ข่าว

แนะเกษตรกรปรับทัศนคติปลูกพืชเหมาะสมกับดินได้ผลคุ้มค่า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พด.สกลนคร แนะเกษตรกรปรับทัศนคติปลูกพืชที่เหมาะกับดิน สร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่า 


5 กันยายน 2562 นายกิตติ ไชยนิมิต ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินสกลนคร สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 กรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า จังหวัดสกลนครมีขนาดเนื้อที่ประมาณ 6,003,603 ไร่ ในจำนวนนี้ประสบปัญหาดินเค็มครอบคลุมพื้นที่จำนวน 2,836,163 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 47.24 ของพื้นที่จังหวัด  

 

ปัญหาดินเค็มของจังหวัดสกลนครจัดอยู่ในระดับดินเค็มปานกลาง ถ้าในช่วงฤดูแล้งหรือขาดน้ำความเค็มใต้ดินจะขึ้นมาผิวดิน จะปลูกพืชไม่ได้ หรือได้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร กระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร รายได้และเศรษฐกิจในครัวเรือนของเกษตรกร เนื่องจากเกษตรกรมีการใช้ประโยชน์ที่ดินได้ไม่เต็มศักยภาพ สถานีพัฒนาที่ดินสกลนคร จึงเข้าไปดำเนินการแก้ปัญหาดินเค็มด้วยการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินการแล้วจำนวน 3,000 ไร่ เกษตรกรได้รับผลประโยชน์ประมาณ 120 ราย โดยเน้นแก้ไขเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ เน้นการปรับปรุง พัฒนา และการปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามศักยภาพของดินได้อย่างเต็มที่ 


สำหรับรูปแบบที่เข้าไปดำเนินการนั้น จะมีการปรับโครงสร้างดิน ปรับรูปแปลงนาให้มีพื้นที่สม่ำเสมอทั้งแปลง เพื่อกักเก็บน้ำ ทำบ่อดักตะกอน ควบคุมระดับน้ำเค็มทั้งบนผิวดินและใต้ผิวดิน ทำคันนาให้มีขนาดใหญ่เพื่อส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจบนคันนา เช่น ยูคาลิปตัส หรือไม้ยืนต้นทนเค็ม เช่น มะขามเทศ พุทรา ฝรั่ง เป็นต้น เพื่อควบคุมระดับน้ำเค็มไม่ให้แพร่กระจายขึ้นมาบนผิวดิน อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรได้ด้วย

 

แนะเกษตรกรปรับทัศนคติปลูกพืชเหมาะสมกับดินได้ผลคุ้มค่า

 

นอกจากการปรับโครงสร้างดินแล้ว สิ่งสำคัญคือการปรับทัศนคติของเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ดินเค็มให้ปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพดินที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการเพิ่มทักษะในการจัดการดินเค็มอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อให้เกษตรกรมีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่ามากที่สุด 

 

ผลจากการเข้าไปดำเนินการปรับปรุงฟื้นฟูดินเค็ม ทำให้เกษตรกรสามารถปลูกข้าวซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของพื้นที่ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20% มีการใช้ประโยชน์ที่ดินเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น จากเดิมที่หลังเก็บเกี่ยวข้าวจะปล่อยที่ดินทิ้งไว้รอปลูกข้าวในฤดูถัดไป ก็จะปลูกพืชปรับปรุงบำรุงดินไถกลบเพื่อเพิ่มธาตุอาหาร ลดต้นทุนค่าปุ๋ยลดลง ส่วนบนคันนาจากเดิมมีขนาดเล็กไม่สามารถปลูกพืชอะไรได้ ก็ปลูกพืชเศรษฐกิจบนคันนา มีผลตอบแทนมากกว่าหนึ่งทาง ที่สำคัญระบบนิเวศน์สภาพแวดล้อมดีขึ้น 

 

แนะเกษตรกรปรับทัศนคติปลูกพืชเหมาะสมกับดินได้ผลคุ้มค่า

 

โครงการแก้ปัญหาดินเค็ม จะทำเป็นลักษณะแปลงสาธิตในพื้นที่ที่ประสบปัญหาดินเค็ม เนื่องจากงบประมาณราชการมีจำกัด ทำได้ปีละประมาณ 1,000-2,000 ไร่ จึงต้องทำเป็นต้นแบบให้เกษตรกรเข้ามาเรียนรู้และนำวิธีการ เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง สิ่งหนึ่งที่อยากจะฝากถึงเกษตรกรที่ประสบปัญหาดินว่า

 

ถ้าเกษตรกรจะปรับที่ดินให้เหมาะสมกับพืชที่ต้องการปลูกจะเป็นเรื่องยาก มีต้นทุนและความเสี่ยงสูง ควรเปลี่ยนความคิดด้วยการเริ่มต้นจากหาพืชที่เหมาะสมกับดิน เป็นการปลูกพืชตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ จะช่วยลดต้นทุนในการบริหารจัดการ และถ้ามีการปลูกพืชโดยใช้ตลาดนำการผลิตได้ยิ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้มากขึ้น ฉะนั้น สถานีพัฒนาที่ดินสกลนคร มุ่งเน้นให้เกษตรกรเรียนรู้เข้าใจธรรมชาติในพื้นที่ของตนเอง เพื่อใช้ประโยชน์ทรัพยากรดินได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ