมัคร 

           โดยมีอาสาสมัคร จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ และ กองทัพอากาศ ปัจจุบันโครงการหลวงมีพื้นที่ครอบคลุม 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่านแม่ฮ่องสอน ลำพูน พะเยา ตาก กำแพงเพชร กาญจนบุรี ลำปาง และเพชรบูรณ์ มีสหกรณ์โครงการหลวงจำนวน 56 แห่ง กลุ่มเกษตรกร 2 แห่ง กลุ่มเตรียมการสหกรณ์ 5 แห่ง จำนวนสมาชิกรวม 10,407 ครอบครัว ปริมาณธุรกิจรวมกว่า 305.826 ล้านบาท 

         ผลผลิตจากโครงการหลวงในปัจจุบัน ประกอบด้วย ผักปลอดภัยสารพิษ สมุนไพร ถั่วและธัญพืช ผลไม้ เห็ด ดอกไม้เมืองหนาว ผลิตผลปศุสัตว์ ผลิตผลประมง ผลิตผลป่าไม้ ดอกไม้แห้ง ผลิตภัณฑ์จากแฝก ไม้กระถาง และผลิตภัณฑ์แปรรูปในชื่อการค้า โครงการหลวง และดอยคำ ปัจจุบันมี จรัลธาดา กรรณสูต เป็นประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวงและพลเรือเอก ปวิตร รุจิเทศ เป็นกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิโครงการหลวง 

 

                       

 มอบโล่รางวัลสหกรณ์โครงการหลวงดีเด่น

             รางวัลสหกรณ์ดีเด่นและสมาชิกสหกรณ์ดีเด่น(โครงการหลวง) จ.เชียงใหม่รับมอบโล่ห์รางวัลจาก พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา

ประเภทสหกรณ์ดีเด่น 

     อันดับ 1 สหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงดอยอินทนนท์ จำกัด จ.เชียงใหม่ 

     อันดับ 2 คือสหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงบ้านอมพาย จำกัด จ.แม่ฮ่องสอน 

     อันดับ 3 คือ สหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงแม่สะเรียง จำกัด จ.แม่ฮ่องสอน ไ 

ประเภทสมาชิกสหกรณ์ดีเด่น  

    1. ยิ่งยศ สุวรรณคีรียง สมาชิกสหกรณ์การเกษตรพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ขุนสถานบ้านแสนสุข จากัด จังหวัดน่าน

    2. สายสมร แคะพอ สมาชิกสหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงห้วยน้าริน จากัด จังหวัดเชียงราย

    3. ทรง เพชรคีรีรัฐ สมาชิกสหกรณ์การเกษตรพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง พบพระ จำกัด จังหวัดตาก

    4. นายประเสริฐ สุทธิพนาสวรรค์ สมาชิกสหกรณ์การเกษตรพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง แม่สอง จำกัด จังหวัดตาก

    5. จิระเดช ยืนยงคีรีมาศ สมาชิกสหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงแม่โถ จากัด จ.เชียงใหม่

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-สหกรณ์โครงการหลวง ช่วยชาวเขาเข้มแข็ง-รายได้มั่นคง
-'โครงการหลวงเลอตอ' พลิกฟื้นผืนป่าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
-"มนัญญา"เดินหน้าหนุนสหกรณ์แปรรูปยางพาราเพิ่มมูลค่า
-รมช.เกษตรฯหนุน"สหกรณ์"ผลิต"กรวยยาง-แบริเออร์"

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ