ข่าว

"ไร่ทองก้อน"ผุดโครงการ MUN มันมาก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ไร่ทองก้อน"ผุดโครงการMUN มันมาก ผนึกเครือข่ายปลูกมันอินทรีย์ป้อนโรงงาน 

 

                หลังประสบความสำเร็จการคิดค้นผลิตปุ๋ยอินทรีย์ภายใต้ตราสัญลักษณ์ “อย่างทองก้อน” จนเป็นที่รู้จักของเกษตรกรอย่างแพร่หลายในกลุ่มผู้ปลูกพืชอินทรีย์ของอดีตอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ที่ชื่อ “ดร.ดำรงศักดิ์ แก้ววงษ์ไหม” หรือที่รู้จักในนามอาจารย์ทองก้อน  เจ้าของ “ไร่ทองก้อน” ใน ต.ขนงพระ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 

"ไร่ทองก้อน"ผุดโครงการ MUN มันมาก "ไร่ทองก้อน"ผุดโครงการ MUN มันมาก

              ทว่าวันนี้ได้หันมารวมกลุ่มสร้างเครือขายทำไร่มันสำปะหลังอินทรีย์ใน จ.นครราชสีมา ภายใต้โครงการ “MUN มันมาก เราจะพาคนกลับบ้าน” หวังดึงคนรุ่นใหม่ลูกหลานเกษตรกรในพื้นที่กลับสู่บ้านเกิดมาต่อยอดอาชีพเกษตรกกรรมทำไร่มันสำปะหลังจากคนรุ่นเก่าที่สังขารเริ่มร่วงโรย โดยใช้ไร่ทองก้อนเป็นแหล่งเรียนรู้กระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำเริ่มจากการเตรียมดิน การปลูก การดูแลรักษา จนกระทั่งการเก็บเกี่ยวผลผลิตสู่โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปที่รับซื้อในราคาที่เป็นธรรม

               “ถามว่าทำไมผมต้องมาทำเรื่องมันอินทรีย์ คำตอบง่ายๆ ก็คือเพราะมีตลาดรองรับและต้องการพาคนกลับบ้าน ตอนนี้มันสำปะหลังอินทรีย์ที่มีเปอร์เซ็นต์แป้งเยอะๆ มีเท่าไหร่โรงงานรับซื้อหมด เขาเองก็หาวัตถุดิบไม่ได้เพราะผลผลิตมีไม่พอ เราจึงทำโครงการนี้ขึ้นมารวมกลุ่มเกษตรกรในเครือข่ายพื้นที่โคราชปลูกมันอินทรีย์ป้อนโรงงาน โดยมุ่งเป้าที่เกษตรกรรุ่นใหม่มาร่วมกันทำ เพิ่งทำเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว มีเนื่้อที่รวมประมาณ 3 พันไร่ ปีนี้คาดว่าจะขยายเพิ่มเป็น 1 หมื่นไร่” อาจารย์ทองก้อนเผยบนเวทีเสวนาโครงการ Mun  มันมาก เราจะพาคนกลับบ้าน จัดขึ้นที่ไร่มันสำปะหลังของเกษตรกรในโครงการที่ ต.ขนงพระ อ.ปากช่อง วันก่อน

               อาจารย์ทองก้อน ย้ำว่าโครงการดังกล่าวนี้ไม่เพียงแค่ช่วยยกระดับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในการลดต้นทุน การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้น รวมถึงการหาตลาดรองรับเท่านั้น แต่ยังเป็นการพาคนกลับบ้านด้วย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ในเมืองหลวงได้กลับมาอยู่บ้านกับครอบครัวกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาและยังเป็นการช่วยสานต่ออาชีพเกษตรกรรมที่เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่ปู่ย่าตายายไม่ให้สูญสลายกลายเป็นพื้นที่ร้างว่างเปล่าเนื่องจากไม่มีคนทำ หรืออาจถึงขั้นต้องขายตกอยู่ในมือของกลุ่มทุน

               “สรุปว่าทั้งหมดทั้งสิ้นทำเพื่อให้ทุกคนกลับบ้านและมีรายได้ และให้เขาอยู่ถิ่นฐานเดิมให้ได้  ส่วนเคพีไอ ตัวชี้วัดความสำเร็จของผม คือเมื่อไหร่ที่ถนนมิตรภาพรถไม่ติดช่วงเทศกาล ตอนปีใหม่ สงกรานต์ ก็แสดงว่าอยู่บ้านกันแล้ว นั่นแหละคือตัวชี้วัดไม่ได้เกี่ยวกับจีดีพีของประเทศแต่อย่างใด”

               เจ้าของโครงการ MUN มันมาก แจงรายละเอียดขั้นตอนการปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ให้มีผลผลิตต่อไรสูง โดยเริ่มจากการปรับปรุงบำรุงดินเพิ่มธาตุอาหารให้เหมาะสมกับความต้องการของมันสำปะหลังที่ต้องเน้นการเพิ่มเปอร์เซ็นต์แป้งให้มากขึ้นและใช้ท่อนพันธุ์ดีที่ปลอดจากโรคใบด่างที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ และในระหว่างการดูแลก็จะให้ปุ๋ยทางใบโดยการฉีดพ่นตามสูตรที่คิดค้นขึ้นมา ซึ่งเมื่อครบอายุการเก็บเกี่ยวผลผลิตต่อไร่ก็จะได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

               “ระยะห่างการปลูก 80x80 เซนติเมตร 1 ไร่จะได้ประมาณ 2,400 ต้น ต้นทุนต่อไร่ประมาณ 1,800 บาท เป็นค่าไถและค่าต้นพันธุ์ ส่วนค่าปุ๋ยจะอยู่ที่ 900 บาทต่อไร่ฉีด 6 ครั้งต่อไร่ต่อรอบ เป็นการฉีดพ่นทางใบโดยการใช้โดรน ปกติมันตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวใช้เวลาประมาณ  10-11 เดือน แต่ของเราใช้เวลาเพียง 8 เดือนเท่านั้นก็สามารถเก็บเกี่ยวได้แล้วเปอร์เซ็นต์แป้งสูงกว่าด้วย ส่วนเวลาที่เหลืออีก 1-2 เดือนก็ปลูกพืชระยะสั้นเพื่อเป็นรายได้เสริม  ยกตัวอย่างทำไร่มัน 20 ไร่ แบบทุเรศทุรัง จะมีรายได้สุทธิอยู่ที่ 1.2 ล้านบาทต่อปี เท่ากับคุณมีรายได้ 1 แสนบาทต่อครอบครัว หักเงินลงทุนหมดทุกอย่างแล้ว” อ.ทองก้อนเผย

                 อ.ทองก้อน ระบุอีกว่า นอกจากรายได้จากมันสำปะหลังแล้ว ในระหว่างร่องแถวปลูกมันยังสามารถปลูกพืชตระกูลถั่วแซมได้อีกด้วยในระยะแรกของการปลูกมัน ซึ่งจะทำให้นอกจากมีรายได้เสริมจากผลผลิตถั่วแล้วยังเป็นการเพิ่มธาตุอาหารในดินไปในตัวด้วย โดยถั่วที่นำมาส่งเสริมปลูกก็จะเป็นถั่วลิสงซึ่งมีระยะเวลาเก็บเกี่ยวไม่นานประมาณ 70 วัน หรือประมาณ 2 เดือนกว่าเท่านั้น ถ้าปลูกถั่วจะมีรายได้เพิ่มทันที 2,000 บาทต่อไร่ ส่วนข้าวโพดเฉลี่ยไร่ละประมาณ 3,000 บาท ดังนั้นในหนึ่งปีจะมีพืชปลูกตลอด มีรายได้เข้ามาทุกเดือน

                “ปลูกมัน 8 เดือน ปลูกข้าวโพด 4 เดือน และปลูกถั่วระหว่างร่องมันช่วงที่ใบมันยังไม่ชนกัน ขณะเดียวกันเปลือกถั่วลิสงก็ไปฆ่าวัชพืช เพราะว่าข้าวโพดใช้ธาตุไนโตรเจนกับโพแทสเซียม ส่วนมันใช้ร็อคฟอสเฟสเป็นหลัก ปมรากถั่วมีไรโซเดียม  ถ้าผมทำแบบนี้ใครฉีดอะไรไม่ได้เลยนะ เพราะพื้นดินเต็ม ฉีดลงไปปุ๊บถั่วตาย พาราควอต ไกลโฟเซสหายไปเท่าไหร่ ไม่ต้องไปประท้วง ไม่ต้องไปค้านห้ามใช้สารเคมีอันตราย  ถ้าทำแบบนี้ได้ทุกอย่างจบในตัวมันเอง” 

            ธิดารัตน์ รอดอนันต์ ประธานกรรมการบริษัท สงวนวงษ์ อุตสาหกรรม จำกัด ในฐานะอุปนายกสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวถึงสถานการณ์มันสำปะหลังว่า ปีนี้เกษตรกรมีความสุขในการปลูกมันสำปะหลังเพราะราคามันสูงมาก ราคาป้ายหน้าโรงงานรับซื้อ 3.50 บาทต่อกิโลกรัม เช่นเดียวกับราคาแป้งก็สูงขึ้นเป็น 3.50 บาท โดยโรงงานไม่ได้รับซื้อเฉพาะเกษตรกรเท่านั้นแต่จะรับซื้อผลผลิตจากลานมันด้วย  

               “อะไรที่มันต่ำเกินไปก็ไม่ยั่งยืน อะไรที่สูงเกินไปก็ไม่ยั่งยืน ส่วนความยั่งยืนจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่ราคา แต่อยู่ที่ความต่อเนื่องของผลผลิตมีวัตถุดิบป้อนโรงงานตลอดเวลา  สาระสำคัญของวันนี้คือโรงงานแป้งมีการปรับเพื่อดึงให้ลูกค้ากลับมาใช้ของเรา  2-3 เดือนข้างหน้าราคาก็น่าจะลงได้อีกนิดหน่อย แต่ลงไม่ได้เยอะเพราะของมีไม่เยอะ พอเราซื้อหัวมันสำปะหลังสดราคาถูกชาวไร่ก็หันไปปลูกข้าวโพด ไปปลูกอ้อยกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี ก็เป็นการให้บทเรียนโรงงานแป้ง ทำไมให้ราคารับซื้อถูกเกินไปเขาก็จะไม่ปลูก แล้วหันไปปลูกพืชอย่างอื่น เลยทำให้ของขาด พอของขาดราคาก็จะสูง ก็เป็นไปตามดีมานด์ และซัพพลาย”

                 อุปนายกสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคอีสานให้ข้อมูลต่อไปว่าความต้องการมันสำปะหลังที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตมันเส้น แป้งมันสำปะหลังและเอทานอลของโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยประมาณ 40 ล้านตัน ในขณะที่ประเทศไทยได้แค่ 30 ล้านตัน ส่วนอีก 10 ล้านตันนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชาและเวียดนาม

                  “โดยเฉพาะโคราช เราทำมันสำปะหลังได้แค่ 6 ล้านตัน แต่โรงงานในโคราชมีความต้องการใช้หัวมันสดประมาณ 12 ล้านตัน ทุกวันนี้เรายังต้องนำเข้าจากจังหวัดใกล้เคียงและประเทศเพื่อนบ้านด้วย ถ้ามองอุตสาหกรรมมันสำปะหลังจะต้องมองไปถึงประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะว่าเมื่อก่อนจะมีไทยกับเวียดนามที่ใหญ่ในแถวนี้ ต่อมากัมพูชาก็เป็นอีกหนึ่งที่เป็นปัจจัยหลักมีผลต่อดีมานด์และซัพพลายในภูมิภาคนี้ด้วย” 

 

               เธอยอมรับว่าสมาคมมันสำปะหลังต่างจากสมาคมอื่นๆ  อย่างสมาคมอ้อยและน้ำตาลที่มีพ.ร.บ.รองรับ  แม้การบริหารจัดการด้วยเอกชน โดยมีกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานที่ดูแลมันสำปะหลัง แต่ไม่มีกฎเกณฑ์ในการควบคุมการซื้อขาย ราคาขึ้นอยู่กับตลาดและดีมานด์ ซัพพลายของประเทศไทยและเพื่อนบ้าน 

              “การรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายโครงการ MUN มันมาก ของอาจารย์ทองก้อน ถือเป็นผลดีต่อโรงงานภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกร เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะเกษตรกรเขาไม่รู้ อาจมีเกษตรกรส่วนหนึ่งไม่ถึง 10% ที่รู้ ที่มีความขยันและก็ตั้งใจปรับปรุงไร่ของตนเองให้ได้ผลผลิต ถ้าจะบอกว่า 7 ตันต่อไร่  เกษตรกรทำได้ ถ้าเขาตั้งใจทำ” ธิดารัตน์กล่าวย้ำทิ้งท้าย 

  

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ