ข่าว

    "โยธกา บุญมาก"เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

    "โยธกา บุญมาก"เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม

              “โยธกา บุญมาก”เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมประจำปี2562 มุ่งมั่นสืบสานอาชีพหม่อนไหม ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ลดต้นทุนการผลิตเพิ่มมูลค่ามูลไหม-โปรตีนไหมสร้างรายได้แก่ชุมชน

    "โยธกา บุญมาก"เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม

 

                         นางสาวศิริพร บุญชู อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า  กรมหม่อนไหมได้พิจารณาคัดเลือกเกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้หน่วยงานในสังกัดคัดเลือกเกษตรกร สถาบันเกษตรกรและสหกรณ์ ที่มีผลงานดีเด่นในสาขาอาชีพต่างๆ ให้เป็นเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ เพื่อยกย่องประกาศเกียรติคุณ เผยแพร่ผลงานให้สาธารณชนรับทราบโดยผลการคัดเลือกเกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมประจำปี 2562 ได้แก่ นางโยธกา บุญมาก  เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านพญาราม อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี พ.ศ.2562 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา

                         นางโยธกา บุญมากปัจจุบันเป็นประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านพญารามจังหวัดสุรินทร์มีพื้นที่ปลูกหม่อนทั้งสิ้น จำนวน 2  ไร่ 2 งาน 66 ตารางวา ปลูกหม่อนพันธุ์บุรีรัมย์ 60 ได้ผลผลิตใบหม่อน 2,000 - 3,000 ก.ก./ไร่/ปีเพื่อเลี้ยงไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้าน จำนวน 7 รุ่น/ปีได้ผลผลิตเส้นไหม ประเภทไหมน้อย 5.5 กิโลกรัม/ปี และไหมเปลือกนอก 3ก.ก/ปี สำหรับใช้ผลิตผ้าไหมมีรายได้จากการประกอบอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ไม่ต่ำกว่าปีละ 100,000 บาท   โดยในปี 2561 มีรายได้จากการจำหน่าย ใบหม่อน 37,500 บาท/ปี  เส้นไหม 11,000 บาท/ปี ดักแด้ไหม 2,000 บาท/ปี ปุ๋ยมูลไหม 5,000 บาท/ปี ชามูลไหม 5,000 บาท/ปี และผ้าไหม  84,700 บาท/ปี รวมรายได้ทั้งสิ้น 145,200 บาท/ปี

                         นางโยธกา เป็นผู้มีความคิดริเริ่มในหลายๆด้าน เช่น  การรวมกลุ่มจัดตั้ง “กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านพญาราม” เพื่อจัดทำหม่อนแปลงรวม โดยได้รับการสนับสนุนท่อนพันธุ์หม่อนจากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ สุรินทร์ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 151 ราย มีหม่อนแปลงรวม 130 ไร่และเป็นผู้ริเริ่มจัดหาโรงเลี้ยงไหมที่เป็นของส่วนรวม โดยสร้างห้องเลี้ยงไหมวัยอ่อนจำหน่ายให้สมาชิกภายในกลุ่ม ริเริ่มให้มีการประกันราคาดักแด้ เพื่อแก้ปัญหาราคาดักแด้ตกต่ำนอกจากนี้ ยังเป็นคนแรกที่นำมูลไหมมาสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบ  “ปุ๋ยมูลไหม” โดยนำมูลไหม มาอบแห้ง ก่อนส่งให้สถานีพัฒนาที่ดิน ตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหาร NPK ก่อนนำมาบรรจุถุงขายและผลิต “ชามูลไหม”โดยนำมูลไหม ไปอบแห้งและคั่วด้วยไฟปานกลาง บรรจุซองชา และส่งให้ สวทช. ตรวจวิเคราะห์หาคุณค่าและสารอาหารทางโภชนาการ พบว่า มูลไหมมีสารสำคัญที่ช่วยบำรุงสุขภาพ ปัจจุบันกลายเป็นสินค้าเครื่องดื่มสำหรับที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคที่รักสุขภาพ และเป็นผู้ริเริ่มพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จากโปรตีนไหม เช่น สบู่ก้อน สบู่เหลว แชมพู โลชั่นเซรั่ม และครีม ช่วยสร้างอาชีพและรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรในชุมชนสามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้เป็นอย่างดี

                         นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อลดต้นทุนการผลิต ลดสารพิษตกค้าง และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น  การจัดการแปลงหม่อนโดยวิธีเขตกรรม โดยการตัดแต่งกิ่งหม่อนในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อลดการสะสมของโรคและแมลงศัตรูพืชการบำรุงรักษาดินและต้นหม่อน โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนการใช้ปุ๋ยเคมีการจัดการผลพลอยได้จากการเลี้ยงไหมได้อย่างมีประสิทธิภาพ การติดตั้งตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้อบรังไหม และอบมูลไหม การติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ในการผันน้ำมาใช้ในแปลงหม่อนรวม เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและลดต้นทุนค่าใช้ไฟฟ้าการนำพืชท้องถิ่นมาย้อมผ้าไหมแทนการใช้สีเคมีการนำพืชสมุนไพรท้องถิ่นมาอบรักษาผ้าไหมแทนการใช้สารเคมีตามภูมิปัญญาท้องถิ่น การใช้พวงสาวแบบโบราณพื้นบ้านด้วยหม้อดิน โดยใช้เตาฟืนแทนเตาถ่านหรือเตาแก๊สเพื่อลดค่าใช้จ่าย   ทำให้ที่ผ่านมาได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย เช่น   รางวัลชนะเลิศการประกวดเส้นไหมน้อยสาวมือของศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯจังหวัดสุรินทร์และรางวัลชนะเลิศการประกวดเส้นไหมน้อยสาวมือระดับประเทศในงานมหกรรมไหมไทย (ปี 2550) รางวัลชมเชยในการประกวดผ้าไหมโบราณของสภาวัฒนธรรม จังหวัดสุรินทร์(ปี 2547) เป็นต้น

               

                  “จากผลงานและกิจกรรมที่ได้ทำจะเห็นได้ว่านางโยธกา บุญมาก เป็นผู้ที่มีมีความรู้ความสามารถในด้านปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และยังเป็นผู้นำที่มีความเสียสละ  มีจิตอาสาทำงานช่วยเหลือชุมชนในด้านต่างๆ  เช่น อาสาสมัครเกษตรกร (หม่อนไหมอาสา) เป็น Smart Farmer หม่อนไหม เป็นประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมพญารามเป็นคณะกรรมการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอเมืองสุรินทร์เป็นเกษตรกรความคิดริเริ่มในด้านต่างๆ ที่ช่วยแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าหม่อนไหมในหลากหลายมิติ สร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่ผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมได้อย่างน่าชื่นชมจนทำให้ได้รับคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ประจำปี 2562 ” อธิบดีกรมหม่อนไหมกล่าว

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ