ข่าว

เดินหน้าขับเคลื่อน"ปศุสัตว์ฮาลาล"ปี2562

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เดินหน้าขับเคลื่อน"ปศุสัตว์ฮาลาล"ปี2562 จาก"โรงฆ่าสัตว์"สู่โต๊ะอาหารรับมุสลิมโลก 

 

                    ก้าวมาอีกขั้นสำหรับแผนปฏิบัติงานการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาล (พ.ศ. 2559-2563)ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่ออังคารที่ 2 มิถุนายน 2558 หลังกรมปศุสัตว์ร่วมกับคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศ พัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลด้านปศุสัตว์ สร้างความเชื่อมั่นในสินค้าฮาลาลและความปลอดภัยต่อผู้บริโภคทุกศาสนารองรับประชากรมุสลิมทั่วโลกเพื่อมุ่งหวังในการพัฒนาโรงฆ่าสัตว์และสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ให้ถูกสุขลักษณะควบคู่ไปกับมาตรฐานฮาลาล โดยมีเป้าหมายให้ทุกจังหวัดมีเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัย และถูกหลักการศาสนาอิสลามวางจำหน่าย

เดินหน้าขับเคลื่อน"ปศุสัตว์ฮาลาล"ปี2562  น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์

 

เดินหน้าขับเคลื่อน"ปศุสัตว์ฮาลาล"ปี2562

 

              "กรมปศุสัตว์ได้สนองนโยบายรัฐบาล ภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาล (พ.ศ. 2559 – 2563) ต่อยอดโครงการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลด้านปศุสัตว์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยพัฒนาโรงฆ่าสัตว์และสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ให้ถูกสุขลักษณะควบคู่ไปกับมาตรฐานฮาลาล" น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์เผยความคืบหน้ายุทธศาสตร์อาหารฮาลาลตามนโยบายรัฐบาล 

                โดยย้ำว่าการขับเคลื่อนดังกล่าวจะมุ่งไปที่แหล่งผลิตวัตถุดิบสำหรับภัตคาร และร้านอาหารในการปรุงอาหารฮาลาลในพื้นที่สำหรับการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการบริโภคอาหารฮาลาลทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งในภูมิภาคอาเซียนมีจำนวนมุสลิมที่ต้องบริโภคอาหารฮาลาลกว่า 300 ล้านคน จากกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

                สำหรับกรมปศุสัตว์นั้นถือเป็นหน่วยงานกำกับดูแลเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นน้ำที่สำคัญในการผลิตอาหารฮาลาล  จึงได้มีการจัดตั้ง “กลุ่มพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลด้านปศุสัตว์ สังกัดสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์” วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557 โดยมีภารกิจสำคัญคือการพัฒนาและส่งเสริมการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ของประเทศไทยสู่มาตรฐานฮาลาล และยกระดับอุตสาหกรรมปศุสัตว์ฮาลาลไทยให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยหัวใจสำคัญในการบรรลุความสำเร็จจำเป็นต้องบูรณการการทำงานทั้ง 3 ภาคส่วน คือ หน่วยงานรัฐ กรมปศุสัตว์ องค์กรฮาลาล สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย) และผู้ประกอบการ

               ขณะที่ น.สพ.โสภัชย์ ชวาลกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่ากรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินงานด้านปศุสัตว์ฮาลาลภายใต้โครงการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลด้านปศุสัตว์มาตั้งแต่ปี 2556 – 2561 โดยดำเนินการทั้งหมด 5 ด้าน คือ 1. การสร้างความเข้าใจในมาตรฐานฮาลาลต่อเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจประเมินกว่า 300 คน พนักงานเชือดสัตว์กว่า 800 คน และอบรมผู้ประกอบการกว่า 1,000 คน 2. ตรวจประเมินสถานประกอบการด้านปศุสัตว์ฮาลาลปีละ 250 แห่ง ซึ่งปัจจุบันมีสถานประกอบการด้านปศุสัตว์ที่ได้รับรองมาตรฐานฮาลาลแล้ว 360 แห่ง ได้แก่ โรงฆ่าสัตว์เพื่อการส่งออก 30 แห่ง โรงฆ่าสัตว์ภายในประเทศ 129 แห่ง และสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ 201 แห่ง

                3. การสุ่มเก็บตัวอย่างตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนดีเอ็นเอสุกรในสินค้าปศุสัตว์ฮาลาลกว่า 4,800 ตัวอย่างทั่วประเทศ 4. การอบรมพัฒนาการทำงานระหว่างนายสัตวแพทย์ประจำโรงงานของกรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมการเชือดและที่ปรึกษาโรงเชือดสัตว์ของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยกว่า 200 คน และ5. เจรจาขยายตลาดและแก้ไขปัญหาการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ฮาลาลไปยังกับต่างประเทศ

                "ในปี 2561 ประเทศไทยสามารถส่งออกเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกไปต่างประเทศเป็นมูลค่ากว่า 1.09 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นสินค้าที่ผลิตจากสถานประกอบการที่ผ่านการรับรองฮาลาลกว่า 1.04 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 95 ของสินค้าสัตว์ปีกทั้งหมด โดยตลาดฮาลาลสำหรับประเทศไทยยังมีโอกาสเติมโตได้อีกมาก เนื่องจากประชากรโลกกว่า 1.8 พันล้านคน เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม อีกทั้งสินค้าที่ผ่านการรับรองฮาลาลเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคทุกศาสนาสามารถบริโภคได้ ดังนั้นการบูรณาการในการดำเนินงานด้านปศุสัตว์ฮาลาลระหว่าง กรมปศุสัตว์ และสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย จึงเป็นการส่งเสริมให้สินค้าปศุสัตว์ฮาลาลของไทยเป็นสินค้าที่ถูกหลักฮาลาลตามหลักศาสนา และปลอดภัยต่อการบริโภค ซึ่งกรมปศุสัตว์มีความมุ่งหวังให้ผู้บริโภคทุกคนได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่ดีและปลอดภัย”น.สพ.โสภัชย์กล่าว

                  ด้าน ดิเรก วันแอเลาะ เลขานุการฯ “งานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ฮศ.1440” ปี 2562 กล่าวแนะนำในการเลือกซื้อสินค้า เลือกรับประทานอาหารฮาลาล โดยระบุว่าตราสัญลักษณ์ฮาลาลจะสร้างความมั่นใจให้กับชาวมุสลิมเป็นอย่างดี ประเทศไทยเราจะสังเกตุเครื่องหมายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เพราะกว่าจะได้ตราฮาลาลได้ก็ต้องผ่านการตรวจ การรับรอง จากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในส่วนสินค้าปศุสัตว์ก็จะมีเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์มาร่วมดูแลด้วย ซึ่งหมายความว่าถูกต้องตามกฎหมาย ถูกสุขอนามัย นับว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่ช่วยสร้างความมั่นใจในการบริโภคว่าถูกต้องตามหลักศาสนา 

                   ส่วน กานต์ หงน้อย นักวิชาการฝ่ายฮาลาล สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวยอมรับว่าในช่วง 10 ปีที่ทำงานฝ่ายฮาลาล ไม่ว่าจะเป็นการรับรองฮาลาล หรือการขอใช้เครื่องหมายฮาลาล เมื่อก่อนมีไม่มาก ปัจจุบันมีการรับรองเยอะ ประมาณ 7,000 กว่าผู้ประกอบการ หรือประมาณ 200,000 ผลิตภัณฑ์ ขณะเดียวกันปัจจุบันการขอรับรองฮาลาลสะดวกขึ้นมาก ผู้ประกอบการสามารถศึกษาจากเว็บไซต์ได้ หน่วยงานราชการก็ให้ความร่วมมือมากขึ้น 

                   “ปัจจุบันการทำงานมีการพัฒนาการมากขึ้น มีความร่วมมือบูรณาการระหว่างหน่วยงานและกรมปศุสัตว์มากขึ้น  กรมปศุสัตว์ได้เข้ามามีส่วนช่วยเหลือโรงเชือดสัตว์ขนาดเล็กให้ถูกสุขอนามัยมากขึ้น ผลิตภัณฑ์มีมากขึ้น มีการต่อยอดสินค้าฮาลาลมากขึ้น สินค้าแปรรูป ขอฮาลาลมากขึ้น เช่นลูกชิ้น ใส้กรอก สินค้านม มีการขอฮาลาลเกือบทุกผู้ประกอบการ แม้แต่ไข่ ก็มีขอฮาลาล คือมีขบวนการล้างทำความสะอาดที่ถูกต้อง สำหรับในอนาคตคาดว่าจะร่วมมือกันมากกว่านี้ด้วยเพราะความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ในการขอฮาลาล”นักวิชาการฝ่ายฮาลาลคนเดิมกล่าวทิ้งท้าย

   

                                        

                         เปิดที่มายุทธศาสตร์ส่งเสริมธุรกิจสินค้าฮาลาล 

             ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่ออังคารที่ 2 มิถุนายน 2558 เห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาล (พ.ศ. 2559-2563) และแผนปฏิบัติงานภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการขับเคลื่อนและให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรงบประมาณในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติงานการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาล (พ.ศ. 2559-2563) ภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาล (พ.ศ. 2559-2563) ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 

         โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกสินค้าและบริการฮาลาลที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียนและของโลกเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ เพื่อสร้างการรับรู้และความเชื่อมั่นในสินค้าฮาลาลของไทย และเพื่อส่งเสริมการพัฒนาภาคบริการฮาลาลให้ขยายตัวมากขึ้น ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์คือ 1.การเสริมสร้างศักยภาพการพัฒนามาตรฐานและการตรวจรับรองฮาลาล 2.การเสริมสร้างศักยภาพการผลิตสินค้าและบริการฮาลาล 3.การพัฒนาศักยภาพการตลาดฮาลาลสู่สากลและ4.การพัฒนาศักยภาพการวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์ฮาลาลเพื่อสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ

       ส่วนหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องในแผนปฏิบัติงานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ฯดังกล่าว ประกอบด้วย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้ง องค์กรภาคศาสนาและภาคเอกชนมีบทบาทร่วมดำเนินงานในฐานะหน่วยดำเนินงานและ/หรือหน่วยร่วมดำเนินงาน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด สำนักจุฬาราชมนตรี สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นต้น

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ