ข่าว

 นำ"ศาสตร์พระราชา"แก้ปัญหาน้ำในพื้นที่อีอีซี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 นำ"ศาสตร์พระราชา"แก้ปัญหาน้ำในอีอีซี ใช้อ่าง"พวง"ผันน้ำเชื่อมภาคอุตสาหกรรม

 

          กรมชลประทานคลอด 5 แผนงานหลักรับมือความต้องการใช้น้ำ 8 จังหวัดภาคตะวันออก โดยเฉพาะพื้นที่อีอีซี คาดจะเพิ่มขึ้นอีกกว่า 500 ล้านลบ.ม.ภายในอีก 20 ปีข้างหน้า เร่งวางระบบผันน้ำเชื่อมโยงแหล่งน้ำสำคัญ หวังสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำให้ทุกภาคส่วน 

    

     สุชาติ เจริญศรี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 กรมชลประทาน เผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ สระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ว่าขณะนี้ยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้โดยในฤดูแล้งปีนี้ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 มีปริมาณน้ำในต้นทุนในแหล่งกักเก็บทั้งหมด 61 แห่งรวมประมาณ 2,100 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยได้จัดสรรน้ำไว้ใช้ในทุกกิจกรรมรวม 1,300 ล้าน จนถึง 30 มิถุนายน 2562 ที่เหลืออีกประมาณ 700 ล้านลบ.ม. สำหรับไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป

    อย่างไรก็ตามได้คาดการณ์กันว่าฝนในปี 2562 จะน้อยกว่าปีปกติ อากาศร้อนมากขึ้น อัตราการระเหยมากกว่าปกติกรมชลประทานจึงมีมาตรการประหยัดน้ำเพิ่มเติมโดยขอความร่วมมือจากภาคเอกชนลดการใช้น้ำ 10% ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 เป็นต้นมา ทำให้ประหยัดน้ำได้เพิ่มอีกกว่า 100 ล้านลบ.ม. จึงทำให้มั่นใจได้ว่าแม้ฝนจะขาดไปจนถึงเดือนกันยายน ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และท่องเที่ยวของทางภาคตะวันออกจะมีน้ำใช้ ไม่ประสบปัญหาภัยแล้ง

“แม้ปัจจุบันในปริมาณน้ำต้นทุนในภาคตะวันออกจะเพียงพอต่อความต้องการก็ตาม แต่ในอนาคตความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกรมชลประทานร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ประเมินว่าในปี 2569 ทั้ง 8 จังหวัดดังกล่าว มีความต้องการน้ำประมาณ 2,530 ล้านลบ.ม. และในปี 2579 จะเพิ่มขึ้นเป็น 2,675 ล้านลบ.ม. และโดยเฉพาะการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในพื้นที่ จ.ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งในปัจจุบันมีความต้องการน้ำประมาณ 1,313 ล้านลบ.ม จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,705 ล้านลบ.ม.ในปี 2569 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จำเป็นจะต้องจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นให้ได้อีกไม่น้อยกว่า 500 ล้านลบ.ม.ภายใน 20 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่มีปริมาณน้ำต้นทุนประมาณ 1,440 ล้านลบ.ม."

  สุชาติเผยต่อว่า สำหรับแผนจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมนั้น ประกอบด้วย 5 แผนงานหลัก ได้แก่ 1.การปรับปรุงแหล่งน้ำ 7 แห่งที่มีอยู่เดิม ได้แก่ อ่างคลองใหญ่ อ่างหนองค้อ อ่างหนองปลาไหล อ่างบ้านบึง อ่างมาบประชัน อ่างคลองหลวง และอ่างคลองสียัด สามารถเก็บน้ำได้เพิ่ม 102 ล้านลบ.ม. 2.การสร้างแหล่งเก็บน้ำใหม่ในลุ่มน้ำวังโตนด จ.จันทบุรี จำนวน 4 แห่ง ได้ความจุน้ำรวม 280 ล้านลบ.ม. เพื่อจะผันน้ำมารองรับพื้นที่อีอีซี จำนวน 100 ล้านลบ.ม. ปัจจุบันการก่อสร้างสถานีสูบน้ำดำเนินการเสร็จสิ้น ส่วนอ่างเก็บน้ำดำเนินการแล้วเสร็จ 3 แห่ง ได้แก่ อ่างคลองประแกด อ่างคลองพะวาใหญ่ และอ่างคลองหางแมว สำหรับอ่างวังโตนด ซึ่งมีความจุ 100 ล้านลบ.ม. กำลังอยู่ในขั้นตอนศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะสามารถดำเนินการผันน้ำได้ภายในปี 2566

3.การปรับปรุงสถานีสูบน้ำพานทอง เพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกงมาเติมอ่างบางพระ จำนวน 50 ล้านลบ.ม.ต่อปี คาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลากภายในเดือนมิถุนายนนี้ 4.การสูบน้ำกลับท้ายอ่าง 2 โครงการ คือ ปรับปรุงระบบสูบน้ำอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง และก่อสร้างระบบสูบผันน้ำคลองสะพาน-อ่างประแสร์ จะทำให้มีน้ำใช้การเพิ่มขึ้นอีก 55 ล้านลบ.ม. และ 5.การหาแหล่งน้ำสำรองและบริหารจัดการความต้องการน้ำของเอกชน โดยบริษัท East water เพื่อใช้น้ำใน อีอีซี ซึ่งจะได้น้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก 77 ล้านลบ.ม.

นอกจากนี้กรมชลประทานนำระบบศาสตร์พระราชาในเรื่องอ่างพวงมาใช้ดำเนินการในภาคตะวันออก โดยมีการสร้างระบบผันน้ำเชื่อมโยงระหว่างอ่างเก็บน้ำที่สำคัญๆ เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ภาคการเกษตรมีน้ำสมบูรณ์เพียงพอ อย่างไรก็ตามต้องให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพน้ำด้วยเช่นกัน จึงขอความร่วมมือให้ทุกฝ่ายรักษาคุณภาพน้ำก่อนปล่อยลงลำน้ำสาธารณะเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และการเกษตรโดยเฉพาะไม้ผลเศรษฐกิจ เช่น ทุเรียน มังคุด เป็นต้น 

                                                       

                   เตรียมสร้างอ่างลำตะเพินตอนบนแก้แล้ง“สุพรรณ-กาญจน์”

   กรมชลฯ เดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งระดับสูง 7 อำเภอรอยต่อกาญจนบุรี-สุพรรณบุรี  เตรียมก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำตะเพินตอนบนพร้อมระบบผันน้ำ แก้ปัญหาในระยะยาว มีพื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 130,000 ไร่

อำนาจ ชูวงษ์ ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 13 กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้วางแผนที่จะดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ 7 อำเภอ คือ อ.บ่อพลอย อ.ห้วยกระเจา อ.เลาขวัญ อ.หนองปรือ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี และ อ.ด่านช้าง อ.หนองหญ้าไช จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก ราษฎรเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคช่วงฤดูแล้งมาอย่างยาวนาน ทำให้ถูกจัดเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งระดับสูง แม้ทั้ง 7 อำเภอดังกล่าวจะมีแหล่งน้ำใช้จากลุ่มน้ำลำตะเพินที่มีน้ำท่าไหลในช่วงหน้าฝนถึงปีละ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ก็ตาม แต่ด้วยสภาพข้อจำกัดของภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาทำให้ไม่สามารถพัฒนาแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ได้ น้ำท่าจำนวนมากจึงไหลออกสู่ลำน้ำแควใหญ่ทั้งหมด

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากรมชลประทานได้แก้ปัญหาดังกล่าว โดยได้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ฝายทดน้ำในลำน้ำ ประตูระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ และสระเก็บน้ำในไร่นา มีราษฎรในพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 50,000ไร่ พร้อมทั้งได้เพิ่มปริมาณความจุให้อ่างเก็บน้ำลำตะเพินเดิม จาก 50 ล้านลบ.ม. เป็น 57 ล้านลบ.ม. แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการการใช้น้ำ และมีความเสี่ยงที่ปัญหาภัยแล้งจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต ดังนั้นจึงมีแผนดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ 7 อำเภอดังกล่าว

 สำหรับในระยะสัั้นตั้งแต่ปี 2562-2565 กรมชลประทานได้วางแผนพัฒนาแหล่งน้ำพื้นที่ดังกล่าว จำนวน 48 โครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในเขต อ.บ่อพลอย อ.เลาขวัญ และ อ.ห้วยกระเจา เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถเก็บน้ำต้นทุนได้เพิ่มอีก 41.41 ล้านลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ 87,000ไร่ ส่วนในระยะยาวตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป จะดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำตะเพินตอนบน พร้อมระบบผันน้ำบริเวณเหนืออ่างลำตะเพินเดิม ขนาดความจุ 18 ล้านลบ.ม. ซึ่งขณะนี้ได้ศึกษาความเหมาะสม และออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะบรรจุเข้าแผนงานที่จะดำเนินการได้ในปี 2566–2570

  ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 13 กล่าวต่อว่า จากการศึกษาศักยภาพโดยรวมของลุ่มน้ำลำตะเพิน พบว่าในฤดูน้ำหลากจะมีปริมาณน้ำท่าที่จะไหลลงอ่างลำตะเพินตอนบนและอ่างลำตะเพินตอนล่างที่มีอยู่แล้ว มากกว่า 60 ล้านลบ.ม. ดั้งนั้นเพื่อให้การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำตะเพินตอนบนเกิดประโยชน์สูงสุดจึงดำเนินการก่อสร้างพร้อมระบบฝันน้ำ 2 สาย ได้แก่ สายล่าง ผันน้ำจำนวน 18.68 ล้านลบ.ม. ไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยเทียนและอ่างเก็บน้ำหนองมะสังฆ์ จ.กาญจนบุรี โดยระบบท่อความยาว 82.33 กิโลเมตร เพิ่มพื้นที่ชลประทานท้ายอ่างเก็บน้ำห้วยเทียนได้ 22,680 ไร่ และสายบน ผันน้ำจำนวน 27.5 ล้านลบ.ม.ไปอ่างเก็บน้ำห้วยทวีป และอ่างเก็บน้ำพุปลาก้าง จ.สุพรรณบุรี โดยระบบท่อเช่นกันความยาว 57.35 กม. เปิดพื้นที่ชลประทานได้อีก 19,690 ไร่

 ทั้งนี้ในการผันน้ำเพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้น้ำในพื้นที่ จะทำการผันในช่วงน้ำหลากซึ่งมีปริมาณน้ำเกินความต้องการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม–ตุลาคม และระหว่างทางผันน้ำจะยังมีสระเก็บน้ำกักน้ำไว้ให้เกษตรกรและประชาชนได้ใช้อีกด้วย ซึ่งจะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ครอบคลุมทั้ง 7 อำเภอที่กล่าวข้างต้นรวมไม่น้อยกว่า 42,000 ไร่ นอกจากจะสามารถลดความเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและเกษตรกรมีน้ำทำการเกษตรอย่างพอเพียงแล้ว ยังช่วยรัฐบาลลดค่าช่วยเหลือเกษตรกรในกรณีฝนทิ้งช่วง หรือภัยแล้ง รวมทั้งยังช่วยเพิ่มการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อม เพิ่มความมั่นคงด้านน้ำเพื่ออุตสาหกรรมตลอดจนสร้างอาชีพเสริมด้านประมงอีกด้วย

  “พื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัดกาญจนบุรีกับสุพรรณบุรี ค่อนข้างกว้างใหญ่ มีพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 800,000 ไร่ จำเป็นจะต้องมีการพัฒนาแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งขณะนี้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กำลังดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ มาช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำและภัยแล้งในพื้นที่รอยต่อดังกล่าวด้วยซึ่งจะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์มากกว่า 200,000 ไร่” อำนาจ กล่าวในตอนท้าย 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ