ข่าว

 จับตาสถานการณ์"ยาง"ครึ่งปีหลัง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 จับตาสถานการณ์"ยาง"ครึ่งปีหลัง ผนึก3ผู้ผลิตรายใหญ่กดดันตลาดโลก

 
  
             กล่าวสำหรับสถานการณ์ราคายางพาราครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2562 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเล็กน้อย เห็นได้จากราคายางแผ่นรมควันชั้น 3  เมื่อตุลาคมปีที่แล้วราคาเฉลี่ยอยู่ประมาณ 42 บาทต่อกิโลกรัม จากนั้นไต่ระดับขึ้นมาเรื่อย ๆ จนถึงมีนาคมปีนี้ ราคาได้ทะลุไปที่ 50 บาทต่อกิโลกรัม ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาขึ้นมาแตะอยู่ที่ 54 บาทต่อกิโลกรัม
  แล้วครึ่งปีหลังปี 2562 สถานการณ์ราคายางพาราของไทยจะเป็นอย่างไร ?

 จับตาสถานการณ์"ยาง"ครึ่งปีหลัง

 จับตาสถานการณ์"ยาง"ครึ่งปีหลัง
 

   เยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)เผยจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภายในและต่างประเทศครึ่งปีหลังราคายางจะเพิ่มสูงขึ้น   เนื่องจากความต้องการใช้ยางในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นตลาดยางที่สำคัญของไทย รัฐบาลจีนมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัวลง ส่งผลทำให้ความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น ประกอบกับ การประชุมนัดพิเศษของ สภาไตรภาคียางพารา (ITRC) ซึ่งมี 3 ประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก คือ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เมื่อกุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา ได้มีมติที่จะตั้งคณะทำงานร่วม 3 ประเทศ เพื่อหาข้อสรุปในการออกมาตรการรักษาเสถียรภาพราคายางพารา 
    ซึ่งประกอบด้วย มาตรการจำกัดปริมาณการส่งออกยาง โดยจะพิจารณาหาปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งจะอยู่ระหว่าง 200,000-300,000 ตัน มาตรการเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศของทั้ง 3 ประเทศ  มาตรการลดพื้นที่การปลูกยางพาราเพื่อปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน  การจัดตั้งตลาดกลางเพื่อซื้อขายยางพาราในตลาดซื้อขายจริง และตลาดซื้อขายล่วงหน้า โดยเป็นตลาดที่จัดตั้งร่วมกันระหว่างภูมิภาคและการตั้งสภายางแห่งอาเซียนเพื่อใช้เป็นเวทีให้ทั้ง 3 ประเทศพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน  
    ล่าสุดยังมีการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาเสถียรภาพราคายาง ครั้งที่ 6 ของสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติจาก 10 ประเทศ ประกอบด้วย บังคลาเทศ กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา เวียดนาม และไทย ได้มีมติร่วมกันที่จะแก้ปัญหาสถานการณ์ราคายาง โดยทุกประเทศจะร่วมมือกันในการวิจัยด้านต่างๆเพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางของแต่ละประเทศให้เพิ่มสูงขึ้น และร่วมกันหามาตรการกำหนดราคาส่งออกยางพาราขั้นต่ำอีกด้วย
    "จากการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ที่กล่าวมา จึงมั่นใจว่าในช่วงครึ่งปีหลังแนวโน้มราคายางจะสูงขึ้นอย่างแน่นอน รวมทั้งมาตรการต่างๆของรัฐบาลที่พยายามจะเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศไทยก็จะเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น"
 รักษาการผู้ว่าการกยท.กล่าวถึงจุดดีที่รัฐบาลได้ส่งเสริมให้มีการใช้ยางในประเทศมากขึ้น เพื่อไม่ให้ตลาดต่างประเทศเป็นผู้กำหนดราคา  ทั้งนี้ปัจจุบันมีการใช้ยางในประเทศประมาณ 600,000 ตันต่อปี หรือประมาณร้อยละ 14 เท่านั้นของกำลังการผลิตทั่วประเทศประมาณ 4.5 ล้านตันต่อปี ส่วนใหญ่ใช้ไปในรูปของผลิตภัณฑ์ วัสดุ ครุภัณฑ์ สิ่งก่อสร้างที่มีส่วนผสมของยางพาราเพิ่มมากขึ้น เช่น บล็อกยางปูพื้น ยางปูสนามฟุตซอล ถถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ เป็นต้น 
 ขณะเดียวกันกรมชลประทาน ที่มีแผนซ่อมแซมปรับปรุงถนนคันคลองชลประทาน จากถนนลูกรังเป็นถนนยางพาราซอยล์ซีเมนต์รวมระยะทางทั้งสิ้น 400 กิโลเมตร ซึ่งจะต้องใช้น้ำยางถึงประมาณ 7,200 ตัน และโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตรของรัฐบาล ที่กยท.ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินงานสร้างถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ทั่วประเทศ 75,032 หมู่บ้าน จำนวนหมู่บ้านละ 1 กิโลเมตร รวมระยะทาง 75,032 กิโลเมตร สามารถดึงน้ำยางออกจากตลาดได้จำนวนมากกว่า 1.44 ล้านตัน คาดว่าแต่ละหมู่บ้านจะเริ่มทยอยสร้างถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย 
 "นวัตกรรมในการทำถนนยางพาราซอยล์ซีเมนต์ ยังได้รับความสนใจจาก ประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลกเช่นกัน ถ้าทั้งสองมีนโยบายนำยางพาราไปใช้เป็นส่วนผสมในทำถนนจริงเหมือนในประเทศไทย จะเป็นการเพิ่มปริมาณการใช้ยางในแต่ละประเทศมากขึ้นประมาณ ร้อยละ 20 - 30 ของยางพาราที่มีอยู่ ซึ่งมีส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้ราคายางเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ" 
จะเห็นได้ว่า ปัจจัยต่างๆทั้งในและต่างประเทศในครึ่งปีหลัง รวมทั้งความร่วมมือของกลุ่มประเทศผู้ผลิตยางพารา ตลอดจนผลงานด้านการวิจัย ของกยท. ที่เริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม ล้วนจะทำให้ความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคายางในอนาคต มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพแน่นอน 
 

                                                  
                                            ผลงานโบว์แดง“ยางผง”ใช้ผสมทำถนน 
      ณพรัตน์ วิชิตชลชัย รองผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย(กยท)ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง เปิดเผยว่า กยท.ประสบผลสำเร็จในวิจัยการเปลี่ยนยางธรรมชาติให้เป็นยางผง หรือเรียกว่า Para aktive เพื่อใช้ในการผสมยางมะตอยทำถนน ซึ่งผลงานวิจัยล่าสุดและเป็นแห่งแรกที่คิดค้นนวัตกรรมนี้ขึ้นมา โดยเมื่อนำยางผงไปผสมยางมะตอยแล้วยังคงคุณสมบัติเหมือนน้ำยางข้นตามคุณสมบัติที่กรมทางหลวงกำหนดไว้ทุกประการ ข้อดีของยางผงคือ ไม่มีกลิ่นฉุน ใช้งานง่าย ลดค่าขนส่งเมื่อใช้ในปริมาณมาก ลดค่าใช้จ่ายในการผสม นอกจากนี้ยังได้รับความสนใจจากต่างประเทศอีกด้วย
    “เมื่อเร็ว ๆ นี้มร.ยูซูฟ บิน อลาวี่ บิน อับดุลลาห์ รัฐมนตรีรับผิดชอบด้านการต่างประเทศรัฐสุลต่านโอมานและคณะ เดินทางมาเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ได้เยี่ยมชมนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผสมยางพาราสำหรับทำถนนของไทย เนื่องจากประเทศรัฐสุลต่านโอมานมีสภาพภูมิประเทศเป็นทะเลทราย อากาศร้อน ประสบปัญหาเรื่องการเกิดร่องล้อบนถนนยางมะตอย ในขณะที่ถนนยางพาราที่รัฐบาลไทยส่งเสริมอยู่ขณะนี้มีความโดดเด่นในเรื่องคุณสมบัติการทนความร้อนได้มากกว่าถนนยางมะตอยปกติ มีค่าความยืดหยุ่นและคืนตัวดีกว่า รวมทั้งยังมีความฝืดที่ช่วยลดการลื่นไถลของพาหนะ มีความแข็งแรงและอายุการใช้งานที่มากกว่า เขาจึงให้ความสนใจเป็นพิเศษ กยท.จึงได้เล็งเห็นโอกาสในการเปิดตลาดยางผงและเทคโนโลยีการผสมยางพาราสำหรับทำถนนให้กับประเทศทางตะวันออกกลาง” 
        รองผู้ว่ากยท.ย้ำด้วยว่ากยท.ยังคงวิจัยและพัฒนาการใช้ยางพาราเพื่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมคุณภาพสูง นำไปใช้งานได้จริง โดยล่าสุดได้นำยางพารามาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเสาหลักนำทาง และหลักนำทางกม.ย่อย ที่มีความยืดหยุ่น ทนทานกว่าหลักซีเมนต์ สามารถลดความรุนแรงของการเกิดอุบัติเหตุได้ โดยในชั้นต้นจะผลิตนำร่องจำนวน 700,000 ต้น ใช้น้ำยางสดประมาณ 14,700 ตัน ขณะนี้โครงการอยู่ในขั้นตอนการผ่านคณะกรรมการกยท.และคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ จากนั้นจึงจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติต่อไป 
 
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ