ข่าว

"ชาวนาอุดร"ยิ้มออก พ้นวิกฤติเค็ม ปลูกข้าว-ยูคา รายได้ดี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"อุดรธานี"ตอกย้ำความสำเร็จฟื้นฟูดินเค็ม ปลูกข้าวได้ผลดี ชาวนามีรายได้เสริมขายไม้ยูคาลิปตัสบนคันนาเฉลี่ย 8,460 บาทต่อไร่ต่อปี 


12  สิงหาคม 2562 นายสุทธิดล วงษ์จันฬา ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินอุดรธานี สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 กรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ดินเค็มเป็นปัญหาหนึ่งที่สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  

 

"ชาวนาอุดร"ยิ้มออก พ้นวิกฤติเค็ม ปลูกข้าว-ยูคา รายได้ดี

 

ทั้งนี้เนื่องจากสภาพดินเค็มส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของพืชลดลง หรือในบางพื้นที่หากเกษตรกรมีการใช้สารเคมีทางการเกษตรในการปรับปรุงดินเค็มต่อเนื่องเป็นเวลานานจะทำให้ดินเสื่อมคุณภาพลงได้ สำหรับพื้นที่ดินเค็มในจังหวัดอุดรธานี มีอยู่ประมาณ 1.76 ล้านไร่ มีตั้งแต่ระดับดินเค็มน้อย ปานกลางถึงมาก 
    

สถานีพัฒนาที่ดินอุดรธานีได้ทำการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มในจังหวัดอุดรธานี โดยดำเนินการในพื้นที่ตำบลพังงู อำเภอหนองหาน มาตั้งแต่ปี 2557-2561 รวมพื้นที่ 4,600 ไร่ แบ่งเป็นกิจกรรมควบคุมระดับน้ำใต้ดินเค็มทั้งบนผิวดินและใต้ผิวดิน และกิจกรรมจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ พร้อมส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้นเศรษฐกิจบนคันนา ซึ่งในกิจกรรมเหล่านี้ก็จะเป็นการเข้าไปปรับรูปแปลงนา ไม่ว่าจะเป็นการปลูกกระถินออสเตรเลีย ปลูกยูคาลิปตัสบนคันนา และปรับปรุงบำรุงดินด้วยวัสดุอินทรีย์ชนิดต่างๆ

 

"ชาวนาอุดร"ยิ้มออก พ้นวิกฤติเค็ม ปลูกข้าว-ยูคา รายได้ดี

 

ทั้งนี้ ผลการแก้ปัญหาดินเค็มอย่างต่อเนื่อง พบว่า การวิเคราะห์สมบัติดินในพื้นที่ดินเค็มปานกลาง มีแนวโน้มคุณภาพดินดีขึ้น ส่วนด้านผลผลิตข้าวขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งเป็นพืชหลักของเกษตรกร ก็พบว่าผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น ก่อนเข้าโครงการผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 286.8 กิโลกรัมต่อไร่ หลังดำเนินการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 341 กิโลกรัมต่อไร่

 

ขณะที่การปรับรูปแปลงนาทำคันดินให้ใหญ่ขึ้นสามารถปลูกไม้เศรษฐกิจบนคันนาได้นั้น มีการปลูกยูคาลิปตัส ในพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้เฉลี่ย 188 ต้น น้ำหนักเฉลี่ย 47,000 กิโลกรัมต่อไร่ ราคาขายตันละประมาณ 900 บาท ทำให้เกษตรกรมีผลตอบแทนจากการปลูกไม้เศรษฐกิจบนคันนาในพื้นที่ดินเค็ม คิดเป็นรายได้ประมาณ 42,300 บาทต่อไร่ต่อ 5 ปี หรือ 8,460 บาทต่อไร่ต่อปี
    

"ชาวนาอุดร"ยิ้มออก พ้นวิกฤติเค็ม ปลูกข้าว-ยูคา รายได้ดี

 

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งด้านคุณสมบัติดินที่ดีขึ้นทำให้ปลูกข้าวได้ผลผลิตเพิ่ม ต้นทุนลด และมีรายได้เสริมจากการขายยูคาลิปตัส ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่มีความพึงพอใจมาก สถานีพัฒนาที่ดินอุดรธานี จึงใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นต้นแบบการจัดการฟื้นฟูแก้ไขปัญหาดินเค็มในจังหวัดอุดรธานี

 

โดยในปีนี้ ได้ขยายพื้นที่ดำเนินการเพิ่มขึ้นอีก 700 ไร่ มุ่งเน้นการแก้ปัญหาดินเค็มและป้องกันการแพร่กระจายดินเค็ม ใช้วิธีการที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนและลงทุนน้อย เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีศักยภาพ สามารถปลูกพืชเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม เพิ่มผลผลิตพืชและรายได้ของเกษตรกร นอกจากนี้ยังได้ทำการศึกษาวิจัยในการนำอินทรียวัตถุ เช่น แกลบและขี้อ้อย มาใช้ปรับปรุงบำรุงดินก่อนการปลูกข้าว เพื่อเป็นทางเลือกในการลดใช้ปุ๋ยเคมี และลดต้นทุนการผลิต เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต

 

  "ชาวนาอุดร"ยิ้มออก พ้นวิกฤติเค็ม ปลูกข้าว-ยูคา รายได้ดี

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ