ข่าว

 "ประมงพื้นบ้าน"ได้อะไร...?  จากการปลดล็อก"ไอยูยู ฟิชชิ่ง"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 "ประมงพื้นบ้าน"ได้อะไร...?  จากการปลดล็อก"ไอยูยู ฟิชชิ่ง"

 

                   นับเป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทยและเป็นอีกผลงานเด่นของรัฐบาลภายใต้การนำของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี ในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายที่เป็นปัญหาหมักหมมเรื้อรังมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งถูกสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศให้ "ใบเหลือง” จากปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือไอยูยู ฟิชชิ่ง IUU (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) มาตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2558

 "ประมงพื้นบ้าน"ได้อะไร...?  จากการปลดล็อก"ไอยูยู ฟิชชิ่ง"

บรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย

               เหตุที่อียูแจก “ใบเหลือง” ให้ไทยนั้น สืบเนื่องมาจากเมื่อปี 2554 อียูได้ส่งตัวแทนเข้ามาตรวจสอบการควบคุมประมงผิดกฎหมายในประเทศไทย เพื่อพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ผ่านไป 3 ปีไทยยังไม่มีการปรับปรุงให้เป็นไปภายใต้กฎระเบียบของไอยูยูจนที่สุดต้องออกประกาศให้ใบเหลืองดังกล่าว

                 แม้ใบเหลืองจะเป็นเพียงประกาศเตือน ยังไม่ส่งผลต่อการระงับการนำเข้าสินค้าประมงที่จับโดยเรือไทยที่ส่งไปขายในตลาดสหภาพยุโรป 24 ประเทศ และยังให้โอกาสในการปรับปรุงแก้ไข แต่หากไม่เร่งแก้ไขและปล่อยให้สถานการณ์เลวร้ายอาจถูกปรับเป็น “ใบแดง” ซึ่งนั่นหมายความว่าสินค้าประมงที่ถูกส่งไปยังตลาดสหภาพยุโรปมูลว่ากว่า 3 แสนล้านบาทต่อปีจะถูกระงับในทันทีและอาจเกิดวิกฤติต่อผู้ประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมประมงทั้งระบบ

 "ประมงพื้นบ้าน"ได้อะไร...?  จากการปลดล็อก"ไอยูยู ฟิชชิ่ง"

                 “งานนี้ต้องยกความดีความชอบให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เพราะการแก้ปัญหาของไอยูยู เป็นการมุ่งเป้าไปที่ประมงพาณิชย์ ซึ่งถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคงยาก เพราะเจ้าของเรือประมงพาณิชย์ เจ้าของแพปลา เจ้าของโรงงานน้ำแข็งต่างๆ เหล่านี้เป็นหัวคะแนนนักการเมืองทั้งสิ้นใครจะกล้าทุบหม้อข้าวของตัวเอง” แหล่งข่าวในวงการประมงระบุ

                 จากข้อมูลกรมประมงระบุปัจจุบันเรือประมงที่ถูกต้องมีจำนวน 38,495 ลำ แยกเป็นเรือประมงพาณิชย์ 10,565 ลำ และเรือประมงพื้นบ้าน 27,930 ลำ จาก 22 จังหวัด ซึ่งก่อนหน้านี้ไทยมีเรือประมงพื้นบ้านมากกว่า 50,000 ลำ โดยจะมีการบริหารจัดการให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 เพื่อให้ทุกลำเป็นระบบสากลและเป็นการยืนยันข้อมูลชาวประมงพื้นบ้านเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

                แม้การปลดล็อกไอยูยู ฟิชชิ่ง จะมุ่งเป้าไปที่การแก้ปัญหาประมงขนาดใหญ่ แต่สำหรับอาชีพประมงพื้นบ้านแล้วกลับไม่ได้รับอานิสงส์จากการปลดล็อกครั้งนี้แต่อย่างใด เพราะยังมีกฎหมายประมงปี 2558 (พระราชกำหนดการประมงพ.ศ.2558) ยังมีผลบังคับใช้อยู่ทำให้ประมงพื้นบ้านยังไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก

                  กระทั่งนายกสมาคมประมง จ.สมุทรสาคร "กำจร มงคลตรีลักษณ์” ออกมาโอดครวญทันทีที่สหภาพยุโรปปลดล็อกใบเหลืองไอยูยู ฟิชชิ่ง มีผู้ได้ประโยชน์แค่ผู้ส่งออกรายใหญ่เพียง 4-5 ราย ขณะที่ชาวประมงขนาดกลางและขนาดเล็กในประเทศไทยกลับไม่ได้อานิสงส์แต่อย่าง

                   “ผมไม่เข้าใจว่าภาครัฐบอกว่ามาตรฐานมากขึ้น เพราะว่าตั้งแต่ตอนยังไม่ปลด (ล็อก) มาตรฐานก็เกินอยู่แล้ว รัฐบาลเข้ามาก็มีการจัดระเบียบชาวประมงรุนแรงโดยตลอด เช่นเรื่อง พ.ร.ก.ประมง (พระราชกำหนดการประมง 2558) ก็มีโทษปรับรุนแรง เข้มงวด ผ่อนปรนน้อยมาก ทั้งการปรับและใช้กฎหมาย ตอนนี้ชาวประมงล้มหายตายจากไปเป็นครึ่ง จากการใช้กฎหมายรุนแรงจนบางครั้งออกเรือไม่ได้ ต้องเลิกไป”

                กำจรมองว่า การปลดใบเหลืองครั้งนี้ชาวประมงไม่ได้อานิสงส์ ผู้ส่งออกจะได้อานิสงส์มากกว่า แต่ชาวประมงรับเคราะห์รับบาปมาโดยตลอดที่การส่งออกโดนกีดกัน เจอทั้งสั่งให้เรือจอดจากการใช้แรงงานไม่ถูกต้องและการจำกัดการทำการประมงปีละเพียง 200 กว่าวัน ส่วนสาเหตุที่ชาวประมงไม่ได้อานิสงส์นั้น เพราะไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือทำประมงที่มีศักยภาพสำหรับส่งออก และสินค้าทะเลที่ใช้ส่งออก เช่น ปลาทูน่า หรือปลาโอ ก็เป็นปลานำเข้าเพื่อแปรรูป ส่วนกุ้งทะเลส่วนใหญ่ก็บริโภคภายในประเทศ

              จากรายงานข้อมูลสมาคมผู้นำเข้าอาหารแปรรูปและประมง สหภาพยุโรป หรืออียู ระบุว่าปัจจุบันอียูต้องการสินค้าประมงมากถึงปีละ 12 ล้านตัน ในจำนวนนี้ประมาณ 60% ผลิตได้ในอียู ส่วนที่เหลือ 40% ต้องนำเข้า โดยสินค้าหลักที่นำเข้าจากไทยได้แก่ ทูน่า กุ้งและหมึก แต่ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา การนำเข้าจากไทยได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องเพราะจากปัญหาไอยูยู และค่าเงิน

                 บรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทยเผยกับ “คม ชัด ลึก” ถึงผลจากการปลดล็อกไอยูยู ฟิชชิ่ง ในภาคการประมง โดยระบุว่าเราต้องเข้าใจพื้นฐานไอยูยู หรือไอยูยู ฟิชชิ่งว่าเป็นมาตรการเฉพาะส่วน  เนื่องจากตลาดอียูมีสมาชิกในสหภาพยุโรป  24 ประเทศ ซึ่งมาตรการนี้เป็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมของอียู มีกรรมาธิการร่วมหลายประเทศเพื่อตอบรับกระแสพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเรื่องทะเลก็เป็นหนิ่งในนั้นอยู่ในข้อ 14 เรื่องการพัฒนาทะเลที่ยั่งยืน

                  “ถ้าเราย้อนไปอีกนิดหนึ่งมาตรการไอยูยู มันเกิดจากองค์การอาหารและยา หรือเอฟเอโอแห่งสหประชาชาติ เขาจะพูดถึงความมั่นคงทางอาหารทางทะเลเรื่องการทำประมงแบบรับผิดชอบ ซึ่งอียูเขาอยากจะให้ประเทศในเครือข่ายเขาดูดี ซึ่งเป็นแนวทิศทางนี้อยู่แล้วในสังคมโลก เช่นการไม่ใช้แรงงานเด็ก ไม่ใช้แรงงานทาส แต่มาโฟกัสที่ประมง เขาก็ออกมาตรการไอยูยู ฟิชชิ่งออกมา มาตรการนี้เขาไม่ได้ว่าใคร คุณจะไม่ทำก็ได้ แต่ห้ามเอาสินค้ามาขายในบ้านเรานะ มันก็เลยเป็นปัญหา เพราะส่งออกสัตว์น้ำไปยังตลาดอียูปีละกว่า 3 แสนล้าน”

                บรรจงระบุว่าใบเหลืองไม่ใช่ปัญหาเพียงแต่เขาเตือนมาคุณจะต้องแก้ตามมาตรการที่เขาให้มา สินค้าก็ยังส่งไปขายได้ตามปกติ เพียงแต่จะเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งหากยังไม่แก้จะได้ใบเหลืองที่สองนั่นก็คือใบแดงห้ามนำเข้าตลาดอียูเด็ดขาด รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพราะอย่างนั้นจะมีผลกระทบอุตสหากรรมประมงทั้งระบบ

                “มันก็เหมือนฟุตบอล ครั้งแรกเขาจะให้ใบเหลืองก่อนเป็นการเตือนถ้าคุณยังทำผิดอีกไม่เล่นตามกติกาก็จะได้ใบเหลืองที่สองนั่นก็คือใบแดง  ไล่ออกจากสนามเลย ประมงก็เหมือนกัน เพราะถ้าไม่แก้ไขเราจะได้ใบแดง  ถ้าโดนใบแดงสินค้าประมง 3 แสนยุ่งเลย เราจะหาตลาดที่ไหนรองรับ 

                "การปลดล็อกไอยูยูส่งผลดีต่อประมงชายฝั่งชัดเจน ที่ผ่านมาเรือประมงบ้านเรามีเรือเถื่อน เรือสวมทะเบียน เรือใช้แรงงานทาสเต็มไปหมด รัฐบาลก็ใช้ยาแรงออกประกาศเกือบ 3 ร้อยฉบับ จนพี่น้องประมงพาณิชย์ดิ้นไปตามๆ กัน เพราะชินกับการทำผิดมาก่อนไง   ส่งผลให้มีการจอดเรือประท้วงบ้าง ไม่ขายปลาบ้าง ปิดแพปลาบ้าง แต่รัฐบาลไม่ยอมเพราะผลประโยชน์ชาติมันมากกว่าของกลุ่มหนึ่ง”

                    ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทยระบุอีกว่าจากเดิมที่ต้องจับเรือปั่นไฟจับลูกปลาทู หรืออวนลาก ใช้ตาอวนจับปลาเล็ก  ซึ่งทำให้คนอื่นเดือดร้อนไปหมด โดยเฉพาะประมงพื้นบ้านมีมากถึง 85% ของประชากรประมง ดังนั้นการปลดล็อกไอยูยู ฟิชชิ่ง ครั้งนี้จึงส่งผลดีต่อประมงชายฝั่งทั้ง 22 จังหวัด เพราะเรือเถื่อน เรือสวมถูกกำจัดทะเบียนออกไป ตามกฎหมายประมงปี 2558 ซึ่งมีบทลงโทษค่อนข้างรุนแรง ทำให้วันนี้สัตว์น้ำตัวเล็กๆ เริ่มกลับมา คนไทยได้รับประทานปลาในประเทศของเราเอง ไม่มีปลาทูนำเข้าเหมือนในอดีต  

                   เขายอมรับว่าแม้อียูจะปลดล็อกไอยูยู ฟิชชิ่ง แต่สิ่งที่สมาคมรักษ์ทะเลไทยจะยังค่อยผลักดันต่อไปคือการแก้ไขกฎหมายบางมาตรา ในพ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 โดยเฉพาะการห้ามประมงพื้นบ้านออกจากฝั่งเกิน 3 ไมล์ทะเล การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านของหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนการจ่ายค่าชดเชยเมื่อเกิดความเสียหาย ซึ่งมาตรการต่างๆ เหล่านี้ยังไม่มีกับอาชีพการทำประมงพื้นบ้าน ในขณะอาชีพทำกินอื่นที่อยู่บนฝั่งไม่ว่าจะชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน รัฐมีมาตรการให้ความช่วยเหลือทั้งหมดแล้ว

 

                “ตอนนี้มีอยู่ 2-3 เรื่องที่เรากำลังทำอยู่และจะเร่งผลักดันต่อไป คือการแก้กฎหมายพ.ร.ก.การทำประมง พ.ศ.2558 มีหลายมาตราที่ขัดแย้งกันอยู่ เช่น ห้ามประมงพื้นบ้านออกจากฝั่ง 3 ไมล์ก็ยังไม่จัดการ ชาวประมงพื้นบ้านบอกว่าไปขังเขาไว้แค่ 3 ไมล์ทะเลได้อย่างไร ในร่างกฎหมายก็อ้างว่าสงสารชาวประมงกลัวอันตราย แต่ชาวบ้านบอกว่า 1 ไมล์เขาก็ไม่ออกทะเล ถ้าคลื่นลมแรง เขาอยู่กับทะเล เขารู้ เวลาคลื่นสงบเขาไปไกล 10-20 ไมล์ทะเลได้ แต่กฎหมายห้ามไว้ไม่เกิน 3 ไมล์ ซึ่งก็ไม่เป็นธรรมสำหรับเขา”

                 บรรจงย้ำด้วยว่านอกจากนี้ที่เป็นปัญหา อาชีพประมงพื้นบ้านยังไม่ถูกบันทึกหรือไม่มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเหมือนกับอาชีพอื่นๆ เมื่อเกิดปัญหาความเสียหายก็จะไม่ได้รับการเยียวยาหรือการดูแลจากภาครัฐ เพราะทะเลไม่มีโฉนด ดังนั้นสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่สมาคมรักษ์ทะเลไทยจะต้องรีบดำเนินการโดยเร่งด่วนต่อไป

                 “ผมยืนยันว่าผลการปลดล็อกไอยูยู ฟิชชิ่ง ดีครับ แต่ใช่ว่าจะจบแค่นี้นะ ต้องแก้ต่อไป ถ้าไม่แก้ก็จะขาดหลักประกันและถึงเวลานั้นใบเหลืองก็จะกลับมาอีกครั้งครับ” ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทยกล่าวทิ้งท้าย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ