ข่าว

เกษตรฯเคาะกว่า 1.3 แสนล้านงบ 63 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"4 รมต.เกษตรฯ"นั่งหัวโต๊ะเคาะงบปี 63 กว่า 1.3 แสนล้านบาท"เฉลิมชัย"ลั่นร่วมทีมงานไปได้ตลอด 3 - 4 ปี เร่งแก้ภัยแล้ง จ่อใช้วิธีต่างตอบแทน 

 

5 สิงหาคม 2562 ที่ห้องประชุมธารทิพย์ ศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะน้ำ กรมชลประทานนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมพร้อมด้วย ร.อ.ธรรมนัส พหรมเผ่า นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ และนายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรฯ ได้มอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ของกระทรวงเกษตรฯ ต่อมาช่วงบ่ายประชุมร่วมกับสำนักงบประมาณ

 

 

 

นายเฉลิมชัย กล่าวให้นโยบายว่าปัญหาภัยแล้ง เรื่องน้ำ เป็นเรื่องสำคัญที่สุดเป็นความหวังเกษตรกร ซึ่งกรมชลฯต้องเป็นหน่วยงานตอบสนองหาแหล่งน้ำให้เกษตรกร อย่างเร่งด่วน ต้องทำงานตอบโจทย์ความเดือดร้อนให้ได้ทันที รวมทั้งกรมฝนหลวงฯขณะนี้เป็นพระเอกของกระทรวงเกษตรฯช่วยเพิ่มน้ำให้พื้นที่เกษตรได้ผล

 

“เรื่องสำคัญที่ผมคิดและที่ทุกคนเฝ้าจับตาทั้งประเทศ การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ มีผลกับพี่น้องประชาชน มีผลจิตวิทยา ความรู้สึก น้ำคือชีวิต ทั้งท่วมแล้ง เขาเดือดร้อน ปัญหามาจากธรรมชาติ เราจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ ทุกภาคส่วนบูรณาการร่วมกัน การเพิ่มพื้นที่แหล่งกักเก็บน้ำ ต้องตอบได้ว่าผลงานเราแต่ละปีมีอะไรบ้าง เกิดปัญหาน้ำแล้งแต่ละครั้ง ประชาชนเรียกร้อง เรามีแหล่งกักเก็บไม่พอแต่กว่าจะสร้างได้ 10-20ปี อย่าท้อ หรือสร้างเป็นฝาย อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง”นายเฉลิมชัย กล่าว

 

ภายในสัปดาห์นี้ กระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์ จะร่วมขับเคลื่อนมาตรการประกันรายได้เกษตรกร ยกระดับราคาพืชผลเกษตร 5ชนิด เช่นข้าวขาว 1หมื่นบาทต่อตัน ข้าวหอมมะลิ 1.5หมื่นบาท ยาง 60บาท ปาล์ม 4บาท มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คาดว่าใช้งบ 1.6หมื่นล้านบาทในเบื้องต้น ทั้งนี้มีมาตรการดูดซับสินค้าออกจากตลาดเพราะไม่ต้องการใช้งบมาอุดหนุนตลอดไป

 

กรณียางพารา เร่งประสานงานทำเอ็มโอยูกับกระทรวงคมนาคม นำยางไปใช้ทำอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยทางถนน เช่น กรวย แบริเออร์ รวมทั้งคุยพ่อค้าคนกลาง กลุ่มประเทศผู้ปลูกยาง สำหรับประกันรายได้ชาวนา ไม่เกินรายละ30ไร่ จะเป็นเกษตรกรรายย่อย มีพื้นที่ปลูกระดับนี้ นอกจากนี้ที่ผ่านมามีปัญหาเงินชดเชย ไม่ถึงมือเกษตรกรไปถึงมือเจ้าของที่ดิน ตนจะตั้งคณะกรรมการมาขึ้นมาดูแล เพื่อให้เงินถึงเกษตรกรตัวจริง

 

มาตรการช่วยเหลือเพิ่มรายได้ ดูแลปากท้องเกษตรกรให้ดีขึ้น เรื่องน้ำแล้งท่วม ต้องทำทันที เพราะรักษาสัญญาของทุกพรรคร่วมรัฐบาล และ4รัฐมนตรีเกษตร ทำงานเป็นทีม หวังว่าจะทำงานร่วมกันได้ 3-4ปีหลังจากนี้ ผลักดันนโยบายที่ให้ไว้กับพี่น้องประชาชน ออกมาในส่วนประกันรายได้แก้ความเดือดร้อน ปัญหาปากท้องเรื่องเร่งด่วน ที่นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำให้ใช้งบกลาง รวมทั้งภัยแล้ง ให้ช่วยประชาชนโดยรวดเร็ว ในส่วนการขุดลอกบึง แหล่งกักเก็บน้ำตื้นเขิน ขอประสานกระทรวงมหาดไทย ใช้งบผู้ว่าราชการจังหวัด ไปก่อน ซึ่งผมจะประสานแก้ไขกฏระเบียบ กรมบัญชีกลาง ให้เร็วที่สุดที่ให้พื้นที่ใช้การขุดลอกในรูปแบบต่างตอบแทน โดยให้กำหนดราคากลาง ของดิน เมื่อขุดมาแล้วนำไปขายได้ จะทำให้การแก้ปัญหาภัยแล้งทำได้เร็วขึ้น

 

นายประภัตร กล่าวว่าปัญหาภัยแล้งขณะนี้ เมื่อมีฝนตกมา ช่วยนาข้าว1.2ล้านไร่ ฟื้นตัวได้ แต่หากช่วงนี้จนถึงวันที่20ส.ค.ฝนทิ้งช่วงอีก คาดว่าจะทำให้เสียหายกว่า10ล้านไร่ โดย รมว.เกษตรฯสั่งกรมฝนหลวง ระดมทำฝนให้ทั่วถึง เร่งประสานกระทรวงทรัพย์ฯขุดบ่อบาดาล

 

“ปีนี้มีแล้งถึงสองครั้ง ได้ชดเชยภัยแล้งไปแล้วเมื่อเดือน มี.ค.เม.ย. และในเดือนนี้ จะประกาศเขตภัยแล้ง เช่น จ.ขอนแก่น ซึ่งเกณฑ์เดิมชาวนาได้รับช่วยเหลือไร่ละ 1,113บาทต่อไร่ โดยรัฐบาลกำลังปรับเพิ่มไร่ละ1.5-2พันบาท อย่างไรก็ตามน้ำฝนเริ่มเข้าเขื่อนบ้าง นาข้าวในเขตชลประทาน มีน้ำยืดอายุถึงเก็บเกี่ยวได้ นานอกเขต ยังเสียหายน้อย เพราะทำฝนหลวง ได้ประโยชน์มากชะลอความเสียหายพืช จนมีฝนมาทำให้ตัวเลขเสียหายยังไม่แน่นอนและความเสียหายไม่ถึงปี58 และมีการแนะนำปลูกพืชทดแทนทำนา นอกจากนี้ เรื่องเร่งด่วนต้องเพิ่มแหล่งน้ำ โดยขณะนี้กรมชลฯออกแบบสร้างแหล่งกักเก็บน้ำในลุ่มน้ำแม่วงค์ ซึ่งประชาชนจ.นครสวรรค์ กำแพงเพชร อุทัยธานี ได้ประโยชน์

 

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่าปัญหาพื้นที่ส.ป.ก.ทับซ้อนพื้นที่อุทยาน และพื้นที่ป่า ต้องเร่งแก้ไขหาทางออกร่วมกันสองกระทรวง ซึ่งวันนี้(5ส.ค.)มอบหมายให้ นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการส.ป.ก.ไปหารือกับอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยเฉพาะพื้นที่วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ได้ย้ำให้ศึกษาอย่างละเอียดทุกมิติของปัญหาวังน้ำเขียว มองย้อนกลับในอดีต ได้นำชาวบ้านออกจากป่า ในช่วงบ้านเมืองเกิดความไม่สงบ เมื่อออกมาแล้วต้องหาพื้นที่ให้เขาอยู่ ซึ่งภาครัฐจะต้องหาแนวทางแก้ไขให้คนเหล่านี้ให้ได้ ซึ่งเมื่อวานนี้กลุ่มเกษตรกรสมัชชาคนจน กว่า3พันคนมายื่นเรียกร้อง เรื่องไม่มีที่ดินทำกิน ผลกระทบจากโครงการรัฐ เป็นปัญหารื้อรังมาหลาย10ปี

 

นายเฉลิมชัย กล่าวเรื่องงบประมาณปี63ว่าแผนงานเรื่องน้ำ ต้องทำทันที และมีงบผูกพัน พร้อมกับสามารถตอบคำถามประชาชนได้ แก้เรื่องเร่งด่วนปัญหาอะไรบ้างเพราะงบตรงนี้ ภาคเกษตรกว่า40ล้านคนได้รับประโยชน์ ทั้งสร้างความเข้มแข็งในอาชีพ สร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาพืชเกษตร ปศุสัตว์ ประมง

 

สำหรับข้อเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ภาพรวมของกระทรวงเกษตรฯ ข้อเสนอปี2562 วงเงิน 213,386.4994 ล้านบาท ได้รับจัดสรรงบ 111,762.9702ล้านบาท ข้อเสนอปี2563 วงเงิน248,296.2082 ล้านบาท โดยประมาณการเพิ่ม-ลด จากที่ได้รับจัดสรรปี62 คาดว่าได้รับงบ 136,533.2380ล้านบาท แบ่งส่วนราชการ ดังนี้

 

กรมชลประทาน 90,243.5755ล้านบาท กรมส่งเสริมการเกษตร 2,838.0887ล้านบาท กรมปศุสัตว์ 5,319.6721ล้านบาท กรมพัฒนาที่ดิน 4,802.4136ล้านบาท กรมวิชาการเกษตร 802.7459ล้านบาท กรมประมง 4,712.0684ล้านบาท กรมการข้าว 5,299.5845ล้านบาท กรมส่งเสริมสหกรณ์ 2,543.5202ล้านบาท กรมฝนหลวงและการบินเกษตร 1,158.2691ล้านบาท สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 1,280.3809ล้านบาท สำนักปลัดกระทรวงเกษตรฯ1,855.3809ล้านบาท กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ 866.1705 ล้านบาท

 

กรมหม่อนไหม 370.2205ล้านบาท สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 248.3795ล้านบาท สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์กรมหาชน)105.3441ล้านบาท สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร 1,116.7042ล้านบาท สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ 118.6562ล้านบาท สำนักงานพิพิทภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(องค์กรมหาชน)255.7629ล้านบาท

 

ในส่วนรัฐวิสาหกิจ ภาพรวม 11,115.9135ล้านบาท แบ่งเป็น องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร 6.8968ล้านบาท ลดจากปี62 วงเงิน 639.2125ล้านบาท การยางแห่งประเทศไทย 10,565.6704ล้านบาท หรือ ร้อยละ 7,043เพิ่มจากปี62 วงเงิน150ล้านบาท องค์การสะพานปลา 543.3463ล้านบาท ลดจากปี62 วงเงิน93.7537ล้านบาท และกองทุน ภาพรวม 1,479.7490ล้านบาท

 

แบ่งเป็นกองทุนจัดรูปที่ดิน 554.7490ล้านบาท ลดจากปี62 รับวงเงิน 1,489.7490ล้านบาท กองทุนฟื้นฟูพัฒนาเกษตรกร 825ล้านบาท ลดลงจากปี62 รับ1,330ล้านบาท กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน 100ล้านบาท ลดลงจากปี62 รับ 500ล้านบาท ส่วนกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันประเทศ ไม่ได้จัดสรรงบประมาณ

 

นโยบายรัฐบาลที่กระทรวงเกษตรฯเกี่ยวข้องในเรื่องเร่งด่วน12เรื่อง และกระทรวงเกษตรฯดำเนินการ 9 เรื่อง วงเงินรวม 68,790.4394ล้านบาท มาตรการแก้ปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน วงเงิน 5,937ล้านบาท เช่นแก้ไขหนี้สินเกษตรกร สมาชิกสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร 432,790ราย วงเงิน 3,254ล้านบาท การปรับปรุงระบบที่ดินทำกินให้เกษตรกรเข้าถึงได้ 63,000 ราย 619ล้านบาทในพื้นที่ส.ป.ก. และจัดที่ดินส.ป.ก.ให้ผู้ยากไร้ 36 พื้นที่ วงเงิน 25ล้านบาท

 

จัดระเบียบการทำประมง ลดอุปสรรคในธุรกิจประมงพาณิชย์ ประมงชายฝั่ง 1,192ล้านบาท ช่วยเหลือดูแลประมงพื้นบ้าน สร้างความเข้มแข็งชุมชนประมง 467กลุ่ม 142ล้านบาท มาตรการเศรษฐกิจเพื่อรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรภายในประเทศ วงเงิน 158ล้านบาท มาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวตกรรม วงเงิน 22,438 ล้านบาท เช่นการจัดพื้นที่เกษตรตามอะกริแม๊พ เพื่อบริหารจัดการเชิงรุกผลิตสินค้าเกษตร วงเงิน 1,921ล้านบาท

 

นอกจากนี้มาตรการส่งเสริมระบบประกันภัยสินค้าเกษตร ศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบประกันภัยผลผลิตทางการเกษตร วงเงิน7 ล้านบาท ส่งเสริมเกษตรพันธสัญญา 4.8ล้านบาท

 

มาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวตกรรม วงเงิน 22,438ล้านบาท แบ่งเป็นแก้ปัญหาข้าว แผนการผลิตข้าวครบวงจร วงเงิน6,080ล้านบาท บริหารจัดการรับฝากและเก็บรักษาสินค้าเกษตร วงเงิน 87 ล้านบาท แก้ไขปัญหายางพารา วงเงิน 10,714ล้านบาท (กยท.) ส่งเสริมการใช้ยางพาราในภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานรัฐ 1,209ตัน วงเงิน 1,997ล้านบาท

 

ควบคุมการใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี ส่งเสริมการใช้ชีวภัณฑ์ วงเงิน80ล้านบาท ควบคุมการใช้สารเคมี วงเงิน363ล้านบาท ส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร 1ล้านไร่ วงเงิน241ล้านบาท ต่อยอดภูมิปัญญาและความรู้ของปราชญ์ชาวบ้าน ขยายผลใช้องค์ความรู้ ภูมิปัญญาชาวบ้าน พัฒนาศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน วงเงิน 239ล้านบาท โครงการเกษตรทษฏีใหม่ วงเงิน522ล้านบาท โครงการเกษตรผสมผสาน 172ล้านบาท

 

วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการใช้กัญชง 6ล้านบาท มาตรการยกระดับศักยภาพแรงงาน จัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว การค้ามนุษย์ด้านการประมง 5หมื่นราย 45ล้านบาท มาตรการวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศ สู่อนาคต วงเงิน507ล้านบาท สร้างผู้ประกอบการอัจฉริยะ ขนาดย่อม กลาง เกษตรกร ยุคใหม่ 17,640ราย 56ล้านบาท พัฒนาผู้ประกอบการ 82ล้านบาท โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง 368ล้านบาท มาตรการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่21 วงเงิน3.9ล้านบาท พัฒนาบุคคลากรวิจัยด้านเกษตร1,040คน มาตรการแก้ไขปัญหายาเสพติดและสร้างความสงบสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 275ล้านบาท มาตรการพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน วงเงิน 159ล้านบาท

 

ทั้งนี้การชดเชยประกันรายได้เกษตรกรในสินค้าสำคัญ อาทิ ข้าว 1หมื่นบาทต่อตัน ข้าวหอมมะลิ 1.5หมื่นบาทต่อตัน ยางพารา60บาทต่อกก. มันสำปะหลัง ปาล์ม 4บาทต่อกก.ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 8บาทต่อกก.ใช้งบกลางวงเงิน1.6หมื่นล้านบาท รวมทั้งชดเชยภัยแล้ง ใช้งบกลาง เพราะเป็นเรื่องช่วยเหลือเฉพาะหน้า

 

ทั้งมีการจัดเตรียมมาตรการรองรับภัยแล้งและอุทกภัย วงเงิน 39,264.5827ล้านบาท การป้องกันก่อนเกิดภัย การให้ความช่วยเหลือ ระหว่างเกิดภัยและการแก้ไขระยะยาว ในการบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 10,218ล้านบาท การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย วงเงิน25,925ล้านบาท จัดระบบติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง กำหนดมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนอย่างทันท่วงที การพัฒนากาปฏิบัติการฝนหลวงให้มีประสิทธิภาพ วงเงิน 3,120ล้านบาท

 

งานนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรฯต่อเนื่องปี2563สอดคล้องนโยบายรัฐบาล รวมงบประมาณ 162,745ล้านบาท อาทิ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 139,845ล้านบาท ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 1,127ล้านบาท ระบบส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ 1,424ล้านบาท แผนการผลิตข้าวครบวงจร 6,080ล้านบาท การยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้เกษตร 3,446ล้านบาท การพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร มันสำปะหลัง ปาล์ม สับปะรด มะพร้าว กาแฟ ทุเรียน มังคุด ลองกอง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หม่อนไหม ประมง ปศุสัตว์ และพืชอื่นๆ3,162ล้านบาท การส่งเสริมใช้ยางหน่วยงานรัฐ 1,997ล้านบาท

 

ระหว่างนี้ทุกหน่วยงานรับพิจารณาตามขั้นตอน เสนอรมว.เกษตรฯวันที่ 9 ส.ค.และส่งสำนักงบประมาณ ทุกหน่วยงานจัดทำรายละเอียดตามสำนักงบฯต้องการ และรับทราบข้อเสนอร่างพ.ร.บ.งบ รายจ่ายประจำปี63ตามที่ครม.เห็นชอบ นำเสนอเข้าสภา8-17ต.ค.พิจารณาวาระ1-2-3 และเข้าวุฒิสภา 20ม.ค.และ27ม.ค.63 ทุกหน่วยงานรับทราบงบ ตามที่เลขาธิการครม.นำขึ้นทูลเกล้า

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ