ข่าว

 เปิดผลประชุม"เอ็มอาร์ซี"ที่สปป.ลาว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เปิดผลประชุม"เอ็มอาร์ซี"ที่สปป.ลาว สู่การพัฒนา"ลุ่มน้ำโขง"อย่างยั่งยืน

 

        แม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำยาวเป็นอันดับ 7 ของโลก มีต้นกำเนิดอยู่ที่เทือกเขาในประเทศจีน ไหลผ่านจีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม และไหลลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกตรงปลายแหลมญวน รวมระยะทาง 4,880 กิโลเมตรหรือ 3,000 ไมล์ ความสำคัญของแม่น้ำสายนี้ไม่ใช่แค่แหล่งอาศัยของปลาบึก ปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกหรือใช้เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางน้ำที่สำคัญระหว่างจีน ไทยและสปป.ลาวเท่านั้น แต่ยังใช้ประโยชน์จากลำน้ำสายนี้เพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค ตลอดจนการผลิตกระแสไฟฟ้าอีกด้วย

   

     คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง(Mekong River Commission: MRC)ที่ริเริ่มโดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจสำหรับเอเชียและตะวันออกไกลแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็น)หรือ ECAFE เมื่อปี 2518  ถือเป็นองค์กรสำคัญในการพัฒนาการดำเนินงานในด้านต่าง ๆแก่ประเทศสมาชิก ตามยุทธศาสตร์ MRC ปีค.ศ. 2011-2015   โดยครอบคลุม 13 แผนงาน ได้แก่ 1. การเกษตรและการชลประทาน 2. การพัฒนาลุ่มน้ำ 3. การจัดการความแห้งแล้ง 4. สิ่งแวดล้อม 5. การประมง 6. การจัดการอุทกภัย 7. การจัดการข้อมูลและองค์ความรู้ 8. การเสริมสร้างขีดความสามารถ 9. การเดินเรือ 10. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 11. การใช้พลังงานน้ำอย่างยั่งยืน 12. โครงการจัดการทรัพยากรแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน และ 13. โครงการจัดการลุ่มน้ำต่าง ๆ

         "แม่น้ำโขงจะแบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกอยู่ในประเทศจีน ช่วงที่2 ผ่านไทยและสปป.ลาว ช่วงที่3 ผ่านสปป.ลาว กัมพูชาและเวียดนาม ที่ประชุมวันนี้พูดถึงการสร้างเขื่อนในสปป.ลาว มีอยู่ 3-4 แห่ง ที่จะมีผลกระทบต่อประเทศด้านท้ายน้ำ"ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสทนช.เผยผลการประชุมคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง สมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากลายของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยมีตัวแทนจากประเทศสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม กัมพุชาและสปป.ลาว  ณ โรงแรมคราวน์ พลาซา นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สปป.ลาว โดยมีดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว

          "การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสจากประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเพื่อสรุปผลการดำเนินการกระบวนการตามระเบียบปฏิบัติ เรื่อง การแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลงของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากลาย (the Pak Lay Hydropower Project) สปป.ลาว ซึ่งจะเป็นโครงการเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลักแห่งที่ 4 ต่อจาก ไซยะบุรี ดอนสะโฮง และปากแบง" 

         เลขาธิการ สทนช.เผยต่อว่าสทนช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย และเป็นหน่วยงานกลางในการประสานความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง พร้อมประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมต่อโครงการฯ ซึ่งได้ดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงในเรื่องดังกล่าว ภายใต้ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน (1995 Mekong Agreement) 

        โดยประเทศสมาชิกขอให้รัฐบาลสปป.ลาว ดำเนินโครงการโดยคำนึงถึงผลกระทบด้านต่าง ๆ  ซึ่งประกอบด้วยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางอุทกวิทยา การออกแบบเขื่อนต้องพิจารณาการเพิ่มประสิทธิภาพการพัดพาตะกอนให้สอดคล้องกับฤดูกาล การปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกของทางปลาผ่าน (Fish passage facilities) การสร้างความเข้าใจในเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนและผลกระทบด้านเศรษฐกิจ-สังคม การปรับปรุงการออกแบบเขื่อนให้มีความปลอดภัย การเพิ่มความปลอดภัยของสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการเดินเรือ และการมีระบบติดตามตรวจสอบร่วมกันของประเทศสมาชิก MRC รวมถึงการเปิดเผยข้อมูล (Information Sharing) เพื่อประเมินผลกระทบด้านอุทกวิทยา ตะกอน คุณภาพน้ำ นิเวศวิทยาทางน้ำ และการประมง อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ  

                    จีนปรับลดระบายน้ำเขื่อนจิ่นหง 11-17 เม.ย.  

          ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่ง (สทนช.) เปิดเผยว่า จากการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในการบริหารจัดการน้ำแม่น้ำโขงกับประเทศจีน สทนช.ได้รับแจ้งจากทางการประเทศจีนว่าเขื่อนจิ่งหงมีแผนจะลดการระบายน้ำ ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.62 ถึงวันที่ 17 เม.ย.62 จากปริมาณ 2,000-3,000 ลบ.ม.ต่อวินาที เหลือเพียง 1,500-1,600 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อให้ประชาชนใช้น้ำจากแม่น้ำโขง(แม่น้ำล้านช้าง) สำหรับเทศกาลสาดน้ำซึ่งเป็นประเพณีประจำปีของชาวไทลื้อ 

        สำหรับในพื้นที่ของประเทศไทย สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยได้ติดตาม วิเคราะห์และคาดการณ์แนวโน้มจากการลดการระบายน้ำในช่วง 7 วันดังกล่าว โดยแม่น้ำโขงจะไหลผ่านประเทศไทยที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งอยู่ห่างจากเขื่อนจิ่งหง 340 กิโลเมตร ระดับน้ำจะลดลงประมาณ 1.3 – 1.5 เมตร ในช่วงวันที่ 12- 13 เม.ย 62 และระดับน้ำแม่น้ำโขงบริเวณจังหวัดเลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี ระดับน้ำลดลง 1 - 1.2 เมตร ในช่วงวันที่ 16 - 18 เม.ย 62 และในวันที่ 18 เม.ย. 62 นี้ จีนจะเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนจิ่งหงอีกครั้ง ในปริมาณเท่าเดิม ประมาณ 2,000 – 3,000 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำแม่น้ำโขงตั้งแต่จังหวัดเชียงรายถึงจังหวัดอุบลราชธานีเพิ่มขึ้นสู่ระดับเดิมตามลำดับตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย.62 เป็นต้นไป

       ล่าสุดสทนช.ได้มีหนังสือแจ้งกระทรวงมหาดไทยไปยังผู้ว่าราชการ 8 จังหวัด ได้แก่  เชียงราย เลย นครพนม  มุกดาหาร บึงกาฬ  หนองคาย  อำนาจเจริญ และ อุบลราชธานี เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้ทราบถึงผลกระทบเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินที่อาจเกิดขึ้นได้

                                                                

                        สทนช.เล็งดึงกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง 

             ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)เปิดเผยว่า จากผลการประชุมคณะกรรมการประสานการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง (JCCCN) ครั้งที่ 17  เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีเป้าหมายสำคัญเพื่อหารือและรับทราบการดำเนินงานตามความตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง (JCCCN) สำหรับการพัฒนาการขนส่งในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง และมุ่งเน้นสนับสนุนการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฝ่ายไทยและจีนเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย กรมเจ้าท่าและขนส่งทางน้ำของประเทศสมาชิก JCCCN ได้แก่ จีน ลาว เมียนมา ไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สทนช. สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ  

      โดยในที่ประชุมมีการพิจารณาในประเด็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำเพื่อการเดินเรือที่ปลอดภัยในแม่น้ำโขง – ล้านช้าง ระหว่างประเทศสมาชิก โดยฝ่ายจีนเห็นพ้องในการแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำ โดยจะประสานกับหน่วยงานภายใน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามมาตรา 21 ของความตกลง JCCCN เพื่อให้การเดินเรือมีความปลอดภัยและสะดวกโดยเฉพาะในฤดูแล้ง และกำหนดให้ขยายความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการไหลของน้ำตามที่ฝ่ายไทยร้องขอ ซึ่ง สทนช.ได้พิจารณาแล้วว่าประเด็นดังกล่าว จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการบริหารจัดการแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น จึงพร้อมที่จะเป็นหน่วยงานกลางในการผลักดันการดำเนินงานผ่านกลไกกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (Mekong – Lancang Cooperation : MLC) สาขาทรัพยากรน้ำร่วมกับ JCCCN เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำกับจีนอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

        เลขาธิการสทนช.กล่าวด้วยว่า การแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำฯ ระหว่างรัฐบาลไทยกับจีน และประเทศสมาชิก JCCCN ได้มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนภายใต้พันธกรณีของความตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง (JCCCN) ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลไกเดียวที่มีผลผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศ และสามารถผลักดันการดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งที่ผ่านมาสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้นำเสนอและพยายามผลักดันประเด็นด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำกับจีนร่วมกับกรมเจ้าท่าอย่างต่อเนื่อง  

        “การเปลี่ยนท่าทีเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำในแม่น้ำโขง – ล้านช้างโดยเฉพาะในฤดูแล้ง จากผลการประชุมครั้งนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งแรกของจีนในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีความพยายามผ่านกลไกคณะกรรมการลุ่มน้ำโขง (MRC) มาโดยตลอดแต่ยังไม่ครอบคลุมและเกิดประสิทธิผลมากนัก แต่การหารือร่วมกันครั้งนี้เป็นจะเป็นการเปลี่ยนกลไกการให้ข้อมูลด้านน้ำอย่างมีนัยสำคัญ จึงนับเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญที่ฝ่ายไทยจะต้องดำเนินการและติดตามอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในแม่น้ำโขง – ล้านช้าง รวมถึงการป้องกันบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดน จากสถานการณ์น้ำท่วม น้ำแล้ง การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและระดับน้ำอย่างฉับพลันอีกด้วย”ดร.สมเกียรติ กล่าว     

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ