ข่าว

เกษตรฯ เปิดแผนบริหารจัดการผลไม้ ปี 62 มั่นใจราคาดีไม่มีร่วง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เกษตรฯ เปิดแผนบริหารจัดการผลไม้ ปี 2562 มั่นใจราคาดีไม่มีร่วง ชี้เกษตรกรทำผลผลิตคุณภาพ

            เกษตรฯ เผยแผนบริหารจัดการผลไม้เศรษฐกิจ ปี 2562 ทั้งลำไยภาคเหนือ ทุเรียน มังคุด และเงาะภาคใต้ คาดการณ์ราคาอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ โดยเฉพาะลำไยและทุเรียนราคาจูงใจเป็นที่ต้องการของตลาดภายในและต่างประเทศ ส่งผลให้เกษตรกรแข่งกันทำผลผลิตคุณภาพ

เกษตรฯ เปิดแผนบริหารจัดการผลไม้ ปี 62 มั่นใจราคาดีไม่มีร่วง
 

            ว่าที่ร้อยตรี สมสวย ปัญญาสิทธิ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เปิดเผยถึงสถานการณ์ไม้ผลเศรษฐกิจของประเทศ ประจำปี 2562 ว่าไม้ผลภาคเหนือ ประกอบด้วย ลำไยใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ปีนี้มีปริมาณผลผลิต จำนวน 624,321 ตัน แบ่งเป็น ลำไยในฤดู 341,028 ตัน ลำไยนอกฤดู 283,293 ตัน เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ปริมาณ 675,549 ตัน ลดลง 7.5%

เกษตรฯ เปิดแผนบริหารจัดการผลไม้ ปี 62 มั่นใจราคาดีไม่มีร่วง

         เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเกิดฝนแล้ง ปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอ อากาศร้อน เกิดพายุร้อนและวาตภัย ช่วงที่ผลผลิตออกมาก (peak) จะอยู่ในเดือนสิงหาคม ส่วนลิ้นจี่ มีปริมาณผลผลิต จำนวน 26,278 ตัน เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ปริมาณ 41,220 ตัน ลดลง 36.25% สาเหตุเกิดจากภาวะฝนทิ้งช่วง อากาศร้อนจัด แห้งแล้ง เกษตรกรลดการดูแลรักษาเพราะราคาไม่จูงใจ ช่วงที่ผลผลิตออกมาก (peak) อยู่ในเดือนพฤษภาคม ผลผลิตไม่เพียงพอจำหน่าย
          สำหรับสถานการณ์ไม้ผลภาคใต้ ประกอบด้วย ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ปี 2562 ทุเรียน มีปริมาณผลผลิต จำนวน 445,220 ตัน เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา จำนวน 304,267 ตัน เพิ่มขึ้น 46.33% เนื่องจากเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น ราคาดี จูงใจให้เกษตรกรบำรุงรักษาดูแลผลผลิตดีขึ้น ทำให้ต้นมีความสมบูรณ์ ออกดอกและติดผลมากขึ้น ช่วงที่ผลผลิตออกมาก (peak) อยู่ในเดือนสิงหาคม  มังคุด มีปริมาณผลผลิต จำนวน 156,118 ตัน เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา จำนวน 110,364 ตัน เพิ่มขึ้น 41.46% เนื่องจากเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น ต้นมีความสมบูรณ์ออกดอกและติดผลมากขึ้น

           ช่วงที่ผลผลิตออกมาก (peak) เดือนกรกฎาคม - เดือนสิงหาคม เงาะ มีปริมาณผลผลิต จำนวน 69,371 ตัน เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา จำนวน 71,884 ตัน ลดลง 3.5% สาเหตุจากอากาศร้อนจัดและน้ำไม่เพียงพอในช่วงเดือนเมษายนส่งผลให้ดอกร่วง ช่วงที่ผลผลิตออกมาก (peak) เดือนสิงหาคม - เดือนกันยายน และลองกอง มีปริมาณผลผลิต จำนวน 67,687 ตัน เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา จำนวน 42,870 ตัน เพิ่มขึ้น 57.89% เนื่องจากมีช่วงแล้งเหมาะสมกับการออกดอก และต้นมีความสมบูรณ์ออกดอกเพิ่มขึ้น ช่วงที่ผลผลิตออกมาก (peak) เดือนกันยายน - เดือนตุลาคม
            ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการฯ เห็นชอบแผนบริหารจัดการผลไม้ ปี 2562 เพื่อให้จังหวัดใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการบริหารจัดการผลไม้ในฤดูกาลผลิต ปี 2562 แบบเบ็ดเสร็จด้วยตัวเอง โดยผ่านกลไกคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ให้เป็นไปตามกลไกตลาดปกติ ในเชิงปริมาณเน้นการจัดสมดุลอุปสงค์และอุปทาน ในเชิงคุณภาพสอดคล้องตามยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ. 2558 – 2564 โดยผลไม้ภาคเหนือ ได้แก่ ลำไย เน้นบริหารจัดการลำไยในฤดู ปริมาณ 341,028 ตัน แผนบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้เน้นผลผลิตในฤดู รวม 580,401 ตัน แบ่งเป็น ทุเรียน จำนวน 366,938 ตัน มังคุด จำนวน 145,025 ตัน เงาะ จำนวน 68,438 ตัน

เกษตรฯ เปิดแผนบริหารจัดการผลไม้ ปี 62 มั่นใจราคาดีไม่มีร่วง

           โดยการบริหารจัดการเชิงปริมาณ ได้แก่ การกระจายผลผลิตในประเทศ ด้วยวิธีการกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตผ่านผู้ประกอบการ (ล้ง) วิสาหกิจชุมชน ศูนย์คัดแยกผลไม้ชุมชน สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร Modern Trade ไปรษณีย์/ตลาดออนไลน์ ตลาดค้าผลไม้ภายในจังหวัด การจำหน่ายตรงผู้บริโภค การจัดงานประชาสัมพันธ์ เป็นต้น การแปรรูป ด้วยวิธีการแช่แข็ง อบแห้ง กวน ทอด และการส่งออก (ผลสด)
               ส่วนการบริหารจัดการเชิงคุณภาพ ส่งเสริมให้เกษตรกรดูแลผลผลิตแต่ละระยะ ตั้งแต่ก่อนเก็บเกี่ยว ได้แก่ การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการพัฒนาคุณภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไม้ผล การส่งเสริมการผลิตตามมาตรฐานและยกระดับสู่การรับรอง (GAP) การพัฒนาคุณภาพผลผลิตสู่การส่งออก การรวมกลุ่ม ทำตลาดล่วงหน้า การยกระดับสินค้าเกษตรที่เป็นอัตลักษณ์และเหมาะสมกับพื้นที่เพื่อเพิ่มมูลค่า เป็นต้น ระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต รณรงค์ให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตในระยะที่เหมาะสม การประชาสัมพันธ์รณรงค์ส่งเสริมการบริโภค ส่งเสริมการรวมกลุ่มบริหารจัดการร่วมกัน มุ่งเน้นการรวมกลุ่มผู้ผลิตไม้ผลคุณภาพ โดยเฉพาะทุเรียนต้องเร่งป้องปรามผลผลิตทุเรียนด้อยคุณภาพไม่ให้ออกสู่ตลาด

              การกำหนดมาตรการควบคุมทุเรียนอ่อนไม่ให้ออกนอกแหล่งผลิต การพัฒนาล้ง/จุดรับซื้อให้ได้มาตรฐาน GMP ออกประกาศจังหวัดประชาสัมพันธ์และมาตรการลงโทษแจ้งความผิดทางกฎหมายการตัดทุเรียนอ่อน ให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรดำเนินการร่วมกับตำรวจจัดชุดเฉพาะกิจออกสุ่มตรวจที่ล้ง/จุดรับซื้อ/จุดจำหน่าย และใช้กฎหมายอาญาเป็นบทลงโทษผู้กระทำผิด และระยะหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต มุ่งเน้นการติดตามสถานการณ์ภัยธรรมชาติ ศัตรูพืช การเฝ้าระวังสถานการณ์ช่วงผลผลิตกระจุกตัว การให้คำแนะนำเกษตรกรในการจัดการสวนผลไม้ให้มีการเตรียมค้นในฤดูกาลถัดไป เป็นต้น
    

         “ผลไม้นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยสามารถทำรายได้เข้าประเทศปีละหลายพันล้านบาท และยังเป็นที่นิยมบริโภคกันทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งผลไม้ไปจำหน่ายประเทศจีน นอกจากนี้ ความต้องการบริโภคผลไม้นับวันจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นและความสนใจในสุขภาพก็มีมากขึ้นด้วย ไทยถือเป็นประเทศที่มีสภาพพื้นที่และภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการผลิตผลไม้เมืองร้อนหลายชนิด ตั้งแต่ภาคเหนือจนถึงภาคใต้ ส่วนฤดูกาลให้ผลผลิตแต่ละชนิดก็แตกต่างกันไปในแต่ละสภาพพื้นที่ของแต่ละภาค จึงเป็นข้อดีประการหนึ่งที่ส่งผลให้ไทยมีผลไม้หลากหลายชนิดหมุนเวียนออกสู่ตลาดตลอดทั้งปี และมั่นใจว่าปีนี้ราคาจะอยู่ในเกณฑ์ดีเป็นที่น่าพอใจของพี่น้องเกษตรกร เนื่องจากเกษตรกรก็มีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ดีขึ้น” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าว 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ