ข่าว

ไอซีทีกับงานส่งเสริมการเกษตร : จากอดีตสู่ปัจจุบัน(2)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - ทำกินถิ่นอาเซียน โดย – รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ    [email protected]

 

             จากคราวที่แล้วผมทิ้งท้ายไว้ว่า จะทำอย่างไรที่จะทำให้การนำไอซีทีเข้ามาใช้ในภาคการเกษตร โดยเฉพาะเรื่องการส่งเสริมการเกษตรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกร โดยที่ตัวเกษตรกรก็ยอมรับและเต็มใจใช้จากความต้องการของตนเอง และที่สำคัญต้องมีความสุขกับการใช้สิ่งเหล่านี้ นอกจากนี้ก็ยังต้องมองในอีกด้านหนึ่งว่าในฝั่งของนักส่งเสริมการเกษตรก็ถือว่าเป็นเรื่องใหม่เช่นกัน 

 

             ดังนั้นในด้านความรู้และทักษะการใช้งานก็ยังมีไม่พร้อมกันทุกคน และมีทัศนคติต่อการนำมาใช้งานต่างกันไปอีก จึงเป็นเรื่องที่ต้องมองสองด้านทั้งตัวเกษตรกรและนักส่งเสริมการเกษตร ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ใช้งานไอซีทีได้เกิดประโยชน์สูงสุดต่องานส่งเสริมการเกษตร โดยที่เกษตรกรก็มีความสุขและได้ประโยชน์ต่อการทำการเกษตรและนักส่งเสริมเองก็ใช้ไอซีทีในงานส่งเสริมได้อย่างสบายใจ เกิดประโยชน์และไม่มองว่าเป็นภาระในการใช้งานนอกเหนือจากการทำงานปกติและที่สำคัญมีความเข้าอกเข้าใจกันระหว่างผู้ให้กับผู้รับ

             ช่วงแรกๆ ของการเริ่มนำไอซีทีเข้ามาใช้ในงานส่งเสริมการเกษตรจึงยังใช้งานกันแบบไม่มีระบบแบบแผนกันมากนัก เรียกได้ว่าใช้งานกันตามความถนัดและความชอบของตนเองโดยไม่ได้คำนึงถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นไปตามที่คาดหวังหรือคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ เพราะในอดีตทั้งค่าอุปกรณ์และค่าบริการค่อนข้างมีราคาสูง การตอบโจทย์ในสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นจึงต้องใช้การวิจัยช่วยในการหาคำตอบเพื่อช่วยในการวางแผนและออกแบบการใช้ไอซีทีเพื่อการส่งเสริมการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

             ปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องในลำดับต้นๆ ก็จะเป็นเรื่องของความพร้อมของเกษตรกร นักส่งเสริมการเกษตร เทคโนโลยีและสื่อที่นำมาใช้ นโยบายและรูปแบบของการส่งเสริม รวมถึงการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ จนมาถึงในปัจจุบันที่ลงลึกกันไปในเรื่องของโซเชียลมีเดีย, แอพพลิเคชั่น, บิ๊กดาต้า และคลาวด์ เพื่อการเกษตร

              ในช่วงเริ่มต้นทำการวิจัยเกี่ยวกับไอซีทีเพื่อการเกษตรถือว่าเป็นช่วงที่ยากมากในการกำหนดประเด็นต่างๆ ในงานวิจัย เนื่องจากในช่วงนั้นไอซีทียังเป็นสิ่งที่ไกลตัวและจับต้องได้ยาก ทำให้ทั้งนักส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกรยังนึกภาพกันได้ลำบาก แต่เนื่องจากในงานส่งเสริมการเกษตรได้มีนโยบายในการนำไอซีทีเข้ามาใช้ในการทำงาน การเริ่มต้นการวิจัยในช่วงแรกจึงมุ่งไปที่ตัวนักส่งเสริมก่อนเป็นลำดับแรก โดยศึกษาในด้านความพร้อมและรูปแบบการใช้งานเพื่อการส่งเสริมการเกษตร ทำให้ทราบว่านักส่งเสริมการเกษตรซึ่งเป็นบุคคลหลักที่จะเป็นผู้นำในการถ่ายทอดเทคโนโลยี ยังมีการรับรู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ค่อนข้างน้อย และมองว่ายังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างไกลตัว 

   

 

 

 

 

 

         ส่วนใหญ่จะใช้อุปกรณ์คือเครื่องคอมพิวเตอร์ในงานในหน้าที่เท่านั้น เช่นการทำงานเอกสาร ทำพรีเซนเตชั่น การรับส่งอีเมล และการจัดเก็บข้อมูลเพื่อทำฐานข้อมูล และคิดว่าสิ่งที่เกี่ยวข้องกับทำงานส่งเสริมมากที่สุดคือการทำเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่และถ่ายทอดข้อมูลทางการเกษตรให้แก่เกษตรกร แต่ก็จะเป็นหน้าที่เฉพาะของนักส่งเสริมการเกษตรที่มีความชำนาญด้านคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการทำงานซึ่งมีจำนวนน้อยมากเพียงหน่วยงานละคนสองคนเท่านั้นเอง 

             ดังนั้นเรื่องคนจึงเป็นปัญหาและอุปสรรคของการใช้งานในช่วงแรกๆ ซึ่งจะเป็นอย่างไรต่อไปมาต่อกันครั้งหน้าครับ !

                              

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ