ข่าว

ม.ก.นำร่องทดสอบไบโอดีเซล "บี 10"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ม.ก.นำร่องทดสอบไบโอดีเซล "บี 10"สนองรัฐลดมลภาวะ-ช่วยชาวสวนปาล์ม

 

             “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ตระหนักเรื่องพลังงานทดแทน เราคำนึงถึงเชื้อเพลิงทั้งหมดในประทศที่เรานำเข้าปีละมหาศาล ถ้าเราสามารถเอาน้ำมันปาล์มหรือน้ำมันไบโอดีเซลต่างๆ มาแทน จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติอย่างมาก เรายินดีที่จะนำน้ำมัน บี 10 ที่เอ็มเทคได้ศึกษาวิจัยมาทดลองใช้กับรถของมหาวิทยาลัยทั้งหมด ซึ่งเป็นรถบรรทุกหนัก 100 กว่าคัน  เพราะถ้าเราสามารถพัฒนาน้ำมัน บี 10 ให้คนเชื่อถือใช้กับรถแล้วไม่รวน ทำให้รถเกิดประสิทธิภาพสูงสุดแล้วก็ไม่ทำลายมลภาวะ ก็จะเป็นการผลักดันให้ประชาชนหันมาใช้มากขึ้น”

ม.ก.นำร่องทดสอบไบโอดีเซล "บี 10"

              ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหารกิจการภายใน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ม.ก.) เผยเป้าหมายการลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการนำร่องร่วมทดสอบการใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี 10 ภายใต้โครงการสนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซลให้สูงขึ้น ระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ระหว่างนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมศูนย์ซ่อมบำรุงยานพาหนะและเป็นสถานที่สำหรับเติมน้ำมันรถยนต์ส่วนกลางและรถโดยสารสวัสดิการม.ก. 

              ทั้งนี้เพื่อร่วมกันประเมินการใช้ บี 10 จากไบโอดีเซลที่ได้รับการเพิ่มคุณภาพแล้วจริงในภาคสนาม ก่อนการผลักดันให้เกิดการใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี 10 เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกอย่างเป็นรูปธรรมและยังสอดคล้องกับโครงการมหาวิทยาลัยสีเขียวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สร้างความตระหนักการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในมหาวิทยาลัยและลดมลพิษที่เกิดจากการเดินรถโดยสารภายในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะฝุ่นจิ๋วพีเอ็ม 2.5 นอกจากนี้ยังเป็นการทำงานอย่างต่อเนื่องกับโครงการทดสอบการใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี 10 ในรถเก่าของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปี 2561 ด้วย

              ขณะที่ ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือเอ็มเทค ปฏิบัติการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ได้ดำเนินการขยายผลกระบวนการเพิ่มคุณภาพไบโอดีเซลเอชเฟม (H-FAME) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่จากงานวิจัยเพื่อเพิ่มคุณภาพการเผาไหม้ให้ดีขึ้น โดยผลิตเอช-เฟม เพื่อผสมในดีเซลในสัดส่วนร้อยละ 10 สำหรับการนำร่องใช้งานกับยานยนต์หลากหลายประเภทกว่า 80 คันในหน่วยงานราชการ 

ม.ก.นำร่องทดสอบไบโอดีเซล "บี 10"

                “จริงๆ แล้วเราเคยได้ยินน้ำมันไบโอดีเซลที่ีมีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มอยู่แล้ว แต่เทคนิคที่ทางเอ็มเทคพัฒนาขึ้นมาที่เรียกว่าเอช-เฟม ซึ่งเป็นเทคโนโลยีอันหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มการเผาไหม้ให้มีความเสถียรสูงขึ้นเรื่อยๆ นี่เป็นหัวใจหลัก เมื่อเราทำได้มาแล้วเพื่อที่จะขานรับเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนให้สูงขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกที่ีมีศักยภาพตัวหนึ่งในการพัฒนา บี 10 ภายใต้โครงการนำร่องตัวนี้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน  โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนจะสนับสนุนน้ำมัน 3,000 ลิตรต่อเดือน”

                 ผอ.เอ็มเทคย้ำด้วยว่าจากความร่วมมือในครั้งนี้ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะร่วมกันติดตามการใช้งานของยานพาหนะด้วยน้ำมัน บี 10 อย่างใกล้ชิด เพื่อประมวลผลการใช้งานซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มความมั่นใจให้ผู้บริโภคในการใช้เชื้อเพลิง บี 10 ตามที่มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2558 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 ที่ตั้งเป้าหมายสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนร้อยละ 30 ในปี 2579 ซึ่งในส่วนภาคขนส่งมีการตั้งเป้าหมายการใช้ไบโอดีเซลจำนวน 14 ล้านลิตรต่อวัน และครั้งล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 ได้มีมติเห็นชอบให้มีการใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี 10 เป็นทางเลือกด้วย 

ม.ก.นำร่องทดสอบไบโอดีเซล "บี 10"

              ด้าน  สมชาย สถากุลเจริญ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวถึงการให้การสนับสนุนโครงการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซลให้สูงขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานประจำปี 2560 จำนวน 10 ล้านบาทเพื่อดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่จะส่งเสริมให้การใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี 10 เป็นทางเลือก ซึ่งที่ผ่านมากรมมีการดำเนินงานแล้วเสร็จในส่วนของการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มคุณภาพไบโอดีเซล (เอช-เฟม) ในระดับโรงงานสาธิต ตลอดจนได้ทดสอบการใช้งานในรถกระบะ จำนวน 8 คัน ระยะทางกว่า 80,000 กิโลเมตรและพร้อมนำร่องใช้ บี 10 ภาคสนาม โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 1 แสนลิตร เพื่อร่วมขับเคลื่อนแนวทางการใช้ไบโอดีเซลผสมในสัดส่วนที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการน้ำเข้าน้ำมันดิบ ตลอดจนช่วยเกษตรกรชาวสวนปาล์มในประเทศในการเพิ่มอุปสงค์การใช้น้ำมันปาล์มเพื่อผลิตเป็นไบโอดีเซลตามแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงริเริ่มไว้กว่า 30 ปีที่แล้วรวมถึงการลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก 

                  “ต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ที่ให้การสนับสนุนนำรถยนต์มาทดลองใช้จริงในภาคสนาม เรามีเป้าหมายอยู่ที่ 1 แสนกิโลเมตร ตอนนี้ได้มา 8 หมื่นกว่าแล้ว คือพยายามทดลองใช้จริงให้เหมือนกับบริษัทต่างๆ  ที่เขาขายรถยนต์ จะมีการรับประกันอยู่ที่ 1 แสนกิโลเมตร หรือ 3 ปี อย่างใดอย่างหนึ่งจะมาถึงก่อน”

                 ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพเผยอีกว่า ในเบื้องต้นผลการทดลองในห้องแล็บออกมาแล้ว แต่ยังรอผลการทดลองใช้จริงในภาคสนามเพื่อนำมาเปรียบเทียบและใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเชิงนโยบายกับกระทรวงพลังงานว่าในอนาคตอาจมีการปรับใช้น้ำมันไบโอดีเซลให้มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นกว่าปัจจุบัน  โดยปัจจุบันน้ำมันดีเซลทุกยี่ห้อก็มีส่วนผสมไบโอดีเซลเป็นพื้นฐานอยู่แล้วอย่างน้อย 7 เปอร์เซ็นต์ หรือที่เรียกว่าบี 7 เพียงแต่ไม่มีการพูดถึง แต่จะรับรู้กันในนามน้ำมันดีเซล

                   “โครงการนี้จะสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคมปีนี้ (2562) จากนั้นก็จะเอาข้อมูลมาดูกันว่าจะเดินหน้ากันต่อไปอย่างไร แต่อย่างน้อยจะสามารถช่วยเกษตรกรชาวสวนปาล์มลืมตาอ้าปากได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับปัจจุบันที่ีปัญหาผลผลิตปาล์มล้นตลาด แล้วยังมีผลในเรื่องการลดมลภาวะ ลดฝุ่น ลดสารไฮโดรคาร์บอนและสารคาร์บอนมอนออกไซน์ลงด้วย” สมชาย กล่าวทิ้งท้าย 

                                                   

 สภาเกษตรกรฯ หนุนใช้น้ำมัน บี 100 ตามรอยเท้าพ่อ

               สิทธิพร จริยพงศ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวถึงสถานการณ์ปาล์มน้ำมันปัจจุบันว่ายังไม่ดีขึ้นเกษตรกรขายปาล์มได้ในราคา 2.8–3 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าทุน ราคาน้ำมันปาล์มดิบไม่สามารถส่งออกไปตลาดต่างประเทศได้ เพราะราคาน้ำมันปาล์มของประเทศผู้ผลิตสำคัญของโลกอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียก็ตกต่ำเช่นกัน การใช้ปาล์มในประเทศไทยต้องมีแผนการใช้ภายในประเทศทั้งการบริโภค การผลิตไบโอดีเซล และสต็อกน้ำมันปาล์ม แล้วนำมากำหนดเสถียรภาพราคาภายในประเทศให้เกษตรกรขายปาล์มคุณภาพในราคากิโลกรัมละ 4 บาท

                ส่วนราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ก็ขยับราคา 18–20 บาท ปาล์มจะอยู่ได้ตลอดทุกวงจร เกษตรกร โรงงานสกัดน้ำมันดิบ โรงงานแปรรูปอยู่ได้หมด การขยับจากบี 7 เป็น บี 10 บี 20 บี 100 เพื่อให้เป็นทางเลือกผู้ใช้น้ำมันปาล์มที่ผลิตภายในประเทศจะไม่เพียงพออย่างแน่นอนขอยืนยัน แต่ต้องแยกประเภทการใช้ บี 10 เหมาะกับการใช้ในรถรุ่นใหม่ รถเล็ก รถที่ใช้หัวฉีดคอมมอนเรล บี 20 รถคันใหญ่ บี 100 เครื่องจักรกลหนักใหญ่ เช่น เรือข้ามฟาก เรือเดินทะเล รถแบ็กโฮ รถแทรกเตอร์"

                 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สภาเกษตรกรแห่งชาติโดยนายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานคณะกรรมการด้านปาล์มน้ำมันและพืชพลังงาน สภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้เคลื่อนไหวการรณรงค์ใช้น้ำมัน บี 100 อยู่ ด้วยการจัดโครงการ “รณรงค์การใช้น้ำมันไบโอดีเซลคาราวาน บี 100 ตามรอยเท้าพ่อ” โดยจัดขบวนรถคาราวาน บี 100 วิ่งจากจังหวัดกระบี่ ปล่อยขบวนรถวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ณ หน้าสถาบันพลศึกษา วิทยาเขตกระบี่ เข้าสู่กรุงเทพฯ ณ ท้องสนามหลวง วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2562 และการสัมมนา “แนวทางการขับเคลื่อนการใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี 100 ตามรอยเท้าพ่อ เพื่อแก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันของเกษตรกร” ณ โรงแรมเอสดี อเวนิว ถนนบรมราชชนนี เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการปรับโครงสร้างการผลิตและปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พืชพลังงานเป็นพลังงานทางเลือก รวมทั้งเพื่อสร้างความเข้าใจในการใช้ปาล์มน้ำมันมาผลิตเป็นไบโอดีเซล บี 100

                  “คณะกรรมการด้านปาล์มน้ำมันและพืชพลังงานได้น้อมนำพระราชดำริเรื่องการพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อช่วยบรรเทาภาระของประเทศในยามวิกฤติในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เพื่อแก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันของเกษตรกร และเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาการแปรรูปผลผลิตปาล์มน้ำมันเป็นพลังงานทางเลือกไบโอดีเซล บี 100 ตามพระราชประสงค์ เพื่อพัฒนาปาล์มน้ำมันของประเทศไทยให้มีทางเลือกในการใช้และมีปริมาณการผลิตที่สมดุลเพียงพอต่อความต้องการของประเทศ ทั้งด้านอาหารและพลังงานอย่างยั่งยืนต่อไป” สิทธิพร กล่าวปิดท้าย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ