ข่าว

เกษตร&ธรรมชาติปลอดภัย สูตรสำเร็จสู่"แม่แจ่ม"ยั่งยืน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เกษตร&ธรรมชาติปลอดภัย สูตรสำเร็จสู่"แม่แจ่ม"ยั่งยืน

 

 

หากย้อนไปเกือบ 10 ปีที่แล้ว​ พื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ได้ชื่อว่าเป็นจุดฮอตสปอต มีการบุกรุกพื้นที่ป่าเผาทำลายเพื่อทำไร่ข้าวโพด ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านที่นี่ ทว่าปัจจุบันกลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกับชาวบ้าน ภายใต้การสนับสนุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด) จัดทำโครงการเกษตรธรรมชาติปลอดภัยแม่แจ่ม หรือแม่แจ่มโมเดล พร้อมร่วมจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติปลอดภัยแม่ปาน-สันเกี๋ยง เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน 

 เกษตร&ธรรมชาติปลอดภัย สูตรสำเร็จสู่"แม่แจ่ม"ยั่งยืน

กว่า 5 ปีที่ดำเนินโครงการจนเห็นผลความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมาจากความสามัคคี ความเข้มแข็งของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ และสมาชิกในชุมชน ขับเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ยั่งยืน และเพื่อเป็นการสร้างโมเดลตัวอย่าง “สูตรสำเร็จ ต้นแบบชุมชนยั่งยืน” เป็นศูนย์กลางแหล่งเรียนรู้ด้านการสร้างอาชีพที่ยั่งยืน ให้แก่ชุมชนบ้านแม่ปาน-สันเกี๋ยง และชุมชนอื่นๆ ได้เข้ามาศึกษา เรียนรู้ สถานที่จริง วิธีปฏิบัติจริง พร้อมนำไปปรับใช้ และพัฒนาชุมชนของตนเอง หรือที่เราเรียกว่า “PowerPoint มีชีวิต"

​ความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ไม่ว่าจะเป็น โครงการธรรมชาติปลอดภัยแม่แจ่ม ตลาดชุมชน และโรงแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชน ของ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติปลอดภัยแม่ปาน-สันเกี๋ยง”, กลุ่มไม้ผล, กลุ่มทอผ้า, กลุ่มท่องเที่ยว, อาคารแปรรูปเนื้อสุกร, จุดจำหน่ายสินค้าผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ ของชุมชน เป็นต้น ถือเป็นผลสำเร็จในระดับหนึ่ง เป็นความภาคภูมิใจของทุกคนในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ และชุมชน

 เกษตร&ธรรมชาติปลอดภัย สูตรสำเร็จสู่"แม่แจ่ม"ยั่งยืน

ทว่าความสำเร็จจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเราไม่ได้แก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ เพราะน้ำคือชีวิต คือจุดกำเนิดของทุกสิ่งในวิสาหกิจชุมชน การสร้างฝายชะลอน้ำ “ฝายมีชีวิต” ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีแก้ไขปัญหาและดูแลแหล่งน้ำ เพราะการสร้างฝายชะลอน้ำ ก็เพื่อบริหารจัดการน้ำใช้ทางการเกษตร ใช้ทำการเกษตรบริเวณใกล้เคียงได้ตลอดทั้งปี เป็นการยกระดับน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ชะลอน้ำมิให้กระแสน้ำไหลหลาก ลดความรุนแรงของการกัดเซาะ ช่วยดักตะกอนแม่น้ำ ทำให้น้ำหลังฝายตื้นเขินช้าลง เก็บกักน้ำ สร้างความชุ่มชื้นในบริเวณฝายและพื้นที่เหนือฝาย เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ เป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นแหล่งอาหารของชาวบ้าน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนอำเภอแม่แจ่มกว่า 400 ครัวเรือน ที่สำคัญเป็นการดูแลรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของ อ.แม่แจ่ม

“โครงการธรรมชาติปลอดภัยแม่แจ่ม : แม่ปาน-สันเกี๋ยงโมเดล ได้ก้าวข้ามผ่านจุดที่ยากที่สุดไปอีกขั้นหนึ่ง และสามารถสร้างจุดเปลี่ยนในวิถีชุมชน จากชุมชนที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวตามฤดูกาล มาเป็นชุมชนที่สามารถปลูกพืชผสมผสาน หมุนเวียน ไม้ผล ไม้ยืนต้นต่างๆ ที่เป็นไม้เศรษฐกิจ รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งยังสร้างอาชีพนอกจากการเกษตร ได้แก่ กลุ่มหัตถกรรมทอผ้าซิ่นตีนจก ที่สำคัญไปกว่านั้นคือการพัฒนาชุมชนให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ส่งผลให้เป็นชุมชนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”

ผศ.ดร.สมเกียรติ ชัยพิบูลย์ คณบดีคณะสารสนเทศและการสื่อสารมหาวิทยาลัยแม่โจ้ หัวหน้าทีมนักวิจัยกล่าวในวงเสวนาหัวข้อ “สูตรสำเร็จต้นแบบชุมชนยั่งยืน” กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติปลอดภัยแม่แจ่ม: แม่ปาน-สันเกี๋ยง โดยเป็นนักวิชาการคนแรกๆ ที่ได้เข้ามาศึกษาสัมผัสและวิจัยสภาพชีวิต เศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของชาวบ้านในอำเภอแม่แจ่มเมื่อปี 2555 โดยมุ่งเป้าไปที่อาชีพ รายได้ และสภาพพื้นที่ทางธรรมชาติ ภายใต้โครงการเกษตรธรรมชาติปลอดภัยแม่แจ่ม โดยมีภาคเอกชนอย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนและให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง

 เกษตร&ธรรมชาติปลอดภัย สูตรสำเร็จสู่"แม่แจ่ม"ยั่งยืน

ผศ.ดร.สมเกียรติ เผยต่อว่า จากการที่เราได้น้อมนำศาสตร์พระราชา จากการระเบิดจากข้างใน “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” มาดำเนินงานร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ คือ “การเข้าใจ” ในวิถีชีวิตชุมชน “การเข้าถึง” ความต้องการที่แท้จริงของชุมชน และ “การพัฒนา” ตามความต้องการที่แท้จริงของชุมชน บนรากฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน จากการมีส่วนร่วมและความเข้มแข็งของสมาชิกในชุมชน จึงเกิดแรงขับเคลื่อนที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ส่งผลให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติปลอดภัยแม่ปาน-สันเกี๋ยง ภายใต้โครงการธรรมชาติปลอดภัยแม่แจ่ม : แม่ปาน-สันเกี๋ยง โมเดล กลายเป็นชุมชนต้นแบบความสำเร็จแบบยั่งยืนให้แก่ชุมชนอื่นๆ ได้มาศึกษาและเรียนรู้ ที่เราเรียกว่า “สูตรสำเร็จ ต้นแบบชุมชนยั่งยืน” หรือ “PowerPoint มีชีวิต”

 บุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ นายอำเภอแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงลักษณะปัญหาของพื้นที่บ้านแม่ปานและบ้านดอยสันเกี๋ยงว่าเป็นปัญหาร่วมของคนอำเภอแม่แจ่มทุกคน นั่นก็คือการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เราจึงคิดว่าทำอย่างไรถึงจะปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นปลูกพืชผสมผสานที่มีความยั่งยืนมากกว่า จากการที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และโครงการธรรมชาติปลอดภัย เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เข้ามาสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรบนพื้นที่สูง (บ่อพวงสันเขา) ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะน้ำคือ จุดกำเนิดของทุกสิ่งในวิสาหกิจชุมชนฯ แห่งนี้ ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง 

 เกษตร&ธรรมชาติปลอดภัย สูตรสำเร็จสู่"แม่แจ่ม"ยั่งยืน

“จากเดิมที่ชาวบ้านทำการเกษตรได้ปีละ 1 ครั้งตามฤดูกาล หลังจากที่มีการวางระบบเรื่องน้ำ ก็ทำให้เกษตรกรในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม สามารถทำการเกษตรในพื้นที่สูงได้ตลอดทั้งปี ความเป็นอยู่ของชุมชนก็ดีขึ้น มีรายได้ มีอาชีพผสมผสานเกิดขึ้น รวมถึงเกิดการดูแลรักษา และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ระบบนิเวศกลับมาอุดมสมบูรณ์ขึ้น ป่าไม้ ภูเขา น้ำ ไม่ได้เป็นสมบัติของคนแม่แจ่มเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นสมบัติของคนไทยทั้งชาติ เป็นความรับผิดชอบร่วมกัน สิ่งที่เราจะได้กลับมากกว่านั้นก็คือ สมบัติของชาติ ของส่วนรวม นั่นคือ ทรัพยากร น้ำและป่า”​ นายอำเภอแม่แจ่มกล่าวย้ำ

วิโรจน์ หมอกใหม่ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 17 บ้านดอยสันเกี๋ยง อ.แม่แจ่ม ย้ำว่าตอนแรกไม่เคยเชื่อมั่นในภาคเอกชน จนกระทั่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และโครงการธรรมชาติปลอดภัย เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนและให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง หาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาที่เกิดขึ้นภายในชุมชนร่วมกัน ซึ่งก็คือ น้ำ จากที่สองหน่วยงานเข้ามาช่วยให้คำแนะนำ ให้ความรู้ด้านวิชาการ สนับสนุนอุปกรณ์สร้าง วางระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรบนพื้นที่สูง (บ่อพวงสันเขา) และด้วยการรวมพลังสามัคคีของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติปลอดภัยแม่ปาน-สันเกี๋ยง กับคนในชุมชน ที่ช่วยกันสร้างและคิดหาแนวทางแก้ไขปัญหาตลอดช่วงการสร้างบ่อพวงสันเขา ทำให้เกิดการเรียนรู้ เกิดการพึ่งพาตนเองของคนในชุมชน นี่จึงเป็นจุดกำเนิด “โครงการธรรมชาติปลอดภัยแม่แจ่ม: แม่ปาน-สันเกี๋ยง โมเดล” ภายใต้การขับเคลื่อนของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติปลอดภัยแม่ปาน-สันเกี๋ยง และหน่วยงานที่สนับสนุน 

 เกษตร&ธรรมชาติปลอดภัย สูตรสำเร็จสู่"แม่แจ่ม"ยั่งยืน

“หลังจากที่เราแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำได้สำเร็จ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้เข้ามาช่วยให้ความรู้ด้านวิชาการ เรื่องการปลูกพืชผสมผสาน แทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งทำให้แม่แจ่มลดพื้นที่การปลูกข้าวโพดบนภูเขาลดลง และสามารถช่วยลดปัญหาหมอกควันการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากการทำไร่ข้าวโพด และยังเป็นการช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าอีกด้วย”

ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 17 ยอมรับว่าจากการเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และใช้พลังของคนในชุมชนฯ ขับเคลื่อนโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ จึงทำให้เกิดเป็นอาชีพที่หลากหลาย อาทิ ตลาดชุมชน, โรงแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชน (เนื้อสุกร), กลุ่มเลี้ยงสุกร, กลุ่มเลี้ยงไก่ไข่, กลุ่มทอผ้า, กลุ่มไม้ผล, กลุ่มท่องเที่ยว ฯลฯ เป็นต้น ทำให้เกิดรายได้ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะตนเองเชื่อว่าท้ายที่สุดคนในชุมชนต้องเข้มแข็งและสามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยตัวเอง จากการพึ่งพาตน

 

 

ด้าน สุเมธ ภิญโญสนิท ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด กล่าวรู้สึกยินดีกับความสำเร็จของ “โครงการธรรมชาติปลอดภัยแม่แจ่ม : แม่ปาน-สันเกี๋ยง โมเดล” และขอบคุณมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พี่น้องชุมชนบ้านแม่ปาน-สันเกี๋ยง ที่ผสานพลังร่วมกันแก้ไขปัญหา พัฒนาพื้นที่พัฒนาชุมชน สร้างอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืนจากการพึ่งพาตนเอง ผลที่ตามมาคือ ช่วยลดพื้นที่ในการปลูกพืชเชิงเดี่ยว หรือข้าวโพด ตลอดจนสามารถคืนพื้นที่ป่า ทำให้ระบบนิเวศกลับมาสมบูรณ์ขึ้นอีกครั้ง       

อย่างไรก็ตาม ​ความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในวันนี้ ได้แก่ โครงการธรรมชาติปลอดภัยแม่แจ่ม ตลาดชุมชนและโรงแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชน ของ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติปลอดภัยแม่ปาน-สันเกี๋ยง” และการสร้างฝายชะลอน้ำ “ฝายมีชีวิต” ถือเป็นผลสำเร็จในระดับหนึ่ง เป็นความภาคภูมิใจของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ และคนในชุมชนบ้านแม่ปาน-สันเกี๋ยงจะพัฒนาไม่หยุดยั้ง เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชุมชน และสร้างการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า ได้อย่างสมดุล  

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ