ข่าว

 จากลุ่มเจ้าพระยาสู่"แม่โขงเดลต้า"ตอน2

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 จากลุ่มเจ้าพระยาสู่"แม่โขงเดลต้า"ตอน2 "เขื่อน"ชี้ชะตาสายน้ำแห่งชีวิตคนปลายน้ำ

 

    การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและการกระทำโดยฝีมือมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงของประเทศต่างๆ ที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน ทั้ง สปป.ลาว กัมพูชา หรือแม้กระทั่งเวียดนาม ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงหรือแม่โขงเดลต้าเปลี่ยนแปลงไป  ซึ่ง ผศ.หว่าง เวียด อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแม่น้ำโขงแห่งมหาวิทยาลัยโฮจิมินห์ ได้ขยายความต่อว่า

 จากลุ่มเจ้าพระยาสู่"แม่โขงเดลต้า"ตอน2 ผศ.หว่าง เวียด อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแม่น้ำโขงแห่งมหาวิทยาลัยโฮจิมินห์

             การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พื้นที่บริเวณแม่โขงเดลต้าเปลี่ยนไป ซึ่งก็ไม่ต่างจากพื้นที่อื่นๆ ของเวียดนามที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าว เพียงแต่บริเวณนี้เป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวสำคัญของประเทศ รวมทั้งผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ เช่น พืชผัก ไม้ผล ที่หล่อเลี้ยงชาวเวียดนามทั้งประเทศ รวมถึงการส่งออก โดยเฉพาะข้าว เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าวภาคการเกษตรก็ได้รับผลกระทบไปด้วย

              “สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ น้ำท่วมน้ำแล้ง เกิดภาวะเรือนกระจก เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ รัฐบาลเวียดนามไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่าการรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันอนุรักษสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เพิ่มพื้นที่ป่า ลดภาวะเรือนกระจกและจะช่วยลดโลกร้อนด้วย” ผศ.หว่าง เวียด เผย

              ส่วนปัจจัยที่มาจากฝีมือมนุษย์นั้น เขามุ่งเป้าไปที่การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงของประเทศต่างๆ ทางตอนเหนือของแม่น้ำโขงเป็นหลัก ซึ่งส่งผลทำให้ปริมาณน้ำในลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงทั้ง 9 สายบริเวณแม่โขงเดลต้าลดลง  ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นก็คือปริมาณน้ำจะลดลงเฉลี่ยปีละ 10-15% ในขณะที่ลำน้ำบางสายก็จะแห้งขอดในช่วงหน้าแล้งอีกด้วย 

             “จากผลการศึกษาวิจัยพบว่างานวิจัยหลายๆ ชิ้นสรุปตรงกันว่าปัญหาหลักๆ ที่ปริมาณน้ำในแม่โขงเดลต้าลดลงมาจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาในประเทศต่างๆ ที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน อย่างจีนตอนนี้ก็มี 10 กว่าเขื่อนทั้งที่สร้างเสร็จแล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ส่วนลาว 20 กว่าแห่ง กัมพูชา 1 แห่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง เวียดนามเองก็มีในอีก 3 ปีข้างหน้าหรือปี 2565 เขื่อนต่างๆ ก็จะสร้างเสร็จเกือบทั้งหมด แม่โขงเดลต้าจะเจอปัญหาใหญ่แน่นอน” ผศ.หว่าง เวียด ฟันธง หลังรับรู้ข้อมูลผ่านงานวิจัยลุ่มแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขามาไม่ต่ำกว่า 20 ปี

 จากลุ่มเจ้าพระยาสู่"แม่โขงเดลต้า"ตอน2

              ผศ.หว่าง เวียด ยอมรับว่าผลจากปริมาณน้ำในบริเวณแม่โขงเดลต้าลดลง ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ดังกล่าวในเกือบทุกด้านทั้งสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ ตลอดจนการดำเนินชีวิตของผู้คน นับวันจะมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้เริ่มเห็นผู้คนอพยพมาขายแรงงานในเมืองใหญ่อย่างโฮจิมินห์มากขึ้น หลังจากทำการเกษตรไม่ได้ผลเนื่องจากไม่มีน้ำอย่างเพียงพอ ส่วนน้ำที่มีอยู่ก็ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เนื่องจากมีค่าความเค็มสูง เป็นผลมาจากปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามา เหตุมาจากปริมาณน้ำจืดน้อยไม่สามารถผลักดันน้ำเค็มออกไปเหมือนดังแต่ก่อนได้

             อาจารย์คนเดิมย้ำว่าแม้การสร้างเขื่อนบางแห่งจะได้รับการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่แต่ก็ไม่มีผลในทางปฏิบัติเนื่องจากเป็นนโยบายจากทางภาครัฐ ขณะเดียวกันคณะกรรมการอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MRC) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว เวียดนามและกัมพูชานั้น ก็ไม่มีอำนาจมากพอที่จะไปบังคับให้แต่ละประเทศปฏิบัติตาม จึงทำได้แค่เพียงให้คำปรึกษาแนะนำเท่านั้น เพราะการสร้างเขื่อนเป็นสิทธิอันชอบธรรมของประเทศนั้นๆ

              เมื่อถามถึงเวทีอาเซียนจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้มากน้อยแค่ไหน ผศ.เฮือง เวียด แจงว่าเป็นเรื่องยากที่จะหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดคุย เนื่องจากอาเซียนมีสมาชิก 10 ประเทศ ในขณะปัญหาลุ่มแม่น้ำโขงเป็นเรื่องของ 4 ประเทศ ซึ่งก็น่าจะพูดคุยกันเฉพาะกลุ่ม 4 ประเทศนี้เท่านั้น แต่สิ่งที่น่ากังวัลในอนาคตอันใกล้ ผศ.เฮือง เวียด เชื่อว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าพื้นที่บริเวณแม่โขงเดลต้าบางส่วนจะจมอยู่ใต้น้ำอย่างแน่นอน เหตุมาจากระดับน้ำทะเลหนุนสูงขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ยปีละ 2-3 เซนติเมตร อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน

                ขณะเดียวกันวิถีชีวิตของคนที่อาศัยในบริเวณนี้จะต้องเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการผลิตอาหาร การปลูกข้าว การปลูกไม้ผลต่างๆ ที่ทำกันมากในแถบนี้ หรือแม้กระทั่งการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กระชังเลี้ยงปลา ฟาร์มปู ฟาร์มหอยก็ต้องไปทำอย่างอื่น ซึ่งตอนนี้คนกลุ่มนี้ก็ไม่รู้ว่าจะไปทำอาชีพอะไร เมื่อเป็นเช่นนี้เชื่อว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเวียดนามจะตกอยู่ภาวะการขาดแคลนอาหารอย่างแน่นอน เพราะพื้นที่เพาะปลูกหลักถูกทำลายจากน้ำทะเลหนุนเข้ามา ทำให้สภาพน้ำเปลี่ยนไปส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยในบริวเณนี้ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น

             “โดยสถานการณ์อย่างนี้วิธีแก้ไขปัญหาคงยาก รัฐบาลเวียดนามคนเดียวคงทำไม่ได้ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาพื้นที่ที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล รัฐบาลคงไม่มีเงินพอเหมือนอย่างเนเธอร์แลนด์ที่เขาสร้างเขื่อนกั้นน้ำทะเล เราไม่มีเงินมากขนาดนั้น แล้วก็วิถีชีวิตของประชาชนกว่า 20 คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือรัฐบาลเวียดนามเรียกร้องขอความร่วมมือจากหลายๆ ประเทศให้เข้ามาช่วยเหลือดูแลเพราะเป็นปัญหาของภูมิภาคไม่มีปัญหาของเวียดนามประเทศเดียว” อาจารย์คนเดิมกล่าวย้ำ 

              เหงียน ดึก ทัน หัวหน้าแผนกเขื่อนป้องกันภัยธรรมชาติ สำนักงานเกษตรจังหวัดเตี่ยนยาง  กล่าวระหว่างนำคณะสื่อมวลชนไทยลงพื้นที่สำรวจปัญหาน้ำกัดเซาะตลิ่งริมฝั่งแม่น้ำสงเตียน 1 ใน 9 สายของแม่น้ำโขงที่ไหลผ่าน อ.หมี่ทอ จ.เตี่ยนยาง โดยระบุว่าพื้นที่แม่โขงเดลต้าหรือกู่ลองยางในขณะนี้ได้ถูกน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่น้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำโขงทางตอนบนก็ลดลงอย่างมากเช่นกัน ส่วนอีกปัญหาก็คือน้ำกัดเซาะชายฝั่งของแม่น้ำทำให้ชาวบ้านหลายครัวเรือนต้องอพยพไปอยู่ที่อื่นเนื่องจากพื้นที่อยู่อาศัยเดิมถูกน้ำกัดเซาะพังทลายหายไปกับสายน้ำเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

               “บางพื้นที่ถูกน้ำกัดเซาะหายไปทั้งหมู่บ้านก็มี บางครอบครัวเหลือพื้นที่แค่นิดเดียว อย่างพื้นที่ของลุงคนหนึ่งบนเกาะมังกรทอง เกาะกลางแม่น้ำสงเทียน ถูกน้ำกัดเซาะเข้ามาเรื่อยๆ ตอนนี้พื้นที่เดิมอยู่ตรงกลางแม่น้ำ ห่างจากฝั่งประมาณ 50 เมตร”

                เหงียน ดึก ทัน ยอมรับว่าปัญหาน้ำกัดเซาะตลิ่งปากแม่น้ำสงเตียนได้สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ชายฝั่งแม่น้ำแห่งนี้มานานกว่า 20 ปีแล้ว แต่เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีมานี้เอง ทางราชการก็ช่วยได้แค่ก่อสร้างกำแพงเลียบชายฝั่งเพื่อป้องกันน้ำกัดเซาะ แต่ก็ทำไม่ได้ตลอดแนวเนื่องจากงบประมาณมีจำกัด ขณะนี้ได้ก่อสร้างไปแล้วประมาณ 7 กิโลเมตร

 จากลุ่มเจ้าพระยาสู่"แม่โขงเดลต้า"ตอน2 เขื่อนป้องกันน้ำกัดเซาะตลิ่งในจ.เตีย่นยาง

                ในขณะวิถีชีวิตของชาวบ้านในบริเวณนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย จากเมื่อก่อนยึดอาชีพการเกษตร ทำประมง เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แต่ตอนนี้ทำไม่ได้เแล้วเพราะน้ำเค็มรุกเข้ามาเยอะ จึงต้องเปลี่ยนไปเป็นขายแรงงาน ทำงานรับจ้างในเมืองใหญ่มากขึ้น" เจ้าหน้าที่คนเดิมกล่าวย้ำพร้อมชี้ให้ดูกำแพงปูนป้องกันแนวตลิ่งที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จได้ไม่นาน   

       

                       

 

  “ไทย-สปป.ลาว” เชื่อมข้อมูลจัดการน้ำโขง-เขื่อนไซยะบุรี 

           ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เผยภายหลังนำคณะผู้แทนไทยในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย หารือกับท่านแก้วมณี หลวงฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองบริหารองค์กรและความร่วมมือ และคณะของสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติลาว ระหว่างวันที่ 8-9 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ เมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 

 จากลุ่มเจ้าพระยาสู่"แม่โขงเดลต้า"ตอน2

            โดยประเด็นการหารือครั้งนี้เป็นเรื่องของความร่วมมือการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง ซึ่งผลการหารือทั้งสองประเทศเห็นพ้องร่วมกันในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการบริหารจัดการน้ำแม่น้ำโขง สถานีวัดน้ำฝน รวมถึงปริมาณน้ำที่มีการระบายจากเขื่อนของสปป.ลาว ที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง ทั้งโครงการที่ก่อสร้างแล้วในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นอกเหนือจากการประสานงานผ่านคณะกรรมการแม่น้ำโขง (MRC) เพื่อให้การใช้น้ำจากแม่น้ำระหว่างประเทศเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งผู้แทนสปป.ลาวจะนำไปหารือในระดับนโยบายเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอุทกวิทยาระหว่างสองประเทศ ทั้งในระยะสั้นและระยะกลางให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป

            ขณะเดียวกันฝ่ายไทยยังได้หยิบยกประเด็นหารือเชิงเทคนิคเกี่ยวกับเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีของสปป.ลาว ซึ่งเป็นโครงการไฟฟ้าพลังน้ำประเภทเขื่อนทดน้ำเหมือนเขื่อนเจ้าพระยา มีพื้นที่รับน้ำฝน 272,000 ตารางกิโลเมตร ปริมาณ/อัตราการไหลน้ำท่าเฉลี่ย 3,971 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ความยาวอาคารตั้งแต่ช่องทางการเดินเรือ อาคารระบายน้ำ ช่องระบายตะกอน โรงไฟฟ้าและอาคารประกอบ ยาวรวม 820 เมตร ปริมาณน้ำหลากที่ใช้ออกแบบ 47,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ปริมาณน้ำออกแบบเพื่อผลิตไฟฟ้าส่งออกขาย 4,900 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ตั้งอยู่บนลำน้ำโขงสายหลัก ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างดำเนินการใกล้แล้วเสร็จและอยู่ในช่วงระหว่างเริ่มทดสอบระบบผลิตกระแสไฟฟ้า รวมทั้งมีการดำเนินงานเกี่ยวกับระบบติดตามและคาดการณ์ปริมาณน้ำทั้งด้านเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน 

          “ทั้งไทยและสปป.ลาว ได้กำหนดกรอบแนวทางความร่วมมือร่วมกันใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การบริหารจัดการน้ำและการใช้น้ำของเขื่อนไซยะบุรี 2.แนวทางการประสานงานและการทำงานร่วมกันเพื่อรองรับการดำเนินงานในช่วงฤดูฝน 3.แนวทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอุทกวิทยา ระบบการพยากรณ์น้ำท่วมและการบริหารจัดการเขื่อน และ 4.แผนเตรียมการรับมือภาวะฉุกเฉินและความปลอดภัยเขื่อน” 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ