ข่าว

ใช้กลไกสหกรณ์เปิดจอง"ทุเรียน"ล่วงหน้าส่งตรงถึงบ้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ใช้กลไกสหกรณ์เชื่อม"ผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค"เปิดจอง"ทุเรียน"ล่วงหน้าส่งตรงถึงบ้าน

 

               เปิดโอกาสให้ผู้ซื้อกับผู้ขายเจอกันล่วงหน้าตามนโยบายรัฐบาล “ตลาดนำการผลิต” หลังกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชวนสหกรณ์ผู้ผลิตผลไม้ทำข้อตกลงกับสหกรณ์ผู้บริโภค สร้างเครือข่ายช่องทางกระจายผลไม้ในพื้นที่ภาคตะวันออกฤดูกาลผลิตปีนี้ โดยมุ่งไปที่ราชาแห่งผลไม้อย่าง “ทุเรียน” ที่มีการเปิดให้สั่งจองล่วงหน้าส่งตรงถึงผู้บริโภคทั่วประเทศ โดยมอบหมายให้ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงตลาดและช่องทางกระจายผลไม้สหกรณ์ทั้งหมด

ใช้กลไกสหกรณ์เปิดจอง"ทุเรียน"ล่วงหน้าส่งตรงถึงบ้าน ใช้กลไกสหกรณ์เปิดจอง"ทุเรียน"ล่วงหน้าส่งตรงถึงบ้าน

 

              "ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงตลาดและช่องทางกระจายผลไม้สหกรณ์ทั้งหมด ขณะนี้กำลังเปิดรับสั่งจองทุเรียนล่วงหน้า รอบแรกปริมาณ 1 แสนกิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 130 บาท"

               ศิริชัย ออสุวรรณ ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวกับ “คม ชัด ลึก” ถึงการซื้อขายทุเรียนออนไลน์ โดยจุดเด่นทุเรียนของสหกรณ์นั้น มีการรับประกันคุณภาพทุกลูก พร้อมกล่องบรรจุภัณฑ์เรียบร้อย มีเอกสารระบุวันที่ควรรับประทาน และจัดส่งให้ผู้บริโภคตรงตามเวลา ค่าส่งเก็บเงินปลายทางตามระยะพื้นที่ หากลูกค้าได้รับทุเรียนที่ไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการ ทางชุมนุมสหกรณ์ฯ ยินดีคืนเงินให้ทันที สนนราคาซื้อขายอยู่ที่ 130 บาทต่อกิโลกรัม แต่หากช่วงเวลาใดที่ทุเรียนปรับราคาลง สหกรณ์จะปรับลดราคาให้ตามราคาตลาด แต่ถ้าราคาตลาดมีการปรับราคาขึ้น ทางสหกรณ์จะคงขายในราคากิโลกรัมละ 130 บาทเท่าเดิม

                 สหกรณ์นิคมวังไทร จำกัด ต.พลงตาเอี่ยม อ.วังจันทร์ จ.ระยอง หนึ่งในสหกรณ์เครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการจองทุเรียนล่วงหน้าของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ปัจจุบันมีสมาชิกที่ปลูกทุเรียนอยู่ประมาณ 600 ราย ซึ่งมี เรวัตร์ แสงวารินทร์  ประธานคณะกรรมการสหกรณ์ฯ เผยว่า โครงการจองทุเรียนล่วงหน้านี้นับว่าเป็นโครงการใหม่ที่ยังไม่เคยทำมาก่อน แต่เดิมชาวสวนทุเรียนนิยมนำทุเรียนไปขายให้แก่ล้งเพื่อส่งออกตลาดต่างประเทศหรือที่เรียกว่าลงกล่อง แต่ในปีนี้สหกรณ์จะเน้นให้สมาชิกคัดทุเรียนคุณภาพเพื่อขายตลาดในประเทศมากขึ้น โดยเริ่มจากกลุ่มผู้บริโภคในขบวนการสหกรณ์ด้วยกันก่อน

                  “สหกรณ์จะรวบรวมเฉพาะผลผลิตของสมาชิกที่ตั้งใจเข้าร่วมโครงการ เพราะเราต้องการทำสินค้าให้ได้คุณภาพเกรดพรีเมียม เป้าหมายคืออยากให้ผู้บริโภคคนไทยได้กินทุเรียนคุณภาพดีในราคาที่เข้าถึงได้” ประธานคณะกรรมการสหกรณ์นิคมวังไทร จำกัดกล่าว

                ในขณะที่ สมพร แสงวารินทร์ เจ้าของสวนทุเรียนป้าลำไย อ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์นิคมวังไทร จำกัด กล่าวว่า ปลูกทุเรียนทั้งหมด 70 ไร่ เน้นการดูแลและตัดทุเรียนเอง เพื่อสำรวจความสุกของทุเรียนให้ได้มาตรฐานและปีนี้เป็นปีแรกที่เข้าร่วมโครงการของสหกรณ์ โดยทางสหกรณ์ยืนยันว่าจะรับซื้อทุเรียนจากสมาชิกในราคาสูงกว่าท้องตลาดอย่างแน่นอน

                  “ราคาน่าจะเกินกว่าตลาดประมาณ 5 บาท แต่ขออย่าต่ำกว่าราคาของท้องตลาด หากได้ราคานี้ทางสวนก็พอใจคัดทุเรียนมาขายให้สหกรณ์” เกษตรกรคนเดิมกล่าวย้ำ

                  ด้าน เชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงโครงการจองทุเรียนล่วงหน้าของกรมส่งเสริมสหกรณ์ว่าต้องการส่งเสริมให้สหกรณ์ผลิตผลไม้เกรดพรีเมียมให้คนไทยได้รับประทาน และใช้เครือข่ายสหกรณ์เป็นช่องทางกระจายผลผลิตไปทั่วประเทศ จึงชวนสหกรณ์ผู้ผลิตผลไม้ทำข้อตกลงกับสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งเป็นฝั่งของผู้บริโภค เพื่อสร้างช่องทางจำหน่ายผลไม้ผ่านกลไกสหกรณ์ โดยจะเน้นการระบายผลไม้ตามฤดูกาล ทั้งมังคุด เงาะ ลองกอง ลำไย ส้มสายน้ำผึ้ง จากสหกรณ์ผู้ผลิตผลไม้ภาคตะวันออก ภาคใต้และภาคเหนือ โดยชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด จะเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงและประสานงานกับสหกรณ์ผู้ผลิตผลไม้กับสหกรณ์ผู้ซื้อ 

             "ในเบื้องต้นได้มีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ระหว่างสหกรณ์ผู้ผลิตผลไม้ 3 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์นิคมวังไทร จำกัด จ.ระยอง ผลิตทุเรียน กลุ่มเกษตรกรทำไร่โป่งน้ำร้อน จำกัด จ.เชียงใหม่ ผลิตส้มสายน้ำผึ้ง และชุมนุมสหกรณ์จังหวัดยะลา จำกัด ผลิตลองกอง ทำข้อตกลงกับตัวแทนสหกรณ์ผู้ซื้อ 3 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์กรมศุลกากร จำกัด และสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย"

                 รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ย้ำด้วยว่า โครงการดังกล่าวจะมีการนำร่องเปิดให้สั่งจองทุเรียนล่วงหน้ารอบแรกในเดือนเมษายนนี้ โดยมีเงื่อนไขประกันทั้งคุณภาพและราคากิโลกรัมละ 130 บาท ผู้บริโภคจะได้มีโอกาสรับประทานทุเรียนหมอนทองคุณภาพดี ได้มาตรฐานจีเอพี เป็นการสั่งซื้อจากผู้ผลิตโดยตรงไม่ต้องผ่านคนกลาง ซึ่งจะได้ราคาที่ยุติธรรม โดยผู้สนใจสามารถติดต่อผ่านชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด โทร.0-2561-4590 ต่อ 408, 08-1823-3639 หรือทางตลาดสินค้าสหกรณ์ออนไลน์ Co-op Click https://www.co-opclick.com/ 

              อย่างไรก็ตาม สหกรณ์ผู้ผลิตผลไม้จะดูแลผลผลิตที่ถูกสั่งจองอย่างดี พร้อมทั้งรายงานความก้าวหน้าความสุกของทุเรียนเป็นระยะ พร้อมจัดส่งให้ผู้บริโภคตามมาตรฐานที่ตกลงกัน ซึ่งในปีนี้สหกรณ์ผู้ผลิตทุเรียนตั้งใจที่จะส่งมอบทุเรียนคุณภาพระดับพรีเมียมให้ผู้บริโภคชาวไทยได้รับประทานกันอย่างทั่วถึง 

 

 เร่งเจาะตลาด“จีน-ฮ่องกง”ดันส่งออกผลไม้ไทยเพิ่ม  

              DITP เร่งผลักดันส่งออกผลไม้ไทยเข้าตลาดจีนเพิ่มขึ้นผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และเจาะเป็นรายมณฑล พร้อมเตรียมนำคณะผู้นำเข้าจากจีนลงพื้นที่เจรจาผู้ค้าไทย มั่นใจดันส่งออกปี 62 เติบโตเพิ่ม

ใช้กลไกสหกรณ์เปิดจอง"ทุเรียน"ล่วงหน้าส่งตรงถึงบ้าน

              บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า DITP มีแผนที่จะผลักดันการส่งออกผลไม้เข้าตลาดจีนและฮ่องกงเพิ่มขึ้น ผ่านช่องทางการค้าในรูปแบบออนไลน์ เพื่อเสริมการค้าผ่านช่องทางออฟไลน์ จากกระแสการตอบรับที่ดีของชาวจีนที่มีต่อผลไม้ไทย นอกจากนี้ ไทยยังมีความร่วมมือด้านช่องทางการค้ากับอาลีบาบา เหอหม่าเฟรช (HEMA Fresh) ซึ่งจะเป็นโอกาสที่จะกระจายสินค้าเข้าไปจำหน่ายในจีนได้มากขึ้น เนื่องจากมีสาขาอยู่เป็นจำนวนมาก                      นอกจากนี้ DITP ยังมีแผนเจาะตลาดจีนเป็นรายมณฑล จำนวน 10 มณฑล ซึ่งเป็นมณฑลที่สินค้าไทยมีโอกาสในการเพิ่มส่วนแบ่งตลาด โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป คาดภายใน 3-6 เดือนข้างหน้าจะเห็นผลจากมาตรการนี้ ซึ่งทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดจีนขยายตัวเพิ่มขึ้น

                 “จากสถานการณ์การค้าโลกในขณะนี้ เป็นโอกาสที่ไทยจะขยายตลาดผลไม้ที่เป็นจุดแข็งไปยังตลาดจีนได้มากขึ้น อีกทั้งไทยยังมีกิจกรรมร่วมกับผู้นำเข้าและผู้ค้าของจีน จึงทำให้ผู้ส่งออกไทยมีช่องทางการขยายตลาดผลไม้ได้ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ และยังเชื่อมโยงไปตามเส้นทางการค้า One Belt One Road ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของจีนที่กำลังผลักดัน เชื่อว่าจะส่งผลให้ตลาดในจีนเติบโตได้รวดเร็ว” บรรจงจิตต์ กล่าวและว่า ในเร็วๆ นี้ ผู้นำเข้าของจีนจะเดินทางมาไทย ซึ่งกรมฯ ได้เตรียมแผนที่จะพาลงพื้นที่สวนผลไม้ เพื่อให้ผู้นำเข้าได้สัมผัสและเกิดการเจรจากับผู้ค้าของไทยโดยตรงต่อไป

                    อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาดผลไม้ในประเทศจีนที่น่าสนใจ ได้แก่ กวางโจว ยูนนาน เซี่ยงไฮ้ ชิงเต่า เจ้อเจียง หางโจว รวมถึง ฮ่องกง ขณะที่ผลไม้ไทยที่มีโอกาสในตลาดจีน อาทิ ทุเรียน มังคุด ลำไย กล้วย ส้มโอ มะม่วง สับปะรด มะพร้าว ส้ม ลิ้นจี่ ฯลฯ ซึ่งมีโอกาสทั้งผลไม้สดและแปรรูป อย่างไรก็ดี สินค้าอื่นก็ยังมีโอกาส เช่น เครื่องสำอาง บริการ ฯลฯ

ใช้กลไกสหกรณ์เปิดจอง"ทุเรียน"ล่วงหน้าส่งตรงถึงบ้าน

                    ปัจจุบันไทยส่งออกผลไม้ไปจีนกว่า 50% ของการส่งออกผลไม้ทั้งหมด และส่วนใหญ่เป็นทุเรียน ลำไยอบแห้ง แต่ผลไม้ชนิดอื่นๆ ยังน้อย ดังนั้นในปี 2562 คาดหวังให้การส่งออกผลไม้ขยายตัวเป็นบวกมากขึ้น โดยในช่วงปี 2561 การส่งออกผลไม้ไทยไปในตลาดโลก มีมูลค่าประมาณ 2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 20% โดยตลาดหลัก ได้แก่อาเซียน และเอเชีย ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) www.ditp.go.th หรือโทรสายตรงการค้าระหว่างประเทศ 1169

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ