ข่าว

"ไอซีที"กับงานส่งเสริมการเกษตร:จากอดีตสู่ปัจจุบัน ตอนจบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - ทำกินถิ่นอาเซียน โดย – รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ      [email protected] 

 ต่อจากอาทิตย์ที่แล้ว

             ในครั้งที่แล้วผมทิ้งท้ายไว้ในช่วงที่รัฐบาลของเราผลักดันเรื่องนโยบาย 4.0 ซึ่งก็ส่งผลหลายอย่างต่อภาคการเกษตรไปด้วย และในยุคนี้อีกเช่นที่เทคโนโลยีบิ๊กดาต้าเริ่มถูกพูดถึงมากขึ้นและมีพัฒนาการไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะแอพพลิเคชั่น Agri map ที่เป็นบิ๊กดาต้าด้านการเกษตร ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่บูรณาการข้อมูลทางการเกษตรจากหลายหน่วยงานและบางส่วนเป็นข้อมูลแบบเรียลไทม์จากพื้นที่จริง 

 

           ดังนั้นจึงเรียกได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนในการทำการเกษตรเพราะสามารถดึงข้อมูลที่จำเป็นได้จากทุกพื้นที่ในประเทศไทย และช่วยในการพยากรณ์เรื่องของสภาพดินฟ้าอากาศ ศัตรูพืช ความต้องการของตลาดและคาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในแต่ละช่วงได้โดยใช้ฐานข้อมูลที่เชื่อถือได้

            ในทุกวันนี้ตัวแอพพลิเคชั่นเองได้ถูกพัฒนาให้สามารถใช้งานได้บนอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตทำให้สะดวกต่อการใช้งานได้มากขึ้น งานวิจัยในช่วงนี้หรือช่วงปัจจุบันจึงมุ่งศึกษาไปที่การใช้บิ๊กดาต้าที่ชาญฉลาดและทันสมัยอย่าง โดยเน้นไปที่การใช้งาน Agri map mobile ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่ทันสมัยและเต็มไปด้วยอรรถประโยชน์ต่อภาคการเกษตรในปัจจุบันเลยก็ว่าได้ 

             โดยในส่วนของนักส่งเสริมนั้นคงไม่ต้องกล่าวอะไรมาก เพราะมีการใช้เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่วางแผนการเพาะปลูกจนถึงการตลาด แต่ในส่วนของเกษตรกรจะให้ความสำคัญในเรื่องของการผลิต ตั้งแต่การวางแผนพื้นที่การปลูก ความเหมาะสมของพื้นที่ การพยากรณ์อากาศ ภัยธรรมชาติและศัตรูพืช รวมถึงเรื่องราคาผลผลิตและความต้องการของตลาด และเกษตรกรที่สนใจในเรื่องนี้ก็มีความแตกต่างกันในเรื่องความรู้และวัย 

               ดังนั้นจึงมีการให้ความรู้และสอนวิธีการใช้เพื่อพัฒนาทักษะให้สามารถใช้งานได้อย่างคุ้มค่า ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับการใช้สมาร์ทโฟน แต่ในแอพพลิเคชั่นเฉพาะด้านยังขาดความคุ้นเคย และแม้ว่า Agri map mobile จะมีข้อดีในเรื่องของความคล่องตัวในการใช้งาน แต่ในด้านการแสดงผลก็ค่อนข้างมีข้อจำกัดเนื่องขนาดของจอที่เล็กจึงไม่อาจแสดงผลได้ชัดเจนและใช้งานได้ไม่ค่อยสะดวกเหมือนกับคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตที่มีขนาดจอใหญ่กว่า แต่อย่างไรก็ตามเกษตรกรส่วนใหญ่ก็เห็นถึงประโยชน์ต่อการทำการเกษตรที่ได้จากแอพพลิเคชั่นนี้

              จากงานวิจัยที่ได้ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับไอซีทีกับภาคการเกษตรก็ทำให้เห็นได้ชัดถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีว่าเป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรเป็นอย่างมาก และในขณะเดียวกันก็ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้มากขึ้น ในด้านที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้งานใช้ถือว่ามีการยอมรับและมีปริมาณการใช้งานเพิ่มขึ้นทั้งตัวนักส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกร จากสิ่งที่ไกลตัวเป็นสิ่งที่ใกล้ตัว จากสิ่งที่จับต้องได้ยากกลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต จากสิ่งที่คิดว่าจะไม่จำเป็นกลายเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากไอซีทีก็ส่งให้เกิดทั้งผลทางบวกและทางลบกับภาคการเกษตรและผู้เกี่ยวข้อง 

      

                                             

         ท้ายที่สุดไม่ว่าเทคโนโลยีด้านไอซีทีจะช่วยอำนวยให้เกิดความสะดวกสบายในการทำการเกษตรอย่างไรก็ตาม แต่เรื่องของวิธีการและกิจกรรมการส่งเสริมในพื้นที่จริงก็ยังคงมีความจำเป็นที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันที่รักษาไว้ซึ่งสังคมเกษตรแบบไทย แต่ที่สำคัญที่สุดคงเป็นเรื่องของวิจารณญาณ คุณธรรมและจริยธรรมของทั้งนักส่งเสริมและเกษตรกร ที่จะเป็นทั้งผู้ให้และผู้ใช้ไอซีทีอย่างเท่าทันในโลกปัจจุบันและอนาคตต่อไป

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ