ข่าว

นวัตกรรมหรือความสุข

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - ทำกินถิ่นอาเซียน   โดย รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ [email protected] 

           โดยส่วนใหญ่เกษตรกรและผู้ประกอบการภาคการเกษตรจะมองว่าเรื่องของงานวิจัยเป็นเรื่องไกลตัว เพราะผลงานวิจัยเป็นการทำโดยนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์ และผลการวิจัยที่ได้ก็มักจะเป็นการเผยแพร่ด้วยการตีพิมพ์และเป็นข่าวให้คนทั่วไปทราบ หรือไม่ก็ทราบจากข่าวคราวจากการได้รับรางวัลจากหน่วยงานหรือองค์กรต่าง แต่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องของการวิจัยเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อภาคการเกษตรเป็นอย่างมาก และในแต่ละปีก็ได้งบประมาณสนับสนุนการดำเนินการไม่ใช่น้อย

 

           แต่ประเด็นที่สำคัญของการวิจัยก็คือว่าผลของการวิจัยที่ได้สามารถตอบวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ได้หรือไม่ ซึ่งในงานวิจัยด้านการเกษตรส่วนใหญ่กลุ่มเป้าหมายหลักที่จะได้ประโยชน์จากงานวิจัยก็คือเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านการเกษตร รวมถึงผู้บริโภค หรือแม้กระทั่งภาคอุตสาหกรรม 

          ในอดีตเรามักได้ยินกันว่างานวิจัยที่ทำกันเป็นการทำเพื่อหาคำตอบของนักวิจัยหรือตามความต้องการของนักวิจัย แต่ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของเกษตรกรและผู้ประกอบการ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็แสดงว่าผลการวิจัยไม่ได้ตอบสนองตามต้องการของผู้ใช้งานที่แท้จริง หรือเป็นงานวิจัยที่วางไว้อยู่บนหิ้งไม่สามารถนำไปใช้งานจริงได้ ซึ่งถือเป็นความสูญเปล่าทางวิชาการและประโยชน์ต่อสังคมเกษตร

        มาในช่วงหลังที่ประเทศไทยเรามียุทธศาสตร์ของชาติและการสร้างนวัตกรรมจากการวิจัยที่ชัดเจน งานวิจัยด้านการเกษตรที่เกิดขึ้นในช่วงหลังๆ จึงเป็นงานวิจัยที่ตอบสนองยุทธศาสตร์ของชาติและผลการวิจัยที่ได้จะเป็นองค์ความรู้ นวัตกรรมรวมถึงวิธีการต่างๆที่เกษตรกรสามารถนำไปใช้ได้อย่างชัดเจนในการทำการเกษตร เช่นในเรื่องของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ที่มีคุณภาพดี วิธีการผลิตพืชและสัตว์ที่มีประสิทธิภาพ การควบคุมและกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ด้วยวิธีการใหม่ ๆ นวัตกรรมในการเก็บเกี่ยวและรักษาคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงเทคโนโลยีด้านเครื่องจักรกลและหุ่นยนต์ที่ใช้งานในภาคการเกษตร 

        และแม้กระทั่งระบบปัญญาประดิษฐ์(AI) ไปจนถึงระบบ Big data ที่ช่วยเป็นแหล่งสารสนเทศที่สำคัญสนับสนุนข้อมูลในการทำการเกษตรแบบครบวงจร ก็ล้วนเป็นประเด็นสำคัญที่อยู่ในระบบงานวิจัยของประเทศเราในขณะนี้

         แต่การที่จะบอกได้ว่าผลการวิจัยนั้นมีผลกระทบต่อสังคมในแง่ไหนหรืออย่างไร ก็ไม่ใช่ว่าจะบอกกกันได้ง่ายๆแต่ต้องกระบวนการในการประเมินโดยผู้ที่มีความรู้และเชี่ยวชาญ ซึ่งอาจตีค่าออกมาเป็นตัวเลข เช่นปริมาณผลผลิต รายได้ที่เพิ่มขึ้น คุณภาพที่ดีขึ้น เป็นที่นิยมใช้หรือบริโภคกันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตรงนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำกันเพราะส่วนใหญ่เป็นตัวเลขและเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่สามารถนำมาคำนวณกันได้โดยใช้สูตรต่างๆที่กำหนดกันออกมาในเชิงเศรษฐศาสตร์

         ส่วนในงานวิจัยอีกประเภทหนึ่งที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นที่คนทั่วไปในทุกวันนี้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และไม่ได้เป็นตัวผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม หรือเทคโนโลยีที่จับต้องได้ ก็เป็นงานวิจัยที่ต้องบอกได้ว่ามีผลกระทบอะไรบ้างที่เกิดขึ้นจากงานวิจัย เช่นเกษตรกรมีความสุขมากขึ้น อยู่ดีกินดีขึ้น สวัสดิภาพดีขึ้น มีสุขภาพแข็งแรงมากขึ้น มีความภาคภูมิใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการจะประเมินสิ่งเหล่านนี้ก็ต้องมีวิธีการอีกรูปแบบหนึ่ง

    

 

     ในครั้งนี้ที่ผมเขียนถึงเรื่องนี้ก็เพราะว่าในการสร้างผลงานวิจัยในภาคการเกษตรในบางครั้งเราให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จับต้องได้ แต่งานวิจัยที่สร้างความสุขและสร้างคุณค่าทางจิตใจให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการก็มีความสำคัญเช่นกัน ดังนั้นการรักษาสมดุลย์ของการทำให้งานวิจัยสองด้านนี้เดินควบคู่กันไปได้ น่าจะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสังคมเกษตรไทยในยุคนี้

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ