ข่าว

 ผนึกวว.เพิ่มมูลค่า "สินค้าสหกรณ์"จากอัตลักษณ์ชุมชน 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ผนึกวว.เพิ่มมูลค่า "สินค้าสหกรณ์" มุ่งสร้างผลิตภัณฑ์จากอัตลักษณ์ชุมชน 

 

               หลังประสบความสำเร็จในการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์กับ “ทีเส็บ” หรือสสปน. โดยเปิดโอกาสให้ขบวนการสหกรณ์ได้เข้ามาเรียนรู้การท่องเที่ยวสร้างสรรค์ในชุมชนตามที่รัฐบาลวางไว้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับขบวนการสหกรณ์ตามโครงการ “1 อำเภอ 1 สหกรณ์การเกษตร” ล่าสุดได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) อีกครั้งกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าไปสู่ความยั่งยืน 

 

                “หน่วยงานแรกที่เราจะทำเอ็มโอยู ก็คือ ทีเส็บ หรือ สสปน. วันนี้ก็เป็นหน่วยงานที่สองที่เราได้ทำเอ็มโอยูร่วมกัน มีหลายเรื่องที่วว.เป็นผู้วิจัยและพัฒนาได้อย่างดีเยี่ยม มีหลากหลายผลิตภัณฑ์ หลากหลายสินค้าที่ต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าได้เป็นอย่างดี เป็นการยกระดับสหกรณ์การเกษตรของเราให้สามารถช่วยพี่น้องเกษตรกรและสมาชิกได้ ปัจจุบันนี้เราทำมาก็ขายวัตถุดิบ คือทำเท่าไหร่ก็ไปไม่รอด ไม่มีทางไปรอดในสภาวะปัจจุบันนี้ ทำเท่าไหร่ก็ขาดทุน ถ้าหากสหกรณ์จะเป็นตัวกลางในการยกระดับสินค้าให้พี่น้องเกษตรกร เชื่อว่าถึงวันนั้นสินค้าที่เราผลิตออกมาจะมีมูลค่าที่สูง ตลาดต้องการ นี่คือเป้าหมายที่อยากจะเห็น”

                 พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวตอนหนึ่งภายหลังการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างกรมส่งสเริมสหกรณ์กับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เพื่อดำเนินโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาสินค้าสหกรณ์สะท้อนอัตลักษณ์ชุมชนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำความรู้และงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการคิด การออกแบบ และการผลิตสินค้าสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้มีคุณภาพ มีความโดดเด่น สะท้อนอัตลักษณ์ของวิถีชุมชนสหกรณ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นที่น่าจดจำของผู้บริโภค

                โดยจะเน้นสินค้าหลักของสหกรณ์ ได้แก่ ข้าว ผลไม้ นมและยางพารา เบื้องต้นมีการจัดอบรมถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการผลิตและแปรรูปข้าวให้ตัวแทนสหกรณ์ผู้ผลิตข้าว 42 แห่ง เพื่อให้มีแนวคิดในการนำข้าวมาเป็นวัตถุดิบผลิตสินค้าทั้งอาหารแปรรูป เครื่องสำอาง น้ำนมข้าว ควบคู่กับการพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์สินค้าข้าวของสหกรณ์ให้มีความโดดเด่นและสามารถบอกเล่าเรื่องราวและแหล่งที่มาของข้าวแต่ละชนิดได้อย่างน่าสนใจ

                อย่างไรก็ตามความร่วมมือกันในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับธุรกิจสหกรณ์ ตามโครงการ 1 อำเภอ 1 สหกรณ์การเกษตร เพื่อให้สหกรณ์การเกษตรสามารถบริหารจัดการผลผลิตของสมาชิกได้ ทั้งในด้านรวบรวม การแปรรูป การยกระดับคุณภาพและเพิ่มมูลค่าสินค้า ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีองค์ความรู้ในแต่ละด้านเข้ามาถ่ายทอด องค์ความรู้ให้แก่สหกรณ์ ที่ผ่านมาได้เข้าไปหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเห็นว่าหน่วยงานเหล่านี้จะเข้ามาช่วยพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ของสหกรณ์ได้ กรมจึงได้แบ่งกลุ่มสินค้าหลักของสหกรณ์ เป็นสินค้าข้าว ผักผลไม้ ข้าวโพด มันสำปะหลัง นม เนื้อ สินค้าประมง และจะจัดอบรมเพื่อพัฒนาสินค้าสหกรณ์แต่ละชนิด คาดว่าไม่เกิน 5–6 เดือน น่าจะได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาและจะมีการทดลองทำตลาด ถ้าเป็นที่สนใจของผู้บริโภคสหกรณ์ก็จะพัฒนาต่อ หากสหกรณ์ใดสนใจจะพัฒนาสามารถติดต่อแจ้งที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัดเพื่อจะได้ประสานหน่วยงานต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือ

                ด้าน ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวยืนยันว่า วว.มีเทคโนโลยีพร้อมใช้หลายรูปแบบทั้งเรื่องการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การยืดอายุสินค้า โดยเฉพาะเทคโนโลยีในการแปรรูปข้าวที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งในระดับต้นน้ำต้องดูตั้งแต่เรื่องปุ๋ย ระดับกลางน้ำ พัฒนากระบวนการผลิตและการแปรรูป ส่วนปลายน้ำต้องพัฒนาเรื่องบรรจุภัณฑ์เพื่อช่วยยืดอายุสินค้าเนื่องจากผลผลิตการเกษตร หากแปรรูปแล้วเก็บไว้ได้ไม่นานก็จะทำให้เกิดความสูญเสียมาก ซึ่งวว.มีเทคโนโลยีในเรื่องของการแปรรูปและยืดอายุสินค้าการเกษตรและพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อช่วยส่งเสริมการขายด้วย

                “สิ่งที่ทางวว.ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ คือเรามีเทคโนโลยีที่พร้อมใช้งานสามารถนำไปประยุกต์และปรับเปลี่ยนโฉมของสินค้าของกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าทางการเกษตร ปัจจุบันวว.มีโรงงานและได้ขยายกำลังผลิต สามารถแปรรูปข้าวเป็นน้ำนมข้าวและสามารถขอการรับรองจาก อย. เรียบร้อยแล้ว ถ้าสหกรณ์สนใจนำข้าวมาแปรรูปมาเป็นน้ำนมข้าว ก็สามารถผลิตเป็นนมกล่องแล้วนำออกไปจำหน่ายวางขายในตลาดได้ทันที"

                อย่างไรก็ตามสำหรับโรงงานของทางวว.นั้น จะอยู่ในกลุ่มของ Food Innopolis หรือเมืองนวัตกรรมอาหาร ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สามารถผลิตและ นำออกไปจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ทันที ส่วนงานวิจัยที่เกี่ยวกับการแปรรูปข้าวนั้นมีหลากหลายไม่ว่าจะแปรรูปเป็นอาหาร เป็นข้าวที่เพิ่มมูลค่า เช่น Energy Bar หรือเป็นสินค้าที่เป็นข้าวสำหรับผู้สูงอายุ หรือจะผลิตเป็นข้าวผง มีการเติมวิตามินที่เพิ่มคุณค่ามากกว่าเป็นข้าวเปล่าๆ 

                  นอกจากนั้นแล้วยังทำเป็นเครื่องดื่มและเครื่องสำอาง สนองนโยบายรัฐบาล คือ ทำอย่างไรให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม และเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เพราะสินค้าเกษตรทุกปีจะมีปัญหาเรื่องผลผลิตมากกว่าความต้องการของตลาด ดังนั้นการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์และการแปรรูปก็จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตทางการเกษตรได้เป็นอย่างดี

                                              

 

 ติวเข้มสมาชิกสหกรณ์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

                สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการ "พัฒนาสินค้าสหกรณ์สะท้อนอัตลักษณ์ชุมชน ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม” ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ 2562 นั้น ถือเป็นการเปิดโอกาสให้แกนนำและสมาชิกสหกรณ์จากทั่วประเทศได้เรียนรู้ร่วมกันในการพัฒนาต่อยอดตลอดจนการค้นหาวิธีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของสหกรณ์ 

                นิภา ไพโรจน์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรบรรพตพิสัย จำกัด ใน ต.ท่างิ้ว อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ หนึ่งในสมาชิกสหกรณ์ที่เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้บอกว่าเป็นโครงการที่ดีมาก ผู้เข้าร่วมอบรมได้แนวคิดใหม่ๆ มากมายที่จะนำไปพัฒนาต่อยอดสินค้าของสหกรณ์ โดยสหกรณ์ของตนเองนั้นปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ประมาณ 2,150 ราย ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาปลูกข้าวพันธุ์กข.43 และกล้วย ซึ่งที่ผ่านมาสหกรณ์จะรับซื้อผลผลิตจากสมาชิกแล้วนำมาแปรรูปแบบง่ายๆ ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการผลิต ซึ่งไม่ต่างไปจากที่อื่นๆ

                “อย่างเช่นข้าว สหกรณ์จะรับซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิกแล้วนำมาสีเป็นข้าวสารบรรจุถุงขาย ขายถุงละ 1 กิโลบ้าง 5 กิโลบ้าง ส่วนกล้วยก็จะนำมาแปรรูปเป็นกล้วยตากบ้าง กล้วยอบแห้งบ้าง ขึ้นอยู่กับว่าออเดอร์ต้องการอะไร แต่ที่เป็นปัญหาสินค้าของเราก็ไม่ได้แตกต่างจากที่อื่นทำให้มีตลาดด้านการตลาดพอสมควร จึงอยากหาช่องทางแปรรูปที่เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ใช้วัตถุดิบจากข้าวและกล้วย”

               นิภายอมรับว่าหลังจากการอบรมจึงได้แนวคิดที่จะผลิตอาหารผงสำหรับผู้สูงวัย เด็กและผู้ป่วย โดยใช้ข้าวพันธุ์ กข.43 และกล้วยเป็นส่วนผสม ซึ่งทางวว.ยินดีให้การสนับสนุนทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีและกระบวนการผลิต อย่างน้อยก็จะเป็นอีกช่องทางสำหรับการทำตลาดสินค้าของสหกรณ์ โดยปัจจุบันมีสมาชิกมีอาชีพทำนาจำนวน 140 กว่าราย โดยสหกรณ์รับซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิกในฤดูการผลิตปีนี้อยู่ที่ประมาณ 78 ตัน ส่วนสมาชิกที่ปลูกกล้วยมีจำนวน 63 รายบนเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่

               เช่นเดียวกับสหกรณ์ข้าวอินทรีย์ทัพไทย จำกัด แห่ง ต.ทมอ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ที่เน้นการผลิตข้าวอินทรีย์ ซึ่งมีทั้งข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวหอมนิลและข้าวไรซ์เบอร์รี่ โดยมี ลำไย ฉวีทอง เป็นประธานสหกรณ์ และมีโอกาสเข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ด้วย ลำไยบอกว่ารู้สึกยินดีมากๆ ที่มีโอกาสเข้าร่วมอบรมครั้งนี้ เพราะได้แนวคิดได้มุมมองมากมายที่จะนำไปต่อยอดผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ของสหกรณ์ ซึ่งทุกวันนี้สหกรณ์ก็ผลิตข้าวสารอินทรีย์บรรจุถุงส่งโรงแรม โรงพยาบาลทั้งที่กรุงเทพฯ และในพื้นที่ จ.สุรินทร์และจังหวัดใกล้เคียงอยู่แล้วในรูปแบบของข้าวสารบรรจุถุงเพื่อจำหน่ายถุงละ 1 กิโลกรัม สำหรับการจำหน่ายทั่วไป 5 กิโลกรัมสำหรับครอบครัว และ 25 กิโลกรัมสำหรับส่งโรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร ภายใต้แบรนด์ข้าวอินทรีย์ทัพไทย

                 “ขณะนี้สหกรณ์เรามีสมาชิกจำนวน 230 ราย การเพิ่มสมาชิกทำได้ไม่มาก แต่จะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะจะต้องมั่นใจว่าผลผลิตที่ได้เป็นอินทรีย์ 100% เราจะไม่เน้นเพิ่มสมาชิกหรือขยายพื้นที่มากๆ เพราะเป็นสิ่งที่ทำได้ยากในเวลาอันสั้น แต่จะมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มากกว่า ซึ่งการเข้าร่วมอบรมครั้งนี้ถือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมากสำหรับการนำแนวคิดมาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ของสหกรณ์” ประธานสหกรณ์ข้าวอินทรีย์ทัพไทยกล่าวย้ำ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ