ข่าว

  โละสต็อกข้าวโพดจีน สะเทือนมันสำปะหลังไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

  โละสต็อกข้าวโพดจีน สะเทือนมันสำปะหลังไทย ในมุมมอง "ธิดารัตน์ รอดอนันต์"

 

               ไม่เพียงมะพร้าว ข้าว ยาง และปาล์มน้ำมัน ที่มีปัญหาราคาดิ่งเหว จนทุกฝ่ายทางหาช่วยเหลือแก้ไขเยียวยา ขณะที่ “มันสำปะหลัง” ก็เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกตัวที่มีปัญหาด้านราคา เพียงแต่ต้นเหตุของปัญหามีความแตกต่างกัน เนื่องจากหัวมันสำปะหลังส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบส่งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปในประเทศ เพราะหากขึ้นราคาหัวมันย่อมส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันสำปะหลังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่จีนตลาดส่งออกหลักมันสำปะหลังจากไทยมีปัญหา จึงมุ่งทางแก้ปัญหาไปที่การลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตต่อไร่ของเกษตรกรมากกว่า 

  โละสต็อกข้าวโพดจีน สะเทือนมันสำปะหลังไทย

    

             “คม ชัด ลึก” ถือโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ธิดารัตน์ รอดอนันต์” ประธานกรรมการบริษัท สงวนวงษ์ อุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ในฐานะอุปนายกสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสําปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถึงสถานการณ์มันสำปะหลังในปัจจุบันและแนวโน้มทิศทางในอนาคตของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของไทย

  โละสต็อกข้าวโพดจีน สะเทือนมันสำปะหลังไทย

+  สถานการณ์อุตสาหกรรมมันสำปะหลังตอนนี้เป็นอย่างไร

ถ้าจะมองอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง จะต้องมองไปถึงประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะว่าเมื่อก่อนจะมีไทยกับเวียดนามที่ใหญ่ในแถวนี้ ต่อมากัมพูชาก็เป็นอีกหนึ่งที่เป็นปัจจัยหลักที่จะมีผลต่อดีมานด์และซัพพลายในภูมิภาคนี้ด้วย ถ้าเป็นภาคการค้า ของเราจะเป็นมันเส้นกับแป้งมันสำปะหลัง ประเทศไทยใช้วัตถุดิบเพื่อการค้า ประมาณ 4 พันล้านตันต่อปี ปริมาณหัวมันสด ที่ใช้ในการค้า ซึ่งจะประกอบไปด้วย มันเส้น กับแป้งมันสำปะหลัง มันเส้นส่งออกอยู่ประมาณ 6.5 ล้านตัน บริโภคภายในประเทศประมาณ 5 แสนตัน 

สำหรับแป้งมันสำปะหลัง เราเป็นอันดับหนึ่งของโลก จนกระทั่งทุกวันนี้ ประเทศไทยส่งออกประมาณ 4 ล้านตัน ใช้ในประเทศ 1.5 ล้านตัน ถามว่าตลาดใหญ่กว่านี้ได้ไหม ใหญ่กว่านี้ได้ แต่ราคาต้องถูกกว่านี้ เพราะคู่แข่งเราคือข้าวโพด ตลาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มันเส้นที่ส่งออกประมาณ 6.5 ล้านตัน ประมาณ 90% จะถูกส่งออกไปประเทศจีน เพราะฉะนั้นอะไรที่เกิดขึ้นกับประเทศจีนก็จะกระทบกับประเทศไทย ส่วนแป้งมันสำปะหลังก็ส่งออกไปประเทศจีนมากกว่า 50% เพราะฉะนั้นจีนก็สำคัญกับประเทศไทยในอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง

นอกจากประเทศจีนแล้วก็มี อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และมาเลเซีย ที่เป็น 5 ประเทศหลักที่นำเข้าผลิตภัณฑ์แปรรูปมันสำปะหลังจากไทย ประเทศพวกนี้ก็จะเป็นปัจจัย เวลาที่เราจะส่งออกไปต่างประเทศ เราก็ต้องดูว่าสินค้าทดแทนของแป้งมันสำปะหลังคืออะไร สินค้าทดแทนแป้งมันสำปะหลังก็คือ แป้งข้าวโพด แป้งข้าวสาลี แป้งมันฝรั่ง ในแต่ละประเทศเขาจะมี ซึ่งเราก็จะต้องไปแข่งกับแป้งพวกนี้ด้วย แต่แป้งข้าวโพดเป็นแป้งหลักที่จะแข่งกับประเทศเรา และแป้งข้าวโพดที่ผลิตมากที่สุดในโลกก็คือ สหรัฐอเมริกา ประเทศในแถบอเมริกาใต้ อินเดีย และจีน ณ วันนี้แป้งมันสำปะหลังราคา จะอยู่ที่ 500 ดอลลาร์สหรัฐ แต่แป้งข้าวโพดราคาแค่ 340 ดอลลาร์ คนซื้อก็ไม่ไหว

+ ปัจจัยอะไรที่ทำให้มันสำปะหลังไทยได้รับผลกระทบ

ในภาวะเศรษฐกิจโลกตอนนี้ไม่ได้เติบโตเหมือนเมื่อก่อน วันนี้เศรษฐกิจจีนก็เริ่มแผ่วจากสงครามการค้า แล้วก็ที่ผ่านมาตอนที่เศรษฐกิจร้อนแรงมีการเพิ่มกำลังผลิต เพิ่มโรงงานเยอะๆ จนกระทั่งโอเวอร์ซัพพลาย ก็ต้องปิดตัวลง ในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ได้ร้อนแรงต่อเนื่อง การใช้วัตถุดิบในการผลิตสินค้าต่างๆ ราคาสินค้าเริ่มเป็นปัจจัยสำคัญ ในเรื่องของข้าวโพดซึ่งเป็นคู่แข่งของเรา ถ้าในประเทศไทยตอนนี้ข้าวโพดยังไม่มีการใช้  จึงไม่มีผลกระทบกับมัน แต่ในประเทศจีนเริ่มส่งผลกระทบแล้ว 

สมัยก่อนประเทศจีนเขาอุดหนุนข้าวโพด เพราะฉะนั้นการแข่งขันแป้งข้าวโพดในประเทศจีน จึงแพงกว่าแป้งมันสำปะหลัง ทำให้แป้งมันสำปะหลังส่งไปขายในจีนสบายๆ เลย เพราะอย่างไรแป้งข้าวโพดก็แพงกว่าอยู่ดี เพราะรัฐบาลเขาอุดหนุนข้าวโพดก็เหมือนเราอุดหนุนข้าวนั่นแหละ ประเทศจีนก็เหมือนประเทศไทยที่ช่วยเหลือชาวนา เก็บสต็อกไว้เยอะๆ แทรกแซงในราคาสูงๆ ประเทศจีนก็เหมือนกัน สมัยก่อนเขาก็ตั้งราคาข้าวโพดไว้สูง และก็แทรกแซงราคาข้าวโพดในประเทศสูงกว่าตลาดโลก ทำให้คนหันมาปลูกข้าวโพดกันเยอะ  จากนั้นก็เก็บไว้ในสต็อก จนกระทั่ง 250 ล้านตัน มันเยอะไป มีค่าใช้จ่ายในการเช่าโกดัง ค่าแทรกแซงทุกอย่าง จนถึงจุดรัฐบาลบอกไม่ไหวแล้ว คงจะต้องปรับนโยบายใหม่ และข้าวโพดเก็บไว้นานก็จะเน่าเสีย เขาก็ระบายข้าวโพดออกมาในปี 2015 แป้งข้าวโพดในจีนก็ไม่แพงอีกต่อไป 

ราคาข้าวโพดในจีนจึงมาอยู่ที่ 110 ดอลลาร์สหรัฐ พอจีนมีการระบายข้าวโพด แป้งข้าวโพดเมืองจีนก็ถูกลง เขาก็ใช้มันเส้นน้อยลง แป้งมันของไทยก็ต้องไปแมตช์กับราคาแป้งข้าวโพดในจีน ทำให้ผู้ส่งออกทุกคน ทำให้ราคามันสำปะหลังในจีนลดลงมาอยู่ที่ 300 ดอลลาร์ เมื่อเขาซื้อมันสำปะหลังจากเราราคาถูก เราก็ไปรับซื้อมันจากเกษตรกรถูกลงด้วย ตอนนี้ราคารับซื้ออยู่ 1-1.30 บาทต่อกิโลกรัม แถวโคราชวันนี้ซื้อกันที่ราคา 1-1.60 บาท ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนของเกษตรกร 

+ วัตถุดิบป้อนโรงงานอุตสาหกรรมเพียงพอหรือไม่

สมัยก่อน เราพูดถึง 40 ล้านตันไม่พอ เพราะประเทศไทยผลิตมันสำปะหลังได้แค่ 30 ล้านตัน ประเทศไทยก็ต้องนำเข้าจากลาว จากเขมรเข้ามา ประมาณ 10 ล้านตัน เพื่อมาชดเชยกับปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ในการค้า ซึ่งมีไม่เพียงพอ ยิ่งวันนี้ประเทศจีน การใช้มันสำปะหลังในการผลิตแอลกอฮอล์ เอทานอล เริ่มเปลี่ยนมาใช้ข้าวโพดในประเทศแทน เพราะการเอาข้าวโพดมาทำเอทานอล กากและของเสีย จากการทำเอทานอล คือ กากข้าวโพด มีโปรตีน มีคุณค่าทางอาหารสูง ก็เลยเอาไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ จาก เมื่อก่อนวัตถุดิบเหล่านี้ต้องนำเข้าจากอเมริกา เพราะได้ราคาดีด้วย ก็เลยทำให้เกิดความนิยมใหม่ในประเทศจีน แทนที่จะใช้มันเส้น ใช้ข้าวโพดในประเทศดีกว่า เพราะโปรดักท์มีหลายรูปแบบกว่า มีผลทำให้เมืองจีน นำเข้ามันเส้นจากเมืองไทยน้อยลง จากเดิมที่นำเข้าประมาณ 6.5 ล้านตัน ในปี 2561 เหลือแค่ 3.5 ล้านตันเท่านั้นลดลงกว่าครึ่ง มีผลกระทบด้านดีมานด์หายไป พ่อค้ามันเส้นวันนี้ ก็ส่งออกน้อยลง 45% ประเทศไทยก็ต้องปรับตัวให้การขายถูก การค้ามันเส้นในทุกพื้นที่ของไทยลดลงมาก แต่บังเอิญเราไปซื้อของถูกมา 2 ปี ชาวไร่อยู่ไม่ไหวไปปลูกอ้อย ปลูกข้าวโพด ทำให้พื้นที่การเพาะปลูกมันสำปะหลังหายไป ตอนนี้พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังในเมืองไทยหายไปประมาณ 30% ตรงนี้ก็ชดเชยกับการค้ามันเส้นที่หายไป ไม่ใช่หายเฉพาะในประเทศไทย ลาว กับเขมรก็หายด้วย แล้วก็บังเอิญว่า เวียดนามกับเขมร ตอนนี้มีปัญหาเรื่องโรคไวรัสใบด่าง ผลผลิตเขาก็จะหายไป ไม่ต่ำกว่า 30% ผลผลิตของเวียดนาม เขมรที่หายไป ผลผลิตในเมืองไทยที่หายไป ก็ไปชดเชยมันเส้นที่หายไป ไปชดเชยกับตลาดแป้งมันที่หายไปในบางส่วน  

+ ความสัมพันธ์ระหว่างโรงงานกับชาวไร่มัน

ที่ผ่านมาความสัมพันธ์ของเกษตรกรกับโรงแป้ง ยังไม่ค่อยเข้มแข็ง ไม่เหมือนกับอ้อย อ้อยนี่จะมีลูกไร่ เขาจะมีปล่อยเกี๊ยว(เงินมัดจำขายอ้อยล่วงหน้า) มีกองทุน ที่จะไปดูแลปัจจัยการผลิต และเขาก็จะมีการตั้งราคากลาง เพราะฉะนั้นเกษตรกรก็จะรู้ว่าตัวเองจะขายได้เท่าไร แล้วก็จะมีกองทุนส่วนกลาง ที่จะลงทุนเรื่องระเบิดหินดินดาน เรื่องปุ๋ย แต่กว่ามันสำปะหลังเป็นการค้าอิสระเสรี ชาวไร่จะปลูกที่ไหน จัดการไร่ตัวเองยังไงก็ได้ จะขายให้ใครก็ได้ ราคาก็ขึ้นลงตามตลาดตลอดเวลา เราไม่คอมมิตราคาว่าเราต้องซื้อเท่าไร เพราะตลาดมันสำปะหลังเปลี่ยนตลอด เรามีสมาคมมันสำปะหลังก็จริง แต่ไม่มีกฎหมายรองรับเหมือนอ้อยและน้ำตาล เขามี พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล ควบคุมอยู่ 

 

+ ทางออกในการแก้ปัญหาด้านราคามันตกต่ำ

การรวมกลุ่มที่มีผลดีต่อโรงงานภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกร เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะว่าเกษตรกรไม่รู้ว่าทำอย่างไร อาจมีเกษตรกรส่วนหนึ่งไม่ถึง 10% ที่รู้ว่ามีความขยัน มีความตั้งใจปรับปรุงไร่ของตนเองให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น ถ้าจะบอกว่า 7 ตันต่อไร่ ตอนนี้เกษตรกรทำได้แล้ว ถ้าเขาตั้งใจทำ แต่เกษตรกรส่วนใหญ่มักปล่อยไปตามธรรมชาติ จึงอยากให้เกษตรกรหันมาลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตดีกว่าเรียกร้องให้ขึ้นราคามัน ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก หากรับซื้อหัวมันมาในราคาที่สูง ผลิตภัณฑ์ก็จะมีราคาสูง ส่งออกมีปัญหา ฉะนั้นการที่เกษตรกรหาวิธีลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นจะเป็นทางออกที่ดีกว่า เฉพาะที่โคราชวันนี้ผลผลิตมันสำปะหลังได้ประมาณ 6 ล้านตัน แต่วันนี้โรงงานที่โคราชมีความต้องการ 12 ล้านตัน ซึ่งก็ยังไม่พอ โคราชก็ต้องไปเอามาจากจังหวัดข้างเคียง อย่างชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ขอนแก่น จังหวัดรอบๆ ด้วย สิ่งที่เป็นปัญหาคือค่าขนส่ง เราต้องจ่ายค่าขนส่งแพงขึ้น 20-40 สตางค์ แต่ถ้าเราใช้มันในพื้นที่ก็จะประหยัด เงินที่จะต้องเสีย เราก็ไม่ต้องเสีย แทนที่จะจ่ายค่าขนส่งก็มาอยู่ในกระเป๋าเรา 

     

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ