ข่าว

ตรวจความพร้อมอ่างเก็บน้ำทั่วไทย ผลกระทบ "เอลนีโญ" ทำแล้งยาว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตรวจความพร้อมอ่างเก็บน้ำทั่วไทย ผลกระทบ "เอลนีโญ" ทำแล้งยาว

 

    “สถานการณ์น้ำของประเทศในภาพรวมปริมาณน้ำในแหล่งเก็บน้ำต่างๆ ยังมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ โดยขณะนี้ มีน้ำต้นทุนสำหรับใช้การได้จากทุกแหล่งน้ำรวมกันทั้งสิ้นจำนวน 29,102 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำจนกว่าจะเข้าฤดูฝนมีจำนวน 8,719 ล้านลบ.ม. ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ปริมาณน้ำต้นทุนที่จะจัดสรรมีเพียงพอไปจนถึงเดือนพฤษภาคม และเพียงพอสำหรับสำรองต้นฤดูฝนอีกจำนวน 20,115 ล้านลบ.ม. พื้นที่ในเขตชลประทานไม่ขาดแคลนน้ำอย่างแน่นอน”

          เป็นคำยืนยันจาก ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ถึงการเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงหน้าแล้งปีนี้  ทำให้บางพื้นที่ในเขตชลประทานไม่มีการสนับสนุนน้ำเพื่อการทำนาปรังและเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง เนื่องจากปริมาณอ่างเก็บน้ำมีน้ำต้นทุนน้อย เมื่อสิ้นสุดฤดูฝน 2561 จึงมีความจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัดเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุดไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2562 

         ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานจากการวิเคราะห์ของสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 7 จังหวัด ได้แก่ จ.กาญจนบุรี ชัยภูมิ เชียงใหม่ นครราชสีมา นครสวรรค์ ราชบุรี และเลย และพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรรวม 18 จังหวัด เช่น อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น เป็นต้น ซึ่งกรมชลประทานได้วางมาตรการเตรียมความพร้อมและแนวทางช่วยเหลือ โดยใช้ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะเป็นเครื่องมือวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำในแต่ละภูมิภาคทั้งในและนอกเขตชลประทานตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งแต่ละพื้นที่อาจได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป เช่น ภาคเหนือคอยเฝ้าระวังเรื่องการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ภาคกลางเฝ้าระวังด้านรักษาระบบนิเวศ ป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำ ภาคตะวันออกเฝ้าระวังเรื่องน้ำที่ใช้รักษาระบบนิเวศ อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว

            สำหรับสถานการณ์น้ำล่าสุด (ณ วันที่ 20 มี.ค.62) สภาพนํ้าในอ่างเก็บนํ้าขนาดใหญ่และขนาดกลางมีปริมาณรวมกัน 47,910 ล้านลบ.ม. คิดเปนร้อยละ 63 ของความจุ โดยเป็นปริมาณนํ้าใช้การได้ 23,984 ล้านลบ.ม. คิดเปนรอยละ 46 เฉพาะอ่างเก็บนํ้าขนาดใหญ่ปริมาณน้ำในอ่าง 45,391 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 64 โดยเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 21,849 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาจะมีปริมาณน้ำน้อยกว่าเล็กน้อย

ส่วนการจัดสรรน้ำใช้จากโครงการชลประทานขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศในช่วงฤดูแล้งปี 2561-2562 มีการวางแผนการจัดสรรน้ำเพื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ในขณะนั้นมีปริมาณน้ำต้นทุนสามารถใช้การได้จํานวน 39,570 ล้านลบ.ม. โดยวางแผนจัดสรรนํ้าทั้งประเทศจํานวน 23,100 ล้านลบ.ม.ตามลําดับ ความสําคัญดังนี้ เพื่อการอุปโภคบริโภค 2,404 ล้านลบ.ม. รักษาระบบนิเวศและอื่น ๆ 6,440 ล้านลบ.ม. เกษตรกรรม 13,953 ล้านลบ.ม. และอุตสาหกรรม 303 ล้านลบ.ม 

                                                  

                     

          วอนเกษตรงด“นาปรัง”หวั่นส่งผลกระทบระยะยาว

   ฤดูแล้งปีนี้ลุ่มน้ำชีตอนกลางปริมาณน้ำต้นทุนน้อย วอนพื้นที่ชลประทาน 3 จังหวัดกว่า 156,000 ไร่ งดทำนาปรัง ส่วนพืชที่ใช้น้ำน้อยให้ปลูกได้ในบางพื้นที่เท่านั้น ย้ำการจัดสรรน้ำจะยึดประโยชน์เกษตรกรเป็นหลักพร้อมเตือนเกษตรกรที่ดึงน้ำจากลำน้ำชีมาใช้ปลูกพืชช่วงแล้งจะส่งผลกระทบในระยะยาว

   อนันต์ศักดิ์ แย้มชื่น ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง กรมชลประทานได้ขอความร่วมมือจากเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ชลประทานของเขื่อน 4 แห่งลุ่มน้ำชีตอนกลาง ตั้งแต่อ.ชนบท จ.ขอนแก่น จนถึง อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด ครอบคลุมพื้นที่ 156,709 ไร่ ให้งดทำนาปรังฤดูแล้งปี 2561-2562 เนื่องจากปริมาณน้ำตุ้นทุนมีน้อย แต่ยังไม่ถึงขั้นประกาศเป็นเขตภัยแล้ง เริ่มตั้งแต่เขื่อนชนบท อ.ชนบท จ.ขอนแก่น พื้นที่รับประโยชน์ 34,736 ไร่ที่ได้รับน้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและแก้มลิงบึงละหานนา จ.ชัยภูมิ ซึ่งปีนี้ไม่มีน้ำต้นทุนพอจะทำนาปรังแต่สามารถปลูกพืชใช้น้ำน้อยได้

   สำหรับเขื่อนมหาสารคาม อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม และเขื่อนวังยาง อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ถัดลงมา มีพื้นที่รับประโยชน์ 21,300 ไร่ และ 21,230 ไร่ตามลำดับ ทั้ง 2 เขื่อนดังกล่าวได้รับน้ำต้นจากแม่น้ำพองและเขื่อนอุบลรัตน์ แต่ในฤดูแล้งปีนี้เขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำใช้การ ณ ปัจจุบัน 122.14 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเพียง 6.60% ของปริมาณเก็บกัก มีปริมาณน้ำค้อนข้างน้อยไม่เพียงพอเพื่อปลูกพืชหน้าแล้ง จึงขอความร่วมมืองดปลูกนาปรังและพืชใช้น้ำน้อย

   ส่วนเขื่อนร้อยเอ็ด อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งอยู่ในพื้นที่ด้านล่างลงมาอีก มีพื้นที่รับประโยชน์ 79,443 ไร่ ปกติจะมีน้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ไหลลงแม่น้ำชีที่ท้ายเขื่อนวังยาง หน้าเขื่อนร้อยเอ็ด ซึ่งปีนี้เขื่อนลำปาวมีน้ำใช้การ ณ ปัจจุบัน 749.40 ล้านลบ.ม. หรือ 39.86% ของปริมาณกักเก็บ มีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะส่งน้ำสนับสนุนเฉพาะการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยได้ไปจนถึงลำน้ำชีตอนล่าง จ.อุบลราชธานี เท่านั้น จึงขอให้เกษตรกรงดทำนาปรังเช่นเดียวกัน

   “การบริหาจัดการน้ำทั้ง 4 เขื่อนดังกล่าว จะดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการจัดการชลประทาน (จีเอ็มซี) ซึ่งมีมติให้เกษตรกรในเขตชลประทานงดการทำนาปรังทั้งหมดและให้กรมชลประทานทำหน้าที่รักษาระดับน้ำที่หน้าเขื่อนทั้ง 4 แห่งไว้ที่ระดับ 70-80% เพื่อใช้สำหรับการประปาและรักษาระบบนิเวศ ซึ่งกิจกรรมใช้น้ำทั้ง 2 กิจกรรมจะมีเพียงพอตลอดทั้งหน้าแล้งอย่างแน่นอน” อนันต์ศักดิ์กล่าว

   ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง กล่าวต่อไปว่า กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำตามขั้นตอนและวิธีการที่ยึดประโยชน์ของเกษตรกรเป็นหลักและในขณะเดียวกันต้องประหยัดน้ำด้วย แนวทางคือพยายามรักษาน้ำไว้ให้เกษตรกรและผู้ใช้น้ำอย่างทั่วถึง เป็นธรรม มั่นคง เผื่อเหตุการณ์ในอนาคต มิเช่นนั้นจะเกิดความเสียหายเดือดร้อน ดังนั้นจึงได้แจ้งไปยังจังหวัดเพื่อออกหนังสือเตือนเกษตรกรที่อยู่ 2 ฝั่งลำน้ำชีให้งดดึงน้ำในลำน้ำไปทำนาเพราะจะเกิดผลเสียระยะยาวได้

 “ปัจจุบันมีเกษตรกรบางท่านดึงน้ำจากลำน้ำชีไปใช้ซึ่งเป็นความเสี่ยงเนื่องจากปีนี้น้ำน้อย การดึงน้ำในลำน้ำมาใช้ก่อนเทียบได้กับการนำน้ำในอนาคตมาใช้ก่อให้เกิดความเสี่ยงทั้งในด้านการเกษตรและอุปโภคบริโภค ลำดับแรกที่จะกระทบกระเทือนก่อนคือเกษตรกรไม่มีน้ำเริ่มทำนาปีหากเกิดกรณีฝนมาล่า และผลกระทบต่อไปถึงน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค  จึงอยากขอความร่วมมือให้เกษตรกรฟังประกาศจากทางราชการและเชื่อมั่นในการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน เกษตรกรผู้ปลูกข้าววางใจได้ว่าจะเริ่มฤดูนาปีได้ในเดือนมิถุนายนแน่นอน และจะส่งน้ำให้พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณบ้านท่าตูม อ.เมือง จ.มหาสารคาม (เขื่อนวังยาง) เพื่อเริ่มนาปีก่อนราวกลางเดือนมิถุนายน” อนันต์ศักดิ์ย้ำทิ้งท้าย 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ