ข่าว

มหันตภัยร้ายควัน"ธูป" ทำบุญ...ผลต่อสุขภาพ...สารก่อมะเร็ง ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มหันตภัยร้ายควัน"ธูป" ทำบุญ...ผลต่อสุขภาพ...สารก่อมะเร็ง ?

 

               ท่ามกลางความเลวร้ายของสภาพอากาศในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลขณะนี้ที่สถานการณ์ฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 ยังเกินค่ามาตรฐาน อยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ อันเป็นผลมาจากการก่อสร้าง ทั้งอาคารสูง และโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่กระจายกันสร้างอยู่ทั่วกรุง โดยไม่มีการป้องกันฝุ่นละอองตามมาตรฐานที่กำหนด รวมถึงควันพิษที่เกิดจากท่อไอเสียรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ และโดยเฉพาะรถเมล์และรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่มีสภาพเก่าและปล่อยควันดำออกมาทั้งเมือง

มหันตภัยร้ายควัน"ธูป" ทำบุญ...ผลต่อสุขภาพ...สารก่อมะเร็ง ?

               มหันตภัยใกล้ตัวอย่าง “ธูป” ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้สภาพอากาศมีปัญหาจนเกิดภาวะเรือนกระจก รวมถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพที่เป็นต้นตอของโรคร้ายที่เรียกว่า “มะเร็ง” เห็นได้จากผลสรุปงานวิจัย “สารก่อมะเร็ง: ภัยเงียบที่มากับควันธูป” ของนพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ และ ดร.พนิดา นวสัมฤทธิ์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ซึ่งพบว่าควันธูปเป็นตัวการสำคัญทำให้ก่อมะเร็งในคน โดยควันธูปมีสารก่อมะเร็ง 3 ชนิดได้แก่ เบนซีน บิวทาไดอีน และเบนโซเอไพรีน เป็นสารเคมีอันตรายที่เกิดจากการเผาไหม้ของกาวและน้ำหอม ซึ่งเป็นองค์ประกอบของธูป ที่ทำจากขี้เลื่อย กาว น้ำมันหอมสกัดจากพืช ไม้หอม ใบไม้ เปลือกไม้ รากไม้ เมล็ดพืช เรซิ่นและสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอม 

             ทั้งนี้มีการคาดการณ์กันว่ามีคนจุดธูปทั่วโลกในแต่ละปีเป็นหมื่นเป็นแสนตัน และทุกๆ 1 ตันของธูปจะปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ประมาณ 325.1 กิโลกรัม และก๊าซมีเทน 7.2 กิโลกรัม หากคนทั้งโลกมีการจุดธูปมากมายขนาดนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพคนเท่านั้น ยังมีผลต่อมลภาวะสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศอีกด้วย ซึ่งต้องใช้เวลาเป็น 100 ปีกว่าจะสูญสลาย นอกจากนี้ในกระบวนการผลิตธูปปัจจุบันยังมีการนำวัสดุบางประเภทมาใช้ในการผลิตเช่น เศษเฟอร์นิเจอร์เก่าๆ ซึ่งมีสารที่มีองค์ประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตราย นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้นอีกด้วย

               จากปัญหาดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) โดยศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม ร่วมกับคณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จัดเสวนาวิชาการหัวข้อ “ธูป...ทำบุญ...ผลต่อสุขภาพ...มะเร็ง ?" ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สำนักงาน วช. ถ.พหลโยธิน เมื่อวันที่ 16 มกราคม ที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการจนนำไปสู่การตกผลึกในวิธีการดำเนินการและแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมสำหรับสังคมไทย ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ในการออกข้อกำหนดเพื่อควบคุมการผลิตธูปและสถานที่ที่ควรระมัดระวังในการใช้ธูป พร้อมกันนี้ยังได้มีการนำเสนอผลงานวิจัย “สารก่อมะเร็ง : ภัยเงียบที่มากับควันธูป” ของ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ และ ดร.พนิดา นวสัมฤทธิ์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เพื่อชี้ให้เห็นมหันตภัยดังกล่าวด้วย

               “การเสวนาวันนี้เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปการจัดการใน 3 ประเด็นหลักคือ การใช้ธูปควรมีแนวทางดำเนินการในสังคมไทยอย่างไร การออกแบบธูปที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อสุขภาพในการใช้งานและการลดพฤติกรรมการใช้ธูปในระยะยาว”

              ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการวิจัยยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม วช. กล่าวเปิดประเด็น โดยยกตัวอย่างศาสนสถานที่มีการใช้ธูปเป็นจำนวนมากในแต่ละวันอย่างวัดหัวลำโพงที่ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้บริการ ซึ่งเธอชี้ว่ามหันตภัยจากควันธูปนั้นมีการศึกษาวิจัยจำนวนไม่น้อยสรุปผลตรงกันว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยมีสารสำคัญที่เป็นตัวก่อให้เกิดมะเร็ง

               โดยเฉพาะผลงานวิจัยของ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ เจ้าของรางวัลแพทย์ดีเด่น แพทยสภา ประจำปี 2561 ด้านผู้ปฏิบัติงานจากการอุทิศตนและเสียสละเวลาทำงานเพื่อสังคม ปัจจุบันเป็นหัวหน้าไอซียู โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ซึ่งได้ศึกษาวิจัยผลกระทบต่อผู้ใช้ธูปมากว่า 10 ปี โดยมีผลงานทางวิชาการยืนยันชัดเจนว่าธูปนั้นเป็นต้นเหตุสำคัญทำให้เกิดมะเร็ง ซึ่งจากรายงานผลการศึกษาวิจัยทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยว่าควันธูปและควันบุหรี่นั้นมีสารก่อให้เกิดมะเร็งไม่แตกต่างกัน 

มหันตภัยร้ายควัน"ธูป" ทำบุญ...ผลต่อสุขภาพ...สารก่อมะเร็ง ?

                “จากข้อมูลรายงานวิจัยที่อเมริกาพบว่าคนอเมริกาเป็นมะเร็ง 30-90% เป็นคนสูบบุหรี่ พอมาประเทศไทยมันไม่เหมือนกัน พบว่าผู้หญิงเป็นมะเร็ง 20% ส่วนผู้ชาย 60-70% ผู้ชายพอสันนิษฐานได้ว่ามาจากบุหรี่ ส่วนผู้หญิงน่าตกใจว่าส่วนใหญ่จะคลุกคลีอยู่กับควันธูป เวลาตรวจคนไข้ก็จะซักถามรายละเอียดในอาชีพหรือการใช้ชีวิตประจำวัน และพบว่าส่วนใหญ่คนเป็นมะเร็งอยู่กับธูป บางคนนั่งอยู่ในห้องพระสวดมนต์สูดควันธูปทุกวัน”

                นพ.มนูญ เผยว่า ผลสรุปจากงานวิจัยชิ้นนี้ ได้สุ่มตัวอย่างเก็บข้อมูลกลุ่มคนที่อาศัยในวัดขนาดใหญ่ที่มีการใช้ธูปจำนวนมาก  3 จังหวัดได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการและฉะเชิงเทรา โดยสาเหตุที่ไม่ใช้วัดในกรุงเทพฯ เพราะต้องการหลีกเลี่ยงมลพิษที่เต็มไปด้วยฝุ่นละออง การศึกษาครั้งนี้ได้เก็บตัวอย่างค่าสารก่อมะเร็งทั้ง 3 ตัวของกลุ่มคนในวัดที่ทำงานกับธูป กับกลุ่มคนที่อยู่นอกวัดไม่ได้ทำงานกับธูป แล้วนำมาเปรียบเทียบค่าสารก่อมะเร็งในเลือด  ซึ่งผลปรากฏว่ากลุ่มคนที่ทำงานกับธูปอยู่ในวัดมีสารก่อมะเร็งทั้ง 3 ตัวสูงกว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้ทำงานกับธูปอยู่นอกวัดทุกตัว

              “ผลสรุปจากงานวิจัยพบว่าอากาศในวัดมีสารก่อมะเร็งเยอะกว่าข้างนอก ฉะนั้นธูปจึงเป็นต้นเหตุสำคัญของการเป็นมะเร็งแม้กระทั่งธูปไร้ควันก็เช่นเดียวกัน” เจ้าของผลงานวิจัยยืนยัน

              ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐก็ไม่ได้นิ่งนอนใจถึงมหันตภัยนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้มีการประกาศมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมาตรฐานธูป อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมธูป มาตรฐานเลขที่ มอก.2345-2550 โดยมาตรฐานดังกล่าวครอบคลุมธูปที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือทำให้เกิดกลิ่นหอม

             สุภัทรา อดิสร ผู้อำนวยการกลุ่มกำหนดมาตรฐาน 6 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม แจงรายละเอียดว่า มาตรฐานของ สมอ.มีอยู่ 2 ประเภทคือ มาตรฐานบังคับ และมาตรฐานทั่วไป ในส่วนของธูปนั้นเป็นมาตรฐานทั่วไปเป็นลักษณะการส่งเสริม โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการยื่นขอการรับรองการผลิตให้ได้ตามข้อกำหนด เป็นไปตามมาตรฐานธูป ซึ่งถ้าหากผู้ประกอบการไม่มายื่นขอการรับรองก็ได้ ไม่มีการบังคับแต่อย่างใด  

               “มาตรฐานธูปเราไม่ได้บังคับ ขอก็ได้ไม่ขอก็ได้ ถ้าขอท่านก็จะได้เครื่องหมายจากสมอ.ไปแล้วก็จะได้รับการรับรองว่าธูปของท่านได้ทำตามมาตรฐาน ถ้าตรวจพบไม่ได้มาตรฐานเราก็จะแจ้งเตือน ถ้ายังทำไม่เป็นไปตามมาตรฐานอีกก็จะยกเลิกใบอนุญาต นับตั้งแต่ได้มีการประกาศมาตรฐานธูปออกไปปี 2550 จนปัจจุบันนี้ได้รับการรับรองเพียงรายเดียวคือธูปนพมาศ ต่อมาในปี 2553 มีการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชน กลุ่มวิสาหกิจ กลุ่มแม่บ้านผลิตธูป ก็ได้มีข้อกำหนดมาตรฐานชุมชนออกมาแต่จะอ่อนกว่ามาตรฐาน มอก.2345-2550”

               สุภัทราย้ำว่ามาตรฐานชุมชนนั้นเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้จากการผลิตธูป ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มแม่บ้านได้รับการรับรองการผลิตธูปตามมาตรฐานชุมชนแล้ว 12 ราย โดยเป็นผลิตภัณฑ์โอท็อป ต่อมาในปี 2559 กระทรวงอุตสาหกรรมมีโครงการฉลากเขียวเรื่องธูปออกมาด้วย โดยข้อกำหนดเบื้องต้นรายการทุกอย่างต้องเป็นไปตามมาตรฐาน มอก.2345-2550 แต่จะมีข้อกำหนดเพิ่มเติมลงไป เนื่องจากฉลากเขียวเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นรายการที่เสริม นอกจากผลิตภัณฑ์เป็นไปตาม มอก.2345-2550 แล้ว ยังต้องอิงกับธรรมชาติด้วย อย่างเช่นสีก็ต้องมาจากธรรมชาติ ไม่ใช้สีสังเคราะห์ มีการตรวจสารระเหยจะต้องไม่เกินปริมาณข้อกำหนดและเป็นผลิตภัณฑ์รีไซเคิลสามารถนำมาใช้ใหม่ได้หรือเป็นกระดาษ พลาสติกที่ย่อยสลายได้ด้วย

       

 

                พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ประธานคณะอนุกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชุมชนเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวว่า ผลการเสวนาครั้งนี้นำเสนอแก่คณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการทั้งทางกฎหมาย มาตรฐานทางสังคม การวิจัยและอื่นๆ เพื่อลดปัญหาในระยะยาวต่อไป

                อย่างไรก็ตามการเสวนาครั้งนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งตัวแทนเข้ารับฟังและให้ข้อคิดเห็นไว้หลายประเด็นรวมถึงในเรื่องประเพณีความเชื่อที่ยังจำเป็นต้องใช้ธูปในการทำพิธีกรรมต่างๆ แต่ส่วนใหญ่เห็นด้วยไม่ให้มีการใช้ธูปควันในห้องอับที่ไม่มีอากาศถ่ายเทหรืออาจเลี่ยงใช้ธูปไฟฟ้า แต่ถ้ายกเลิกการใช้ธูปได้ก็จะเป็นการดีที่สุด ซึ่งตัวแทนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้มีหลายวัดในกรุงเทพมหานครเริ่มจะไม่มีการใช้ธูปควัน โดยหันมาใช้ธูปไฟฟ้าแทนแล้ว

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ