ข่าว

5 จว.คลี่คลาย-16 จว.ยังจม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมชลฯระดมกู้วิกฤติอุทกภัย คลี่คลายแล้ว 5 จังหวัด อีก 16 ยังไม่พ้นโพดุล

 

2 กันยายน 2562  นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าสรุปสถานการณ์อุทกภัย จากอิทธิพลพายุ โพดุล วันที่1ก.ย.ยังมีสถานการณ์น้ำท่วมรวม 16 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ พิจิตร น่าน พิษณุโลก  

 

อุตรดิตถ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม อุดรธานี อุบลราชธานี อำนาจเจริญ มุกดาหาร สกลนคร และสถานการณ์น้ำกลับเข้าสู่ภาวะปกติรวม 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่  แม่ฮ่องสอน สระแก้ว ชุมพร และระนอง โดยสถานการณ์น้ำท่วมแยกรายจังหวัด ดังนี้


1. จังหวัดแพร่ มีน้ำท่วมขังรอการระบายในเขตอำเภอร้องกวาง และเกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่บริเวณโรงเรียนบ้านผาตารางวังหม้อ ต.ทุ่งศรี อ.ร้องกวาง และอ่างเก็บน้ำแม่คำปองมีน้ำล้น Spillway ลงลำน้ำเดิม โครงการชลประทานแพร่ได้ส่งเครื่องจักรเครื่องมือเข้าช่วยเหลือในพื้นที่ คาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม สถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติภายใน 2 วัน


2.จังหวัดพิจิตร น้ำป่าจากอำเภอเนินมะปราง ไหลเข้าท่วมพื้นที่ในเขตอำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร และน้ำป่าเทือกเขาเพชรบูรณ์ไหลล้นตลิ่งจากคลองธรรมชาติเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือน และถนนสาย 11 ต.เขาทราย และ เทศบาลตำบลทับคล้อ อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร โครงการชลประทานพิจิตรผันน้ำผ่าน ทรบ.คลองร่องกอกใหญ่ ไปยังพื้นที่ ต.วังหลุม อ.ตะพานหิน และได้ส่งเครื่องสูบน้ำจำนวน 23 เครื่อง รถบรรทุกน้ำจำนวน 3 คัน เพื่อเข้าช่วยเหลือในพื้นที่
 
 

3.จังหวัดน่าน ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำน้ำแหง อำเภอนาน้อย ไหลล้นทางระบายน้ำล้นเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรประมาณ 300 ไร่ ของ ต.เชียงของ เกิดพื้นที่น้ำท่วมรวม 1 อำเภอ ได้แก่ อ.นาน้อย (ต.สันทะ ต.ศรีสะเกษ ต.บัวใหญ่ และ ต.สถาน) มีน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนราษฎร โครงการชลประทานน่านได้ส่งเครื่องสูบน้ำจำนวน 11 เครื่อง รถบรรทุกน้ำจำนวน 2 คัน และรถตักหน้าขุดหลังจำนวน 1 คัน เพื่อให้การช่วยเหลือในพื้นที่
 
              
 4. จังหวัดพิษณุโลก น้ำไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือน ส่งผลให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เนินมะปราง อ.วังทอง และ อ.นครไทยโครงการชลประทานพิษณุโลกได้ส่งเครื่องจักรเครื่องมือเข้าช่วยเหลือในพื้นที่


                      
5. จังหวัดอุตรดิตถ์ มีน้ำท่วมขังในบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ เนื่องจากการะบายน้ำในพื้นที่ไม่ทันและน้ำป่าไหลหลากล้นตลิ่ง มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมคงเหลือรวม 1 อำเภอ ได้แก่ อ.น้ำปาด (อ.พิชัย สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ) โครงการชลประทานอุตรดิตถ์ เร่งติดตาม สำรวจ ตรวจสอบพื้นที่ และได้ส่งเครื่องสูบน้ำจำนวน 10 เครื่อง รถบรรทุกน้ำจำนวน 3 คัน เพื่อให้ความช่วยเหลือและยังมีการเฝ้าติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังภัย อย่างใกล้ชิด โดยแนวโน้มจากการสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่จะเข้าสู่สภาวะปกติหากไม่มีฝนตกหนักเพิ่มเติม  
 
 
6.จังหวัดยโสธร น้ำจากลำเซบายล้นตลิ่งเข้าท่วมที่ลุ่มต่ำและพื้นที่การเกษตร เข้าท่วมบริเวณ บ้านกุดสำโรง ตำบลศรีฐาน และชุมชนบ้านโพธิ์ไทร ตำบลโพธิ์ไทร และบ้านแซซ่ง ตำบลเซียงเพ็ง โครงการชลประทานยโสธร ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 3 เครื่อง บริเวณ อ.ป่าติ้ว 

 

7. จังหวัดร้อยเอ็ด เขตชุมชนเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด มีน้ำท่วมจากห้วยเหนือและคลองคูเมือง น้ำล้นบ่าเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน ถนนทางหลวง ถนนเทศบาล ท่วมลึกโดยประมาณ 0.50-1.20 ม. ซึ่งทางระบายน้ำออกจากจังหวัดมีจุดเดียวที่ปากห้วยกุดขวาง สภาพระบายไม่ทัน โครงการชลประทานร้อยเอ็ด ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 4 เครื่อง ช่วยเร่งระบายน้ำให้ออกจากจังหวัดส่งลงห้วยกุดขวางและแม่น้ำชีโดยเร็ว พร้อมจะติดตามวัชพืชสิ่งกีดขวางทางน้ำ

 

ทั้งนี้ได้ประสานงานกับกองป้องกันภัยเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด โดยลุ่มน้ำยัง มีพื้นที่น้ำท่วมด้านฝั่งซ้ายของลำน้ำยังที่ความสูงประมาณ 2.20 ม. ซึ่งมีพื้นที่น้ำท่วมประมาณ 53,253 ไร่  จำนวน 2 อำเภอ ดังนี้ 1. อ.โพนทอง ได้รับผลกระทบ จำนวน 12,730 ไร่  2. อ.เสลภูมิ ได้รับผลกระทบ จำนวน 40,523 ไร่

 

และจะมีพื้นที่น้ำท่วมขยายตัวเพิ่มอีกประมาณ 27,000 ไร่ จากเหตุการณ์คันพนังกั้นน้ำยัง กม.12+000 ขาดจากน้ำไหลล้นข้าม เมื่อเวลา 07.45 น. คาดว่าจะมีพื้นที่น้ำท่วมเพิ่มเป็น 80,253 ไร่ ในเบื้องต้น โครงการชลประทานร้อยเอ็ด และส่วนเครื่องจักรกลติดตั้งเครื่องสูบน้ำรวมจำนวน 15 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 8 เครื่อง รถบรรทุก 6 คัน และสนับสนุนกระสอบทรายประมาณ 2,950 ใบ
 
 
 8. จังหวัดกาฬสินธุ์ มีพื้นที่ผลกระทบน้ำท่วม จ. กาฬสินธุ์ มีพื้นที่ผลกระทบน้ำท่วม อ.เขาวง จำนวน 1,110 ไร่ ในเขตบริเวณแก่งดอนกลาง มีน้ำจากการเร่งพร่องน้ำอ่างฯ ห้วยสีทน โดยโครงการชลประทานกาฬสินธุ์และส่วนเครื่องจักรกลสำนักงานชลประทานที่ 6 ติดตั้งกาลักน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยสีทน

 

9. จังหวัดชัยภูมิ มีน้ำท่วม 3 อำเภอ ได้แก่ อ.แก้งคร้อ และอ.คอนสวรรค์ เกิดน้ำท่วมบ้านเรือน พื้นที่เกษตรและเส้นทางสัญจร ในเบื้องต้น โครงการชลประทานชัยภูมิได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ และได้ส่งเครื่องจักรเครื่องมือ เพื่อเข้าช่วยเหลือในพื้นที่ และได้ประสานกับทางอำเภอในพื้นที่แจ้งเตือนประชาชนซึ่งอาจได้รับผลกระทบ

 

10. จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่น้ำท่วม 1 อำเภอ ได้แก่ อ.บ้านไผ่ มีน้ำท่วมบริเวณเทศบาลบ้านไผ่ และบริเวณถนนมิตรภาพ ส่งผลให้ถนนสายบ้านไผ่-บ้านเปือย ต.บ้านลาน ถูกน้ำกัดเซาะขาดราษฎรไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ส่วนอ่างเก็บน้ำห้วยทราย (ขนาดกลาง) ในเขต อ.บ้านไผ่ ปริมาณน้ำได้ล้นสัน spillway ประมาณ 5 ซม. โครงการชลประทานขอนแก่น เร่งระบายน้ำเพื่อพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยทราย
 
     
11. จังหวัดมหาสารคาม มีน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม เส้นทางหลวงหมายเลข 2322 (โกสุม-โสกขุ่น) อ.โกสุมพิสัย ข้างโรงพยาบาล น้ำท่วมผิวจราจรเป็นระยะ 200 เมตร ปิดการสัญจรเร่งสูบระบายลงแม่น้ำชี สภาพน้ำท่วมขังในเขตพื้นที่ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ในพื้นที่ชลประทานหนองหวาย รวมประมาณ 2,700 ไร่ ต.หัวขวาง ประมาณ 300 ไร่ ต.เลิงใต้ ประมาณ 450 ไร่ ต.แห่ใต้ ประมาณ 1,800 ไร่    ต.ยางน้อย ประมาณ 150 ไร่

 

12. จังหวัดอุดรธานี พื้นที่น้ำท่วมบริเวณโรงเรียนบ้านหมากแข้ง อ.เมืองและบริเวณสะพานคลองผันน้ำ อ.เมือง ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะ ทำให้คอสะพานฝั่งขวาชำรุด รถไม่สามารถสัญจรไปมาได้ โครงการชลประทานอุดรธานี นำรถแบ็คโฮ จำนวน 2 คัน มาทำการเปิดทางน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำลงอ่างเก็บน้ำหนองสำโรง
 
 
13. จังหวัดอุบลราชธานี น้ำป่าไหลหลากจากเทือกเขาพนมดงรักไหลเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.ดอนมดแดง และ อ.ตระการพืชผล โดยลำเซบกและลำห้วยสาขาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ และลำเซบกไหลกัดเซาะคอสะพานข้ามลำเซบก โครงการชลประทานอุบลราชธานี เข้าช่วยขนย้ายสิ่งของขึ้นสู่ที่สูง และยังได้ส่งเครื่องจักร-เครื่องมือ เข้าช่วยเหลือในพื้นที่
 
 
14. จังหวัดอำนาจเจริญ น้ำท่วมสูงในเขตชุมชนเมืองอำนาจเจริญ ประมาณ 20-30 ซม. โดยสำนักงานชลประทานที่ 7 ได้ส่งเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และได้ส่งเครื่องจักร-เครื่องมือ เข้าช่วยเหลือในพื้นที่บริเวณเขตเทศบาลเมืองอำนาจเจริญ
  
15. จังหวัดมุกดาหาร    เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ ส่งผลน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือน ทำให้น้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนมีผลกระทบ 2 อำเภอ ได้แก่ บริเวณอำเภอนิคมคำสร้อย และอำเภอเมือง โครงการชลประทานมุกดาหาร ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 2 เครื่อง เพื่อเร่งการระบายน้ำ
 
16. จังหวัดสกลนคร น้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือน รวม 2 อำเภอ ได้แก่ อ.โพนนาแก้ว และ อ.เมืองสกลนคร ระดับน้ำล้นคันกั้นน้ำเข้าท่วมพื้นที่เกษตร และอ.โคกศรีสุพรรณ บริเวณลำห้วยหนองเทียน ลำน้ำสาขาของลำน้ำก่ำ ได้รับผลกระทบประมาณ 100 ไร่ โครงการชลประทานสกลนครติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 1 เครื่อง บริเวณเขตเทศบาลนครสกลสคร เครื่องผลักดันน้ำจำนวน 4 เครื่อง ลำน้ำยามบริเวณอ.อากาศอำนวย จำนวน 4 เครื่อง ลำน้ำก่ำ บริเวณสะพานบ้านด่านม่วงคำ อ.โคกศรีสุพรรณ

 

เพื่อเร่งการระบายน้ำในลำน้ำก่ำสู่พื้นที่ด้านท้ายน้ำ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำก่ำ เรียงกระสอบทรายบริเวณพนังกั้นน้ำต่ำที่เป็นจุดเสี่ยงต่อการไหลข้ามคันเข้าสู่พื้นที่การเกษตร บริเวณ อ.โพนนาแก้ว จ.สกลนคร โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำก่ำร่วมโครงการชลประทานสกลนครวางกระสอบทรายบริเวณพนังกั้นน้ำลำน้ำก่ำจุดที่ต่ำเสี่ยงน้ำท่วม
 
 
 17. จังหวัดเชียงใหม่ น้ำท่วมขังพื้นที่ที่อยู่อาศัยและพื้นที่การเกษตรประมาณ 200 ไร่ ในตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม และทำให้อ่างเก็บน้ำสันหนอง ตำบลช่างเคิ่ง เต็มความจุที่ระดับเก็บกัก 1.450 ล้าน.ลบ.ม. มีน้ำไหลล้นทางระบายน้ำล้น (spillway) สูง ๔ ซม. สถานการณ์ปัจจุบันในพื้นที่ฝนได้หยุดตก ระดับน้ำลดลงเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ยังคงมีบริเวณน้ำท่วมขังในพื้นที่ที่อยู่อาศัยและพื้นที่การเกษตรประมาณ 200 ไร่ ในตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม
 
 
18.จังหวัดแม่ฮ่องสอน น้ำป่าไหลหลากจากลำน้ำแม่แงะ เป็นเหตุให้ พืชผลทางการเกษตรที่อยู่บริเวณน้ำแม่แงะ ได้รับความเสียหายและ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ตำบลเสาหิน อำเภอแม่สะเรียง ได้รับความเสียหายจากน้ำป่าไหลหลาก ทำให้อุปกรณ์ทางการแพทย์วัสดุต่างๆที่อยู่ในอาคารได้รับความเสียหาย ปัจจุบันสถานการณ์น้ำได้ลดลงเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
 
 
19.จังหวัดสระแก้ว น้ำท่วมบริเวณสะพานคลองโป่งดาวเรือง กม.16+450 มีน้ำท่วมสูงประมาณ 40 ซม. ปริมาณน้ำยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจุดนี้อยุ่ท้ายอ่างเก็บน้ำห้วยกระบากที่รับน้ำจากอุทยานแห่งชาติปางสีดา
บริเวณบ้านโป่งดาวเรือง มีปริมาณน้ำท่วมสวนยูคาประมาณ 100 ไร่ บ้านเรือน 3 หลัง ปริมาณน้ำลดลง ความว่าหากไม่มีฝนตกจะเข้าสู่ปกติใน 1 วัน สำนักงานชลประทานที่ 9 ได้ส่งเครื่องจักร-เครื่องมือ เข้าช่วยเหลือในพื้นที่ และเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด สถานการณ์ปัจจุบันในพื้นที่ระดับน้ำได้ลดลงเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
 
 
20.จังหวัดชุมพร เกิดน้ำล้นตลิ่งที่คลองชุมพร บริเวณ สถานี X.53A บ้านวังไผ่ และสถานี X.201A บ้านท่าไม้ลาย โครงการชลประทานชุมพรติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 4 ชุด บริเวณตำบลวังไผ่ อ.เมืองชุมพร และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 4 ชุด บริเวณตำบลตากแดด อ.เมืองชุมพร สถานการณ์ปัจจุบันในพื้นที่ระดับน้ำได้ลดลงเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
 
 
 
21. จังหวัดระนอง น้ำในคลองน้ำจืดไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมชุมชนหน้าตลาด บ้านน้ำจืด ต.น้ำจืด อ.กระบุรี เกิดผลกระทบกับราษฎรประมาณ 100 หลังคาเรือน โครงการชลประทานระนองติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 2 เครื่อง ทางฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของชุมชน เพื่อช่วยเร่งการระบายน้ำออกจากพื้นที่ สถานการณ์ปัจจุบันในพื้นที่ระดับน้ำได้ลดลงเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-วิกฤติเป็นโอกาส โพดุล เติมน้ำรอดแล้ง
-กรมอุตุฯประกาศเตือน"พายุโพดุล" ฉบับ2ได้รับผลกระทบหลายจังหวัด
-ฤทธิ์โพดุล 64 อำเภอจมน้ำ ดับ 1
-โฆษะขอนแก่น รับบริจาคสิ่งของช่วยผู้ประสบภัยโพดุล 

 

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ