ข่าว

"ตลาดนำการผลิต"สร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ผลิตสินค้าหม่อนไหม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ตลาดนำการผลิต"สร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ผลิตสินค้าหม่อนไหม

 

                กรมหม่อนไหมเผยผลการขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐ “การตลาดนำการผลิต” สามารถสร้างรายได้ที่แน่นอนให้กับเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าหม่อนไหมในพื้นที่นำร่อง 7 จังหวัด จำนวน 800 ราย จากสินค้าหม่อนไหม 4 ชนิดจำนวน 200 ตัน สร้างมูลค่าเป็นรายได้ให้กับเกษตรกรรวมไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท

     

           นางสาวศิริพร บุญชู อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนตามนโยบาย “การตลาดนำการผลิต” ในสินค้าหม่อนไหมว่า กรมหม่อนไหมได้มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินภารกิจส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรเกี่ยวกับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โดยการสนับสนุนเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการ ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้และเกิดความมั่นคงในอาชีพด้านหม่อนไหม

"ตลาดนำการผลิต"สร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ผลิตสินค้าหม่อนไหม

                 โดยได้มอบหมายให้สำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เขต ร่วมกับศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ขับเคลื่อนนโยบายโดยเป็นตัวกลางในการประสานงานจับคู่ระหว่างกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตและผู้ประกอบการ โดยได้ดำเนินการนำร่องในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ น่าน พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ นครราชสีมา และจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งมีผู้ประกอบการขานรับนำร่องนโยบายการตลาดนำการผลิตดังกล่าว จำนวน 5 บริษัท ใน 4 ชนิดสินค้า ประกอบด้วย (1) สินค้ารังไหม ได้แก่ บริษัท จุลไหมไทย จำกัด และบริษัท ขอนแก่นสาวไหม จำกัด (2) สินค้าหนอนไหม ได้แก่ บริษัท เอ็นทีจีเอส คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (3) สินค้าเส้นไหม ได้แก่ ร้านฅญาบาติก และ (4) สินค้าแผ่นใยไหม ได้แก่ บริษัท ไทยซิลค์ โปรดักส์ จำกัด โดยผู้ประกอบการดำเนินการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าในแต่ละชนิดสินค้าอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยมีเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ในการนำร่องขับเคลื่อนนโยบายการตลาดนำการผลิตสินค้าหม่อนไหมในพื้นที่ 7 จังหวัด ครั้งนี้ จำนวน 800 ราย ผลผลิตรวมของทุกชนิดสินค้าหม่อนไหม จำนวน 200 ตัน มูลค่าผลผลิตรวมที่เกิดขึ้นเป็นรายได้ให้กับเกษตรกร ไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท

                “ในปัจจุบันมีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2560 เรียบร้อยแล้ว  กรมหม่อนไหมจึงได้ดำเนินการสร้างการรับรู้ในเรื่องพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ บุคลากรของกรมหม่อนไหม  เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีในการดำเนินการตกลงซื้อขายผลผลิตตามพระราชบัญญัติ ส่งผลให้เกิดประโยชน์แก่งานด้านหม่อนไหมร่วมกันกับทุกฝ่ายอีกด้วย”  อธิบดีกรมหม่อนไหมกล่าว

                 ทั้งนี้ จากสถานการณ์ปัจจุบันที่เกษตรกรในประเทศไทยมักจะประสบกับปัญหาใน 3 เรื่องหลัก คือ ด้านการตลาด ด้านเทคโนโลยี และด้านเงินทุน โดยปัญหาเรื่องการตลาดนั้น ส่งผลกระทบโดยตรงกับรายได้ของเกษตรกรโดยตรง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้กำหนดนโยบาย “การตลาดนำการผลิต” และแนวทางการดำเนินงานการตลาดนำการผลิตไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้ปริมาณการผลิตและความต้องการสินค้าเกษตรเกิดความสมดุลกัน โดยการสนับสนุนให้เกษตรกรเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน สหกรณ์การเกษตร และผู้ค้า มีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอนและมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ ซึ่งการดำเนินงานนั้น ได้มีการสั่งการให้หน่วยงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคบูรณาการร่วมกันในการแสวงหาความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคเอกชน ในการประสานข้อมูลความต้องการด้านการตลาด จับคู่กับภาคการผลิต  เพื่อให้สามารถวางแผนการผลิตทั้งในเชิงปริมาณ คุณภาพ มีมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด ลดปัญหาทั้งกรณีสินค้าเกษตรล้นตลาดและไม่เพียงพอ

         

         โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด กำหนดขั้นตอนการทำงานตามหลักการตลาดนำการผลิต ร่วมกันคัดเลือกผลผลิตการเกษตรในพื้นที่จากโครงการตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น เกษตรแปลงใหญ่ เกษตรผสมผสาน เกษตรปลอด สารพิษ เกษตรอินทรีย์ กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ (smart farmers & young smart farmers) หรือผลผลิตจากกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตรที่เข้มแข็ง นำไปเป็นข้อมูลประสานงานหาผู้รับซื้อผลผลิตจากพื้นที่โดยตรง  รวมทั้งประสานงานกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และภาคเอกชนในจังหวัดที่ประกอบธุรกิจการซื้อขายผลผลิตทางการเกษตร เช่น หอการค้า สภาอุตสาหกรรม บริษัทประชารัฐรักสามัคคี จำกัด จังหวัด หรือร้านค้าต่างๆ เพื่อติดต่อกับเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรในพื้นที่โดยตรง โดยให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด รวบรวมข้อมูลผลผลิตทางการเกษตรดังกล่าว  พร้อมรายละเอียดช่องทางการติดต่อซื้อขาย เผยแพร่สู่ช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์  ซึ่งที่ผ่านมามีความคืบหน้าในหลายโครงการ เช่น การส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ปลูกข้าวอินทรีย์  ที่สามารถวางแผนการผลิตทั้งในเชิงปริมาณ คุณภาพ  มีมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด ลดปัญหาทั้งกรณีสินค้าเกษตรล้นตลาดและไม่เพียงพอ ช่วยให้ต้นทุนลดลงและขายสินค้าได้ในราคาที่สูงขึ้น รวมทั้งยังเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรมากขึ้นอีกด้วย

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ