ข่าว

 จาก"หมูหลุม"สู่ฟาร์มโคนม นวัตกรรมจัดการฟาร์มระบบชีวภาพ 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 จาก"หมูหลุม"สู่ฟาร์มโคนม นวัตกรรมจัดการฟาร์มระบบชีวภาพ 

 

                การส่งเสริมการเลี้ยงโคนมให้กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ เริ่มครั้งแรกเมื่อ ปี 2524 เป็นโครงการเลี้ยงโคนมเพื่อลดพื้นที่การปลูกสับปะรด ที่ผลผลิตล้นตลาดและราคาตก จากนั้นในปี 2532 ได้ขยายผลไปยังจังหวัดชุมพร มีการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากพายุเกย์ที่สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่การเกษตร ทั้งสวนผลไม้ ยางพาราและปาล์มน้ำมัน ต่อมาได้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจัดตั้งเป็นสหกรณ์โคนม เพื่อช่วยเหลือเรื่องเงินทุนและปัจจัยการผลิต รวมถึงการรวบรวมน้ำนมดิบมาแปรรูปป้อนสู่ตลาด

 จาก"หมูหลุม"สู่ฟาร์มโคนม นวัตกรรมจัดการฟาร์มระบบชีวภาพ   จาก"หมูหลุม"สู่ฟาร์มโคนม นวัตกรรมจัดการฟาร์มระบบชีวภาพ 

 นนทะชัย โนนพุดซา ผู้จัดการชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคใต้และตะวันตก

                 ต่อมาในปี 2547 ได้มีการรวมกลุ่มสหกรณ์โคนมในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรีและชุมพร จัดตั้งเป็นชุมนุมสหกรณ์โคนมประจวบฯ - เพชรบุรี – ชุมพร จำกัด จนกระทั่งสหกรณ์โคนมจังหวัดพัทลุงได้สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกของชุมนุมฯ จึงมีการเปลี่ยนชื่อเป็น“ชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคใต้และตะวันตก จำกัด” เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2556 ตามนโยบายในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับขบวนการสหกรณ์โคนม โดยส่งเสริมให้สหกรณ์โคนมที่ตั้งอยู่ในภาคต่าง ๆ รวมกันจัดตั้งเป็นชุมนุมสหกรณ์โคนมระดับภาคเพื่อให้เกิดการช่วยเหลือ ร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาและเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจระหว่างสหกรณ์โคนมด้วยกัน

                 ปัจจุบันชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคใต้และตะวันตก จำกัด ตั้งอยู่ที่่ต.หนองตาแต้ม อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีผลการดำเนินงานที่เจริญก้าวหน้าและประสบผลสำเร็จอย่างต่อเนื่อง มีสหกรณ์โคนมและกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม จากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชุมพร และพัทลุง เข้าร่วมเป็นสมาชิกจำนวน 15 แห่ง มีเกษตรกรโคนมที่อยู่ในความดูแล 3,750 ครอบครัว จำนวนโคนม 110,000 ตัว ผลิตนมดิบได้ 460 ตัน/วัน 

                หากเทียบกับภาพรวมปริมาณการผลิตน้ำนมดิบของทั้งประเทศวันละ 3,300 ตัน ชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคใต้ฯจะผลิตนมดิบได้ประมาณ 15% ของปริมาณน้ำนมดิบทั้งประเทศ โดยมีการดำเนินธุรกิจหลัก 3 ด้าน ได้แก่ การผลิตอาหารโคนมอัดเม็ดและจัดหาสินค้ามาจำหน่ายให้กับสหกรณ์โคนมที่เป็นสมาชิก ซึ่งโรงงานผลิตอาหารสัตว์มีกำลังการผลิต 10 ตัน/ชั่วโมง และสามารถผลิตอาหารสัตว์ได้ถึงวันละ 700-800 ตัน เพื่อจำหน่ายให้กับเกษตรกรในราคาที่เป็นธรรม ส่งผลทำให้ต้นทุนการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรลดลง

                นอกจากนี้ยังมีธุรกิจรับฝากเงินจากสหกรณ์สมาชิก เพื่อนำมาเป็นเงินทุนหมุนเวียน และในปี 2562 นี้ ทางชุมนุมฯจะเปิดโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์ กำลังการผลิต 2 ตัน/ชั่วโมงคาดว่าจะเริ่มผลิตนมป้อนเข้าโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียนได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2562 และผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นนมเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนตุลาคม 2562

                  "ทางชุมนุมฯ ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาธุรกิจด้านโคนม โดยการสร้างมูลค่าผลผลิตให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับอาชีพการเลี้ยงโคนม ปัจจุบันชุมนุมสหกรณ์ฯได้ดำเนินโครงการฟาร์มโคนมทดแทน โดยรับเลี้ยงลูกวัวของสมาชิกโดยนำมาเลี้ยงรวมกันในฟาร์มกลางของชุมนุมสหกรณ์ฯ จำนวน 200 ตัว มีการกำหนดช่วงเวลาในการให้อาหารในแต่ละวันที่ชัดเจน และเลือกใช้วัตถุดิบผลิตอาหารที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของลูกโคแต่ละช่วงวัย และดูแลเรื่องการป้องกันโรคของโคนมอย่างใกล้ชิด จนอายุของโคพร้อมจะเป็นวัวสาวท้อง จึงจะขายคืนให้กับเกษตรกร ซึ่งจะช่วยลดภาระต้นทุนการเลี้ยงโคนมให้กับเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีเวลาดูแลโครีดนมได้อย่างเต็มที่และไม่ต้องลงทุนสร้างโรงเรือนคอกพักโคเพิ่ม" นนทะชัย โนนพุดซา ผู้จัดการชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคใต้และตะวันตกแจงรายละเอียดการดำเนินงาน

                   เขาเผยต่อว่านอกจากนี้ ทางชุมนุมฯยังได้คิดค้นวิธีการเลี้ยงวัวนมในระบบชีวภาพหรือวัวหลุม โดยพัฒนาต่อยอดมาจากการเลี้ยงหมูระบบชีวภาพหรือหมูหลุม โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2553 นับว่าเป็นนวัตกรรมการจัดการฟาร์มโคนมรูปแบบใหม่และเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งการเลี้ยงโคนมในฟาร์มทั่วไป เกษตรกรจะล้างคอกวัว ฉีดน้ำ ตักขี้วัว และต้องทำความสะอาดพื้นคอกทุกวัน ซึ่งกระบวนการทำความสะอาดพื้นคอกและตักขี้วัวออก ต้องใช้แรงงานและใช้อุปกรณ์ เกิดมลภาวะทางกลิ่น น้ำเสียและแมลงวันรบกวน แต่การเลี้ยงโคนมในระบบชีวภาพหรือวัวหลุม เป็นการเลี้ยงแบบผสมผสานแบบยืนโรงกับปล่อยให้เดินเล่นไปมาในคอกได้ ไม่ต้องผูกโคอยู่ในซองโค ด้านข้างคอกวัวก่อด้วยซีแพ็ค เพื่อป้องกันการพังทลายของดินและการซึมของน้ำเข้าไปในพื้นคอก

                 ส่วนด้านในคอกเลี้ยงวัวจะขุดดินลึกลงไปประมาณ 60-80 เซนติเมตร เพื่อใส่วัสดุรองพื้น โดยนำขุยมะพร้าวมาคลุมไว้บนพื้นดินในหลุม เมื่อวัวถ่ายออกมาจะผสมคลุกเคล้าในหลุม และกลายเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพ และจะมีการกลับพื้นคอกและรดน้ำหมักชีวภาพทุก ๆ 10-15 วัน/ครั้ง เพื่อกระตุ้นการย่อยสลายของจุลินทรีย์ช่วยคลุกเคล้าระหว่างวัสดุรองพื้น มูลและฉี่วัว จนกลายเป็นปุ๋ย ขณะเดียวกันก็ช่วยระบายความชื้น การกลับพื้นคอกวัวทำจนครบ 3-4 เดือน ก็จะใช้รถแมคโครตักปุ๋ยหมักที่มีทั้งขี้วัว ฉี่วัวและวัสดุรองพื้น ออกจากหลุมได้ประมาณ 200-300 ตัน แล้วจึงนำวัสดุรองพื้นชุดใหม่ใส่ลงไป สำหรับปุ๋ยหมักที่ได้จากการเลี้ยงวัวหลุม ทางชุมนุมฯจะจำหน่ายให้กับเกษตรกรทั่วไปได้นำไปใช้ในการปลูกพืช

                 “ข้อดีของการเลี้ยงโคนมในระบบชีวภาพนั้น นอกจากจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังประหยัดแรงงานและพลังงานในการทำความสะอาดคอก และสามารถจัดการฟาร์ม เช่น ฉีดวัคซีน ติดเบอร์หู ถ่ายพยาธิ ได้สะดวกและง่าย เนื่องจากเลี้ยงอยู่ในพื้นที่ เมื่อมีแดดออกหรือฝนตก วัวจะลงไปอยู่ในหลุม และหากวันไหนอากาศเย็นสบาย วัวจะเดินขึ้นมาพักผ่อนอยู่บนลานดิน โคนมจึงเจริญเติบโตมีสุขภาพแข็งแรงและสะอาด”ผู้จัดการชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคใต้และตะวันตกกล่าวย้ำ

                 สำหรับชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคใต้และตะวันตก จำกัด มีพื้นที่ทั้งหมด 20 ไร่ แบ่งเป็นโรงเรือนเลี้ยงโคนม 4 หลัง โรงผลิตอาหารสัตว์ โรงงานแปรรูปนมพาสเจอร์ไรส์ มีอาคารสำนักงานและมีแปลงหญ้าเนเปียเพื่อเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ 60 ไร่ มีศูนย์กลางในการผลิตอาหารสัตว์ (Feed Center) ปัจจุบันการดำเนินโครงการธนาคารโคนมทดแทนฝูงและการเลี้ยงวัวนมในระบบชีวภาพของชุมนุมสหกรณ์ฯ ได้รับความสนใจจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในจังหวัดต่าง ๆ รวมถึงนักวิชาการ นิสิตนักศึกษาเดินทางมาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง

                  อย่างไรก็ตามทางชุมนุมสหกรณ์ฯจึงได้เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ ด้านการเลี้ยงวัวหลุม และศูนย์เรียนรู้ธนาคารโคนมทดแทนฝูง และยังเปิดพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความรู้ด้านโคนม เช่น การประกวดโคนม งานจัดกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม นับเป็นต้นแบบของชุมนุมสหกรณ์โคนมระดับภาค ที่มีบทบาทในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับขบวนการสหกรณ์โคนมไทย

 

     ข้อดี 5 ประการในการเลี้ยง“วัวหลุม”

1.ประหยัดค่าใช้จ่ายแรงงาน /พลังงาน/ค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาด

2.ลดมลภาวะทางกลิ่น น้ำเสียและแมลงวันรบกวน

3.โคเจริญเติบโตดีและมีสุขภาพแข็งแรง

4.จัดการฟาร์มหรือจับบังคับโคง่าย

5.มีผลพลอยได้จากการขายปุ๋ยชีวภาพอย่างสม่ำเสมอ

       ข้อควรระวังในการเลี้ยง“วัวหลุม” 

1.ขนาดพื้นที่ควรไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้

2.วัวที่เลี้ยงในหลุมควรมีประตูทางขึ้นเพื่อให้วัวสามารถเดินขึ้นมาเดินเล่นบนลานดินได้เพื่อความแข็งแรงของพื้นกีบและข้อขา และได้รับแสงอุลตราไวโอเลตในแสงแดด

3.ระมัดระวังพื้นคอกไม่ให้แฉะหรือมีความชื้นมากเกินไป

4.วัสดุรองพื้นสามารถดูดซับความชื้นได้ดี ปัจจุบันใช้ขุยมะพร้าวดีที่สุด

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ