ข่าว

 เดินหน้าสานต่อโครงการ"หมู่บ้านอนุรักษ์หม่อนไหม"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เดินหน้าสานต่อโครงการหมู่บ้านหม่อนไหม ต่อยอดการตลาดภายใต้แบรนด์"รักษ์ไหม"

 

         โครงการหมู่บ้านอนุรักษ์ไหมไทยพื้นบ้านเฉลิมพระเกียรติฯเร่งต่อยอดการตลาดสร้างแบรนด์สินค้า “รักษ์ไหม”เพื่อยกระดับมาตรฐานเส้นไหมไทย เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต-การแข่งขันด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยกรมหม่อนไหมมุ่งพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าอัตลักษณ์ของ 84 หมู่บ้าน ภายใต้โครงการหมู่บ้านอนุรักษ์ไหมไทยพื้นบ้านเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถในพื้นที่ 21 จังหวัด พร้อมผลักดันให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านหม่อนไหมของเกษตรกรไปสู่เยาวชนในสถานศึกษา

 เดินหน้าสานต่อโครงการ"หมู่บ้านอนุรักษ์หม่อนไหม"

  ศิริพร บุญชู อธิบดีกรมหม่อนไหม

    

          ศิริพร บุญชู อธิบดีกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เผยความคืบหน้าโครงการหมู่บ้านอนุรักษ์ไหมไทยพื้นบ้านเฉลิมพระเกียรติฯของกรมหม่อนไหมกับ"คมชัดลึก"ว่าโครงการฯได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนองพระราชดำริและสืบสานพระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เพื่อให้ไหมไทยพื้นบ้านคงอยู่อย่างยั่งยืน มุ่งพัฒนาการเลี้ยงไหมพันธุ์ไหมพื้นบ้านของเกษตรกรรายย่อยให้มีประสิทธิภาพ เป็นแหล่งผลิตเส้นไหมไทยพื้นบ้านที่มีคุณภาพมาตรฐาน สำหรับการนำไปผลิตผ้าไหมไทยภายใต้เครื่องหมายนกยูงพระราชทานสีทอง(Royal Thai Silk) ทั้งมุ่งให้ความรู้และฝึกทักษะอาชีพด้านหม่อนไหมให้แก่นักเรียนในโรงเรียนให้เป็นรายได้เสริม พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมได้มีส่วนร่วมในการแสดงความจงรักภักดี และสำนึกในพระกรุณาธิคุณด้านหม่อนไหม 

 เดินหน้าสานต่อโครงการ"หมู่บ้านอนุรักษ์หม่อนไหม"

      "มีหมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการฯจำนวน 84 หมู่บ้านจากทั่วประเทศ และโรงเรียนในท้องถิ่น จำนวน 8 โรงเรียน ในพื้นที่ 21 จังหวัดได้แก่  อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร หนองคาย เลย ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ ขอนแก่น มุกดาหาร นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ฉะเชิงเทรา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ชุมพร อุทัยธานี ราชบุรี และนราธิวาส ซึ่งกรมหม่อนไหมได้สำรวจและจัดทำทะเบียนหมู่บ้านอนุรักษ์ไหมไทยพื้นบ้าน 84 หมู่บ้าน โดยเน้นพัฒนาคุณภาพการผลิตหม่อนไหม มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบครบวงจร"

         อธิบดีกรมหม่อนไหมอธิบายขั้นตอนการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบครบวงจร โดยระบุว่าเริ่มตั้งแต่การจัดการแปลงหม่อนเพื่อเพิ่มผลผลิตใบ เช่น พัฒนาระบบน้ำในแปลงหม่อน หรือสนับสนุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตร เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยเคมี เพื่อใช้บำรุงแปลงหม่อน รวมทั้งสร้างอัตลักษณ์ด้านหม่อนไหมประจำหมู่บ้าน(อัตลักษณด้านเส้นไหมและอัตลักษณ์ด้านลวดลายผ้าไหม) รวมทั้งสร้างทายาทหม่อนไหมในโรงเรียน โดยมุ่งส่งเสริมการปลูกหม่อนพันธุ์ดีในโรงเรียน ที่อยู่ใกล้เคียงหมู่บ้านอนุรักษ์ไหมไทยพื้นบ้าน

 เดินหน้าสานต่อโครงการ"หมู่บ้านอนุรักษ์หม่อนไหม"

              นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพไหมไทยพื้นบ้าน ด้วยการส่งเสริมการเลี้ยงไหมในระดับครัวเรือนอย่างมีประสิทธิภาพ การฟอกย้อมสีเคมีและสีธรรมชาติที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม การย้อมสีเส้นไหมด้วยคราม การผลิตครามก้อน การก่อหม้อครามและการย้อม การพัฒนาเทคนิคการทอผ้าไหมมัดหมี่ให้มีประสิทธิภาพ การเก็บตะกอและออกแบบลายผ้ายกดอก สนับสนุนการพัฒนายกระดับคุณภาพเส้นไหมไทยสู่มาตรฐาน เช่น การผลิตเส้นไหมไทยสาวมือตามมาตรฐานการปฏิบัติดีสำหรับการผลิตเส้นไหมดิบ เส้นไหมไทยสาวมือ เพื่อให้ได้เส้นไหมที่มีคุณภาพตามไทยตามมาตรฐานเส้นไหมไทย (มกษ. 8000-2555) 

            ขณะเดียวกันยังต้องจัดการระบบควบคุมภายในและการผลิตเส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสานตามมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และมาตรฐานสัญลักษณ์ตรา“นกยูงพระราชทานสีทอง” ที่ผลิตโดยใช้เส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านเป็นทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน มีกระบวนการผลิตที่อนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้าน เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าให้กับเกษตรกรรวมถึงการออกแบบตราสัญลักษณ์ และบรรจุภัณฑ์สินค้าไหมไทยภายใต้โครงการหมู่บ้านอนุรักษ์ไหมไทยพื้นบ้านเฉลิมพระเกียรติ ในชื่อแบรนด์“รักษ์ไหม”

           “การดำเนินงานที่ผ่านมา กรมหม่อนไหมเข้าไปสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อพัฒนาต่อยอดการใช้ประโยชน์จากกิจกรรมการปลูกหม่อนในโรงเรียน เพื่อเพิ่มทักษะอาชีพของนักเรียน โดยสนับสนุนปัจจัยการจัดกิจกรรมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การสาวไหม การทอผ้าและการแปรรูปในโรงเรียน รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านหม่อนไหมในโรงเรียน จำนวนอย่างน้อย 1 ผลิตภัณฑ์ เพื่อพัฒนาทักษะการฝึกอาชีพด้านหม่อนไหม"อธิบดีกรมหม่อนไหมกล่าวและย้ำว่า                          

          สำหรับปีนี้ กรมหม่อนไหมได้มุ่งต่อยอดงานโครงการหมู่บ้านไหมไทยพื้นบ้านเฉลิมพระเกียรติฯ โดยเน้นพัฒนาการตลาดตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์และหมู่บ้านอนุรักษ์ไหมไทยพื้นบ้าน ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวหม่อนไหมเชิงอนุรักษ์ และเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิตและผู้บริโภคเพื่อขยายช่องทางการตลาดให้เกษตรกรในอนาคตอีกด้วย  

 

                                                    

 “บ้านเสี้ยวน้อย”ตัวอย่างความสำเร็จหมู่บ้านอนุรักษ์ผ้าไหม  

           ความสำเร็จของกลุ่มสตรีทอผ้าไหม “บ้านเสี้ยวน้อย”ต.บ้านเล่า อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ ภายใต้การนำของ“แม่มาลา”หรือมาลา วรรณพงศ์ ในฐานะประธานกลุ่มฯ ไม่ได้มีแค่การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การันตีโดยการรับรองจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมประเภทสิ่งทอระดับดีเยี่ยมเท่านั้น แต่ยังเป็นหนึ่งใน 84 หมู่บ้านตามโครงการโครงการหมู่บ้านอนุรักษ์ไหมไทยพื้นบ้านเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถในพื้นที่ 21 จังหวัดอีกด้วย 

        ทั้งนี้กลุ่มสตรีทอผ้าไหมบ้านเสี้ยวน้อยได้มีการร่วมมือกันเรียนรู้ด้านหม่อนไหม ตั้งแต่ปลูกหม่อน เพื่อเลี้ยงไหมพื้นบ้าน และปลูกมันสำปะหลัง เพื่อเลี้ยงไหมอิรี่ เมื่อได้รังไหมก็นำมาสู่กระบวนการ “สาวไหม”แล้วนำไปแปรรูปฟอกสี ย้อมสีทางธรรมชาติ ไม่เพียงเท่านั้นยังนำผ้าไหมที่ทอได้ไปผ้าไหม “หมักโคลนธรรมชาติ”เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ก่อนนำออกจำหน่ายสู่ท้องตลาดจนสามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้กับสมาชิกเป็นอย่างดี

          "ผลิตภัณฑ์เด่นของเรามีผ้าไหมหมักโคลนธรรมชาติ ทำให้เนื้อผ้าเรียบไม่ยับง่ายแล้วก็สร้างมุลค่าเพิ่มด้วย ถ้าผ้าไหมธรรมดากว้าง1เมตร ยาว2 เมตรผืนละ 2500-3000 บาทแต่ผ้าไหมหมักโคลนจะอยู่ที่ 4000-4500 บาทต่อผืน ส่วนอีกอย่างที่ขายดีคือครีมทาผิวจากน้ำต้มตัวไหม สนในราคาขวดละ100 บาท"แม่มาลาเผยกับ“คมชัดลึก”

          ตามประวัติ ผ้าไหมทอมือบ้านเสี้ยวน้อยเป็นอาชีพเดิมของชาวบ้านที่ได้รับการตกทอดมาจากบรรพบุรุษไมาไม่น้อยกว่า 200-300 ปี  ที่ผ่านมาการทอผ้าไหมของชาวบ้านจะผลิตสำหรับใช้สอยกันในครัวเรือนหรือใช้ในงานพิธีสำคัญ และของฝากสำหรับบุคคลพิเศษ ทว่าปัจจุบันผ้าไหมได้กลายเป็นเครื่องนุ่งห่มที่มีราคาสูง เป็นที่นิยมทัง้คนไทยและต่างชาติ แตจ่กรรมวิธีการผลิตจะใช้วิธีทางธรรมชาติตามภูมิปัญญาชาวบ้าน ด้วยการนำวัสดุที่ได้จากธรรมชาติ ที่มีในหมู่บ้านทั้งจากพืช เช่น รากไม้ เปลือกไม้ แก่นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ ผล เปลือกผล และเมล็ด จากสัตว์ เช่น ครั่ง และจากแร่ธาตุ เช่น ดินโคลน ดินลูกรัง สนิมเหล็ก สนิมทองแดง มาใช้ในการย้อม หรือสารที่ช่วยในการย้อมสีเส้นไหม ด้วยความตระหนักถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือเป็นอันตรายต่อผู้ใช้สอยผ้าไหม  

        อย่างไรก็ตามการพัฒนาผ้าไหมของชาวชัยภูมิ จากอดีตสู่ปัจจุบัน บ่งบอกถึงความเป็นไทยนานแท้และความดั่งเดิม และยังนับได้ว่ามีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ เกี่ยวข้องกับสังคมไทยที่สืบทอดกันมานาน นอกจากนี้ ผ้าไหมยังแสดงถึงศิลปวัฒนธรรมของสังคมไทย  โดยมี “พระผู้ทรงสร้าง และสืบสานงานไหม” สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้ทรงให้การสนับสนุนอาชีพการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม พร้อมแปรรูปเป็นสินค้าผ้าไหม เป็นอาชีพให้กับชาวบ้าน โดยพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งกลุ่มทอผ้าไหมขึ้น ก่อนขยายออกไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศจนทุกวันนี้ 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ