ข่าว

ใช้"อมก๋อยโมเดล" นำร่องสร้างระบบน้ำพื้นที่ทุรกันดาร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 นำร่องสร้างระบบน้ำพื้นที่ทุรกันดาร ใช้"อมก๋อยโมเดล"สร้างสุขสู่ชุมชน

                สทนช.นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้า “โครงการสร้างฝายกระจายน้ำ สร้างสุขสู่ชุมชนทุรกันดาร เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ด้วยการจัดหาน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ถิ่นทุรกันดาร สนองนโยบายรัฐบาลและแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี  โดยบูรณาการโครงการนำร่องในพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

 ใช้"อมก๋อยโมเดล" นำร่องสร้างระบบน้ำพื้นที่ทุรกันดาร

 ใช้"อมก๋อยโมเดล" นำร่องสร้างระบบน้ำพื้นที่ทุรกันดาร

 ใช้"อมก๋อยโมเดล" นำร่องสร้างระบบน้ำพื้นที่ทุรกันดาร

 

              ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวระหว่างนำคณะลงพื้นที่บ้านเลอะตอ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ระหว่างวันที่ 25-26 พฤษภาคม 2562 โดยระบุว่า สทนช.ได้ดำเนิน “โครงการสร้างฝายกระจายน้ำ สร้างสุขสู่ชุมชนทุรกันดาร เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ซึ่งเป็นโครงการนำร่องในการจัดหาน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ทุรกันดารให้แก่พื้นที่ทุรกันดารห่างไกลความเจริญ ตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนคนไทยเข้าถึงแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ รวมทั้งสอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีที่กำหนดให้จัดหาน้ำสะอาดเพื่ออุปโภคบริโภคให้แก่ชุมชน ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน

 ใช้"อมก๋อยโมเดล" นำร่องสร้างระบบน้ำพื้นที่ทุรกันดาร

               ทั้งนี้ บ้านเลอะตอ ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำปิง มีประชากรประมาณ 60 ครัวเรือน เป็นหมู่บ้านที่ห่างไกลความเจริญ เส้นทางทุรกันดาร และขาดการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยเฉพาะน้ำสะอาด ดังนั้น เพื่อให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำที่มีคุณภาพได้ ตามนโยบายรัฐบาลและแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี สทนช.จึงได้ดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญๆ เช่น การปรับปรุงฝายต้นน้ำเดิมที่ชาวบ้านสร้างขึ้นเอง ซึ่งใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุน การสร้างบ่อเก็บน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดความจุ 50,000 ลิตร เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำก่อนที่จะเข้าสู่ระบบน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตรภาคในครัวเรือนของหมู่บ้าน การติดตั้งระบบกรองน้ำ เพื่อให้ได้น้ำที่สะอาดมีคุณภาพได้มาตรฐาน เป็นต้น

                เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดทำระบบน้ำดังกล่าว เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง สทนช. หน่วยงานปกครองในพื้นที่ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อ.อมก๋อย ชาวบ้านในพื้นที่และสมาคมยี่สิบสองนอ ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ใช้รถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ ทำกิจกรรมเพื่อสังคมในพื้นที่ทุรกันดาร ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

                “เดิมหมู่บ้านเลอะตอ จะใช้น้ำจากระบบประปาภูเขาโดยตรง ไม่สะอาด และจะใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอที่จะทำการเกษตรโดยเฉพาะในฤดูแล้ง ภายหลังจากที่ สทนช.เข้ามาดำเนินโครงการสร้างฝายกระจายน้ำ สร้างสุขสู่ชุมชนทุรกันดาร เพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ นอกจากจะมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภคแล้ว ยังทำให้เกิดแหล่งน้ำต้นทุนซึ่งสามารถนำไปใช้เพื่อการเกษตรภายในครัวเรือนอีกด้วย และที่สำคัญน้ำจากโครงการเป็นน้ำที่สะอาดและมีคุณภาพ ผ่านระบบการกรองที่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ยังติดตั้งเครื่องกรองน้ำขนาดเล็กเพิ่มเติม ที่ศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวงบ้านเลอะตอ (โรงเรียนบ้านเลอะตอ) ด้วย เพื่อให้นักเรียนได้ดื่มน้ำที่สะอาด ปลอดภัย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ึทุรกันดารให้ดียิ่งขึ้น” 

                  ดร.สมเกียรติ กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า โครงการดังกล่าว มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ ต้องการให้ทุกพื้นที่ปราศจากความเหลื่อมล้ำในเรื่องน้ำซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต และเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากรในประเทศ อีกทั้งยังสอดรับกับแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยกรน้ำ 20 ปี ที่ระบุให้ทุกพื้นที่ต้องมีน้ำสะอาดเพื่ออุปโภคบริโภคในชุมชน รวมทั้งการบริหารจัดการความต้องการใช้น้ำทุกกิจกรรมให้สมดุลกับปริมาณน้ำต้นทุน การลดความสูญเสียน้ำ การเพิ่มมูลค่าน้ำ การจัดการน้ำต้นทุนเพื่อการใช้น้ำขั้นพื้นฐาน ตลอดจนการจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตรตามศักยภาพ และที่สำคัญยังเป็นไปตามที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดในการจัดงานวันน้ำโลกในปีนี้ คือ “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” อีกด้วย และหากโครงการนี้ประสบผลสำเร็จ สทนช.จะขยายผลการดำเนินการไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป 

                       สทนช.วางกรอบรับมือน้ำหลากปี62 

          สทนช.เร่งหารือหน่วยงานเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนบูรณาการ เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำฤดูฝนปีนี้ สั่งย้ำการจัดการภาวะฉุกเฉิน พร้อมกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ระดับภัย เพื่อวางกลไกการเปิดศูนย์บัญชาการลดผลกระทบในแต่ละช่วงภัย หวังเพิ่มประสิทธิภาพป้องผลกระทบวิกฤติน้ำครอบคลุมรอบด้าน

           ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ​เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เผยภายหลังการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 6/2562 ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือ ติดตามแนวโน้มการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ สถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ในปัจจุบัน สภาพน้ำท่า รวมถึงการบริหารจัดการน้ำและการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูฝน ปี 2562 ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เพื่อซักซ้อม ทำความเข้าใจกับทุกหน่วยงานร่วมกันในการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะแนวทาง เงื่อนไข การแจ้งเตือน รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลภายใต้ระบบฐานข้อมูลและรูปแบบเดียวกัน

           จากการวิเคราะห์ คาดการณ์สถานการณ์ฝนขณะนี้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า จะเริ่มมีฝนตกหนักตลอดสัปดาห์นี้บริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน อาทิ แพร่ เชียงใหม่ อุตรดิตถิ์ น่าน ที่จะเกิดฝนตกหนัก และมีภูเขาหัวโล้นอยู่มาก ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ และแจ้งเตือนพื้นที่ประสบภัยดินโคลนถล่มจากน้ำไหลหลากฉับพลัน โดยอ้างอิงข้อมูลปริมาณน้ำของของกรมทรัพยากรน้ำที่สถานีวัดน้ำฝนครอบคลุมกว่า 1,000 แห่ง ซึ่งต้องเฝ้าระวังตั้งแต่เดือนนี้ถึงมิถุนายนที่อาจจะเกิดผลกระทบได้

             “จากการคาดการณ์แนวโน้มฝนตกภาพรวมจะมีปริมาณฝนไม่มากนัก จะตกหนักเพียงบางจุดและปริมาณฝนมากเป็นช่วงๆ โดยตั้งแต่ช่วงนี้ถึงกลางมิถุนายน จะตกหนักบริเวณภาคเหนือ ขณะที่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมต่อเนื่องถึงสิงหาคม ก็จะเป็นภาคอีสาน และภาคกลางเล็กน้อย สถานการณ์ที่จะมีน้ำท่วมหนักๆ ก็ไม่น่าเป็นห่วงนัก"

            อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ เลขาธิการ สทนช.ระบุว่าปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของความจุ โดยเฉพาะในภาคอีสาน สทนช.จึงได้เน้นย้ำหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ติดตามสถานการณ์ฝนอย่างใกล้ชิด หากปริมาณน้ำฝนน้อยอาจสุ่มเสี่ยงน้ำไหลเข้าอ่างน้อย ก็อาจจะกระทบกับปริมาณน้ำต้นทุนในอนาคตได้ ต้องประสานกรมฝนหลวงขึ้นปฏิบัติการช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกทางด้วย

              สำหรับข้อกังวลเรื่องสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงบางพื้นที่ในช่วงเดือนกรกฎาคมนั้น ที่ประชุมคาดการณ์ว่าในเขตชลประทานไม่น่าจะมีปัญหา เนื่องจากช่วงนี้ได้เร่งเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด ขณะที่ภาคเกษตรการปลูกพืชฤดูแล้งก็มีการเก็บเกี่ยวไปแล้วกว่า 90% มีการวางแผนการจัดสรรน้ำให้พ้นช่วงแล้งของหน่วยงานเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ขณะที่การเพาะปลูกข้าวในฤดูฝนก็มีการปลูกแล้วเกือบๆ 2 ล้านไร่ แต่ในพื้นที่นอกเขตชลประทานยังคงต้องมีการติดตามเฝ้าระวังเพื่อป้องกันผลกระทบอย่างใกล้ชิดด้วย  

                          กรมฝนหลวงพร้อมปฏิบัติการเพิ่มน้ำในอ่าง

             นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เผยผลปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ว่า หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 5 หน่วย ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ จ.ลพบุรี จ.กาญจนบุรี จ.ขอนแก่น และ จ.นครราชสีมา ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง บรรเทาปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง เพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่าไม้ ยับยั้งความรุนแรงของพายุทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตร และพื้นที่ประสบภัยแล้ง พื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคบางส่วนของ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.สุรินทร์ จ.นครราชสีมา จ.ชัยภูมิ จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม จ.นครสวรรค์ จ.ชัยนาท จ.สุพรรณบุรี จ.อุทัยธานี และ จ.กาญจนบุรี รวมถึงเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนอุบลรัตน์ อ่างเก็บน้ำแม่สรวย อ่างเก็บน้ำ แม่สาน อ่างเก็บน้ำกระเสียว และอ่างเก็บน้ำลำตะเพิน

              ทั้งนี้ ปัจจุบันพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ออกประกาศ ยังคงมีจำนวน 8 จังหวัด (รวม 18 อำเภอ 62 ตำบล 456 หมู่บ้าน) ด้านสถานการณ์น้ำในเขื่อน/อ่างเก็บน้ำ แม้ขณะนี้จะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนแต่ยังคงมีเขื่อน/อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้อยกว่า 30% ประกอบด้วย เขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 18 แห่ง และเขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 200 แห่ง ซึ่งกรมฝนหลวงฯ ได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำในทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแผนปฏิบัติการฝนหลวง เพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่ลุ่มรับน้ำและช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งทันทีที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ