ข่าว

เกษตรกรเรียนรู้อะไรจากพายุ"ปาบึก"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ภูมิอากาศ"ตัวชี้วัดภาคเกษตรไทย..? เกษตรกรเรียนรู้อะไรจากพายุ"ปาบึก"

 

              แม้พายุโซนร้อน “ปาบึก” ได้พัดผ่านประเทศไทยไปแล้ว ทิ้งไว้ซึ่งร่องรอยความเสียหายอย่างย่อยยับ ทั้งทรัพย์สิน สิ่งปลูกสร้าง พืชสวนไร่นาแปลงเกษตร ไม้ผล ฟาร์มปศุสัตว์ในพื้นที่ตามแนวเส้นทางของพายุพาดผ่าน ไม่ว่าจะปากพนัง ลานสกา คีรีวง แหล่งผลิตไม้ผลที่เลื่องชื่อของ จ.นครศรีธรรมราช โดยเฉพาะพื้นที่ อ.ปากพนัง พื้นที่ปลูกส้มโอทับทิมสยาม จากเหตุการณ์ครั้งนี้ภาคการเกษตรไทยได้เรียนรู้อะไรจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น 

 

               อ.เปรม ณ สงขลา เจ้าของและบรรณาธิการวารสารเคหการเกษตร ซึ่งมีประสบการณ์และคลุกคลีอยู่ในแวดวงอาชีพการเกษตรไม่ต่ำกว่า 40 ปี ในฐานะเจ้าของสวนเกษตรสมัยใหม่หรือสมาร์มฟาร์ม ภายใต้ชื่อ “สวนเคหการเกษตร” ใน อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี มองพิบัติภัยที่เกิดขึ้นครั้งนี้ผ่านรายการ “เกษตรวาไรตี้” ทางสถานีวิทยุม.ก. โดยระบุว่าเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เหมือนที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ ถ้าคิดได้อย่างนี้ทำให้ใจเราสงบขึ้น 

 เกษตรกรเรียนรู้อะไรจากพายุ"ปาบึก"

              “สิ่งแรกที่ต้องทำคือทำใจยอมรับมัน ที่นครศรีฯ หากย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้วก็เคยเกิดที่พิปูน คีรีวง หรือที่แหลมตะลุมพุกเมื่อ 50 ปีก่อน ช่วงนั้นรุนแรงมากเลย เหตุการณ์ครั้งนั้นรุนแรงกว่าเที่ยวนี้เยอะมาก คนตายเป็นเบือเลย เพราะสมัยนั้นแทบไม่มีการสื่อสารเลย พอมาถึงปัจจุบันระบบการสื่อสารดีมากๆ ไม่เฉพาะการสื่อสารกรมอุตุนิยมวิทยาของเราเท่านั้นแต่มันมีการเชื่อมโยงกับนานาชาติ เชื่อมโยงกันหมดทุกประเทศ”

              อ.เปรม ย้ำว่า แม้ปัจจุบันการพยากรณ์ล่วงหน้าภูมิอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาจะมีความแม่นยำและเชื่อถือได้ แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นสำหรับพี่น้องเกษตรกรจะต้องติดตามข้อมูลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศเพื่อการเกษตรที่ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานได้ทำการศึกษาไว้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้จะต้องมีการจดบันทึกและเก็บข้อมูลไว้เป็นสถิติเพื่อใช้สำหรับการพยากรณ์เหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต อย่างเช่นเหตุการณ์เช่นนี้มักจะเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 10-20 ปีครั้ง ทำให้เราสามารถเตรียมหาพืชที่เหมาะสมมาเพาะปลูกหรือการจัดการพื้นที่การเกษตรให้เหมาะสมเพื่อรองรับการเกิดภัยพิบัติได้

             “อยากให้พี่น้องเกษตรกรที่เสี่ยงภัยได้ศึกษาข้อมูลจากงานวิจัยของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งได้มีการศึกษาไว้เยอะมาก ติดตามและบันทึกข้อมูลพวกนี้ไว้มันจะเป็นข้อมูลอันหนึ่งที่จะทำให้เราได้เตรียมตัวว่าลักษณะภัยพิบัติในพื้นที่เสี่ยงภัยตรงไหนที่มันเกิดอยู่บ่อยๆ หรือเคยเกิดขึ้น เกษตรกรจะต้องเรียนรู้ข้อมูลงานวิจัยพวกนี้เพิ่มขึ้น เพราะการเกษตรต้องอยู่กับแผ่นดิน อยู่กับธรรมชาติตลอดเวลา เพราะฉะนั้น การเข้าใจธรรมชาติจึงมีความจำเป็นและจะต้องมีข้อมูลตรงนี้อย่างลึกซึ้งเพื่อจะได้เตรียมรับมือและป้องกันไว้ได้ทัน”

            เขาย้ำให้เห็นถึึงจุดดีของการมีข้อมูลสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ของเกษตรกรว่า เมื่อเรารู้ว่าความเสี่ยงภัยที่จะเกิดขึ้นแบบนี้ การที่จะปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์อะไรก็สามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจได้ อย่างเช่นถ้าเป็นการทำฟาร์มปศุสัตว์แม้จะลงทุนค่อนข้างสูง แต่การเลี้ยงก็ใช้ระยะเวลาไม่นาน แต่ถ้าเป็นพืชยืนต้นที่มีอายุยืน 10-20 ปี อย่างเช่น ทุเรียน มังคุด หรือส้มโอทับทิมสยามมีอายุยาวสิบปี ยี่สิบปี ก็จะเป็นความเสี่ยง แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ควรหาทางป้องกันไว้ อาทิ การยกร่องให้สูงกว่าปกติ เพื่อให้น้ำไหลผ่านไปได้อย่างรวดเร็ว กรณีเกิดพายุหรือทำคันดินล้อมไว้ให้สูง เป็นต้น

             “ถ้าเป็นพืชระยะยาว พอเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมแบบนี้ขึ้นมา ทรัพย์สินที่เราลงทุนไปสูญสลายหายไปเลย แต่ถ้าเราจะสร้างสวนปลูกพืชแบบนี้ก็ต้องเลือกพื้นที่ชัยภูมิอย่างไรให้เหมาะสม อย่างในที่ลุ่มเราควรจะยกร่องให้สูงมีน้ำไหลผ่านได้สะดวก ยกร่องอย่างเดียวอาจไม่พอจะต้องทำคันล้อมให้สูงด้วย อย่างสวนส้มที่รังสิตเมื่อก่อน ทุกสวนเขาจะทำคันล้อมให้สูงเพื่อป้องกันน้ำท่วม สวนลักษณะนี้รอดเมื่อเกิดพายุในปี 2532 มีพายุเข้าหนักมาก แต่สวนส้มรังสิตกลับไม่ได้รับผลกระทบเลย เพราะฉะนั้นถ้าเราจะปลูกพืชระยะยาว เราต้องมองระยะยาวด้วย  อย่ามาคิดแก้ปัญหาเฉพาะหน้า  สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  การเลือกพืช การเลือกอาชีพ การเลือกที่ตั้งทำเลที่เหมาะสม พี่น้องเกษตรกรจะต้องคิดและวางแผนให้ดี” อ.เปรมกล่าวย้ำ

                  รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ อาจารย์ภาควิชาส่งเสริมและนิเทศศาสตร์เกษตร คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน มองว่า จากนี้ไปเกษตรกรจะต้องเรียนรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากขึ้น แม้ว่าภัยพิบัติเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ไม่สามารถบังคับได้ แต่อย่างน้อยความเสียหายจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ โดยเฉพาะการเข้าถึงบิ๊กด้าตาและไอทีจะช่วยให้เกษตรกรมีความเข้าใจและเพิ่มความมั่นใจในการทำการเกษตรมากยิ่งขึ้น ในขณะที่หน่วยงานของภาครัฐจะเข้ามาช่วยเสริมในส่วนที่พวกเขาขาดเท่านั้น

 เกษตรกรเรียนรู้อะไรจากพายุ"ปาบึก"

              “เดี๋ยวนี้เกษตรกรเขาไปไกลมากแล้วนะครับ ลูกศิษย์ผมหลายคนที่ไปทำเกษตรอยู่ที่นครศรีฯ สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบครั้งนี้ได้ส่งข้อมูลทางไลน์มาให้ผมดู เขาบอกว่าเขาก็รู้ล่วงหน้าแล้วว่าจะเป็นเส้นทางพายุพัดผ่านแล้วก็ได้เตรียมป้องกันไว้แล้วระดับหนึ่ง ส่วนที่เสียหายก็ยากเกินกว่าจะป้องกันได้ ก็ต้องยอมรับ คือสิ่งที่อยากจะบอกว่าข้อมูลบิ๊กดาต้าด้านภูมิอากาศ ดิจิทัล ไอที อะกริแม็พ แอพพลิเคชั่นต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับภาคการเกษตรในปัจจุบันในด้านข้อมูล ส่วนวิธีการป้องกันเกษตรกรเขามีวิธีของเขาอยู่แล้ว เขาจะรู้ดีที่สุดว่าควรจะจัดการอย่างไรเมื่อเกิดภัยพิบัติ”

               รศ.ดร.พิชัย มองต่อว่า หากจะให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตหรือการประกอบอาชีพในพื้นที่ที่เขาอยู่มานานคงเป็นไปได้ยาก แม้แต่นโยบายการจัดโซนนิ่งของรัฐบาล ซึ่งเป็นการจัดการเกษตรในพื้นที่ที่เหมาะสมจนทุกวันนี้ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากเกษตรกรเคยชินกับวิถีทำกินแบบเดิมๆ แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนไปได้แต่เป็นระยะสั้นๆ สุดท้ายก็กลับมาทำการเกษตรแบบเดิมต่อไป ในขณะเดียวกันบางครั้งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับพืชชนิดนั้นๆ ก็ยากที่ปรับเปลี่ยนไปเพาะปลูกพืชอย่างอื่น

             “อย่างส้มโอทับทิมสยามผลไม้ขึ้นชื่อของนครศรีฯ และเป็นผลไม้จีไอของจังหวัด ปลูกกันมากที่ปากพนัง เพราะเป็นพื้นที่ที่เหมาะสม หากไปปลูกที่อื่นคงไม่ได้และรสชาติไม่อร่อยเหมือนที่นี่ ถึงจะได้รับผลกระทบจนเกิดความเสียหาย แต่คิดว่าเกษตรกรเขารับได้นะ เสียหายก็ปลูกใหม่ทดแทนได้และเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ ผมว่าชีวิตเกษตรกรสำคัญกว่า ดูอย่างญี่ปุ่นหรือไต้หวัน เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยมากกว่าไทยหลายเท่า แต่ทำไมเขาอยู่ได้ แล้วภาคการเกษตรก็ไปได้ดีด้วย เพราะเขาได้เรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้ประยุกต์ใช้กับมัน และชีวิตคนสำคัญที่สุด” อาจารย์คนเดิมกล่าวย้ำ

                 ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เผยกับ "คม ชัด ลึก" ว่าแม้เหตุการณ์ครั้งนี้จะร้ายแรง แต่ความเสียหายเกิดเฉพาะทรัพย์สิน อาคารบ้านเรือน พืชผลทางการเกษตรเท่านั้น แต่ไม่มีการบาดเจ็บล้มตายเหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต เนื่องจากเทคโนโลยีการสื่อสารมีความรวดเร็วและข้อมูลการพยากรณ์ภูมิอากาศมีความแม่นยำ ทำให้การเคลื่อนย้ายอพยพผู้คนเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่เกษตรกรจะได้รับเป็นบทเรียนจากเหตุากรณ์ครั้งนี้ก็คือในเรื่องสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เราจะต้องได้รับรู้ข้อมูลล่วงหน้าเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือจากภัยธรรมชาติได้ พายุเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีภัยธรรมชาติที่เกี่ยวกับสภาวะภูมิอากาศอย่างอื่นอีก อย่างเช่นภัยแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

 เกษตรกรเรียนรู้อะไรจากพายุ"ปาบึก"

              “บางครั้งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ทุกคนในหมู่บ้าน ในชุมชนจะต้องรับรู้ร่วมกันเพื่อจะได้หาทางรับมือพร้อมๆ ผมอยากจะเสนอให้มีการจัดตัังในรูปแบบของคณะกรรมการชุมชน ตำบลหรือหมู่บ้านเพื่อรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้น เพราะต่อไปเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดบ่อยขึ้น ไม่เฉพาะพายุหรืออุทกภัยเท่านั้น ภัยแล้งก็เป็นปัญหาหนักสำหรับภาคการเกษตรเช่นกัน” ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติกล่าว พร้อมย้ำว่าการเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้จะเป็นบทเรียนครั้งสำคัญอีกครั้งสำหรับภาคการเกษตรไทยที่ทุกภาคส่วนจะต้องเตรียมมาตรการในการรับมือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ