ข่าว

"ไอซีที"กับงานส่งเสริมการเกษตร : จากอดีตสู่ปัจจุบัน(4)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - ทำกินถิ่นอาเซียน โดย - รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ      [email protected] 

 ต่อจากอาทิตย์ที่แล้ว

              ครั้งที่แล้วผมทิ้งท้ายไว้ในเรื่องปัญหาของการสื่อสารสองทางในการใช้ไอซีที ในงานส่งเสริมการเกษตรที่ยังทำได้ไม่ดี ถ้าเปรียบเทียบกับการใช้นักส่งเสริมที่ทำงานในพื้นที่โดยตรง ในช่วงนั้นก็มีเทคโนโลยีการสื่อสารเป็นช่องทางที่พอช่วยได้ก็คือ การอาศัยเว็บบอร์ดหรือกระดานสนทนาเป็นช่องทางที่พอจะทำให้เกษตรกรกับนักส่งเสริมการเกษตรสามารถทำการสื่อสารกันได้แบบสองทาง แม้ว่าจะใช้การสื่อสารตอบโต้กันผ่านเว็บบอร์ด แต่ก็ยังเป็นการสื่อสารสองทางที่ไม่ได้เป็นแบบเรียลไทม์ (การโต้ตอบได้ในเวลาเดียวกันเหมือนการพูดคุยปกติ) ทำให้ไม่สามารถสื่อสารกันได้แบบเป็นธรรมชาติเหมือนการพบหน้ากันได้ ทำให้ต้องรอและเกิดความล่าช้า 

 

            อีกทั้งบางคำถามที่เกิดขึ้นบนเว็บบอร์ดขาดนักส่งเสริมที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาให้คำตอบ จึงทำให้ไม่ได้ข้อมูลที่ไม่ทันต่อเหตุการณ์และไม่สามารถนำไปแก้ปัญหาได้ทันเวลา อีกทั้งยากต่อการใช้งานของเกษตรกรเพราะต้องใช้การพิมพ์ตัวอักษรตอบโต้กัน จึงทำให้ไม่ได้รับความนิยมในการใช้งานและค่อยๆ เลิกใช้กันไป

           ในด้านของนักส่งเสริมเองก็มีภาระหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติกันอยู่ในพื้นที่ ดังนั้นเวลาที่จะใช้ในการเข้ามาติดตามข้อมูลและตอบคำถามต่างๆ จึงลดน้อยลงไปด้วย และบางครั้งก็ไม่ได้เข้ามาให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญในช่วงนั้นด้วยเช่นกัน และที่สำคัญรูปแบบการส่งเสริมการเกษตรผ่านไอซีทียังขาดเรื่องการมีส่วนร่วมของกลุ่มและการสร้างเครือข่ายเกษตรกรอย่างที่ควรจะเป็น เนื่องจากวิธีการและเทคโนโลยีการสื่อสารยังไม่เอื้ออำนวยมากนัก 

            ดังนั้นนักส่งเสริมการเกษตรคงยังต้องทำงานในพื้นที่เป็นหลัก และใช้ไอซีทีเป็นส่วนสนับสนุนการทำงานในด้านข้อมูลที่เป็นความรู้และช่องทางเสริมในการสื่อสารกับเกษตรกรและนักส่งเสริมด้วยกันเท่านั้น ส่วนเกษตรกรเองก็ยังมีจำนวนน้อยมากที่สามารถเข้าสู่ระบบการส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบนี้ได้ ส่วนใหญ่เนื่องจากปัญหาในการไม่มีอุปกรณ์ ขาดความรู้รวมถึงทักษะในการใช้งานและเรื่องของเครือข่ายการสื่อสารที่ยังไม่ครอบคลุมในทุกพื้นที่

              จนกระทั่งมาถึงยุคของสื่อสังคม หรือโซเชียลมีเดีย นับได้ว่าเป็นยุคที่รุ่งเรืองของการสื่อสารสองทางแบบเครือข่ายสังคมเต็มรูปแบบ เพราะซอฟต์แวร์ที่ออกแบบมานั้นเน้นให้ผู้ใช้ทำการสื่อสารกันได้สองทางแบบเรียลไทม์ ทั้งแบบรายบุคคลและแบบกลุ่มซึ่งเป็นรูปแบบที่ไม่เคยมีมาในอดีต อีกทั้งยังเอื้ออำนวยให้สามารถเผยแพร่สื่อในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการถ่ายทอดสดเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด 

   

 

               นับได้ว่าสื่อเครือข่ายสังคมแบบนี้เป็นสื่อที่มีความเหมาะสมกับงานส่งเสริมเป็นอย่างมาก ดังนั้นในช่วงนี้จึงมีการวิจัยที่มุ่งศึกษาการใช้สื่อสังคมแต่ละประเภทเพื่องานส่งเสริมการเกษตร โดยในด้านหนึ่งก็ศึกษาถึงการใช้งานสื่อสังคมของนักส่งเสริมการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับงานในหน้าที่ อีกด้านหนึ่งก็ศึกษาการใช้งานสื่อสังคมของผู้ที่สนใจด้านการเกษตรและเกษตรกรในบางกลุ่ม ในช่วงนั้นสื่อสังคมที่คนทั่วไปรู้จักและนิยมใช้กันก็คือ เฟซบุ๊ก, ไลน์, อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ 

                นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายโปรแกรมแต่ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร มาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงจะบอกว่าเป็นยุคที่ไอซีทีเข้าถึงตัวเราได้มากที่สุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนอีกเช่นกัน ซึ่งจริงๆแล้วก็เป็นผลดีกับการส่งเสริมการเกษตรเช่นกัน เพราะทำให้ทั้งนักส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกรเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมมาใช้งานไอซีทีกันมากขึ้น 

และต่อไปจะเป็นอย่างไรผมจะมาเล่าให้ฟังต่อในครั้งหน้าครับ !

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ