ข่าว

"ไอซีที"กับงานส่งเสริมการเกษตร : จากอดีตสู่ปัจจุบันตอนที่5

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - ทำกินถิ่นอาเซียน โดย – รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ [email protected] 

 ต่อจากอาทิตย์ที่แล้ว

             ในคราวที่แล้วผมทิ้งท้ายไว้ที่ยุคของโซเชียลมีเดียที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับงานส่งเสริมการเกษตร เพราะถือได้ว่าเป็นยุคที่รุ่งเรืองของการสื่อสารสองทางแบบเครือข่ายสังคมเต็มรูปแบบ โดยเปิดโอกาสให้ทำการสื่อสารกันได้สองทางแบบเรียลไทม์ ทั้งแบบรายบุคคลและแบบกลุ่ม อีกทั้งยังเอื้ออำนวยให้สามารถเผยแพร่สื่อในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการถ่ายทอดสดเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด นับได้ว่าสื่อเครือข่ายสังคมแบบนี้เป็นสื่อที่มีความเหมาะสมกับงานส่งเสริมเป็นอย่างมาก

 

            ดังนั้นในช่วงนี้จึงมีการวิจัยที่มุ่งศึกษาการใช้สื่อสังคมแต่ละประเภทเพื่องานส่งเสริมการเกษตร โดยในด้านหนึ่งก็ศึกษาถึงการใช้งานสื่อสังคมของนักส่งเสริมการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับงานในหน้าที่ อีกด้านหนึ่งก็ศึกษาการใช้งานสื่อสังคมของผู้ที่สนใจด้านการเกษตรและเกษตรกรในบางกลุ่ม ในช่วงนั้นสื่อสังคมที่คนทั่วไปรู้จักและนิยมใช้กันก็คือ Facebook, Line, Instragram และ Twitter นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายโปรแกรมแต่ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร 

             ซึ่งผลการวิจัยในช่วงนั้นทำให้เห็นว่า นักส่งเสริมการเกษตรส่วนใหญ่ใช้สื่อสังคมทุกประเภทเพื่อการสื่อสารและแจ้งข่าวสารระหว่างกันเพื่อเป็นการประสานงานในการทำงานร่วมกัน มีอยู่บ้างไม่มากที่ใช้สื่อสารและแจ้งข่าวสารกับเกษตรกร เนื่องจากในช่วงนั้นมีเพียงเกษตรกรส่วนน้อยเท่านั้นที่ใช้งานสื่อสังคม แต่ก็มีนักส่งเสริมการเกษตรรุ่นใหม่ๆ ที่เพิ่งเข้ามาทำงานและพื้นฐานด้านไอซีทีที่ค่อนข้างดีก็มีการใช้สื่อสังคมในการถ่ายทอดความรู้ด้วยสื่อภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวประกอบการสื่อสารไปด้วย 

            และการใช้งานที่สอดคล้องกับกิจกรรมการส่งเสริมมากที่สุดคือการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรเฉพาะกิจ หรือกลุ่มที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกันบน Facebook และ Line ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการทำกิจกรรมการส่งเสริมแบบมีส่วนร่วม และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักส่งเสริมการเกษตรกับเกษตรกรอย่างกว้างขวาง นอกจากการทำกิจกรรมการส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่จริง โดยที่นักส่งเสริมการเกษตรเองก็เริ่มเห็นประโยชน์ของสื่อสังคมมากขึ้นนอกเหนือจากการใช้เพื่อการสื่อสารแต่เพียงอย่างเดียว 

              ที่สำคัญก็มีการแนะนำและชักชวนเพื่อนร่วมงานและเกษตรกรให้เข้าใช้สื่อสังคมเพื่อทำกิจกรรมในการส่งเสริมการเกษตรเพิ่มมากขึ้น จึงนับได้ว่าในช่วงนี้เป็นช่วงที่นักส่งเสริมการเกษตรทำงานส่งเสริมการเกษตรได้สะดวกสบายและมีความคล่องตัวมากขึ้นด้วยไอซีที ถ้าเปรียบเทียบกับในยุคก่อนๆ ที่ผ่านมา

             ในอีกด้านหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ ก็มีกลุ่มคนที่เป็นผู้สนใจด้านการเกษตรและมีความรู้เรื่องไอซีทีที่ไม่ใช่เกษตรกรเริ่มเข้ามาร่วมกันทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรในรูปแบบของกลุ่มโดยใช้สื่อสังคม Facebook ในการแบ่งปันความรู้ในการทำการเกษตร จัดกิจกรรมพบปะสังสรรค์เพื่อพูดคุยกัน การแบ่งปันผลผลิตทางการเกษตรเพื่อการบริโภค และการสร้างตลาดออนไลน์ผลผลิตทางเกษตร ซึ่งก็มีกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นค่อนข้างมากและใช้สื่อสังคมเป็นเครื่องมือในการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างกว้างขวาง และมีจำนวนสมาชิกมากน้อยแตกต่างกันไปตามความสนใจ

       

           โดยกลุ่มลักษณะนี้ก็มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และอาจจะมีผู้อ่านหลายๆ ท่านเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งจะเกี่ยวข้องกันอย่างไรค่อยว่ากันต่อในครั้งหน้าครับ !

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ