ข่าว

"มณีเงิน5"เรือประมงนอกน่านน้ำลำแรกปลดล็อก"ไอยูยู"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"มณีเงิน5"เรือประมงนอกน่านน้ำลำแรกจุดประกายประมงไทยปลดล็อก"ไอยูยู"

               กลับเข้าฝั่งเรียบร้อยแล้วสำหรับ “มณีเงิน5” เรือประมงนอกน่านน้ำลำแรกของไทย หลังสหภาพยุโรปหรืออียู ได้ประกาศเพิกถอนใบเหลืองภาคการประมงของไทยออกจากกลุ่มประเทศที่ถูกเตือนทำการประมงที่ผิดกฎหมาย หรือ ไอยูยู 

"มณีเงิน5"เรือประมงนอกน่านน้ำลำแรกปลดล็อก"ไอยูยู"

   อรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง

          เป็นการยอมรับความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาการจับปลาที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม แถลงการณ์ของอียู ระบุว่า รับทราบถึงความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องในระบบกฎหมาย และการบริหารการประมงของประเทศไทย

"มณีเงิน5"เรือประมงนอกน่านน้ำลำแรกปลดล็อก"ไอยูยู"

           หากย้อนไปเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 คณะกรรมการสหภาพยุโรป(อียู) ประกาศให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทยด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นประเทศที่ทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุมหรือไอยูยู ถือเป็นการประกาศเตือนอย่างเป็นทางการของอียู ซึ่งก่อนหน้านั้น 1 ปี หรือมิถุนายน 2557 ประเทศไทยถูกสหรัฐลดชั้นไปอยู่เทียร์3 จากรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ 

              การประกาศเตือนของอียูในครั้งนั้น ทำให้การประมงไทยถูกจับจ้องจากทั่วโลกเป็นอย่างมากว่าไม่ได้ทำประมงที่สอดคล้องกับหลักกฎหมายสากล ดังนั้นการปลดล็อกใบเหลืองจากอียูครั้งนี้ นับเป็นมิติใหม่ของภาคการประมงไทยไปสู่ความยั่งยืนและได้รับการยอมรับในระดับสากล สิ่งที่ตามมาคือการไม่ถูกกีดกันทางการค้าสัตว์น้ำไทยในตลาดอียูและสหรัฐอเมริกาที่มีมูลนับแสนล้านต่อปี

"มณีเงิน5"เรือประมงนอกน่านน้ำลำแรกปลดล็อก"ไอยูยู"

              การวางระบบป้องกันการทำประมงไอยูยู ประกอบด้วย 6 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.ด้านกฎหมาย 2.ด้านการบริหารจัดการประมง 3.ด้านการบริหารจัดการกองเรือ 4.ด้านการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (MCS) 5.ด้านการตรวจสอบย้อนกลับ และ 6.ด้านการบังคับใช้กฎหมาย

             เรือประมงทุกลำที่ออกทำการประมงนอกน่านหรือในน่านน้ำสากล จะต้องปฏิบัติตามหลักการทั้ง 6 ด้านนี้อย่างเคร่งครัด ซึ่งปัจจุบันมีเรือประมงขนาดใหญ่ของไทยที่ปฏิบัติตามระเบียบถูกต้องตามกฎหมาย สามารถออกทำการประมงนอกน่านน้ำได้มีจำนวนทั้งสิ้น 3 ลำ อยู่ที่ จ.ตรัง 2 ลำ และ จ.ระนอง 1 ลำ ส่วนอีก 12 ลำ อยู่ระหว่างการตรวจสอบครั้งสุดท้ายและจะสามารถทำการประมงได้ในเร็วๆ นี้   

              การกลับเข้าฝั่งของ “มณีเงิน5” ณ ท่าเทียบเรือแพ ป.ชานนท์ อ.กันตัง จ.ตรัง เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 31 กรกฎาคม ที่ผ่านมา หลังจากกรมประมงอนุญาตให้ออกทำการประมงนอกน่านน้ำไทย เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ในบริเวณพื้นที่ Saya de Malha Bank ทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรอบความร่วมมือว่าด้วยการทำประมงในพื้นที่มหาสมุทรอินเดียตอนใต้ (SIOFA) ซึ่งไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกตั้งแต่พฤษภาคม 2560 ขณะนี้เรือลำดังกล่าวได้แจ้งกลับเข้าเทียบท่าเรียบร้อยแล้ว 

"มณีเงิน5"เรือประมงนอกน่านน้ำลำแรกปลดล็อก"ไอยูยู"

              ทว่าการกลับเข้าฝั่งครั้งนี้ จึงมีความหมายมากสำหรับประเทศไทย เพราะถือเป็นการปฏิบัติตามกฎระเบียบประมงนอกน่านน้ำตามหลักการสากลครบกระบวนการในทุกขั้นตอนทั้ง 6 ด้าน 

             “มณีเงิน5” เป็นเรือประมงนอกน่านน้ำ มีขนาด 312.73 ตันกรอส ทำประมงด้วยเครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่/เบ็ดมือ ได้แจ้งออกทำการประมงนอกน่านน้ำเป็นระยะเวลา 75 วัน มีการลงทำประมงทั้งหมด 120 ครั้ง แบ่งเป็นอวนลากแผ่นตะเฆ่ 96 ครั้ง เบ็ดมือ 24 ครั้ง สามารถจับสัตว์น้ำได้ทั้งหมด 253.8 ตัน โดยอวนลากสามารถจับสัตว์น้ำได้ทั้งหมด 222.2 ตัน ซึ่งประกอบด้วย ปลาปากคม 77,099 กก. ปลาทูแขก 42,124 กก. ปลาทรายแดง 34,804 กก. และปลาอื่นๆ 68,245 กก. และเบ็ดมือ จับสัตว์น้ำได้จำนวน 31.6 ตัน ซึ่งประกอบด้วย ปลาตะคอง 25,130 กก. ปลากะพงแดง 1,364 กก. ปลาหมูสี 1,301 กก. และปลาอื่นๆ 3,807 กก.

              “ในระหว่างการออกทำประมงนอกน่านน้ำของเรือทุกลำ กรมประมงจะเฝ้าติดตามพฤติกรรมการเดินเรือและพฤติกรรมการทำประมงตลอด 24 ชั่วโมง โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ประกอบด้วย ระบบระบุตำแหน่งเรือประมง (VMS) ระบบการรายงานทางอิเล็กทรอนิกส์ (ERS) ซึ่งเป็นช่องทางในการรายงานผลการทำประมง และการขออนุญาตขนถ่ายสัตว์น้ำเพื่อป้องกันปัญหาการทำประมงขาดการรายงาน หรือไอยูยู และระบบเฝ้าติดตามอิเล็กทรอนิกส์ (EM)”

"มณีเงิน5"เรือประมงนอกน่านน้ำลำแรกปลดล็อก"ไอยูยู"

             อรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวระหว่างนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมต้อนรับการกลับเข้าฝั่งของ “มณีเงิน5” เรือประมงนอกน่านน้ำลำแรกของไทย ณ ท่าเทียบเรือแพ ป.ชานนท์ อ.กันตัง จ.ตรัง โดยระบุต่อว่า 

             ระบบดังกล่าวประกอบด้วยกล้องวงจรปิดซึ่งบันทึกพฤติกรรมตั้งแต่เรือออกจากท่า จนกระทั่งกลับเข้าท่าและยังได้มีการติดตั้งระบบเซ็นเซอร์บนกว้านที่ใช้ทำการประมงและฝาระวางเก็บสัตว์น้ำ เมื่อมีกิจกรรมการทำประมง ระบบจะส่งสัญญาณการเริ่มและเลิกกิจกรรมเข้ามาในระบบเฝ้าระวังของกรมประมงโดยอัตโนมัติ อีกทั้งหากพบว่าเรือประมงมีพฤติกรรมต้องสงสัย กรมประมงสามารถร้องขอภาพเพื่อให้ระบบถ่ายภาพส่งเข้ามายังระบบเฝ้าระวังได้

             นอกจากนี้กรมประมงยังได้จัดส่งผู้สังเกตการณ์บนเรือร่วมออกเดินเรือทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์บนเรือประมงตลอดเวลา ตั้งแต่ออกเดินทางจากไทยจนกระทั่งกลับไทย ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของ SIOFA สำหรับเรือประมงอวนลากที่จะต้องมีผู้สังเกตการณ์บนเรือตลอดเวลาที่ทำการประมง เพื่อทำหน้าที่เก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และสังเกตการณ์พฤติกรรมการทำประมงของเรืองนอกน่านน้ำ รวมถึงประเด็นอื่นที่น่าสนใจ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในการทำการประมง เช่น จำนวนเรือของประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะถอดวิดีโอที่บันทึกภาพเหตุการณ์ตั้งแต่เรือออกจากท่าจนกระทั่งเรือกลับเข้าท่า นำไปวิเคราะห์พฤติกรรมการทำประมงอย่างละเอียดอีกครั้ง

              “มาตรการเรือประมงนอกน่านน้ำวันนี้หลักสำคัญก็คือต้องมีใบอนุญาตทำการประมงตามมาตรา 48 กฎหมายกรมประมงและหลักเกณฑ์ขององค์กรระหว่างประเทศตามมาตรา 49 ต้องมีผู้สังเกตการณ์บนเรือ ซึ่งเป็นไปตามพันธกรณีขององค์กรสัตว์น้ำระหว่างประเทศทั้งในเรื่องการอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ” รองอธิบดีกรมประมงกล่าวย้ำ

            อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่ของรองอธิบดีกรมประมงและคณะสื่อมวลชนในครั้งนี้ เพื่อดูขั้นตอนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมสวัสดิการและคุมครองแรงงาน และตำรวจตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) เพื่อเก็บข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ทั้งจำนวนแรงงาน  ปริมาณสัตว์น้ำ ชนิดตาอวนและอื่นๆ ว่าตรงตามที่จดแจ้งไว้ครั้งแรกที่ออกจากฝั่งหรือไม่ ซึ่งจากการดำเนินการตามขั้นตอน ปรากฏว่าข้อมูลตรงกับที่ได้จดแจ้งไว้ครั้งแรกและการรายงานการปฏิบัติงานทุกประการ

            เอกรัฐ วงษ์เขียว หัวหน้ากลุ่มเฝ้าระวังทำการประมงนอกน่านน้ำ และระบบถ่ายสัตว์น้ำ กรมประมงกล่าวเสริมว่า มณีเงิน5 เป็นเรือประมงนอกน่านน้ำลำแรกของไทยที่กลับเข้าฝั่งหลังออกไปทำการประมงในบริเวณทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดียเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยเรือลำนี้นอกจากปฏิบัติตามกฎหมายไทยแล้วยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศด้วย เนื่องจากเรือที่ทำประมงนอกน่านน้ำทุกลำจะต้องขึ้นทะเบียนเพื่อขออนุญาตทำการประมงกับองค์กรสัตว์น้ำระหว่างประเทศด้วย

"มณีเงิน5"เรือประมงนอกน่านน้ำลำแรกปลดล็อก"ไอยูยู"

    เอกรัฐ วงษ์เขียว หัวหน้ากลุ่มเฝ้าระวังทำการประมงนอกน่านน้ำ

             “เรือลำนี้ได้รายงานการทำประมงทุกวันผ่านระบบอีเอ็มเอสว่า วันนี้จับได้เท่าไร ชนิดสัตว์น้ำอะไร ทำประมงวันละกี่ครั้ง  พอช่วงเย็นก็จะสรุปยอดและรายงานมาที่กรมประมงทุกวัน” เอกรัฐเผย พร้อมย้ำข้อดีการติดตั้งระบบอีเอ็มเอสว่า ทำให้สามารถตรวจสอบได้ว่าเรือลำนี้ได้เข้าไปทำประมงในเขตหวงห้ามหรือเขตพื้นที่อนุรักษ์หรือไม่ เพราะระบบนี้จะมีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้การรายงานข้อมูลปริมาณสัตว์น้ำในระหว่างทำการประมงจนสิ้นสุดกับปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นผั่งจะต้องตรงกันด้วยเพื่อป้องกันการลักลอบผ่องถ่ายสัตว์น้ำจากเรือที่ทำประมงผิดกฎหมาย

              “รายงานข้อมูลสัตว์น้ำที่จับได้ในทะเลและบนฝั่งจะต้องตรงกัน อยู่ในทะเลรายงานพันตัน พอขึ้นฝั่งเหลือกลับมาเจ็ดร้อย ข้อมูลไม่ตรงแล้ว ปัญหาก็คือเราไม่สามารถควบคุมทรัพยากรได้ เรามีบริหารกองเรือว่าพื้นที่นี้มีปลาเท่านี้เราจะปล่อยเรือไปเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม ถ้ารายงานไม่ตรงกับข้อมูล การบริหารทรัพยากรประมงก็จะมีปัญหา” หัวหน้าเอกรัฐกล่าวย้ำ

               นับเป็นมิติใหม่ของการทำประมงนอกน่านน้ำไทยที่ยึดหลักการสากล นอกจากความยั่งยืนแล้วยังส่งผลต่อการส่งออกสัตว์น้ำไทยที่มีมูลค่ามหาศาลโดยเฉพาะตลาดหลักอย่างอียูและสหรัฐอเมริกา

     ส.ประมงฯชี้ออกเรือแค่3เดือนไม่คุ้มทุน

             สฤษพัฒน์ ภมรวิศิษย์ อดีตนายกสมาคมประมงกันตัง จ.ตรัง ปัจจุบันรั้งตำแหน่งรองประธานสมาคมประมงแห่งประเทศไทย(ฝั่งอันดามัน) กล่าวถึงเรือมณีเงิน5 ว่าเป็นเรือสมาชิกของสมาคมประมงกันตังและเป็นเรือประมงนอกน่านน้ำลำแรกที่ออกไปทำการประมงภายใต้กฎหมายประมงไทยฉบับปี 2558  ซึ่งผลประกอบการก็ต้องคอยดูกันต่อไปว่าจะคุ้มทุนหรือเปล่า เพราะการที่จะออกไปทำประมงนอกน่านน้ำครั้งนี้ได้พบเจอปัญหาอุปสรรคมากมาย 

              “เราใช้เวลาประมาณ 2 ปีในการเตรียมตัวปรึกษาหารือ ประชุมร่วมกับหลายๆ หน่วยงานของทางราชการ การออกไป 3 เดือนคราวนี้เราก็พบว่ามีอุปสรรคบางประการ ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขต่อไปในอนาคต เพราะปกติแล้วเรือประมงนอกน่านน้ำจะต้องออกไปทำประมงประมาณ 1-2 ปีเป็นอย่างต่ำ การออกไปแค่ 3 เดือนเราก็พบข้อบกพร่องอยู่ 2-3 จุด ซึ่งจะต้องให้ทางราชการแก้ไขในระเบียบข้อบังคับบางข้อ ซึ่งไม่ยืดหยุ่นพอสมควร” สฤษพัฒน์กล่าวย้ำ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ