ข่าว

 ย้อนตำนาน"เกษตรแฟร์" แหล่งฝึกงาน นศ.ม.เกษตรฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ย้อนตำนาน"เกษตรแฟร์" "แหล่งฝึกงาน"นศ.ม.เกษตรฯ

 

               “หากย้อนไปเมื่อ 40-50 ปีที่แล้วงานเกษตรแฟร์คือสถานที่ฝึกงานชั้นดีของนักศึกษา ม.เกษตรฯ  เมื่อก่อนที่นี่มีการซื้อขายวัวควาย วันนี้วัวควายย้ายไปอยู่กำแพงแสนหมดแล้ว”

 ย้อนตำนาน"เกษตรแฟร์" แหล่งฝึกงาน นศ.ม.เกษตรฯ

 

              ดร.ดำรง ศรีพระราม รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายบริหารกิจการภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ม.ก.) ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2562 กล่าวติดตลกระหว่างแถลงข่าวการจัดงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2562  ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 มกราคม–2 กุมภาพันธ์ ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ภายใต้แนวคิด “เกษตรศาสตร์นำไทย นวัตกรรมก้าวไกล ใส่ใจสิ่งแวดล้อม”  โดยปีนี้มหาวิทยาลัยเน้นการนำเสนอผลงานวิจัย และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดจากนักวิจัยของมหาวิทยาลัยในสาขาต่างๆ เป็นกิจกรรมหลักเพื่อให้ประชาชน นิสิตนักศึกษา ได้มาเรียนรู้และเติมเต็มองค์ความรู้จากส่วนจัดแสดงต่างๆ โดยเฉพาะ นิทรรศการเสนอผลงานนวัตกรรมผลงานวิจัย ภายใต้แนวคิด “เทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาเศรษฐกิจไทย” ซึ่งจัดแสดงบนอาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ    

 ย้อนตำนาน"เกษตรแฟร์" แหล่งฝึกงาน นศ.ม.เกษตรฯ      

                "นวัตกรรมผลงานวิจัยปีนี้แบ่งออกเป็น 9 กลุ่ม รวม 97 ผลงาน เช่น กลุ่มเกษตรและการแปรรูป กลุ่มอาหาร กลุ่มสิ่งแวดล้อม กลุ่มเครื่องจักร เครื่องมือ เช่น ชุดปลูกเมล่อนระบบพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องอัดกระทงใบตอง นวัตกรรมถั่งเช่าสีทองเพื่ออุตสาหกรรมเครื่องสำอางและแพทย์ การพัฒนาแคปซูลเมล็ดไม้เพื่อการฟื้นฟูป่า นวัตกรรมการบำบัดของเสียสำหรับฟาร์มสัตว์เศรษฐกิจ ผ้าไหมย้อมคราม จีไอ นวัตกรรมพันธุ์ข้าวโพด เตาปิ้งย่างปลอดสารพิษ และระบบปัญญาประดิษฐ์ของกล้องวงจรปิด เป็นต้น ซึ่งข้อมูลผลงานทุกชิ้นสามารถดาวน์โหลดได้ในแอพพลิเคชั่น “Inside KU” ดร.ดำรงกล่าว และย้ำว่า

              งานเกษตรแฟร์ปีนี้ กิจกรรมจะย้อนไปสู่เมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว นอกจากจะเป็นการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมของอาจารย์และนักศึกษาแล้ว ทุกคนก็จะมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะการเปิดร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มของนักศึกษาคณะต่างๆ เช่น คณะเกษตรฯ มีร้านรวงข้าว     คณะประมงมีร้านประมงซีฟู้ด   เป็นต้น ซึ่งทุกเมนูเป็นฝีมือการปรุงของนักศึกษา โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะนำมาใช้ในการทำกิจกรรมของนักศึกษา

             “ปีนี้ทั้งนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยทุกคนจะมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบในกิจกรรมต่างๆ เช่นการดูแล จัดการจราจรภายในงาน การอำนวยความสะดวกแก่ผู้มาเที่ยวชมงาน ซึ่งจะมีศูนย์อำนวยการอยู่ตามจุดต่างๆ ทั่วบริเวณงาน”

                  

              ผศ.รัชด ชมภูนิช รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์และสื่อสารองค์กรและประธานฝ่ายตลาดนัดและสิทธิประโยชน์ กล่าวเสริมว่าถึงการปรับภาพลักษณ์ของการจัดงานปีนี้จะโดดเด่นและชัดเจนยิ่งขึ้น โดยได้ปรับรูปแบบตราสัญลักษณ์การจัดงานที่มีความทันสมัยและสื่อสารไปในทิศทางเดียวว่าให้สอดคล้องเหมาะสมกับที่ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ จึงใช้สัญลักษณ์ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” หมายถึง “น้ำ(สีฟ้า) ปลา(สีส้มและเขียวอ่อน) นา(สีเขียวเข้ม) ข้าวพืชผลและเมล็ดพันธ์ุสีเหลือง”         นอกจากนี้ยังได้จัดระบบบริหารร้านค้า “KU Privilege Card” ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้เข้ามาชมงานที่สอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตให้ทันสมัยในรูปของ Virtual Card และร้านค้าตามโซนต่างๆ กว่า 12 โซน ผ่านแอพพลิเคชั่น Inside KU ที่มีข้อมูลกิจกรรมต่างๆ ครบถ้วนภายในงานได้สะดวกรวดเร็ว ทุกที่ทุกเวลา ทั้งยังช่วยลดโลกร้อน โดยการนำถุงผ้า กระบอกน้ำ ใช้วัสดุย่อยสลายได้ด้วยมือของเราเอง 

               ดร.อารีย์ ธัญกิจจานุกิจ ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานด้านการส่งเสริมและการจัดการสิ่งแวดล้อม กล่าวเสริมว่า สำหรับกิจกรรมใส่ใจในสิ่งแวดล้อมและเส้นทางขยะตามจุดต่างๆ ภายในงานว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เห็นความสำคัญของการช่วยกันลดโลกร้อน ร่วมกันใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างง่ายๆ และให้เป็นกิจวัตรประจำวัน ลดการใช้ Single use plastic ร่วมกันคัดแยกขยะ ลดการใช้พลังงานและจัดการน้ำเสีย เพื่อลดมลพิษ ลดปริมาณขยะ และลดการใช้ทรัพยากร สะพายถุงผ้า งดโฟม ลดพลาสติก หันมาใช้แอพเดินเที่ยวงานเกษตรแฟร์ 

                 นอกจากนี้ยังมีจุดแชะ & แชร์ ปั่นจักรยานปั่นไฟ การวางจุดคัดแยกขยะเสมือนจริง การสาธิตการคัดแยกขยะ การแสดงผลิตภัณฑ์ดีไอวาย จากวัสดุเหลือใช้แล้ว การนำถ้วยไบโอ พลาสติก ที่ใช้แล้วสามารถนำมาเพาะกล้าเมล็ดพันธ์ุผักโดยภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรฯ ซึ่งใช้เมล็ดพันธุ์ผักดีจากศูนย์วิจัยพืชผักเขตร้อน คณะเกษตรฯ กำแพงแสน และยังนำนวัตกรรมเครื่องกรองน้ำดื่มคุณภาพให้บริการพร้อมแก้วไบโอพลาสติก เครื่องบีบขวดน้ำที่ดื่มแล้ว ผลิตภัณฑ์พลาสติกหลอมขึ้นรูปของสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตร และเครื่องผลิตกระทงใบตองจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน อีกด้วย

              ด้าน ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ย้ำว่าสำหรับการจัดงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2562  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำผลงาน นวัตกรรมจากงานวิจัย ซึ่งนักวิจัยได้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาในสาขาต่างๆ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนที่ร่วมงาน อันจะนำไปสู่การพิจารณานำไปใช้ ประยุกต์ใช้งานเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ หรือการต่อยอดในการประกอบอาชีพ

             “ปีนี้มหาวิทยาลัยได้ปรับภาพลักษณ์งานให้มีความทันสมัย และให้ช่วยกันส่งเสริมดูแลเอาใจใส่สิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ให้คิดค้นนวัตกรรม เช่น เครื่องบีบขวดน้ำที่ใช้แล้ว เครื่องกรองน้ำ ธนาคารขยะ แผ่นอัดจากวัสดุที่ใช้แล้วพร้อมที่จะนำไปสู่กระบวนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ หรือการให้ความรู้แก่เยาวชนและประชาชนที่มาเที่ยวงานใช้รถสาธารณะ นำถุงผ้า กระบอกน้ำมาด้วย ทั้งนี้อยากให้นิสิตมีส่วนร่วมและช่วยกันรณรงค์การทิ้งขยะ การคัดแยก การนำขยะที่คัดแยกแล้วไปทำประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เช่น นำไปทำน้ำหมัก ทำปุ๋ย เป็นต้น”

              อย่างไรก็ตามงานเกษตรแฟร์ในปีนี้ “ก้าวสู่ 4.0-ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” มหาวิทยาลัยขอเชิญชวนผู้มาเที่ยวงานนำกระเป๋าผ้า พกกระบอกน้ำ นำภาชนะมาจากบ้านใส่อาหารรับประทาน โดยทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดเตรียมจุดล้างภาชนะไว้รองรับอีกด้วย

                                                         

 

 จัดประกวดแข่งขัน “ผลผลิตการเกษตร-สัตว์เลี้ยง” 

           ม.เกษตรฯ ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมวิชาการเกษตร ขอเชิญเกษตรกรและผู้สนใจส่งผลไม้เข้าประกวดในวันศุกร์ที่ 25 มกราคม ณ ห้องโถงด้านล่าง อาคารจักรพันธ์ฯ เวลา 09.00-12.00 น. โดยจัดประกวดผลไม้ 18 ประเภท ได้แก่ ขนุน ไม่จำกัดพันธุ์ผลสุกพร้อมรับประทาน ชมพู่ทับทิมจันทร์ ฝรั่งพันธุ์กิมจู ฝรั่งมีเมล็ด ไม่จำกัดพันธุ์ กล้วยหอมทอง กล้วยไข่ กล้วยน้ำหว้า มะม่วงผลสุก ไม่จำกัดพันธุ์ มะม่วงดิบ ไม่จำกัดพันธุ์ มะละกอ ผลสุก ไม่จำกัดพันธุ์ ละมุด ผลสุกพร้อมรับประทาน ส้มโอเนื้อสีชมพู/แดง มีขั้วติด ส้มโอเนื้อขาว/เหลือง มีขั้วติด ส้มเปลือกล่อน มีขั้วติด ส้มแก้ว ผลโต มีขั้วติด องุ่นพันธุ์ไวมะละกา มีช่อติดกิ่ง องุ่นไร้เมล็ด มีช่อติดกิ่ง และมะพร้าวน้ำหอม

              ม.เกษตรฯ ร่วมกับชมรมผู้พัฒนาไม้ประดับ 2000 จัดประกวดแข่งขันพรรณไม้ประดับ ประกอบด้วย แก้วกาญจนา 9 ประเภท อาทิ แก้วกาญจนาเลื้อย(กอ) แก้วกาญจนาลูกผสมโคชิน ใบสีชมพู/แดง แก้วกาญจนาลูกผสมโพธิสัตว์/โพธิน้ำเงิน ใบสีชมพู/แดง เป็นต้น

              ดราซีน่า 12 ประเภท อาทิ จันทน์หอม-จันทน์แดงใต้ จันทน์ผา-จันทน์แดงอีสาน-เลือดมังกร จันทน์หอมจีน กลุ่มพญามังกรแคระ กลุ่มพญามังกรที่มีต้นหรือใบแปลก เป็นต้น

              แอนธูเรี่ยม (หน้าวัวใบ) 6 ประเภท อาทิ แอนธูเรี่ยมใบด่างเขียวกับขาว-เหลือง แอนธูเรี่ยมใบด่างเหลืองทั้งใบ แอนธูเรี่ยมใบด่างเขียวกับกลุ่มสีชมพู-ส้ม-แดง ผู้สนใจสามารถส่งเข้าประกวดวันที่ 26 มกราคม ณ อาคารจอดรถ ถนนงามวงศ์วาน

               ม.เกษตรฯ ร่วมกับสมาคมกล้วยไม้แห่งประเทศไทยในพระบรมชูปถัมภ์ ขอเชิญผู้สนใจเข้าชมและส่งกล้วยไม้เข้าประกวดในวันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม ณ อาคารจักรพันธ์ฯ เวลา 09.00-12.00 น. โดยแบ่งเป็น 9 ประเภท ได้แก่ แวนด้า คัทลียา หวายช้าง รองเท้านารี ฟาแลนนอสซีส ออนซีเดียม เป็นต้น

               คณะเกษตรฯ จัดประกวดกล้วยไม้ตัดดอก โดยแบ่งเป็น 6 หมวด ประกอบด้วย หมวดที่ 1 กล้วยไม้ตัดดอก 5 ช่อแบ่งเป็น 6 สกุล ได้แก่ สกุลหวาย สกุลมอลคาร่า สกุลแวนด้า สกุลออนซิเดียม และสกุลรีแนนเธอร่า  หมวดที่ 2 พวงมาลัยดอกกล้วยไม้ 2 ชุด ได้แก่ พวงมาลัยคล้องข้อมือและพวงมาลัยคล้องคอ หมวดที่ 3 จัดดอกไม้ในภาชนะ 2 ชุด ได้แก่ ภาชนะทรงสูงและภาชนะทรงแบน และหมวดที่ 4 ช่อกล้วยไม้แสดงความยินดีสำหรับถือ โดยใช้กล้วยไม้เป็นหลักไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80

                คณะประมงจัดประกวดแข่งขันปลากัด ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล แบ่งเป็นประเภมครีบสั้นและประเภทครีบยาว นอกจากนี้ยังมีการจัดประกวดการจัดตู้ปลาระดับนักเรียน แบ่งเป็นระดับประถมศึกษาจัดตู้ปลาทอง ระดับมัธยมตอนต้นจัดตู้ปลาหมอสี และระดับมัธยมปลายจัดตู้พรรณไม้น้ำ เริ่มแข่งขันวันที่ 28 มกราคม ตัดสิน 30 มกราคม ณ อาคารบุญอินทรัมพรรย์  

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ